เปิดซองคำถาม… นโยบายเพื่อความหลากหลายทางเพศ พรรคไหนมงลง !

The Active ชวนส่องวิสัยทัศน์ตัวแทน 12 พรรคการเมือง ใน เวทีคณะทำงานสิทธิประชาชนเพศหลากหลายกับนโยบายพรรคการเมือง 2566 (LGBTIQNA+ Civil Rights Network for Political Party’s Policy 2023) ที่ไม่ปล่อยให้พรรคการเมืองขายนโยบายเพียงฝ่ายเดียว แต่วัดกึ๋นผ่านการจับฉลากตอบคำถามจากชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศตัวจริง เพื่อได้รับสิทธิและความคุ้มครองอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน

พร้อมแล้วจับเวลาคนละ 3 นาที เริ่มเลอ…!!!

คำถามที่ 1

ท่านมีมุมมองต่อข้อเสนอนโยบายแก้ปัญหาระบบการศึกษา และการศึกษาของเยาวชนผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างไร

ภาคิน เจริญนนทสิทธิ์ พรรคไทยสร้างไทย เราตระหนักถึงความเหลื่อมล้ำ และคิดว่าการศึกษาไม่ควรอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งโจทย์การกระจายอำนาจจากส่วนกลางที่ผ่านมายังมีปัญหา ในอนาคตจะมีการโอนสถานศึกษาในสังกัด สพฐ. มายัง อปท. และสนับสนุนการจัดหลักสูตรที่สะท้อนอัตลักษณ์ทางเพศให้กับนักศึกษา เยาวชน รุ่นต่อไป เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจไม่ว่าคุณจะเรียนในโรงเรียนสังกัดอะไรก็ตาม ท่านจะมีความเข้าใจว่าสังคมมีพหุวัฒนธรรม เราไม่ได้อยู่ในสังคมชาย-หญิง เท่านั้น เรายังมี LGBTQIAN+ เป็นมนุษย์เหมือนทุกคนที่มีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ที่จะได้รับรอง คุ้มครอง สิทธิในการแสดงความคิดเห็น และเรามีสิทธิที่จะอยู่ในประเทศไทยอย่างเสมอภาค หลักสูตรดังกล่าวยังเข้าไปลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาส สร้างเศรษฐกิจ สร้างความเท่าเทียม

อุดมศักดิ์ ศรีสุทิวา พรรคชาติไทยพัฒนา ทางพรรคมีแนวคิด ‘3 ส.’ ที่ชัดเจน คือ ส่งเสริมกฎหมายที่ทันสมัยเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ สร้างเสริมการปรับความหลากหลายทางเพศ และสนับสนุนพลังความหลากหลายทางเพศเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เพราะฉะนั้นในโรงเรียนนอกจากมีนักเรียน สำคัญที่สุดคือจะทำอย่างไรให้ครูยอมรับความหลากหลายเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และในโจทย์มีคำว่า Binary (นิยามที่ว่าโลกมีแค่เพศชายกับหญิง) ต้องบอกว่าโลกนี้ไม่ได้มีแค่ผู้หญิงผู้ชายเท่านั้น ฉะนั้นเราต้องยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ความเท่าเทียม ที่สำคัญรัฐธรรมนูญกำหนดมาแล้วว่าเราจะทำอย่างไรที่จะจัดสรรงบประมาณให้เท่าเทียมกันตามความต้องการ จำเป็นของเพศ (Gender responsive budgeting)

ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ พรรคก้าวไกล การเลือกตั้งครั้งหน้าเราต้องหยุด พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เพราะฉบับนี้กำหนดคุณสมบัติเด็กไทยต้องมีไว้ 174 ข้อ นี่คือปิตาธิปไตยแน่นอน บทเรียนต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมทางเพศ บทบาทในเรื่องของชาย-หญิง ที่ไม่ถูกให้คุณค่าเท่ากัน ต้องนำมาพิจารณาและรื้อสร้างใหม่ ในบทเรียนต้องมีหลักการของ  SOGI (วิถีทางเพศ และอัตลักษณ์ทางเพศ) เป็นสิ่งที่เราจะต้องเรียนรู้และทำให้เกิดการโอบรับความแตกต่างหลากหลาย กฎหมายรับรองเพศให้สิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศที่เป็นนักเรียนได้แสดงออกตามเจตจำนงค์เพศของตัวเอง การอบรมครูที่มีความหลากหลายทางเพศ เพราะในสังคมคนที่ชนะคือผู้ชายที่มีอำนาจและมีเงิน กะเทยไม่เคยชนะ นี่เป็นสิ่งสำคัญว่าเราต้องส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศอย่างไร รวมถึงการขจัดการเลือกปฏิบัติที่เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องผลักดัน

ภิญโญ รู้ธรรม พรรคเปลี่ยนอนาคต พรรคเรายอมรับทั้งหมด แต่ไม่สัญญาว่าจะเป็นไปตามนั้น ทุกอย่างต้องเรียนรู้และดูที่เป้าหมาย น่าแปลกใจที่ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ยังพูดถึงกระทรวงศึกษาธิการ ยังพูดถึงโรงเรียนอยู่ ไม่ได้พูดถึงความรู้ ปัญญา เราควรจะตั้งกระทรวงปัญญามากกว่า ทุกวันนี้เด็กไม่ว่าจะเพศสภาพไหนก็ตามเลิกเข้าโรงเรียนแล้ว มหาวิทยาลัยก็น้อยลง ต่อจากนี้การเรียนรู้จึงควรไปอยู่ที่กระทรวงปัญญา และกระทรวง ICT เพราะสมัยนี้เด็ก ๆ ดูคอนเทนต์จากในมือถือ คำถามคือคนที่จะรับผิดชอบควรเป็นใครและไปดูที่เป้าหมายต้องการให้คนในประเทศเป็นอย่างไร ส่วนเรื่องการบูลลี่ถ้ามีการฟ้อง เฝ้าระวังที่ชัดเจน คนที่ทำควรจะต้องถูกลงโทษ

คำถามที่ 2

ท่านจะส่งเสริมนโยบายคุ้มครองสิทธิการจ้างงานและสถานที่ทำงาน ให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศ ได้อย่างไร

ณัฏฐ์ มงคลนาวิน พรรคภูมิใจไทย ส่วนตัวยินดีรับข้อเสนอทั้ง 5 ข้อ ส่วนจะหยิบยกเรื่องไหนขึ้นมาผลักดันก่อนจะต้องมาจากการรับฟังเสียงของประชาชน เพราะทุกนโยบายมีความสำคัญเท่ากันแต่อาจจะต้องมาดูว่าเรื่องไหนสำคัญที่สุด ทำได้จริงอย่างรวดเร็ว

วรนัยน์ วาณิชกะ พรรคชาติพัฒนากล้า ทางพรรคเรามีนโยบายผลักดัน EEOL : Equal Employment Opportunity Law หรือ EEOL (กฎหมายว่าด้วยโอกาสการจ้างงานที่เท่าเทียม) เพราะเราเชื่อว่าการจ้างงานหรือเลื่อนตำแหน่ง ควรจะวัดผลจากสติปัญญา ความสามารถ ความทุ่มเท ในการทำงาน ไม่ควรจะเกี่ยวกับอวัยวะที่อยู่ระหว่างขาของคุณ ประเด็นถัดมาคือ discrimination in workplace (การเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน) ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศหญิง หรือเพศหลากหลาย การกระทำนี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพราะทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน เราจะผลักดันให้เกิดการฟ้องร้องได้ ที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของทัศนคติ สิ่งที่แก้ได้คือเรื่องของการศึกษา เราต้องปฎิรูปกระทรวงศึกษาธิการ

ฐิติพร ฌานวังศะ เลขาธิการพรรคเสมอภาค ทางพรรคมีนโยบายยกร่างฯ กฎหมายส่งเสริมและคุ้มครองของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ คุ้มครองสิทธิการศึกษา การทำงาน การสมรส รับบุตรบุญธรรม เป็นผู้นำทางการเมือง เศรษฐกิจ แต่งกายตามเพศสภาพที่เหมาะสม ดังนั้นข้อเสนอเรื่องการคุ้มครองการจ้างงานบอกเลยเป็นเรื่องที่สบายมากหากได้เข้าไปนั่งสภาฯ ที่จะทำให้การกำหนดสัดส่วนที่ชัดเจนของชายหญิงเป็นกฎหมายในสถานที่ทำงาน รวมถึงความชัดเจนในการคุ้มครองในสถานที่ทำงาน ในส่วนของการตรวจหา HIV กับบุคคลข้ามเพศ และเรื่องสุขภาพ พรรคมีนโยบายในการสนับสนุนทำสวัสดิการถ้วนหน้าเป็นข้อบังคับในสถานที่ทำงานชัดเจน และทำได้ในเวลาอันสั้น

ปวิศรัฐฐ์ ติยะไพรัช หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ คนทำงานการเมืองต้องได้รับความทุกข์ทรมานจากปิตาธิปไตย สิ่งนี้มีอยู่จริงและเราต้องทำให้มันหมดไป ต้องไม่มีการใช้เพศเป็นตัวจำกัดพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น และการแสดงออกทางการเมือง เพราะเมื่อไหร่ที่ระบบการเมืองเปลี่ยนแปลง สภาฯ เปลี่ยนแปลง เมื่อนั้นที่ประเทศเราเจริญได้อย่างแท้จริง รวมถึงพื้นที่ในองค์กรธุรกิจหรือระบบราชการ ต้องไม่แตกต่างกันในการเปิดพื้นที่ให้กับคนทุกเพศมีความเสมอภาคเท่าเทียม เคารพในชีวิตและความเป็นมนุษย์เหมือนกัน ต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ผู้ชายต้องไม่ได้รับเงินเดือนหรือสวัสดิการที่มากกว่าเพศอื่น ๆ การลางานของคนข้ามเพศทุกองค์กรต้องผลักดันให้เกิดขึ้น

คำถามที่ 3

ถ้าคุณเป็นรัฐบาล คุณจะทำอย่างไรให้ชุมชนผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศได้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย ด้านสุขภาพ สาธารณสุข กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข

ณิชกานต์ รักษ์วงฤทธิ์ พรรคสามัญชน ระบบสุขภาพมีปัญหาเรื่อง Binary (นิยามที่ว่าโลกมีแค่เพศชายกับหญิง) เรื่องนี้เรายืนยันว่ามีนโยบายด้านสุขภาพและระบบสาธารณสุขที่มีความเป็นธรรมทางเพศ เพราะเราเชื่อว่าสาธารณสุขเวลานี้มีรากฐานมาจากระบบชายเป็นใหญ่ กำหนดแค่สองเพศ ที่ใช้มาแบ่งแยกให้เกิดอคติทางเพศตั้งแต่ยุคสงครามโลก ถ้าเป็นรัฐบาลเราจะไม่เอาระบบนี้ไว้อย่างแน่นอน

พงศ์พล ยอดเมืองเจริญ พรรครวมไทยสร้างชาติ เราต้องมีคณะกรรมการที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศเข้าไปอยู่ในบอร์ดด้วย และมีกลุ่มที่ทำงานด้านสาธารณสุข เนื่องจากปัญหาส่วนใหญ่พบว่าเป็นการถูกเลือกปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่ สิ่งที่ช่วยได้คือการเสริมบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศให้มากขึ้น อย่างน้อยทำให้เกิดความเชื่อใจในการรับบริการ ส่วนปัญหาการถูกเรียกโดยระบุคำหน้านามในสถานพยาบาล ถือเป็นการละมิดสิทธิส่วนบุคคล รวมถึงการปฏิเสธรับบริจาคเลือด ซึ่งสามารถรวมเข้าไปอยู่ในกฎระเบียบได้ และการกระจายถุงยางอนามัยให้ครอบคลุมเท่ากับเพศชายหญิงอย่างเพียงพอ

ชานันท์ ยอดหงษ์ พรรคเพื่อไทย สุขภาพถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เห็นได้จากข้อมูลหลักประกันสุขภาพแห่งชาติถ้วนหน้าที่ทางพรรคพยายามผลักดันให้ประชาชนได้เข้าถึงสวัสดิการนี้ และจำเป็นอย่างมากที่จะต้องอบรมเจ้าหน้าที่ ให้ความรู้เรื่อง  Gender sensitivity (ความละเอียดอ่อนเชิงเพศภาวะ) ควรจะมีการอบรมอยู่ตลอดเวลา สม่ำเสมอ ขณะเดียวกันเรื่องของอคติและมายาคติ ตัวเจ้าหน้าที่อาจไม่มีความรู้ความเข้าใจ การให้การศึกษาเรื่องนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเป็นมิตรภาพต่อกันระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ รวมถึงการเอาฮอร์โมนเข้าไปอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้ได้ เพราะการเข้าถึงฮอร์โมนด้วยตัวเองมีผลต่อสุขภาพ โรคตับ ไต เป็นปัญหาที่เรากังวล รวมทั้งให้ความสำคัญกับบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานอย่างหนักให้เกิดการรวมกลุ่มของคนที่ตระหนักเกี่ยวกับการให้บริการด้วยระบบ SOGI (วิถีทางเพศ และอัตลักษณ์ทางเพศ) เพื่อออกแบบให้ประชาชนทุกกลุ่มอัตลักษณ์เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน สวัสดิการได้อย่างถ้วนหน้า ครบถ้วน

แทนคุณ จิตต์อิสระ พรรคประชาธิปัตย์ ทางพรรคให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพ โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน 1. โครงสร้างทางกายภาพ สนันสนุนให้มีการตรวจ คัดกรอง ให้ฮอร์โมนทั้งก่อน-หลังแปลงเพศ กลไกศัลยแพทย์ จิตแพทย์ สูติศาสตร์ นารีเวชวิทยา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะทำความเข้าใจหรือดูแลสุขภาพของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ 2. จิตสังคม สื่อสารการทำความเข้าใจในแง่มุมต่าง ๆ การจัดทำหลักสูตรให้เกิดการยอมรับในอนาคตเกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธุ์ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในการจัดตั้งครอบครัวของผู้มีความหลากหลายทางเพศ 3. ข้อกฎหมาย ส่งเสริมให้คำปรึกษา ลดปัญหาการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล  เช่น การเรียกชื่อด้วยคำนำหน้านามที่ไม่ตรงกับเพศสภาพ ตอนนี้มีอยู่แล้วคือศูนย์ให้คำปรึกษาช่วยแก้ปัญหาเรื่องการเหยียด คุกคามทางเพศ ในองค์กรต่าง ๆ กับผู้มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงส่งเสริมให้ผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ลดการบังคับตรวจหา HIV เพื่อไปสมัครงานในสถานประกอบการต่าง ๆ

นี่เป็นเพียง 3 คำถาม ที่ผ่านการระดมสมองผ่านกิจกรรม Pride Policy สําหรับ LGBTIQAN+ โดยนักเคลื่อนไหว ชุมชน และผู้เข้าร่วมมีโอกาสได้เสนอประเด็นปัญหาเกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศที่ได้ประสบพบเจอโดยตรงในมิติต่างๆ ของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นด้านกฎหมาย สุขภาพ สวัสดิการรัฐ สถานศึกษา สถานที่ทํางาน สื่อ เรือนจํา และด้านอื่น ๆ รวมถึงแลกเปลี่ยนทางออกในรูปแบบของนโยบายสาธารณะที่จะแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด และมาจากเสียงของคนในชุมชนอย่างแท้จริง

แต่สิ่งที่เครือข่ายผู้มีความหลากหลายทางเพศ พยายามเน้นย้ำต่อตัวแทนพรรคการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้ คือการเจตจำนง และความตั้งใจเข้าไปผลักดันนโยบายที่ได้รับข้อเสนออย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงหาเสียงตามกระแสนิยม

“เราเรียกร้องต่อพรรคการเมืองหยุด rainbow washing เกาะกระแสเพศหลากหลายเพื่อหาผลประโยชน์ตอนช่วงเลือกตั้ง แต่ขอให้นำข้อเสนอของพวกเราไปใช้ขับเคลื่อนโยบาย ทำให้สังคมที่โอบรับความหลากหลายทางเพศเกิดขึ้นจริง”

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์