นโยบายแก้ปัญหา ‘สุขภาพจิต’ มาถูกทางหรือยัง?

ปัจจุบันปัญหาสุขภาพจิตในประเทศไทยยังพุ่งไม่หยุด ฉุดไม่อยู่ แม้ที่ผ่านมาจะผ่านช่วงสถานการณ์พีคที่สุดอย่างโควิด-19 มาแล้ว แต่ ตัวเลขผู้ป่วยยังไต่ขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่คาดว่าในปี2566 จะสูงถึง 4.4 ล้านคน จาก 2.5 ล้านคนในปี 65

ไม่ใช่แค่อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ 7.38 ต่อ 1 แสนประชากร ที่หลายฝ่ายเป็นห่วง แต่ยังรวมไปถึงความรุนแรง โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในสังคมจากปัญหาจิตเวช ความเครียด ความกังวล อย่างต่อเนื่องรายวัน คำถามคือเวลานี้เรามีวัคซีนในการรักษา และป้องกันอาการป่วยทางใจมากน้อยแค่ไหน

จากนโยบายการแก้ปัญหาในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ต่อเนื่องจนถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน ท้ายที่สุดผู้ป่วยจิตเวชยังจ่อคิวล้นโรงพยาบาล จิตแพทย์ยังคงภาระล้นมืออยู่ในสภาพหมดไฟ โรคจิตเวชยังถูกตีเป็นมูลค่านำไปสู่ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการรักษา และท้ายที่สุดเราอาจยังอยู่ในวังวนของความรุนแรงนี้ต่อไป หากยังไม่ทำให้นโยบายระบบนิเวศสุขภาพจิต อยู่ในนโยบายสาธารณะที่ทุกภาคส่วนในสังคมมีส่วนร่วม

หรือความจริง…สังคมอาจต้องการแค่คนรับฟังอย่างจริงใจมากขึ้น

พุ่งไม่หยุด ไทยมีผู้ป่วยจิตเวชเกิน 4 ล้านคน

ข้อมูลจากระบบคลังข้อมูลสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ในส่วนของจำนวนผู้ป่วยจิตเวชในประเทศไทย พบว่าในปี 2558 มีผู้ป่วยจิตเวชจำนวน 1.3 ล้านคน ผ่านมา 6 ปี ในปี 2564 จำนวนผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้นเป็น 2.3 ล้านคน และในปี 2565 พบผู้ป่วยจิตเวชมากถึง 2.5 ล้านคน 

นอกจากนี้ ด้วยประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ พ.ศ. 2564 ที่มีแนวทางให้ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย ซึ่งต้องได้รับการบำบัดรักษาทางจิตเวช ทำให้คาดการณ์ว่าปี 2566 จะมีผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1.9 ล้านคน นั่นทำให้ไทยอาจมีผู้ป่วยจิตเวชมากถึง 4.4 ล้านคน และจะมากขึ้นอีกก็เป็นได้ เพราะในจำนวนนี้ยังไม่นับรวมผู้ป่วยจิตเวชรายใหม่ที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี 

โดยประเภทผู้ป่วยจิตเวชที่เข้ามารับการรักษา 5 อันดับ คือ

1. ผู้ป่วยยาเสพติดที่มีปัญหาจิตเวช

2. โรคจิตเภท (รุนแรงที่สุด) 

3. โรคซึมเศร้า

4. โรคสมาธิสั้น และ 

5. พยายามฆ่าตัวตาย

จิตแพทย์ไทยทำงานหนัก  

ข้อมูลจำนวนผู้ป่วยจิตเวชหลักล้านคน สวนทางกับจำนวนจิตแพทย์ ที่มีไม่เพียงพอ โดยสัดส่วนจิตแพทย์ต่อประชากรมาตรฐานองค์การอนามัยโลก คือ จิตแพทย์ 10 คน ต่อประชากร 100,000 คน 

ขณะที่ไทยมีจิตแพทย์ 845 คน คิดเป็นสัดส่วน เพียง 1.28คน ต่อประชากร 100,000 คน เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย มีจิตแพทย์ 1คน ต่อประชากร 100,000 คน และสิงคโปร์ มีจิตแพทย์ 4 คน ต่อประชากร 100,000 คน 

โดยเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาลคาดว่า อีก 5 ปี ไทยจะเพิ่มจิตแพทย์เพิ่มขึ้นอีก 400 คน เท่ากับจะมีจิตแพทย์รวม เป็น 1,200 คน  

แนวโน้มผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มสูงขึ้น ซ้ำเติมบริการเหลื่อมล้ำไม่ครอบคลุมเด็กและวัยรุ่น

การให้บริการทางสาธารณสุขด้านจิตเวชของไทยได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อรับมือกับปัญหาสุขภาพจิต ในภาพรวม ในปี 2565 ไทยมีจิตแพทย์ 845 คน คิดเป็นสัดส่วน 1.28 คนต่อแสนประชากร อย่างไรก็ตาม สัดส่วนระดับประเทศยังคงแฝงไว้ด้วยความเหลื่อมล้ำในระดับภูมิภาค แม้จะมีจิตแพทย์ประจำในโรงพยาบาลครบทุกจังหวัดแล้ว แต่สัดส่วนของจิตแพทย์ในหลายจังหวัดยังคงห่างจากเป้าหมายตามแผนค่อนข้างมาก

อีกทั้งหากพิจารณาลงไปในกลุ่มจิตแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางในการรักษาเด็กและวัยรุ่น จะพบว่าความเหลื่อมล้ำยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นอีก โดยฐานข้อมูลจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นโดยสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ แสดงให้เห็นว่าไทยมีจิตแพทย์เด็กเพียง 295 คนทั้งประเทศ แต่ในจำนวนนี้กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครถึง 111 คน ซึ่งมากกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมด และยังกระจุกตัวในเมืองใหญ่ตามภูมิภาค เช่น เชียงใหม่ สงขลา  ในขณะที่จังหวัดอื่น 14 จังหวัดยังไม่มีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นประจำอยู่เลย และใน 15 จังหวัด จิตแพทย์เด็กต้องรับภาระดูแลเด็กและวัยรุ่นทั้งจังหวัดด้วยตัวคนเดียว

ในด้านสถานพยาบาล ไทยมีโรงพยาบาลของรัฐ เอกชน และคลินิกที่รักษาโรคจิตเวชโดยตรงหรือมีแผนกจิตเวช อย่างน้อย 443 แห่ง แต่ในจำนวนนี้มีเพียง 166 แห่งที่มีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นประจำอยู่ คิดเป็น 37.4% และยังกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพมหานครถึงราว 1 ใน 4  เด็กและวัยรุ่นในจังหวัดเล็กจึงเข้าถึงบริการได้ยาก มีทางเลือกจำกัด ต้องเดินทางไกลและรอคอยยาวนานกว่ามาก  

ในขณะที่พยาบาลจิตเวชซึ่งเป็นกำลังสำคัญด่านหน้า  ทว่ากลับไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนัก ปัจจุบันไทยมีพยาบาลจิตเวช 4,064 คน ในจำนวนนี้เป็นพยาบาลจิตเวชเด็กและเยาวชน 602 คน  แต่ด้วยอัตรากำลังในโรงพยาบาลที่ไม่เพียงพอ พยาบาลจิตเวชจึงต้องทำงานพยาบาลทั่วไปด้วย ภาระงานที่ล้นเกินนี้ยิ่งซ้ำเติมปัญหาขาดแคลนบุคลากรเข้าไปอีกต่อหนึ่ง โดยจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นท่านหนึ่งชี้ว่า 

“การมีทีมสหวิชาชีพที่เพียงพอ เป็นเงื่อนไขสำคัญมากที่จิตแพทย์จะไปประจำอยู่ในจังหวัดที่ขาดแคลนแล้วอยู่ได้ยาว แต่พยาบาลรุ่นใหม่ไม่อยากทำงานจิตเวช ในหลายพื้นที่เดี๋ยวนี้ กลายเป็นว่ามีตำแหน่งแต่ไม่มีคนอยากรับงาน”

สังคมต้องการคนรับฟังเพิ่มขึ้น

จากสถิติช่วง 6 ปีที่ผ่านมา สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ที่ให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ 24 ชั่วโมง รวม 15 คู่สาย ยังไม่เคยว่าง ซึ่งทั้งหมดนี้รองรับได้เพียง 20% ของผู้ที่โทรมาขอรับคำปรึกษาทั้งหมดเท่านั้น

แม้ตัวเลขผู้ใช้บริการสายด่วน 1323 จะลดลง แต่ที่น่าสนใจ คืออัตราของผู้ที่ต้องการรับคำปรึกษา 70% คือ ผู้ที่ต้องการรับคำปรึกษาด้านอื่น ๆ เช่น ความสัมพันธ์ในครอบครัว ความรัก ความสัมพันธ์ การทำงาน การเรียน โรคทางกาย ถูกกลั่นแกล้ง ปัญหาเศรษฐกิจ ฯลฯ ส่วนที่เหลือ 30% คือ ผู้ป่วยด้านจิตเวช เช่น ผู้ที่กำลังรักษาหรืออยู่ระหว่างรอคิวรักษา  โดยเฉพาะในเดือน ก.ย 66 เป็นเดือนแรกที่การขอรับคำปรึกษาพูดคุยเรื่องทั่วไป มากเป็นอันดับ 1 จำนวน 2,038 สาย แซงหน้าปัญหาสุขภาพจิตที่ 1,782 สาย

สอดคล้องกับตัวเลขของ Sati App (สติ แอปพลิเคชัน) แอปพลิเคชันช่วยปฐมพยาบาลจิตใจเบื้องต้นโดยภาคประชาชนแบบไม่มีค่าใช้จ่าย เปิดให้บริการตั้งแต่ 1 เม.ย. 65- 31 ม.ค. 67 จำนวน 17,282 ราย และจำนวนผู้เข้าร่วมมหกรรมพบเพื่อนใจ : Soul Connect Fest 2023 วันที่ 19-20 ส.ค. 66 จำนวนกว่า 10,000 คน โดยกว่า 90% สะท้อนว่า ต้องการให้มีพื้นที่ หรือกิจกรรมในลักษณะที่ช่วยส่งเสริมหรือสร้างความมั่นคงทางจิตใจ

สธ. ยกระดับระบบดูแลผู้ป่วยจิตเวชให้ดีขึ้น

แต่ถ้าแค่ “รู้สึก” ล่ะ ต้องไปที่ไหน?

จากปัญหาการเข้าไม่ถึงการรักษาผู้ป่วยจิตเวช The Active สอบถามไปยัง นพ.ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้รับคำตอบและแนวทางว่า สิ่งที่กำลังดำเนินการอยู่ในเวลานี้คือ

1.การผลักดันยาจิตเวชประเภทยาฉีด เข้าสู่บัญชียาหลัก เพื่อให้ผู้ป่วยใช้สิทธิบัตรทองสามารถเบิกได้ ซึ่งจะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยแก้ปัญหาการปฏิเสธการกินยาของผู้ป่วยจิตเวช

2.แก้ปัญหาเชิงระบบ  

ระยะสั้น ต้องการปรับระบบบริการทั้งหมด ประกอบด้วย การเข้าถึงเหตุให้รวดเร็วที่สุด มีระบบการนำส่งการแจ้งฉุกเฉินทั้งในต่างจังหวัด และ กทม. และ ระบบการนำไปรักษาการเพิ่มศัยภาพโรงพยาบาลในการรองรับ การเกลี่ยเตียงภายใน หรือการใช้ Home Ward เข้ามาช่วย 

ระยะกลาง เป็นเรื่องของการให้ความรู้ประชาชนที่จะดูแลสุขภาพจิตตัวเองเพิ่มขึ้น ทั้งเชิงการป้องกัน หรือส่งเสริม หรือการสังเกตเห็นในเร็วขึ้น การรักษาก็จะง่ายขึ้น 

ระยะยาว กระทรวงสาธารณสุขมีแผนที่จะเพิ่มจำนวนจิตแพทย์ 400 คนในอีก 5 ปี ซึ่งได้รับการอนุมัติและผ่านการจัดสรรงบประมาณแล้ว

นโยบายแก้ปัญหาสุขภาพจิต มาถูกทางหรือยัง

หากวิเคราะห์จากแผนระยะกลาง-ระยะยาว มีแนวโน้มที่อาจเป็นไปได้ว่า การผลักดันให้คนเข้าถึงการดูแลสุขภาพจิตขั้นพื้นฐาน หรือระบบนิเวศสุขภาพจิตอาจเกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้ 

ขณะที่เวที Policy Forum ครั้งที่ 2: นโยบายสุขภาพจิต : Mental Health Policy Ecosystem ซึ่งจัดขึ้นที่ไทยพีบีเอส คนทำงานด้านสุขภาพจิตเห็นตรงกันว่า การสร้างระบบดูแลสุขภาพจิตขั้นพื้นฐาน เริ่มได้ง่าย ๆ จากการมีพื้นที่รับฟังให้เกิดขึ้นตั้งแต่ระดับชุมชน เพื่อเป็นการปฐมพยาบาลจิตใจเบื้องต้นระหว่างรอคิวการรักษาที่บุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ เปิดพื้นที่ให้นักจิตวิทยาการปรึกษา ฯลฯ ที่มีอยู่จำนวนมากได้อยู่ในระบบของรัฐ เช่น โรงเรียน สถานประกอบการต่าง ๆ หน่วยงานของรัฐ ซึ่งถือเป็นบุคลากรสำคัญในระบบนิเวศสุขภาพจิต ส่งเสริมให้ผู้คนมองโลกความเป็นจริงโดยไม่ทิ้งคุณค่าในตัวเอง ซึ่งทั้งหมดนี้รัฐอาจดำเนินการไปบ้างแล้ว แต่เป็นไปในลักษณะเชื่องช้า จึงจำเป็นต้องประกาศเป็นนโยบายสาธารณะที่ทุกภาคส่วนในสังคมมีส่วนร่วม

พร้อมเสนอให้ยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อกำหนดทิศทางนโยบาย สนับสนุนการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม เพื่อร่วมกำหนด “ระบบนิเวศสุขภาพจิต” ใน 4 เรื่อง ดังนี้

1. ส่งเสริมบทบาทและทรัพยากรสนับสนุนแก่นักวิชาชีพจิตวิทยาสาขาต่าง ๆ อย่างชัดเจนและเพียงพอ

2. สร้างความร่วมมือและส่งเสริมความเข้มแข็งอาสาสมัครและนักดูแลสุขภาพใจในชุมชน

3. พัฒนาระบบและการศึกษาด้านสุขภาพจิตในสถานศึกษาและสถานประกอบการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

4. สนับสนุนการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสุขภาพจิตที่กระจายอย่างทั่วถึง

ทั้งนี้ The Active ยังได้นำข้อเสนอนี้แก่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เนื่องในวันสุขภาพจิตโลก 2023 ซึ่งยอมรับว่า การรับมือกับปัญหาสุขภาพจิตแค่ตั้งรับคงไม่พอ จำเป็นต้องทำงานเชิงรุกร่วมกับทุกภาคส่วน โดยเตรียมหารือกับกระทรวงศึกษาธิการในการทำงานร่วมกัน เพื่อดูแลสุขภาพจิตเยาวชนตั้งแต่ในครรภ์เมื่อพบความผิดปกติทางสมอง ฟื้นฟูตั้งแต่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เพิ่มนักจิตวิทยาภายในโรงเรียน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันเชิงบวก โดยรับปากจะเกิดขึ้นหลัง Quick win 100 วัน


เมื่อดูจากทิศทางการให้บริการด้านสุขภาพจิตของประเทศไทย ที่มุ่งเน้นให้ประชาชนทุกคนเข้าสู่การรักษา อาจทำให้ที่ผ่านมาผู้ที่ต้องการรับคำปรึกษาถูกดันให้เข้าสู่การรักษาหรือผู้ป่วยในโดยไม่จำเป็น ส่งผลกระทบทั้งค่ารักษา 1,500-2,300 บาทต่อครั้ง รวมถึงภาวะหมดไฟในจิตแพทย์ให้พุ่งสูงขึ้นถึง 5 เท่า สวนทางกับพีระมิดของระบบบริการสุขภาพจิตขององค์การอนามัยโลกที่พบว่า รัฐบาลควรมุ่งเน้นให้คนเข้าถึงการดูแลสุขภาพจิตขั้นพื้นฐานในระดับเท่าเทียมกันให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะไปสอดคล้องกับความต้องการของปัญหาที่สูงขึ้น แต่ลงทุนค่าใช้จ่ายหรืองบประมาณที่ต่ำกว่า


นื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

ชญาดา จิรกิตติถาวร

เปรี้ยว ซ่า น่ารัก ไม่กินผัก ไม่กินเผ็ด