กว่า 2 ปี แล้ว ที่ไม่มีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ในวันที่ค่าครองชีพสูงขึ้น 5.7% ส่งผลกระทบรุนแรงกับคนจนเพราะสินค้าราคาแพงแต่ค่าจ้างเท่าเดิม
The Active ชวนสำรวจ ค่าแรงขั้นต่ำ และนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่เคยขายฝันให้กับแรงงาน แล้วจนถึงวันนี้สิ่งที่เคยพูดไว้ เป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหน
อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2560 มี 4 อัตราขึ้นอยู่กับแต่ละจังหวัด ทั้ง 300 บาท 305 บาท 308 บาท และ 310 บาท
ถัดมาในปี 2561 มีการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามแต่ละจังหวัดเพิ่มขึ้นเป็น 308 บาท 310 บาท 315 บาท 318 บาท 320 บาท 325 บาท และ 330 บาท แสดงให้เห็นว่าการกำหนดอัตราค่าจ้างมีลำดับหรือช่วงชั้นทีถี่และกว้างมากขึ้น
การปรับค่าจ้างขั้นต่ำล่าสุดคือในปี 2563 กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามแต่ละจังหวัดไว้ 313 บาท 315 บาท 320 บาท 323 บาท 324 บาท 325 บาท 330 บาท 331 บาท 335 บาท และ 336 บาท
ที่สำคัญตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ยังไม่มีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมารวมแล้ว 2 ปีเศษ ซึ่งการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งท้ายสุดมีอัตราสูงสุดร้อยละ 1.89 และต่ำสุดร้อยละ 1.52 เฉลี่ยแล้วเพียงร้อยละ 1.62 แตกต่างจากการปรับอัตราค่าจ้างในปี พ.ศ. 2561 ที่เฉลี่ยร้อยละ 3.44
หากย้อนกลับไปดูช่วงก่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 จะพบว่าแต่ละพรรคการเมืองมีนโยบายหาเสียงเกี่ยวกับประเด็นแรงงานไว้หลายประเด็น
พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะที่เป็นพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เคยเสนอการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 425 บาทต่อวัน รับรองวุฒิอาชีวศึกษาได้รับค่าจ้างไม่ต่ำกว่า 18,000 บาทต่อเดือน และปริญญาตรีได้รับค่าจ้างไม่ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อเดือน แต่ข้อเสนอนี้ผ่านมาสามปีแล้วยังไม่เกิดขึ้นในทางนโยบาย มิหนำซ้ำนโยบายด้านแรงงานเรื่องอื่น เช่น การงดเว้นการเก็บภาษีของผู้ค้าออนไลน์ 2 ปี การลดภาษีนักศึกษาสำเร็จการศึกษาใหม่ 5 ปี สวัสดิการสำหรับแรงงานอิสระ สิ่งเหล่านี้ก็ไม่เกิดขึ้นจากรัฐบาลชุดนี้แม้แต่อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งหลังจากที่บริหารประเทศโดยรัฐบาลชุดนี้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำครั้งล่าสุดตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้างเรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 10) ในเดือนธันวาคม 2562 ในอัตราต่ำสุดร้อยละ 1.52 และสูงสุดร้อยละ 1.89
พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้เสนอการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใด ๆ แต่เสนอเรื่องการประกันรายได้ 120,000 บาทต่อปี ข้อเสนอนี้คล้ายคลึงกับ Negative income tax ซึ่งเหมือนจะครอบคลุมทุกคน แต่จริงแล้วไม่ใช่เช่นนั้น เพราะการได้รับสิทธิเงินส่วนต่างนี้ก็ต่อเมื่อเป็นผู้จดทะเบียนกับภาครัฐ เช่น การเป็นผู้ประกันมาตรา 33 จึงไม่ได้ครอบคลุมสำหรับแรงงานนอกระบบ (ไม่เป็นทางการ) จึงเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่เน้นชนชั้นกลาง นั้นหมายความว่า บุคคลนั้นมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 10,000 บาท หากต่ำกว่านี้จะได้รับสิทธิข้างต้น หรือใครก็ตามแต่ที่มีรายได้ไม่ต่อเนื่องทุกเดือน ก็เข้าข่ายได้สิทธินี้ เช่น ผู้ว่างงานหรือระหว่างเปลี่ยนงานใหม่
พรรคอนาคตใหม่ (พรรคก้าวไกลในปัจจุบัน) เสนอการเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามอัตราเงินเฟ้อและให้มีการปรับค่าจ้างตามอายุงาน ถือเป็นความชัดเจนว่าเน้นที่กลไกของการปรับค่าจ้างตามสถานการณ์ กรณีของการใช้หลักเกณฑ์ของอัตราเงินเฟ้อทำให้สอดคล้องกับสภาพการดำรงชีวิต ซึ่งท้ายสุดการค้นหาสาเหตุของเงินเฟ้อ ไม่พ้นการพิจารณาต้นทุนธุรกิจและราคาสินค้าบริการ จึงเป็นข้อจำกัดของการปรับอัตราค่าจ้าง ไม่พบพรรคการเมืองใดที่เสนอแก้ไขปัญหาการกำกับและควบคุมธุรกิจในห่วงโซ่อุปทาน เช่น การเอาเปรียบราคาวัตถุดิบจาก Suppliers ให้ซื้อในราคาถูกและขายราคาแพง ส่งผลให้ผู้บริโภคใช้เงินซื้อในอัตราที่เกินราคาจริงที่ผู้ผลิตรายย่อยได้รับ
พรรคเพื่อไทย เสนอการเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาท และรับรองส่วนของวุฒิปริญญาตรีไว้ที่ 18,000 บาทต่อเดือน แต่มีความแตกต่างจากข้อเสนอของพรรคอนาคตใหม่ คือ ไม่มีกลไกการปรับค่าจ้างที่ชัดเจน ปัญหาของระบบไตรภาคีของคณะกรรมการค่าจ้าง นอกจากใช้การมีส่วนร่วมทุกจังหวัดแล้ว ต้องกระจายอำนาจการตัดสินใจไม่ควรนำกลับมารวมศูนย์อำนาจ ซึ่งทุกพรรคการเมืองไม่ระบุรอบการปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่ชัดเจน ส่วนพรรคอนาคตใหม่ใช้เกณฑ์ของอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งกลไกจะถูกออกแบบตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ผกพัน
พรรคภูมิใจไทยไม่มีข้อเสนอนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ และพรรคสามัญชนเสนอค่าจ้างขั้นต่ำไว้ 500 บาทต่อวัน อัตรานี้ใกล้เคียงกับการเคลื่อนไหวของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยในช่วงเดือนมกราคม 65 เป็นต้นมา และพรรคประชานิยมเสนอไว้ในอัตราค่าจ้าง 360 บาทต่อวัน
โดยสรุปอัตราค่าจ้างที่พรรคการเมืองเสนอไว้พบว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามข้อเสนอของแต่ละพรรคการเมืองอยู่ในช่วง 360-425 บาท
ส่วนข้อเสนอของ เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม หรือ We Fair สนับสนุนข้อเสนอของ ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในชุดข้อเสนอเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสวัสดิการสังคมและสุขภาวะ ให้ปรับค่าจ้างตามอัตราเงินเฟ้อและมีการปรับสูงขึ้นตามอายุงาน
ขณะที่การเรียกร้องที่ผ่านมาของคณะกรรมาการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) มีเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานวันที่ 24 มกราคม 2565 เพื่อปรึกษาหารือเรื่องการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ แต่การปรึกษาหารือไม่ได้รับรองว่าอัตราที่ปรับจะเป็นไปตามข้อเสนอของ 492 บาท
ขณะที่อีกกลุ่มคือ สมัชชาแรงงานแห่งชาติพร้อมเครือข่ายแรงงานยื่นเรื่องต่อประธานกรรมาธิการการแรงงาน ให้ปรับอัตราค่าจ้างขึ้นทั้งประเทศเป็นอัตราเดียวกันทั้งประเทศ พร้อมกับการควบคุมราคาสินค้าอุปโภคและบริโภค กลายเป็นเหตุที่มาให้เกิดการตั้งคณะทำงานพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาค่าจ้างแรงงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ภายใต้คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร
หลังจากนั้น วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 คสรท. แถลงเรื่อง “ข้อเสนอเพื่อความมั่นคงอย่างยั่งยืนของประเทศชาติ ประชาชน” นอกจากเรียกร้องการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแล้ว ยังเสนอการปรับปรุงโครงสร้างภาษี จัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า จัดเก็บภาษีการซื้อขายหุ้น ไม่แปรรูปกิจการสาธารณะและยกเลิกให้เอกชนร่วมบริหารตามรูปแบบหุ้นส่วนรัฐและเอกชน
อ้างอิง
รายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง “การสำรวจค่าครองชีพของแรงงาน : ข้อเสนอการยกระดับค่าจ้างขั้นต่ำ และมาตรฐานการดำรงชีวิตที่มีค่า” ของคณะทำงานพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาค่าจ้างแรงงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน คณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 โดย กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และคณะ