ไม่ผิด…หากนายจ้าง จะจ้างพนักงานออกพร้อมเงินชดเชยตามกฎหมาย
แต่มีความผิด…หากการจ้างออกนั้น มีการบังคับขู่เข็ญให้เซ็นใบลาออกโดยนายจ้าง
ตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ได้กำหนดหน้าที่ของนายจ้างและสิทธิของลูกจ้างกรณีการเลิกจ้าง โดยอาศัยหลักการตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่158 ที่กำหนดเรื่องการเลิกจ้าง คือ
- ห้ามนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรที่เกี่ยวข้องกับความสามารถหรือพฤติกรรมของ ลูกจ้าง
- ลูกจ้างจะต้องได้รับการแจ้งให้ทราบล่วงหน้าก่อนการเลิกจ้างหรือได้รับค่าชดเชยหรือการชดเชยแบบอื่นๆ เว้นแต่ลูกจ้างจะกระทำความผิดอย่างร้ายแรง
- ในกรณีที่มีการเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม หากนายจ้างไม่สามารถรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานได้ลูกจ้างต้องได้รับเงินชดเชยอย่างเพียงพอ
แต่ถึงจะมีข้อกำหนด กติกาไว้ชัดเจน ก็ยังมีนายจ้างบางราย อ้างเหตุผลการเลิกจ้าง เช่น
- ปรับโครงสร้าง เพื่อให้สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ธุรกิจ โดยอ้างว่าเพื่อแข่งขันทางธุรกิจ แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่านายจ้างประสบภาวะความจำเป็น หรือขาดทุนจนถึงกับต้องเลิกจ้างลูกจ้าง
- ขาดทุนสะสม ขาดทุนในเชิงโครงสร้างธุรกิจหรือการเปลี่ยนแปลงของตลาดที่ทำให้ธุรกิจไม่สามารถแข่งขันได้ในระยะยาว
- ลงทุนกับเครื่องมือที่มีคุ้มค่ากว่าแทน นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมดิจิทัล
- ภัยธรรมชาติ สงคราม ส่งผลทำให้กำลังซื้อถดถอย โรงงานต้องลดต้นทุน

โดยนายจ้างสามารถประกาศหาแรงงานที่สมัครใจลาออก หรือจ้างออกโดยมี ค่าชดเชยตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด คือ
- ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 30 วัน
- ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 90 วัน
- ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 180 วัน
- ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 240 วัน
- ลูกจ้างที่มีอายุงานครบ 10ปี ขึ้นไป จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 300 วัน
กรณีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่ได้บอกกล่าวให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้า นอกจากค่าชดเชย ลูกจ้างยังมีสิทธิได้รับค่าชดเชยแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วันหรือ 60 วันแล้วแต่กรณี โดยขึ้นอยู่กับว่าข้อกำหนดในสัญญาจ้างแรงงานนั้น กำหนดให้การเลิกจ้างหรือการลาออกต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเวลาเท่าใด
รวมถึงในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างโดยเหตุจากการปรับปรุงการผลิต หรือปรับปรุงองค์กรเพื่อความทันสมัย ทำให้ต้องลดพนักงาน นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษให้กับพนักงานที่ทำงานมาแล้วตั้งแต่ 6 ปี ขึ้นไปในอัตราเท่ากับค่าจ้าง 15 วันต่อปี โดยไม่เกิน 360 วัน พร้อมออกใบผ่านงานหรือหนังสือรับรองการทำงานให้แก่พนักงานที่ถูกเลิกจ้างตามคำร้องขอของพนักงาน
แต่กรณีที่นายจ้างการสร้างความกดดัน หรือหวาดกลัวให้ลูกจ้างเขียนใบลาออก ทั้งที่ลูกจ้างไม่มีเจตนาลาออก กฎหมายจะถือว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ซึ่งลูกจ้างสามารถฟ้องร้องเรียกค่าชดเชยได้

บุญยืน สุขใหม่ นักสหภาพแรงงาน จากสารคดีคนจนเมือง ซีซัน5 ตอน “ลอยแพ”
บุญยืน สุขใหม่ นักสหภาพแรงงาน และเป็นทนายความให้กับ “นุช” ใน สารคดีคนจนเมือง ซีซัน5 ตอน “ลอยแพ” สะท้อนว่า ยังมีนายจ้างที่ใช้กลอุบาย หรืออิทธิพล ทำให้ลูกจ้างพลาดเซ็นใบลาออก สละสิทธิ์การได้รับเงินเชยชด เช่น
- บีบให้ใช้เวลาตัดสินใจไม่ถึง 24 ชม.
- ถ้าไม่เซ็นจะมีหนังสือปลดอยู่ดี
- ถ้าไม่เซ็นจะไม่ได้อะไรเลย
- อ้างว่าจะทำหนังสือแจ้งไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไม่ให้จ่ายเงินสมทบในส่วนของนายจ้าง
- ใช้อิทธิพลข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัว
ส่วนใหญ่หากลูกจ้างไม่มีความรู้ในทางกฎหมาย ก็จะตกเป็นเหยื่อของนายจ้าง สุดท้ายต้องออกจากงานกะทันหันโดยที่ไม่ได้รับเงินชดเชย และเมื่อร้องเรียนไปถึงศาลแรงงาน ขั้นตอนพิสูจน์เป็นเรื่องยากเนื่องจากมีหลักฐานว่าลูกจ้างยินยอมเซ็นใบลาออกด้วยตัวเอง
“ปัญหาใหญ่ของแรงงานไทย คือ เขาไม่รู้เรื่องสิทธิ หน้าที่ เพราะคนงานโรงงานส่วนใหญ่จบ ปวช. มัธยม แม้กระทั่งจบปริญญาตรีก็เยอะ ที่สำคัญคือหลักสูตรการศึกษาไม่พูดเรื่องกฎหมายแรงงานไว้ในนั้นเลย แม้กระทั่งการทำงานไม่มีเวลาพัก ยังไม่รู้ว่านั่นเป็นสิทธิของตัวเอง”
บุญยืน สุขใหม่
ทำยังไง ? เมื่อถูกเลิกจ้าง… เพื่อให้ได้กลับเข้าทำงาน หรือได้รับเงินชดเชยตามกฎหมาย
สิ่งที่ง่ายที่สุดที่ บุญยืน แนะนำ คือ อย่าเซ็น เพราะมีหลายกรณีที่เข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องในชั้นศาลแล้วลูกจ้างชนะคดี ไม่ว่าจะได้รับเงินชดเชย หรือได้กลับเข้าไปทำงานก็ตาม
- บันทึก หรือเขียนพฤติการณ์ข่มขู่ให้ชัดเจน ทั้งคลิป หรือเสียงการสนทนาบังคับข่มขู่ หรือการเขียนเป็นบันทึกการสนทนาอย่างละเอียดเพื่อเป็นหลักฐาน
- ร้องเรียนหรือร้องทุกข์ ณ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ควรดำเนินการทันที หรือเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้
- ฟ้องคดีต่อศาลแรงงาน ถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ในกรณีที่มีการเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม หากนายจ้างไม่สามารถรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานได้ลูกจ้างต้องได้รับเงินชดเชยอย่างเพียงพอ
ทั้งนี้หากพนักงานถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม สามารถดำเนินการได้ ดังนี้
- ยื่นคำร้องต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หากเห็นว่าถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม พนักงานสามารถร้องเรียนเพื่อให้มีการเจรจาไกล่เกลี่ย
- ฟ้องร้องต่อศาลแรงงาน หากนายจ้างไม่ยอมจ่ายค่าชดเชย พนักงานสามารถฟ้องร้องศาลแรงงานเพื่อเรียกร้องสิทธิที่พึงมี
- ร้องเรียนต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ
การรู้สิทธิ์ หน้าที่ ของแรงงานไทยเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะกระตุ้นความรับผิดชอบของนายจ้างในการเยียวยาแก่แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในระบบอุตสาหกรรม รวมถึงมาตรการที่ชัดเจน และการสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อให้ปัญหานี้ได้รับการแก้ไขอย่างทั่วถึง และเป็นระบบ ไม่ต้องไปถึงกระบวนการฟ้องร้องที่ยาวนานที่ภาระต้องตกเป็นของลูกจ้าง
ชมย้อนหลังสารคดี คน จน เมือง ซีซัน 5 ตอน “ลอยแพ”