นับถอยหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี วันที่ 11 พฤษภาคม 2568 ที่อาจเป็นครั้งแรกของผู้มีสิทธิเลือกตั้งหลายคน หลังมีการเปลี่ยนแปลงสถานะขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งนับจากการเลือกตั้งเทศบาลครั้งล่าสุดเมื่อปี 2564
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษอย่างกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา ซึ่งถือว่าเทศบาลเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักการกระจายอำนาจที่เก่าแก่ที่สุดของไทยถึง 92 ปีนับตั้งแต่ปี 2476 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 ได้กำหนดประเภทของเทศบาลไว้ 3 ประเภท ได้แก่ เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร โดยได้รับอิทธิพลการแบ่งลำดับชั้นของเทศบาลจากประเทศญี่ปุ่น
- อ่านเพิ่ม: อบต. VS เทศบาลตำบล ต่างกันอย่างไร ?
- รับชมเพิ่ม: รู้จักเทศบาล ใน 5 นาที ก่อนไปเลือกตั้ง

“เทศบาลตำบล” มาจากการยกระดับของ อบต. ที่อาจเป็น อบต.แห่งเดียว หรือเป็นการควบรวมกันของ อบต.หลายแห่งก็ได้ ตามที่กระทรวงมหาดไทยพิจารณาถึงศักยภาพ
“เทศบาลเมือง” จะต้องเป็นที่ตั้งของศาลากลางจังหวัด หรือมีประชากร 10,000 คนขึ้นไป โดยต้องมีรายได้เพียงพอที่จะปฏิบัติหน้าที่
“เทศบาลนคร” ต้องมีประชากร 50,000 คนขึ้นไป และต้องมีรายได้เพียงพอที่จะปฏิบัติหน้าที่ที่เพิ่มขึ้นด้วย
อาจกล่าวโดยง่ายว่าประเภทของเทศบาลจะถูกแบ่งระดับตามจำนวนประชากรและศักยภาพทางเศรษฐกิจ การถูกยกระดับทำให้ท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่เพิ่มมากขึ้น สามารถบริหารจัดการและพัฒนาท้องถิ่นตนเองได้คล่องตัวมากขึ้น ทั้งการใช้งบประมาณและการจัดหารายได้
เทศบาลนครจึงมีบทบาทหน้าที่ตามกฎหมายที่กำหนดให้ต้องทำมากที่สุด ขณะที่อีกหลายด้านกฎหมายได้เปิดให้เป็น “กิจการที่จัดทำได้” แก่เทศบาลเมืองและเทศบาลตำบล หากต้องการดำเนินงานเหล่านี้ตามกำลังของตน แต่ไม่เป็นการบังคับ

นายกเทศบาล และสภาเทศบาล
ประเภทเทศบาลยังส่งผลถึงการกำหนดขนาดขององค์การเทศบาล ฝ่ายบริหารประกอบด้วยนายกเทศมนตรี 1 คนที่มาจากการเลือกตั้ง และรองนายกเทศมนตรี ที่ปรึกษา เลขานุการ ที่มาจากการแต่งตั้งของนายกเทศมนตรี จะแต่งตั้งจำนวนได้มากน้อยเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับประเภทของเทศบาล ที่หลายครั้งพบว่าเป็นการแต่งตั้งคนในครอบครัว อย่างไรก็ตามไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 14 พ.ศ.2562
- เทศบาลตำบล: นายกเทศมนตรี 1 คน รองนายกเทศมนตรีไม่เกิน 2 คน ที่ปรึกษาและเลขานุการของนายกเทศมนตรี รวมกันไม่เกิน 2 คน
- เทศบาลเมือง: นายกเทศมนตรี 1 คน รองนายกเทศมนตรีไม่เกิน 3 คน ที่ปรึกษาและเลขานุการของนายกเทศมนตรี รวมกันไม่เกิน 3 คน
- เทศบาลนคร: นายกเทศมนตรี 1 คน รองนายกเทศมนตรีไม่เกิน 4 คน ที่ปรึกษาและเลขานุการของนายกเทศมนตรี รวมกันไม่เกิน 5 คน
แม้เทศบาลจะเป็น อปท.ที่มีมานาน แต่การเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเกิดขึ้นภายหลังปี 2546 โดยก่อนหน้านั้นประชาชนได้เลือกเพียงสมาชิกสภาเทศบาล ที่สภานี้จะเลือกนายกเทศมนตรีอีกทีหนึ่ง
สภาเทศบาลทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งสภา ส่วนประธานและรองประธานสภาเทศบาลนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดลงนามแต่งตั้งจากการลงมติกันเองของสมาชิกสภาเทศบาล และเทศบาลแต่ละประเภทก็มีจำนวนสมาชิกสภาแตกต่างกันเช่นกัน
- เทศบาลตำบล 12 คน (จากเขตเลือกตั้ง 2 เขต เขตละ 6 คน)
- เทศบาลเมือง 18 คน (จากเขตเลือกตั้ง 3 เขต เขตละ 6 คน)
- เทศบาลนคร 24 คน (จากเขตเลือกตั้ง 4 เขต เขตละ 6 คน)

เงินเดือนที่นายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาลได้รับ จะขึ้นอยู่กับรายได้ของเทศบาลในปีงบประมาณที่ผ่านมา ไม่รวมเงินกู้ เงินสะสม และเงินอุดหนุนทุกประเภท ระเบียบกระทรวงมหาดไทยกำหนดเกณฑ์รายได้ตั้งแต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท จนถึงเกิน 300 ล้านบาท
สมาชิกสภาเทศบาลจะได้รับเงินเดือนเท่านั้น (ไม่รวมเบี้ยประชุม) มีเพียงนายกเทศมนตรีและรองนายกเทศมนตรีที่ได้รับค่าตอบแทนประจำตำแหน่งและค่าตอบแทนพิเศษด้วย จากเกณฑ์รายได้เทศบาลนี้ทำให้นายกเทศมนตรีมีเงินเดือนและค่าตอบแทนรวมกันอยู่ในช่วง 14,280 – 75,530 บาท


กดดูรายละเอียดเงินเดือนแบบตาราง
รายได้เทศบาล | นายกเทศมนตรี | รองนายกเทศมนตรี | เลขานายกฯ | ที่ปรึกษานายก | ประธานสภาเทศบาล | รองประธานสภาเทศบาล | สมาชิกสภาเทศบาล | ||||||
เงินเดือน | เงินค่าตอบแทนประจำตำแหน่ง | เงินค่าตอบแทนพิเศษ | รวม | เงินเดือน | เงินค่าตอบแทนประจำตำแหน่ง | เงินค่าตอบแทนพิเศษ | รวม | เงินเดือน | เงินเดือน | เงินเดือน | เงินเดือน | เงินเดือน | |
เกิน 300 ล้าน | 55,530 | 10,000 | 10,000 | 75,530 | 30,540 | 7,500 | 7,500 | 45,540 | 19,440 | 13,880 | 30,540 | 24,990 | 19,440 |
100-300 ล้าน | 45,000 | 9,000 | 9,000 | 63,000 | 24,720 | 6,750 | 6,750 | 38,220 | 15,750 | 11,250 | 24,720 | 20,250 | 15,750 |
50-100 ล้าน | 30,000 | 8,000 | 8,000 | 46,000 | 16,500 | 6,000 | 6,000 | 28,500 | 10,500 | 7,500 | 16,500 | 13,500 | 10,500 |
25-50 ล้าน | 28,800 | 6,000 | 6,000 | 40,800 | 15,840 | 4,500 | 4,500 | 24,840 | 10,080 | 7,200 | 15,840 | 12,420 | 10,080 |
10-25 ล้าน | 27,600 | 4,000 | 4,000 | 35,600 | 15,180 | 3,000 | 3,000 | 21,180 | 9,660 | 6,900 | 15,180 | 8,900 | 9,660 |
9-10 ล้าน | 19,800 | 3,000 | 3,000 | 25,800 | 10,880 | 2,300 | 2,300 | 15,480 | 7,080 | 4,950 | 10,880 | 8,900 | 7,080 |
7-9 ล้าน | 17,400 | 2,800 | 2,800 | 23,000 | 9,600 | 2,100 | 2,100 | 13,800 | 6,080 | 4,340 | 9,600 | 7,860 | 6,080 |
5-7 ล้าน | 15,600 | 2,650 | 2,650 | 20,900 | 8,580 | 1,990 | 1,990 | 12,560 | 5,8200 | 3,900 | 8,580 | 7,020 | 5,460 |
3-5 ล้าน | 13,800 | 2,500 | 2,500 | 18,800 | 7,560 | 1,875 | 1,875 | 11,310 | 5,8200 | 3,440 | 7,560 | 6,200 | 4,820 |
1-3 ล้าน | 11,520 | 2,300 | 2,300 | 16,120 | 6,360 | 1,725 | 1,725 | 9,810 | 5,8200 | 2,880 | 6,360 | 5,180 | 4,030 |
ไม่เกิน 1 ล้าน | 10,080 | 2,100 | 2,100 | 14,280 | 5,520 | 1,575 | 1,575 | 8,670 | 5,8200 | 2,520 | 5,520 | 4,530 | 3,520 |
ที่มารายได้เทศบาล
รายได้เทศบาลมาจากแหล่งรายได้หลัก 3 ส่วน คือ
- ภาษี อากร ค่าธรรมเนียม และค่าปรับต่าง ๆ ทั้งที่เทศบาลจัดเก็บเอง หรือรัฐบาลจัดเก็บให้แล้วส่งต่อให้กับเทศบาล หรือภาษีที่รัฐบาลแบ่งสัดส่วนให้
- รายได้จากกิจการของเทศบาลเอง เช่น โรงรับจำนำ
- เงินอุดหนุนจากรัฐ คือเงินอุดหนุนทั่วไปและเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ
เมื่อจำแนกตามการจัดเก็บแบ่งเป็น รายได้ที่เทศบาลจัดเก็บเองได้ รายได้จากการจัดสรรของรัฐ และเงินอุดหนุนจากรัฐ
ในส่วนที่เทศบาลสามารถจัดเก็บเอง ได้แก่
- ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
- ภาษีโรงเรือนและที่ดิน
- ภาษีบำรุงท้องที่
- ภาษีป้าย
- อากรการฆ่าสัตว์
- อากรรังนกอีแอ่น
- ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและค่าปรับ
- รายได้จากทรัพย์สิน
- รายได้จากสาธารณูปโภคและการพาณิชย์
ส่วนที่รัฐบาลจัดเก็บแล้วจัดสรรให้ตามสัดส่วนที่กฎหมายกำหนด ได้แก่
- ภาษีและค่าธรรมเนียมรถยนต์
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม
- ภาษีธุรกิจเฉพาะ
- ภาษีสรรพสามิต
- ค่าภาคหลวงไม้
- ค่าภาคหลวงแร่
- ค่าภาคหลวงปิโตรเลียม
- รายได้จากกฎหมายอุทยานแห่งชาติ
- ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
- อื่น ๆ

จากข้อมูลของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น พบว่าปี 2566 รายได้ของเทศบาลส่วนใหญ่คือเงินอุดหนุน คิดเป็น 46% รองลงมาในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันคือรายได้ที่รัฐจัดสรรให้ 43% ขณะที่รายได้ที่เทศบาลจัดเก็บเองอยู่ที่ 11% สะท้อนว่าท้องถิ่นยังคงต้องพึ่งพางบประมาณจากรัฐอยู่มาก และแหล่งที่มารายได้ที่ให้เทศบาลจัดเก็บเองได้นั้นยังน้อย
ปัจจุบันประเทศไทยมีเทศบาลทั้งหมด 2,474 แห่ง เป็นเทศบาลตำบล 2,218 แห่ง เทศบาลเมือง 221 แห่ง และเทศบาลนคร 35 แห่ง และในปีนี้มี อบต. 3 แห่งได้ขยับสถานะเป็นเทศบาล และเทศบาล 33 แห่งได้เปลี่ยนแปลงฐานะประเภทเทศบาล
แต่การเลือกตั้งวันที่ 11 พฤษภาคมนี้ไม่ได้เลือกทุกแห่ง โดยจะมีการเลือกตั้ง 2,469 แห่ง เป็นการเลือกตั้งทั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี 2,121 แห่ง (บัตร 2 ใบ) และที่เลือกเฉพาะสมาชิกสภาเทศบาล 348 แห่ง (บัตร 1 ใบ) เนื่องจากเทศบาลเหล่านี้ได้มีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีไปก่อนแล้วด้วยเหตุผลอื่นที่ไม่ใช่การครบวาระ เช่น ลาออก เสียชีวิต และจะมีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี ประชาชนสามารถตรวจสอบว่าตนเองมีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่ ได้ที่ https://boraservices.bora.dopa.go.th/election/enqelection-local/