อีกไม่กี่วัน คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ภายใต้การนำของ แพทองธาร ชินวัตร จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เต็มรูปแบบ หลังนำคณะรัฐมนตรีใหม่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณวันนี้ (6 ก.ย. 67) ก่อนเตรียมแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา
จะเรียกว่า รัฐบาลใหม่ ก็อาจเรียกได้ไม่เต็มปากเท่าไรนัก นั่นเพราะในจำนวน 36 เก้าอี้รัฐมนตรี มีคนใหม่ป้ายแดงไม่ถึงครึ่ง หรือ 13 คนเท่านั้น แต่สังคมก็ยังให้ความสนใจการแถลงนโยบายฯ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้า เพื่อรอลุ้นว่าจะมีนโยบายใหม่ ๆ ออกมาให้เห็นกันบ้างหรือไม่ หรือนโยบายไหนจะหายไปบ้างหรือเปล่า ?
นั่นเพราะได้รับคำยืนยันจาก นายกรัฐมนตรี ที่ย้ำความมั่นใจกับประชาชนก่อนหน้านี้ ว่า สิ่งที่ดีที่สุดในรัฐบาลชุดนี้ คือการมีทีมที่ดีมาก ภายใต้ภาพลักษณ์ นายกฯ คนรุ่นใหม่ อายุน้อยที่สุด
The Active กางอายุของ ครม. ใหม่ป้ายแดง โดยเทียบกับอายุมัธยฐาน หรือค่ากลางของคนไทย อ้างอิงข้อมูลจาก องค์การสหประชาชาติ และ World Population Prospects ที่เก็บข้อมูลประชากรไทยตั้งแต่ ปี 2493 – 2566 ได้คาดการณ์ ‘อายุมัธยฐานประชากรไทย’ ในปี 2567 อยู่ที่ 40.1 ปี หมายความว่า ถ้านำประชากรทั้งประเทศไทยมายืนเรียงอายุจากน้อยไปหามาก คนที่ยืนอยู่ตรงกลางแถว จะมีอายุอยู่ที่ 40 ปี ซึ่งแปลผลได้ว่า ‘ประเทศไทยเป็นประชากรสูงอายุ’
โดยนัยสำคัญ คือ แม้ประชากรไทย ถูกแปลผลเป็นประชากรสูงอายุ แต่พบว่าในเวลานี้ ฝ่ายบริหาร คือ นายกฯ แพทองธาร รวมถึงรัฐมนตรีจำนวนหนึ่งใน ครม. เช่นเดียวกับ ผู้นำฝ่ายค้าน คือ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ จากพรรคประชาชน ล้วนมีอายุต่ำกว่าเกณฑ์ค่ากลางอายุของประชากรไทยแทบทั้งสิ้น ซึ่งก็ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยด้วย
หากลองเรียงลำดับอายุของ ครม.อุ๊งอิ๊ง 1 พบว่า มี 4 คน อายุน้อยกว่า 40 ปี โดยรัฐมนตรีที่อายุน้อยสุด คือ จิราพร สินธุไพร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จากพรรคเพื่อไทย อายุ 37 ปี รองลงมาคือ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี อายุ 38 ปี เท่ากันกับ เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม ขณะที่ ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย จากพรรคภูมิใจไทย อายุ 39 ปี ซึ่งทั้งหมดเป็นทายาทจากตระกูลการเมือง
ส่วนรัฐมนตรีที่อายุระหว่าง 40-49 ปี มีอยู่ 6 คน อายุระหว่าง 50-59 ปี มีอยู่ 9 คน อายุระหว่าง 60-69 ปี 13 คน สุดท้ายอายุระหว่าง 70-79 ปี มีอยู่ 4 คน โดย ชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จากพรรคเพื่อไทย มีอายุมากที่สุดใน ครม.อุ๊งอิ๊ง 1 อยู่ที่ 76 ปี
แม้ แพทองธาร จะพยายามบอกว่า ตัวเองเป็น นายกฯ ที่อายุน้อยที่สุด แต่ภาพรวม ครม. กลับไม่เป็นเช่นนั้น โดยทั้ง ครม.อุ๊งอิ๊ง 1 มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 56.8 ปี และอายุมัธยฐานอยู่ที่ 58.5 ปี (หมายถึงว่าครึ่งหนึ่งของ ครม. มีอายุมากกว่า 58.5 ปี) แสดงให้เห็นถึงการกระจายตัวของอายุ ครม. ที่มีลักษณะเบ้ซ้าย (Left Skewed) ส่วนหนึ่งเพราะมีการกระจุกตัวในช่วงอายุ 50-69 ปี อาจเกิดการตั้งคำถามได้ว่า แม้นายกฯ จะอายุน้อยก็จริง แต่ท้ายที่สุดแล้วภาพลักษณ์การทำงานในอนาคตจะเป็นแบบที่คนรุ่นใหม่คาดหวังจริงหรือไม่
นอกจากอายุแล้ว หากลองดูจากรายชื่อ ครม. อุ๊งอิ๊ง 1 แม้มีคนหน้าใหม่ แบบไม่เคยเป็นรัฐมนตรีมาก่อนเลยถึง 9 คน รวมนายกรัฐมนตรีด้วย แต่อายุก็ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะบอกได้ว่า ความคิดความอ่านจะ ‘ใหม่’ หรือ ‘เก่า’ เพราะต้องยอมรับว่า ตำแหน่งรัฐมนตรีป้ายแดงของหลาย ๆ คน แลกมาด้วยการส่งต่ออำนาจจากตระกูลการเมือง และครอบครัวบ้านใหญ่แทบทั้งสิ้น จนมีเสียงวิจารณ์ถึงการเป็น ครม.โควตาของครอบครัว
อย่าง นายกฯ อุ๊งอิ๊ง ที่ก็เห็นภาพชัดเจน มี ทักษิณ ชินวัตร ใช้สิทธิ์ครอบครองในฐานะพ่อเป็นเงาตามตัว จนนักวิเคราะห์การเมืองมองว่านี่เป็นบทพิสูจน์ที่ นายกฯ อุ๊งอิ๊ง ต้องสลัดภาพทักษิณออกไป แล้วใช้ฝีมือของตัวเองในฐานะนายกฯ คนรุ่นใหม่ บริหารประเทศให้ได้
อีกคน คือ ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ ลูกสาวของ ชาดา ไทยเศรษฐ์ โดยเข้าสู่เส้นทางการเมือง ด้วยการเป็นคณะทำงาน รมช.มหาดไทย ของพ่อ ซึ่งรอบนี้ส้มหล่นได้เป็น รมช.มหาดไทย แทนพ่อ จากโควตาพรรคภูมิใจไทย
ขณะที่ อัครา พรหมเผ่า อายุ 52 ปี น้องชาย ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ต้องหลุดจาก ครม.ใหม่ เลยส่งน้องชายมาแทน นั่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในโควตาของพี่ชาย
สืบทอดอำนาจ…จากรุ่นสู่รุ่น
ประเด็นหนึ่งที่เห็นได้จาก ครม. ชุดนี้ ผ่านมุมมองของ ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ บุคคลใน ครม.อุ๊งอิ๊ง 1 ล้วนมาจากตระกูลทางการเมืองทั้งสิ้น โดยมีทั้งตระกูลที่มีบทบาททางการเมืองมาอย่างยาวนาน และตระกูลที่เพิ่งเข้ามามีบทบาททางการเมือง ซึ่งเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “การสืบทอดอำนาจทางการเมืองจากรุ่นสู่รุ่น”
“ในทางรัฐศาสตร์ เมื่อพูดถึงตระกูลทางการเมือง ที่มีการสืบทอดอำนาจจากรุ่นสู่รุ่น ก็จะประเมินผ่านตัวชี้วัดที่หลากหลาย อย่างการประเมินในเชิงปริมาณ ซึ่งไม่สามารถประเมินได้กับสถานการณ์ของสังคมไทยในปัจจุบัน เพราะจะต้องมองให้ลึกไปมากกว่าจำนวนคนในตระกูลที่มีตำแหน่งทางการเมือง แต่จะต้องมองไปถึงการเตรียมการว่า มีการวางแผนอย่างเป็นระบบหรือไม่”
ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
อย่างไรก็ตาม แม้มีการเตรียมการณ์จากนักการเมืองรุ่นใหญ่ เพื่อให้คนรุ่นลูกในตระกูลของตนเอง มีพื้นที่ทางการเมืองต่อไป แต่ก็ไม่ได้รับประกันว่า ประสบผลสำเร็จ เพราะจากงานวิจัยของนิวซีแลนด์ ที่ตนเคยศึกษา พบว่า ตระกูลทางการเมืองของไทย ‘ผู้หญิง’ มักจะมีบทบาท และอำนาจมากกว่าผู้ชาย
โดยอาจจะมาจากอุบัติเหตุทางการเมืองที่ทำให้หาผู้สืบทอดอำนาจต่อไม่ได้ หรือบางตระกูลไม่ได้ตั้งใจเป็นตระกูลทางการเมือง แต่มีความจำเป็นจะต้องรักษาอำนาจทางการเมืองไว้ เช่นเดียวกับ แพทองธาร ที่มีภาพลักษณ์ไปในทางธุรกิจเสียมากกว่าภาพลักษณ์นักการเมือง เมื่อเทียบกับนักการเมืองหลายคนที่มีการสืบทอดอำนาจจากรุ่นใหญ่ จนสุดท้ายต้องกลายมาเป็นนักการเมืองในที่สุด
ผศ.พิชญ์ ย้ำท้ายว่า ความคาดหวังที่จะเห็นนักการเมืองรุ่นใหม่ มีอุดมการณ์ก้าวหน้า หรือความคิดแบบคนรุ่นใหม่ใน ครม.แพทองธาร ไม่สามารถคาดหวังได้ว่าจะต้องเป็นไปตามอุดมคติของใครหลายคน เพราะคนเหล่านี้ล้วนมาจาก “การสืบทอดอำนาจทางการเมืองจากรุ่นสู่รุ่น” ที่อาจจะยังยึดโยงอยู่กับอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม หรือเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ในอุดมคติของตระกูลตนเอง ซึ่งต้องการรักษาฐานอำนาจทางการเมืองไว้เพื่อให้ตระกูลมีพื้นที่ทางเมืองและคงอำนาจนี้ต่อไป