เราจดจำและพูดถึง “บาดแผลเดือนตุลาฯ” อย่างไรบ้าง

เดือนตุลาคมในทุกปี เวียนมาครบรอบเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลายเหตุการณ์ โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่ถูกเรียกว่า “เหตุการณ์เดือนตุลาฯ” อันได้แก่ เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 (หรือวันมหาวิปโยค) ซึ่งปีนี้ครบรอบ 51 ปี และเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 (หรือการสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ซึ่งครบรอบ 48 ปี

แม้จะเป็นประวัติศาสตร์ที่เกิดในเดือนตุลาคมทั้งคู่ และมีระยะเวลาที่ห่างกันไม่ถึงสามปี แต่ก็มีความแตกต่างอย่างลิบลับ เริ่มต้นด้วยชัยชนะของประชาชนในวันที่ 14 ต.ค. 2516 ที่สามารถขับไล่เผด็จการทหารออกจากประเทศได้สำเร็จ ตามมาด้วยกระแสตื่นตัวและเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ ก่อเกิดอุดมการณ์ทางการเมืองที่หลากหลาย ก่อนที่จะถูกสังหารและปราบปรามอย่างรุนแรงในรุ่งเช้าของวันที่ 6 ต.ค. 2519 ตามมาด้วยการรัฐประหารในเย็นวันเดียวกัน และหวนกลับคืนสู่การปกครองของเผด็จการทหารอีกครั้ง

ธงชัย วินิจจะกูล นักประวัติศาสตร์ เรียกเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่ “ลืมไม่ได้ จำไม่ลง” อยากจำก็จำได้ยาก อยากลืมก็ลืมไม่สำเร็จ เป็นภาวะอิหลักอิเหลื่อที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

The Active ชวนย้อนมองเหตุการณ์ดังกล่าว แม้เวลาผ่านล่วงเลยไปเกือบครึ่งศตวรรษ ผ่านการรวบรวมข้อมูลการพูดถึงบนโลกโซเชียลโดยใช้เครื่องมือ Zocial Eye ในระยะเวลากว่าครึ่งปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค. – 14 ต.ค. 2567) ว่าผู้คนต่างจดจำและพูดถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์บาดแผลที่ “ลืมไม่ได้ จำไม่ลง” นี้ในโมงยามปัจจุบันอย่างไรบ้าง

ประวัติศาสตร์ใน ‘ธรรมศาสตร์’

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี พ.ศ. 2516 ถูกใช้เป็นพื้นที่เรียกร้องรัฐบาลปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุม ก่อนที่จะมีการเคลื่อนขบวนออกจากมหาวิทยาลัย ไปยังลานพระบรมรูปทรงม้าในวันที่ 13 ต.ค. 2516 ก่อนกลายเป็นการปะทะกันระหว่างประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐในวันที่ 14 ต.ค. 2516

ในปี 2519 มหาวิทยาลัยแห่งนี้ก็เป็นสถานที่นักศึกษาและประชาชนมาชุมนุมร่วมกันเพื่อต่อต้านการเข้ามาของจอมพลถนอม กิตติขจร อดีตผู้นำเผด็จการทหาร ก่อนจะเป็นสถานที่เกิดเหตุการณ์การสังหารหมู่ขึ้น มีผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการ 41 คน (อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์อย่างไม่เป็นทางการว่ามีผู้เสียชีวิตกว่าพันคน)

ปัจจุบันมีการใช้ชื่อ “ธรรมศาสตร์” ในการระบุเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มากขึ้น เช่นการใช้ #สังหารหมู่ธรรมศาสตร์ ในโลกโซเชียลมีเดีย นอกจากนี้ยังมีการระบุความสัมพันธ์เชิงพื้นที่ยังว่า สถานที่เกิดเหตุอย่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่ใกล้สถานที่สำคัญ ๆ ของชาติ เช่น พระอารามหลวง นำมาสู่การตั้งคำถามว่าเหตุใดจึงมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในพื้นที่กลางเมืองหลวงขึ้น

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ยังเป็นสถานที่ที่มีการจัดงานรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ในทุกปี มีการทำพิธีสงฆ์ทำบุญตักบาตรเพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่ผู้เสียชีวิต การวางดอกไม้และพวงมาลา การกล่าวปาฐกถา และวงเสวนา โดยในปี 2567 ถือเป็นปีที่ 48 ปี ของการครบรอบเหตุการณ์ดังกล่าว

ในขณะที่การรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ จัดขึ้นที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา 16 บริเวณแยกคอกวัว ซึ่งอุทิศให้แก่วีรชน 14 ตุลาฯ 2516 เพียงอย่างเดียว

ย้ำรัฐต้องระวัง หวั่นซ้ำรอย ‘สังหารหมู่’

เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มีอีกชื่อเรียกว่าการสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat massacre) เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ล้อมปราบพลเรือนที่รุนแรงที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในสังคมไทย ในวันเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ได้ปิดทางเข้า-ออกของมหาวิทยาลัย และใช้อาวุธสงครามในการโจมตีผู้ที่มาเข้าร่วมชุมนุม

โลกโซเชียลนอกจากจะมีการใช้ #สังหารหมู่ธรรมศาสตร์ ควบคู่กับ #6ตุลา แล้ว ยังมีโพสต์ที่เน้นย้ำถึงการใช้คำว่า “สังหารหมู่” เช่น การเรียกชื่อเหตุการณ์ว่า “การสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” โดยมองว่าการใช้คำว่า “6 ตุลาฯ” ตามที่ระบบการศึกษาและสื่อเรียกใช้ อาจดูเป็นการลดทอนความรุนแรงให้กลายเป็นเพียงวันธรรมดาวันหนึ่ง และเน้นย้ำให้รัฐต้องคำนึงถึงและระวังการสร้างวาทกรรมชาตินิยมหรือวาทกรรมคลั่งชาติ ที่ทำให้คนหันมาฆ่ากันเองหรือเกิดการสังหารหมู่ซ้ำรอย

‘คอมมิวนิสต์’ เรื่องเล่า-แปะป้าย-ยอมรับ

ช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ส่งผลให้เกิดกระแสแนวคิดทางการเมืองหลากหลายกระแส ไม่ว่าจะเป็น สังคมนิยม คอมมิวนิสต์ อนุรักษนิยม ฯลฯ ซึ่งส่งอิทธิพลต่อการประท้วงและเรียกร้อง อย่างไรก็ตาม ฝ่ายขวาหรือฝ่ายอนุรักษนิยมได้มีการนำคำว่า “คอมมิวนิสต์” มาใช้เป็นเครื่องมือในการลดทอนขบวนการนักศึกษา เช่น กรณีพระกิตติวุฑโฒ ที่ให้สัมภาษณ์นิตยสารจัตุรัส ซึ่งต่อมากลายมาเป็นคำขวัญของฝ่ายขวาว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” รวมถึงการสร้างภาพจำว่าคอมมิวนิสต์จะทำลายสถาบันหลักของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ กลายมาเป็นการสร้างความชอบธรรมให้เกิดการสังหารหมู่ขึ้น

ปัจจุบันคำว่า “คอมมิวนิสต์” เป็นคำคำหนึ่งที่ถูกใช้อย่างกว้างขวางและหลากหลายความหมาย ในบางกรณีถูกใช้เป็นคำในแง่ลบไม่ต่างจากในอดีต เช่น การนำมาใช้แปะป้ายนิสิตนักศึกษาที่เข้าร่วมการชุมนุมเหตุการณ์เดือนตุลาฯ ในอดีต หรือแปะป้ายนักกิจกรรมทางการเมืองในปัจจุบัน เช่น คอมมี่ คอมมิวนิสต์หลงยุค เบียวซ้าย นอกจากนี้มีการพูดในเชิงขบขันว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ที่ชาวบ้านลุกขึ้นมา “กระทืบ” ก็เกิดจากเพราะอยากเป็นคอมมิวนิสต์แบบประเทศเพื่อนบ้านในสมัยนั้น

นอกจากคำในเชิงลบ ส่วนใหญ่เป็นการพูดถึงในเชิงข้อมูล เช่น บอกเล่าเรื่องราวของประชาชนและนักศึกษาที่เข้าป่าเพื่อเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) หรือโพสต์ของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักประวัติศาสตร์ ที่เสนอให้ยอมรับความจริงว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เป็นส่วนหนึ่งของสงครามกลางเมืองระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์และชนชั้นปกครองไทย

‘ภาพยนตร์ ละครเวที’ สะท้อนเดือนตุลาฯ

การบันทึกและจดจำเหตุการณ์เดือนตุลาฯ มีหลายวิธี นอกเหนือจากสื่อในรูปแบบหนังสือแล้ว ระยะหลังเริ่มมีการปรากฏและเล่าถึงในสื่อรูปแบบอื่น ๆ มากขึ้น เช่น ในภาพยนตร์ หรือแม้แต่ในรูปแบบละครเวที

เหตุการณ์เดือนตุลาฯ ถูกพูดถึงอีกครั้งในช่วงเดือนกันยายน 2567 (ก่อนการจัดงานรำลึกประมาณหนึ่งเดือน) เนื่องจากการเข้าฉายของภาพยนตร์ “ตาคลี เจเนซิส” ซึ่งภายในภาพยนตร์มีการเล่าถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มีการพูดถึงว่าเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน และปรากฎในละครเวที “รักดงดิบ” เล่าถึงการเข้าป่าเพื่อเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงภาพยนตร์อื่น ๆ ที่ปรากฎเหตุการณ์เดือนตุลาฯ เช่น คู่กรรม 2, 14 ตุลา สงครามประชาชน, ฟ้าใสใจชื่นบาน, ดาวคะนอง, เวลาในขวดแก้ว, เชคสเปียร์ต้องตาย ฯลฯ

กระทำการในนาม ‘สถาบัน’

นอกเหนือจากขบวนการนักศึกษาที่ก่อตัวขึ้นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ แล้ว ยังมีการก่อตัวของกลุ่มอนุรักษ์นิยมต่าง ๆ เช่น กลุ่มนวพล กระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน ที่มีบทบาทในการตอบโต้ขบวนการนักศึกษา รวมถึงการสร้างภาพจำว่ากลุ่มนักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ที่จะทำลายสถาบันหลักของประเทศ

ในฝั่งโลกออนไลน์ สรกล อดุลยานนท์ (หนุ่มเมืองจันทร์) คอลัมนิสต์ โพสต์บทสนทนาระหว่างพระไพศาล ระบุการฆ่ากันในวันที่ 6 ต.ค. 2519 เกิดจากการยึดมั่นว่า กระทำการกำจัดนักศึกษาเพื่อปกป้องสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แต่ถ้าเขาเหล่านั้นรักสถาบันเหล่านี้จริง ๆ ก็ควรที่จะทำดีต่อกัน ไม่ใช่ฆ่ากัน รวมไปถึงระบุคำพูดจากพระไพศาลว่า “หลายครั้งที่เราทำความไม่ถูกต้อง ในนามของความถูกต้อง”

นอกจากนี้ มีการหยิบยกพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานกับกลุ่มลูกเสือชาวบ้านที่มาชุมนุม ณ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2519 โดยศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองพันปฏิบัติการจิตวิทยา อย่างไรก็ตามโพสต์ดังกล่าวไม่ได้ระบุถึงที่มาที่ไปของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ แต่อย่างใด

“ข้าพเจ้าขอให้ทุกคนยิ้มแย้มและใจเย็นๆ ไม่มีอะไรที่แก้ไขไม่ได้ แต่ต้องค่อยแก้ค่อยไป บ้านเมืองตอนนี้กำลังต้องการความสามัคคีและกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่สำคัญ ฉะนั้นขอให้ทุกคนสลายตัวเสีย ถือว่าให้ของขวัญกับข้าพเจ้า ท่านเหนื่อยกันมามากแล้ว ขอให้กลับไปหลับนอนเสียให้สบาย ทุกคนโปรดทราบว่า สองล้นเกล้าฯ ทรงเป็นห่วง ไม่มีอะไรที่สองล้นเกล้าฯ จะเสียใจเท่ากับพวกเราฆ่ากันเอง ขอให้ทุกคนโชคดี”

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

‘ผู้หญิง-สตรี’ ส่วนสำคัญในกระบวนการ

ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ การโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการทหารส่งผลให้เกิด “การเมืองบนถนน” มากขึ้น มีการประท้วงเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ เช่น ปัญหาพืชผลการเกษตร ปัญหาค่าจ้าง จากหลายภาคส่วนนอกเหนือจากนักศึกษา เช่น ชาวนา กรรมกร หนึ่งในขบวนการที่มีความสำคัญคือขบวนการผู้หญิง ซึ่งมีความสำคัญในการเรียกร้องสิทธิสตรี เช่น จากกรณีการต่อสู้ของกรรมกรหญิงเพื่อเรียกร้องค่าแรงและสวัสดิการจากโรงงานกางเกงยีนส์ฮาร่าและโรงงานสแตนดาร์ดการ์เม้นท์

โลกออนไลน์มีการพูดถึงบทบาทของผู้หญิงในขบวนการ 6 ตุลาฯ รวมถึงสิ่งที่ต้องเผชิญ โดยระบุว่าไม่ว่าในยุคสมัยใดนักกิจกรรมหญิงก็ยังต้องเจอกับการคุกคามทางเพศหรือการถูกลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เปรียบเทียบกับกรณี 6 ตุลาฯ ที่ถูกบังคับให้ถอดเสื้อ การถูกล่วงละเมิทางเพศแม้เสียชีวิตไปแล้ว หรือแม้แต่ในปัจจุบันที่นักกิจกรรมหญิงบางคนก็ถูกข่มขู่คุกคามในประเด็นที่เกี่ยวกับทางเพศ

ชู ‘นิรโทษกรรม’ ประชาชน

ภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มีการจับกุมนักศึกษาที่เข้าร่วมเหตุการณ์นั้นเป็นจำนวนมาก โดยอัยการได้สั่งฟ้องจำเลย 18 คนขึ้นสู่ศาลทหาร ภายหลังได้มีการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ การชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฯ 4 – 6 ตุลาคม 2519 พ.ศ. 2521 ในสมัยรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ทำให้จำเลยคดี 6 ตุลาฯ และทุกคนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สังหารหมู่พ้นจากความผิดโดยสิ้นเชิงตามที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.

48 ปีหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ชัยธวัช ตุลาธน คณะก้าวหน้า เข้าร่วมพิธีรำลึก 6 ตุลาฯ กล่าวถึงการนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง โดยเทียบสถานการณ์ปัจจุบันกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ชัยธวัชระบุว่า ในอดีตที่ก็เคยมีการนิรโทษกรรมมาแล้ว รวมไปถึงการนิรโทษกรรมมาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ และเรียกร้องให้รัฐบาลมีการดำเนินการนิรโทษกรรมประชาชนโดยเร็ว

ในอดีตเคยมีการนิรโทษกรรมมาตรา 112 มาแล้ว ไม่ใช่เรื่องแปลก
และไม่เกี่ยวอะไรกับความจงรักหรือไม่จงรักภักดี

ชัยธวัช ตุลาธน

คนหัวเราะ ‘บุ้ง’ เสียชีวิต
ต่างอะไรกับเด็กหัวเราะคนตายใน 6 ตุลาฯ ?

เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2567 บุ้ง เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง ทะลุวัง นักกิจกรรมทางการเมือง เสียชีวิตจากการประท้วงอดอาหารเป็นระยะเวลา 110 วัน ผู้คนในโลกออนไลน์มีความคิดเห็นที่หลากหลาย ทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยนักโทษคดีทางการเมืองคนอื่น ๆ แสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิต รวมไปถึงการหัวเราะและแสดงความยินดีที่บุ้งเสียชีวิต

มีการพูดถึงและตั้งคำถามกับคนที่แสดงความยินดีที่บุ้งเสียชีวิต โดยเทียบกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ที่มีภาพถ่ายของนีล อูเลวิช ช่างภาพรางวัลพูลิตเซอร์ ปรากฏภาพของเด็กชายยืนยิ้มและหัวเราะขณะเฝ้ามองเหยื่อรายหนึ่งถูกแขวนคอใต้ต้นไม้และถูกเก้าอี้ทุบตี โดยเปรียบเทียบกับกรณีบุ้งเสียชีวิตว่า คนที่ยินดีเหล่านั้นต่างอะไรจากเด็กชายที่หัวเราะสะใจที่มีคนตายใน 6 ตุลาฯ มีการตั้งคำถามต่อว่าเราควรสะใจกับการตายของคนหนึ่งเพียงเพราะไม่ชอบเขาหรือไม่ หรือเพียงเพราะมองว่าบุ้งเป็นคนก้าวร้าว หยาบคาย จึงสมควรต้องตายเลยหรือ

รำลึก 14 ปี ‘เมษา-พฤษภา 53’
ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา 16

เหตุการณ์สลายการชุมนุม 10 เม.ย. 2553 หรือเหตุการณ์การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศเรื่องมาถึงแยกคอกวัว โดยรัฐบาลของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ขึ้นมาในวันที่ 7 เม.ย. 2553 เพื่อรับมือกับการชุมนุม โดยมี สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง เป็นผู้อำนวยการ และเรียกปฏิบัติการณ์ในวันที่ 10 เม.ย. 2553 ว่า “ขอคืนพื้นที่” มีการใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนปืนเพื่อสลายการชุมนุม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตรวมอย่างน้อย 66 ราย

มีการพูดถึงงานรำลึก 14 ปี การสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2567 ผ่าน #14ปีเมษาพฤษภา53 แม้เหตุการณ์นี้จะไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เดือนตุลาฯ โดยตรง แต่พื้นที่จัดงาน ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา 16 บริเวณแยกคอกวัว ถือเป็นพื้นที่ร่วมที่เกิดเหตุการณ์ทั้ง 14 ตุลาฯ และการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง จึงถูกใช้เป็นพื้นที่เพื่อจัดงานรำลึกและทวงความยุติธรรมให้คนเสื้อแดงด้วย

จาก 6 ตุลาฯ ถึง ‘ตากใบ’
ใช้ความรุนแรง-ลอยนวลพ้นผิด

เหตุการณ์ตากใบ หรือชื่อเต็มคือเหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2547 จากการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ต.พร่อน อ.ตากใบ รวม 6 คน นำไปสู่การสลายการชุมนุม ตามมาด้วยการล้อมจับกุม มีการจับมัดมือไพล่หลัง และให้นอนซ้อนทับกันเป็นชั้น ๆ ขึ้นรถบรรทุกทหาร ทำให้มีผู้เสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัว ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 85 ราย

โลกโซเชียลเปรียบเทียบเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ กับเหตุการณ์อื่น ๆ เช่น ตากใบปี 47 สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 53 การสลายการชุมนุมม็อบต่าง ๆ ปี 64 โดยมองว่า 6 ตุลาฯ คือต้นตอของการใช้ความรุนแรงในการปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมือง ส่งผลให้เกิดการใช้ความรุนแรงในการปราบปรามอื่น ๆ ตามมา

ในงานรำลึก 48 ปี 6 ตุลาฯ เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2567 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าคณะก้าวหน้า กล่าวรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ในช่วงหนึ่งมีการกล่าวถึงเหตุการณ์ตากใบ ที่คดีใกล้จะหมดอายุความ 20 ปี ในวันที่ 25 ต.ค. 2567 นี้ แต่ยังไม่สามารถนำผู้ต้องหามาขึ้นศาลได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดที่คนกระทำความผิดไม่เคยต้องรับผิดชอบ

อดีต-ปัจจุบันของ ‘คนเดือนตุลาฯ’

คนเตือนตุลาฯ เป็นคำเรียกกลุ่มคนที่เข้าร่วมชุมนุมหรือผ่านเหตุการณ์ทางการเมืองในเดือนตุลาคมมา ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 16 หรือ 6 ตุลาฯ 19 ซึ่งผู้เข้าร่วมชุมนุมส่วนใหญ่ ณ ตอนนั้นยังเป็นนักศึกษา เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ผู้คนบางส่วนหลบหนีเข้าป่าเพื่อร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ภายหลังคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 ในสมัยรัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่ใช้หลักการ “การเมืองนำการทหาร” นำมาสู่การออกจากป่าและการเสื่อมลงของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในที่สุด

ปัจจุบันคนกลุ่มนี้บางส่วนเข้ามามีบทบาทในแวดวงการเมือง โดยเฉพาะในฝ่ายรัฐบาล (ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพรรคเพื่อไทย) เช่น

  • ภูมิธรรม เวชยชัย (สหายใหญ่) ปัจจุบันเป็น รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม
  • พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช (สหายจรัส) ปัจจุบันเป็น เลขาธิการนายกฯ
  • จาตุรนต์ ฉายแสง (สหายสุภาพ) ปัจจุบันเป็น สส. เพื่อไทย
  • อดิศร เพียงเกษ (สหายสอง) ปัจจุบันเป็น สส. เพื่อไทย

จาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ร่วมเสวนา หัวข้อ “คนเดือนตุลาตายแล้วหรือยัง?” ในงานรำลึก 48 ปี 6 ตุลาฯ โดยเน้นย้ำความหมาย “อุดมการณ์เดือนตุลา” มองว่าบทเรียนต่าง ๆ ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ ก็มีประโยชน์ต่อการเดินหน้าของประชาธิปไตยประเทศทั้งนั้น

บางส่วนมีการพูดถึงอุดมการณ์ของคนเดือนตุลาฯ ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จากแต่ก่อนที่ประท้วงต่อต้านเผด็จการ ปัจจุบันกลับมีอุดมการณ์เปลี่ยนไป หรือย้ายฝั่งเสียงเอง ขณะที่บางคนมองว่าอาจจะหมดยุคของคนเดือนตุลาแล้ว เช่น อธึกกิต แสวงสุข (ใบตองแห้ง) คอลัมนิสต์ เคยเป็นหนึ่งในนักศึกษาที่เข้าป่า แนะคนเดือนตุลาควรสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น อย่าไปบอกว่าตัวเองรู้ดีกว่า

ข้อมูลข้างต้นอาจแสดงให้เห็นว่า การพูดถึงและจดจำต่างมีพลวัตของตัวเอง เพราะผู้คนไม่ได้พูดถึงเหตุการณ์เดือนตุลาฯ เพียงอย่างเดียว แต่มีการเชื่อมโยงและหาจุดร่วมของเหตุการณ์ความรุนแรงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นโดยรัฐหรืออาชญากรรมโดยรัฐอื่น ๆ จึงไม่แปลกที่จะเห็นแง่มุมของประวัติศาสตร์เหล่านี้มากขึ้น เช่น บทบาทสตรีในขบวนการเดือนตุลาฯ หรือเชื่อมโยงกับเหตุการณ์อื่น ๆ เช่น การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง เหตุการณ์ตากใบ การเสียชีวิตของบุ้ง และมีการเรียกร้องรัฐในประเด็นต่าง ๆ เช่น การนำผู้กระทำผิด (ในกรณีตากใบ) มาลงโทษเพื่อไม่ให้เกิดวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด การนิรโทษกรรมประชาชน การคืนความยุติธรรมให้ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต

คำถามที่สำคัญในวันนี้จึงอาจเป็น เราจะพูดถึง จดจำ และเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์บาดแผลเหล่านี้ได้บ้าง

อ้างอิง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธนธร จิรรุจิเรข

สงสัยว่าตัวเองอยากเป็นนักวิเคราะห์ data ที่เขียนได้นิดหน่อย หรือนักเขียนที่วิเคราะห์ data ได้นิดหน่อยกันแน่