ทันทีที่แนวคิดสร้าง ฝายดักตะกอน กลายเป็นทางเลือกที่ผู้มีอำนาจในรัฐบาล หวังให้เป็นหนึ่งในมาตรการแก้ไข และลดผลกระทบ สารหนู จากกิจการเหมืองทอง ในพื้นที่ต้นน้ำประเทศเมียนมา ซึ่งเวลานี้พบการปนเปื้อนลงสู่ แม่น้ำกก หลายฝ่ายก็กลับยิ่งตั้งคำถาม และแสดงความกังวล
วิธีการฟื้นฟูผลกระทบจากการปนเปื้อนของสารโลหะหนักในแหล่งน้ำด้วยวิธีการ สร้างฝายดักตะกอน อาจไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับเมืองไทย เพราะกระบวนการนี้ได้เคยถูกนำมาใช้แล้ว ในมหากาพย์การปนเปื้อนสารตะกั่ว ของลำห้วยคลิตี้ ในพื้นที่ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี

คลิตี้…หมู่บ้านเปื้อนพิษตะกั่ว
ไม่น้อยกว่า 20 ปีแล้ว ที่เรื่องราวของชุมชนกะเหรี่ยง บ้านคลิตี้ล่าง ถูกสื่อสารให้สังคมรับรู้ ถึงความยากลำบากในการใช้ชีวิต ที่ต้องเผชิญกับปัญหาสารพิษปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม
กิจการเหมืองและโรงแต่งแร่ตะกั่วของ บริษัท ตะกั่ว คอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบกิจการในชุมชนตั้งแต่ปี 2510 แต่เหตุการณ์ที่ทำให้สังคมไทยรู้จักบ้านคลิตี้ล่าง คือ การที่บ่อกักเก็บตะกอนหางแร่ตะกั่วพังทลายจากพายุ และไหลลงสู่ลำห้วยคลิตี้ ทำให้ตะกั่วปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง เมื่อปี 2541
พวกเขาเริ่มพบความผิดปกติจากแหล่งน้ำสำคัญของหมู่บ้าน เริ่มเน่าเหม็น สัตว์น้ำ สัตว์เลี้ยงตาย หลายคนเริ่มป่วย และเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ พวกเขาตัดสินใจยื่นหนังสือร้องเรียน ต่อกรมควบคุมมลพิษและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ปี 2542 กรมควบคุมมลพิษ เข้าตรวจสอบน้ำในลำห้วย พบว่า ปริมาณตะกั่วสูงเกินค่ามาตรฐาน จึงประกาศงดใช้น้ำและงดกินสัตว์น้ำในลำห้วย
ระหว่างปี 2542 – 2544 หน่วยงานสาธารณสุขเข้าตรวจเลือดชาวบ้าน 177 คน พบว่า 142 คน มีค่าตะกั่วในเลือดสูงกว่ามาตรฐาน ชาวบ้านใช้หลักฐานเหล่านี้เรียกร้องหาความเป็นธรรม และขอให้มีกระบวนการฟื้นฟูเยียวยาจากผู้เกี่ยวข้อง จนนำไปสู่การยื่นฟ้อง บริษัท ตะกั่วฯ และกรมควบคุมมลพิษ รวมแล้ว 3 คดี เป็นคดีปกครอง 1 คดี และคดีแพ่งอีก 2 คดี
ระยะเวลาล่วงเลยมาจนถึงช่วงปี 2556 ศาลปกครองสูงสุด พิพากษา ให้กรมควบคุมมลพิษ กำหนดแผนฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ จนกว่าจะพบว่า สารตะกั่วในลำห้วยไม่เกินค่ามาตรฐาน และชดใช้ค่าเสียหาย ชาวบ้าน 22 คน คนละ 177,199.55 บาท
ด้านคดีแพ่ง ที่มีการฟ้องร้อง 2 คดี ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อม พิพากษาให้บริษัทเหมือง จ่ายค่าเสียหายฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ 20,200,000 บาท และชดใช้ค่าเสียหายแก่ชาวบ้าน 151 คน เป็นเงิน 36,050,000 บาท พร้อมสั่งให้ผู้ประกอบกิจการเหมืองฯ จ่ายค่าฟื้นฟูลำห้วยเป็นการส่วนตัวด้วย

คลิตี้…ในช่วงเวลาแห่งการฟื้นฟู
30 ส.ค. 2560 กรมควบคุมมลพิษ ลงนามสัญญาจ้าง บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด ให้ดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ด้วยงบประมาณ 454 ล้านบาท กระทั่งปลายปี 2560 บริษัทได้เริ่มกระบวนการฟื้นฟูตามโครงการฯ โดยมีระยะเวลาดำเนินงาน 1,000 วัน หรือสิ้นสุดประมาณช่วงปลายปี 2563
นอกจากขั้นตอนการดูดตะกอนในลำห้วยที่ปนเปื้อนสารตะกั่วไปกำจัด แนวทางหนึ่งที่ถูกนำมาใช้เพื่อลดผลกระทบ คือ การสร้างฝายดักตะกอน และอีกหลายแนวทางที่ถูกนำมาใช้ในกระบวนการฟื้นฟู แต่โครงการในระยะแรก กลับเต็มไปด้วยข้อสังเกต ว่า กระบวนการฟื้นฟูอาจไม่เป็นไปตาม TOR การจ้าง รวมถึงยังพบขั้นตอนการปฏิบัติอีกหลายประเด็นที่ชาวบ้าน และนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม แสดงความกังวล ว่า อาจส่งผลให้ตะกอนดินที่ปนเปื้อนสารตะกั่วกลับมาฟุ้งกระจายในลำห้วยคลิตี้อีกครั้ง ที่สำคัญชาวบ้านมองว่า กระบวนการฟื้นฟูไม่ได้ผ่านการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
คลิตี้…ในวันที่ต้องตรวจการบ้านงานฟื้นฟู!
เพื่อหาคำตอบว่าแนวทางการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ตลอดกว่า 1,000 วัน ประสบความสำเร็จหรือไม่ ในเวลานั้นทีมนักวิจัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ตัวแทน มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) พร้อมด้วยตัวแทนชาวบ้านคลิตี้ จึงทำการเก็บตัวอย่างน้ำ สัตว์ และพืช ที่อยู่ในบริเวณลำห้วย ตรวจสอบหาค่าการปนเปื้อน
การเก็บตัวอย่าง น้ำ และตะกอนดินในลำห้วยคลิตี้ไปตรวจสอบที่ห้องปฏิบัติการ พบข้อมูลที่น่าสนใจ เพราะเมื่อนำค่าที่ได้ ไปเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยที่เคยตรวจวัดช่วงก่อน และระหว่างการฟื้นฟู ในปี 2561 พบว่า หลายจุด ค่าการปนเปื้อนไม่ลดลง และยังคงปริมาณการปนเปื้อนสูงเช่นเดิม

เช่น พื้นที่ต้นน้ำบ้านคลิตี้บน หรือ จุด KC2 จากความเข้มข้นของตะกั่วในตะกอนท้องน้ำ ปริมาณ 44,500 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในปี 2561 แต่หลังการฟื้นฟู ในปี 2563 พบความเข้มข้นของตะกั่วอยู่ที่ 65,291 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
ขณะที่บริเวณเหนือฝาย KC5 จากค่าความเข้มข้นตะกั่วในตะกอนท้องน้ำ ปริมาณ 1,190 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในปี 2561 แต่หลังการฟื้นฟูกลับเพิ่มเป็น 4,946 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เช่นเดียวกับค่าเฉลี่ยหลายจุด ที่ยังพบการปนเปื้อนของตะกั่วในปริมาณสูงระหว่าง 3,000 – 7,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม จะสังเกตได้ว่า แทบทุกจุดค่าความเข้มข้นของตะกั่วที่ปนเปื้อนในลำห้วยสูงเกินกว่าค่าเป้าหมายที่กรมควบคุมมลพิษกำหนดเอาไว้ ว่า หลังการฟื้นฟู ต้องมีค่าตะกั่วปนเปื้อนไม่เกิน 1,800 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

ทีมนักวิจัย ยังได้เก็บตัวอย่าง ปลา ในลำห้วยไปตรวจสอบ และพบค่าความเข้มข้นตะกั่วในปลาเกินค่ามาตรฐานเช่นกัน
- ในเนื้อปลา พบค่าความเข้มข้นตะกั่วสูงสุดอยู่ที่ 1.6 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0.93 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
- ในพุงปลา พบค่าความเข้มข้นตะกั่วสูงสุดที่ 18.20 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 9.18 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
- ในไส้ปลา พบค่าความเข้มข้นตะกั่วสูงสุดที่ 56.70 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 26.98 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
- ในเหงือกปลา พบค่าความเข้มข้นตะกั่วสูงสุดที่ 20 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 9.36 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
- ในก้างปลา พบค่าความเข้มข้นตะกั่วสูงสุดที่ 27.30 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 14.96 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
โดยที่ค่ามาตรฐานของสารตะกั่วในเนื้อปลา กำหนดไว้อยู่ที่ 0.3 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (น้ำหนักเปียก) เท่านั้น

ไม่ต่างจากพืช ผัก ที่ปลูก และขึ้นอยู่บริเวณลำห้วย นักวิจัยได้เก็บตัวอย่างไปตรวจสอบ ก็พบปริมาณตะกั่วปนเปื้อน เกินค่ามาตรฐานประกอบด้วย
- ผักกวางตุ้ง พบใบมีค่าตะกั่วปนเปื้อน 11 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม, ก้าน 5.94 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม, ราก 16.80 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
- ผักกูด พบใบมีค่าตะกั่วปนเปื้อน 41.70 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม, ต้น 18.30 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
- ผักบุ้ง พบใบมีค่าตะกั่วปนเปื้อน 1.35 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม, ลำต้น 0.61 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม, ราก 1.29 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
สำหรับค่ามาตรฐานของสารตะกั่วในผักใบ กำหนดไว้ที่ 0.3 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมเท่านั้น
ตั้งคำถามฟื้นฟูขาดประสิทธิภาพ ใครรับผิดชอบ!
ผศ.ธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ทีมผู้วิจัย และในฐานะกรรมการไตรภาคีเพื่อติดตามการดำเนินโครงการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่วฯ เคยให้สัมภาษณ์กับ The Active ในช่วงเวลานั้น โดยให้ข้อมูลว่า การตรวจพบค่าความเข้มข้นของตะกั่วที่ยังปนเปื้อน ทั้งในลำห้วยคลิตี้ ในสิ่งมีชีวิต และพืชผัก ปริมาณสูง สะท้อนถึงประสิทธิภาพการฟื้นฟู
“การฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ด้วยวิธีดูดตะกอนเสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2563 คำถามคือในช่วงเวลาเกือบ 2 เดือนก่อนหน้านั้น ที่นักวิจัยไปเก็บตัวอย่างในพื้นที่ จนนำมาสู่ผลตรวจสอบดังกล่าว ที่พบว่าค่าการปนเปื้อนของตะกั่วยังสูงอยู่ แล้วแบบนี้กรมควบคุมมลพิษจะรับผิดชอบอย่างไร เพราะคำสั่งศาลปกครอง ก็ระบุชัดเจนว่า ต้องฟื้นฟูลำห้วยให้กลับคืนสู่ค่ามาตรฐานให้ได้มากที่สุด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะบอกว่าการปนเปื้อนผ่านเกณฑ์ได้หรือไม่ เพราะหลายจุดยังเกินค่าเป้าหมายที่กรมควบคุมมลพิษกำหนดขึ้นเองหลายเท่า และเมื่อการฟื้นฟูไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์ ทั้งที่ใช้งบประมาณไปเกือบ 500 ล้านบาท ใครต้องรับผิดชอบ”
ผศ.ธนพล เพ็ญรัตน์
จากตอนนั้นที่ The Active ติดตามแนวทางการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ จนเวลาผ่านมาเกือบ 5 ปี ที่สถานการณ์การปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยดังกล่าว ได้กลายเป็นบทเรียนครั้งสำคัญให้กับกระบวนการฟื้นฟูในบ้านเรา
มาจนถึงวันนี้ ที่ประเทศไทยพบกับวิกฤตการปนเปื้อนที่อาจเรียกได้ว่าหนักหนาสาหัสมากกว่าลำห้วยคลิตี้จากมลพิษข้ามแดน ที่กำลังก่อวิกฤตทางสิ่งแวดล้อมครั้งใหม่ให้กับ แม่น้ำกก
ฝายดักตะกอน…บทเรียนจากคลิตี้ ถึง น้ำกก
จากบทเรียนการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ที่ถูกตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของกระบวนการ และหนึ่งในแนวทางที่เคยใช้ที่นั่น อย่าง การสร้างฝายดักตะกอน อาจถูกนำมาพิจารณาปรับใช้กับการฟื้นฟูสารหนูปนเปื้อนแม่น้ำกก
แม้ยังไม่มีใครตอบได้ชัดว่า ฝายจะถูกสร้างขึ้นจริงหรือไม่ แต่หลายฝ่ายก็เต็มไปคำถาม และความกังวล หนึ่งในนั้น คือ รศ.ธนพล ที่ให้สัมภาษณ์กับ The Active ล่าสุด ถึงสถานการณ์ในวันนี้ มองว่า การแก้ปัญหาน้ำกกปนเปื้อนสารหนู ต้องมองให้ครบวงจร ไม่เพียงเร่งสร้าง “ฝายดักตะกอน” แต่ต้องประเมินความเสี่ยง ปรับเป้าการฟื้นฟูน้ำให้ชัดเจน ควบคู่กับการเจรจาหยุดแหล่งกำเนิดมลพิษ

สำหรับมาตรการใช้ฝายดักตะกอน ถือเป็นแนวทางทางวิศวกรรมที่มีศักยภาพในการลดสารปนเปื้อน แต่ รศ.ธนพล ย้ำว่า การออกแบบจะต้องถูกต้อง มีการคำนวณรองรับ และสอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่ประชาชนกำลังเผชิญ
“ประเด็นคือ ต้องชัดเจนก่อนว่าเราจะลดความเสี่ยงขนาดไหน น้ำต้องสะอาดแค่ไหน แล้วค่อยตอบว่า เราต้องสร้างฝายกี่ฝาย ฝายขนาดไหน จึงจะบรรลุเป้าหมายนั้นได้”
ผศ.ธนพล เพ็ญรัตน์
ทั้งนี้ ฝายดักตะกอนต้องมีขนาดใหญ่เพียงพอ และออกแบบให้เหมาะสมกับลักษณะของอนุภาคสารหนูที่มักมาในรูปของสารแขวนลอยขนาดเล็ก ซึ่งตกตะกอนได้ยาก โดยเฉพาะในแม่น้ำที่มีความเร็วของน้ำไหลค่อนข้างสูงอย่างแม่น้ำกก จึงต่างจากกรณีลำห้วยที่น้ำไหลช้า เช่น ลำห้วยคลิตี้
“หลายคนพอพูดถึงฝายดักตะกอน ก็นึกถึงกรณีคลิตี้ ซึ่งไม่ได้ผล เพราะฝายนั้นไม่ได้ออกแบบมาดักตะกอนขนาดเล็ก ที่มีสารตะกั่วหรือแร่หนัก มันแค่ลดการตื้นเขินทั่วไป แต่ไม่ได้ดักตะกอนแขวนลอยที่ไหลผ่านน้ำได้”
ผศ.ธนพล เพ็ญรัตน์
รศ.ธนพล ยังชี้ว่าในต่างประเทศก็มีการใช้ระบบ Final filter หรือ ระบบกรองสุดท้าย ที่สามารถดักสารแขวนลอยได้บางส่วน แต่ยังต้องพิจารณาความเหมาะสมในบริบทของลำน้ำกกที่มีอัตราการไหลแรงและพื้นที่จำกัด
ที่สำคัญคือ การสร้างฝายไม่ใช่ทางออกระยะสั้น เพราะการออกแบบที่ถูกต้องอาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ และการก่อสร้างอาจกินเวลาอีกหลายสัปดาห์ ดังนั้น การสร้างฝายควรทำควบคู่กับมาตรการหยุดแหล่งกำเนิดมลพิษ
“ตอนนี้ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าแหล่งกำเนิดจากฝั่งประเทศเพื่อนบ้านหยุดปล่อยหรือไม่ ดังนั้น แม้เราจะบำบัดที่ปลายทาง ถ้าต้นทางยังปล่อยอยู่ ก็ไม่ยั่งยืน”
ผศ.ธนพล เพ็ญรัตน์
สำหรับลักษณะของฝายดักตะกอนนั้น รศ.ธนพล อธิบายว่า ไม่ใช่ระบบกรองน้ำโดยตรง แต่คล้ายกับ ถังตกตะกอน ขนาดใหญ่ที่อาศัยหลักการให้น้ำไหลช้า และนิ่งพอที่อนุภาคตะกอนจะตกลงก่อนน้ำจะไหลผ่านไป แต่หากอนุภาคมีขนาดเล็กมาก เช่น น้อยกว่า 1 ไมครอน ก็จะไม่สามารถตกตะกอนได้
โดยย้ำว่าเทคโนโลยีทางวิศวกรรมมีข้อจำกัด หากรัฐต้องการใช้เป็นทางออก ต้องกำหนดเป้าหมายฟื้นฟูที่ชัดเจน ออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญ ควบคู่กับการเจรจาระดับรัฐ เพื่อหยุดแหล่งกำเนิดมลพิษให้ได้
สร้างฝาย “ง่ายแต่หลอกตา” และอาจเป็นเพียงวาทกรรม ?
สอดคล้องกับมุมมองของ สืบสกุล กิจนุกร นักวิชาการ จากสำนักนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่ยอมรับว่า ข้อเสนอการสร้างฝายดักตะกอน กำลังกลายเป็นมาตรการที่รัฐบาลผลักดันอย่างแข็งขัน อาจเป็นแนวทางที่ดูเหมือนแก้ปัญหาได้ แต่แท้จริงแล้วเป็นเพียงหนึ่งใน 4 แนวทาง ซึ่งเป็นวิธีที่ง่าย และจับต้องได้ที่สุด จึงมักถูกหยิบมาใช้เพื่อแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลกำลังดำเนินการบางอย่าง
“เวลาจะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือภัยพิบัติ มักมี 4 แนวทางหลัก ได้แก่ การใช้เทคโนโลยีหรือโครงสร้างพื้นฐาน, การฟื้นฟูด้วยระบบนิเวศ, การใช้ความรู้ท้องถิ่น และ การสร้างความร่วมมือข้ามพรมแดน ซึ่งแนวทางที่ง่ายที่สุดคือ การสร้างโครงสร้าง เช่น ฝาย หรือขุดลอกแม่น้ำ มันเป็นสิ่งที่สื่อสารกับประชาชนได้ง่ายที่สุด”
สืบสกุล กิจนุกร
อย่างไรก็ตาม แนวทางที่ดูง่ายนี้อาจเป็นเพียงเครื่องมือวาทกรรมทางการเมือง ให้ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลกำลังแก้ปัญหา แต่เมื่อพิจารณารายละเอียดด้านวิศวกรรมแล้ว การสร้างฝายในพื้นที่ลุ่มน้ำขนาดใหญ่ไม่ใช่เรื่องง่าย และอาจไม่ตอบโจทย์ปัญหาเชิงโครงสร้างของมลพิษที่มีต้นทางจากประเทศเพื่อนบ้าน
“แม่น้ำกกยาวกว่า 185 กิโลเมตร แม่น้ำสายก็อีกกว่า 100 กิโลเมตร การจะควบคุมการไหลของสารปนเปื้อนได้จริง ต้องมองทั้งระบบ ไม่ใช่เฉพาะจุด อย่างกรณีห้วยคลิตี้ ต้องจัดการกับตะกอนปนเปื้อนนับแสนตัน การเคลื่อนย้ายตะกอนเหล่านั้น มักเผชิญการต่อต้านจากชุมชน
สืบสกุล กิจนุกร

หยุดพิษที่แหล่งกำเนิด ต้องมาก่อนทุกขั้นตอน!
หลายฝ่ายเห็นพ้องกันแล้วว่า แนวคิดสร้างฝายดักตะกอนปนเปื้อนในแม่น้ำกก และแม่น้ำสาย อาจยังไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืน หากยังไม่มีแผนงานที่ชัดเจน
“ประชาชนเองก็อยากเห็นแผนแบบครบกระบวนการ ไม่ใช่แค่ทำฝายแล้วจบ เพราะมันไม่จบแน่ ๆ สารก็จะยังไหลมาอยู่เรื่อย ๆ หรือหากจะใช้วิธีดูดตะกอน แล้วจะเอาไปทิ้งที่ไหน ? เรากำลังยอมรับของเสียจากต่างประเทศ แล้วเอามาฝังไว้ในบ้านเราเอง”
ผศ.ธนพล เพ็ญรัตน์
นักวิชาการ ย้ำว่า ในทางเทคนิคการจัดการปัญหาปนเปื้อนมลพิษในแหล่งน้ำ มี 3 แนวทางหลัก คือ
- ธรรมชาติบำบัด (ช้ามาก)
- การดักและดูดตะกอนออก
- การกักเก็บตะกอนในพื้นที่ (Settling basin หรือ Sedimentation cell)
“แต่ไม่ว่าเลือกแนวทางใด
ผศ.ธนพล เพ็ญรัตน์
การหยุดแหล่งกำเนิด ต้องมาก่อนทุกขั้นตอน”
ขนาดโรงแต่งแร่ และเหมืองตะกั่วต้นตอมลพิษในลำห้วยคลิตี้ ยุติกิจการไปก่อนจะเริ่มต้นกระบวนการฟื้นฟู 20 – 30 ปี และแค่ลำห้วยเล็ก ๆ เพียงไม่กี่กิโลเมตรที่พบการปนเปื้อนอย่างหนัก แต่กระบวนการฟื้นฟูยังแทบไม่ประสบความสำเร็จ นั่นทำให้การมองหาแนวทางจัดการสารหนูปนเปื้อนแม่น้ำกก ที่มีสภาพปัญหา และผลกระทบที่หนักหน่วงกว่าลำห้วยคลิตี้ จึงเป็นโจทย์ท้าทายอย่างยิ่งนับจากนี้…