(ลา)ออกก่อนได้เปรียบ : เทียบกลยุทธ์ ‘การเมืองท้องถิ่น’ นอกฤดูกาล

ฤดูกาลการเลือกตั้งท้องถิ่น กลับมาอีกครั้งในรอบเกือบ 4 ปี นับจากการเลือกตั้ง อบจ. พร้อมกันทั่วประเทศเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563 ช่วงนี้อาจได้เห็นภาพการหาเสียงของผู้สมัครปรากฏตามสื่อต่าง ๆ เห็นการประชันทั้งในเชิงฝีปากหาเสียง คำมั่นสัญญาในเชิงฝีมือว่าจะทำตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ ทั้งจากผู้สมัครอิสระ ผู้สมัครจากบ้านใหญ่ หรือแม้แต่ผู้สมัครจากพรรคการเมืองใหญ่ ๆ ก็ตาม

ขณะที่การเลือกตั้งพร้อมกันทั่วประเทศ ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ทั้งการเลือก นายก อบจ. และสมาชิกสภา อบจ. (ส.อบจ.) แต่ก็มีบางจังหวัด ที่เหลือเพียงเลือกตั้ง ส.อบจ. เท่านั้น เพราะได้ นายก อบจ. เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยก่อนหน้านี้ พร้อมเข้ามาบริหารงาน อบจ. โดยมีถึง 24 จังหวัดที่ได้ นายก อบจ. คนใหม่ (หรืออาจเป็นคนเดิมวาระใหม่) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นายก อบจ. เหล่านี้เป็นใครบ้าง ? ทำไม ? นายก อบจ. แต่ละจังหวัดถึงดำรงตำแหน่งไม่พร้อมกัน The Active รวบรวมข้อมูลการเลือกตั้งของท้องถิ่นไทย ในบรรดาจังหวัดที่มีการเลือกตั้งท้องถิ่น ปี 2565 – 2567 ที่ผ่านมาว่า มีจังหวัดไหนที่เลือกตั้ง นายก อบจ. เสร็จเรียบร้อยแล้ว ทำไม ? นายก อบจ. บางจังหวัดจึงต้องเลือกก่อน ทำไม ? บางคนเลือกลาออกก่อนครบวาระ แล้ว…ลาออกก่อนจะได้เปรียบจริงหรือไม่ ? ไปจนถึง นายก อบจ. ใหม่ มีความสัมพันธ์อย่างไรกับพรรคการเมืองบ้าง ?

กาปฏิทินรอ เลือกตั้ง อบจ. ปี 67
เหลืออีก 5 สนาม ปี 68 พร้อมกัน 76 สนามทั่วประเทศ

ในเดือนธันวาคม 2567 เหลือสนามการเลือกตั้งท้องถิ่นอีก 5 สนาม โดยทั้งหมดเป็นสนามการเลือกตั้งเฉพาะ นายก อบจ. เท่านั้น และยังไม่ได้เลือกตั้ง สมาชิกสภา อบจ. (ส.อบจ.) ประกอบด้วย

  • 1 ธ.ค. 67 : กำแพงเพชร

  • 15 ธ.ค. 67 : ตาก และเพชรบูรณ์

  • 22 ธ.ค. 67 : อุบลราชธานี และอุตรดิตถ์

เมื่อจบการเลือกตั้งในเดือน ธันวาคมนี้ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะเว้นช่วงไปอีก 1 เดือน จากนั้นจะเป็นการเลือกตั้ง ส.อบจ. พร้อมกัน 76 สนามทั่วประเทศอีกครั้ง (จังหวัดที่เลือกนายก อบจ. ไปก่อนหน้านี้แล้ว ก็ต้องกลับมาเลือกตั้งอีกรอบหนึ่ง) โดยแบ่งเป็น

  • จังหวัดที่ได้เลือก นายก อบจ. และ ส.อบจ. พร้อมกัน 47 จังหวัด

  • จังหวัดที่ได้เลือก ส.อบจ. อย่างเดียว 29 จังหวัด

ข้อมูลนี้อาจนำมาสู่คำถามที่ว่า เหตุใด 29 จังหวัด ประชาชนถึงได้เลือก ส.อบจ. ไม่พร้อมกับเลือก นายก อบจ. เหมือนจังหวัดส่วนใหญ่ อีก 47 จังหวัดที่เหลือ

เลือกตั้งไม่พร้อมกัน
เหตุ นายก อบจ. ชิงลาออกก่อน!

ในอดีต การเลือกตั้ง อบจ. ก็ไม่ได้เลือกพร้อมกัน เนื่องจากโครงสร้างของ อบจ. แบ่งออกเป็น สมาชิกสภา อบจ. (ส.อบจ.) และ นายก อบจ. ซึ่งต่างฝ่ายต่างมีอำนาจแยกกันอย่างชัดเจน วาระการดำรงตำแหน่งไม่เท่ากัน และไม่จำเป็นต้องเลือกพร้อมกัน เช่น การเลือก อบจ. ตรัง ในปี 2555 ซึ่งก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ในกรณีที่สามารถทำให้เลือกตั้งพร้อมกันได้ ก็ควรจะทำ เพื่อไม่ให้เปลืองงบประมาณจัดการเลือกตั้ง 2 รอบ

อย่างไรก็ตามการเลือกตั้ง อบจ. ทั่วประเทศ ถูกรีเซ็ต เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน ในปี 2557 ส่งผลให้การเลือกตั้ง อบจ. ทั้งประเทศว่างเว้นไปนานกว่า 6 ปี และได้กลับมาเลือกตั้ง นายก อบจ. และ ส.อบจ. พร้อมกันทั้ง 76 จังหวัด (ทุกจังหวัดยกเว้นกรุงเทพฯ) อีกครั้ง ในวันที่ 20 ธันวาคม 2563 ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 และ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562 เป็นครั้งแรก

โดยกฎหมายกำหนดว่า

  • นายก อบจ. จะมีวาระคราวละ 4 ปี นับตั้งแต่วันเลือกตั้ง (หากไม่ครบ 4 ปีก็ถือเป็น 1 วาระ) และดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้ หากดำรงตำแหน่ง 2 วาระติดต่อกันแล้วจะดำรงตำแหน่งได้อีกเมื่อพ้น 4 ปีนับแต่วันพ้นตำแหน่ง

  • สมาชิกสภา อบจ. จะมีวาระคราวละ 4 ปี

หมายความว่า หากไม่มีอะไรผิดพลาด นายก อบจ. และ ส.อบจ. ซึ่งมาจากการเลือกตั้งพร้อมกันเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563 ควรจะ หมดวาระพร้อมกันในวันที่ 19 ธันวาคม 2567 และ ควรมีการ เลือกตั้งพร้อมกันในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 (ตามที่ กกต. กำหนด) แต่นายก อบจ. ถึง 27 คน (ใน 27 จังหวัด) ชิงลาออกก่อนครบวาระ ทำให้ต้องเลือกตั้ง 2 รอบที่ไม่พร้อมกัน (ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียงบประมาณในการเลือกตั้งซ้ำสอง)

29 จังหวัด เลือกนายก อบจ. ก่อน
เกือบทั้งหมดลาออกเอง ก่อนหมดวาระ

หากพิจารณาแยกตามจังหวัด จะพบว่ามี 29 จังหวัด (จาก 76 จังหวัด) ที่เลือกตั้งอีกครั้ง หลังวันที่ 20 ธันวาคม 2563 แต่เลือกก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งสาเหตุการเลือกตั้งก่อน สามารถแยกได้เป็น 2 สาเหตุ

1. โดนสั่งเลือกตั้งใหม่ จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่

  • จ.กาฬสินธุ์ เนื่องจากศาลอุธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่าการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563 ไม่ได้เป็นไปอย่างบริสุทธิ์เที่ยงธรรม และมีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 14 สิงหาคม 2565

  • จ.ร้อยเอ็ด เนื่องจากศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิสมัครและสิทธิรับเลือกตั้งของ เอกภาพ พลซื่อ (นายก อบจ. ร้อยเอ็ด ในขณะนั้น) ด้วยข้อหาปราศรัยใส่ร้ายผู้สมัครคู่แข่งด้วยความเท็จ และมีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 25 กันยายน 2565

  • จ.ปทุมธานี ชาญ พวงเพ็ชร์ ได้รับการเลือกตั้งให้เป็น นายก อบจ. ปทุมธานี จากการเลือกตั้งในวันที่ 30 มิถุนายน 2567 แต่โดนใบเหลืองจาก กกต. เหตุจัดเลี้ยงและมหรสพเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้ตัวเอง ส่งผลให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 22 กันยายน 2567

2. ลาออกเองก่อนหมดวาระ โดยลาออกในช่วงปี 2566 – 2567 จำนวน 27 จังหวัด ได้แก่

  • ลาออกในปี 2566 : สระแก้ว และกาญจนบุรี

  • ลาออกในปี 2567 : เลย นครสวรรค์ อ่างทอง ปทุมธานี* ชัยนาท พะเยา อยุธยา ชัยภูมิ พิษณุโลก ราชบุรี ชุมพร ระนอง ยโสธร อุทัยธานี ขอนแก่น สุโขทัย สุรินทร์ เพชรบุรี นครศรีธรรมราช อุดรธานี กำแพงเพชร ตาก เพชรบูรณ์ อุบลราชธานี และอุตรดิตถ์

* จ.ปทุมธานี เป็นจังหวัดเดียวที่มีการเลือกตั้งในปี 2567 ทั้งหมด 2 ครั้ง โดยรอบแรกจากการที่ พล.ต.ท. คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง (นายก อบจ. ปทุมธานี ในขณะนั้น) ลาออกก่อนหมดวาระ มีการเลือกตั้งในวันที่ 30 มิถุนายน 2567 ได้ ชาญ พวงเพ็ชร์ ดำรงตำแหน่งนายก อบจ. ก่อนที่จะโดนใบเหลืองจาก กกต. ส่งผลให้มีการเลือกตั้งอีกครั้งในวันที่ 22 กันยายน 2567 ผลการเลือกตั้งได้ พล.ต.ท. คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง กลับมาดำรงตำแหน่ง นายก อบจ. ปทุมธานีอีกสมัย *

จะเห็นว่าอดีตนายก อบจ. เกือบทั้งหมด (25 จาก 29 คน) เลือกที่จะลาออกก่อนครบวาระ ในปี 2567 เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่

ลาออกก่อน อ้าง ‘รักษาผลประโยชน์ประชาชน’
รองลงมา ‘กังวลกฎหมายเลือกตั้ง’

จากข้อมูลข้างต้นเห็นว่า นายก อบจ. ถึง 27 คน เลือกลาออกก่อนหมดวาระ ซึ่งนอกจากจะเปลืองงบประมาณการเลือกตั้ง 2 รอบแล้ว การลาออกก่อน อาจสร้างข้อกังขา และความไม่พอใจให้กับประชาชนได้ แต่ละคนจึงระบุสาเหตุการลาออกที่ต่างกันออกไป The Active รวบรวมข้อมูลที่ปรากฏบนหน้าสื่อ ว่า อดีต นายก อบจ. แต่ละคนอ้างสาเหตุการลาออกก่อนครบวาระว่าอย่างไรบ้าง ?

สาเหตุจำนวน (คน)
รักษาผลประโยชน์ประชาชน12
กังวลกฎหมายเลือกตั้ง7
บริหารจัดการน้ำ / รับมือภัยพิบัติ4
โดนสั่งให้เลือกตั้งใหม่3
ไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับชาติ2
วางตัวเป็นกลาง2
อื่น ๆ2
ไม่ระบุ5
หมายเหตุ : นายก อบจ. 1 คนอาจมีสาเหตุลาออกได้หลายเหตุผล
อ่านข้อมูลดิบเพิ่มเติมได้ที่ : [Public] เลือกตั้ง อบจ. 2568

เหตุผลส่วนใหญ่ อ้าง ‘รักษาผลประโยชน์ประชาชน’ พูดถึงกฎ 180 วัน โดยระบุว่า ก่อนหมดวาระ 180 วัน ไม่สามารถดำเนินการช่วยเหลือประชาชนได้ จึงเปิดทางให้เลือกตั้งใหม่ เพื่อรักษาผลประโยชน์ประชาชน เช่น ธนกร บริสุทธิญาณี (อดีตนายก อบจ. ระนอง) บางส่วนลาออกอ้างถึงการอยู่ครบวาระจะใช้เวลานาน เช่น พรชัย มุ่งเจริญพร (อดีตนายก อบจ. สุรินทร์) หรือพูดถึงสถานการณ์อื่น ๆ เพื่อแสดงให้เห็นความสำคัญของการลาออก แล้วได้กลับมาเหลือช่วยประชาชน เช่น แก้ปัญหาสถานการณ์น้ำท่วม

รองลงมา ยอมรับว่า ‘กังวลกฎหมายเลือกตั้ง’ โดยอดีตนายก อบจ. หลายคนกลัวว่าจะพลาดโอกาสในการลงสมัครต่ออีกสมัย มีความลำบากใจในการปฏิบัติหน้าที่ หรือกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการหาเสียง ประกอบกับโทษจำคุกสูง จึงเลือกที่จะลาออกก่อนครบวาระ เช่น มนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ (อดีตนายก อบจ. พิษณุโลก) บางส่วนเชื่อว่า ประชาชนจะเข้าใจการตัดสินใจของตน

นอกจากนั้นยังอ้างการ ‘บริหารจัดการน้ำ หรือ รับมือภัยพิบัติ’ 4 คน เช่น อดีตนายก อบจ. 3 จังหวัดพร้อมใจจับมือลาออก ได้แก่ จ.นครสวรรค์ (พล.ต.อ.สมศักดิ์ จันทะพิงค์) จ.อ่างทอง (สุรเชษ นิ่มกุล) และ จ.ปทุมธานี (พล.ต.ท. คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง) พร้อมใจจับมือกันลาออก โดยอ้างว่า ทั้ง 3 จังหวัดต้องรับมือปัญหาน้ำท่วมทุกปี (โดยระบุว่า ทั้ง 3 จังหวัดเป็นพื้นที่ติดกัน ได้แก่ นครสวรรค์ต้นน้ำ อ่างทองกลางน้ำ และปทุมธานีปลายน้ำ) การลาออกก่อนจะส่งผลให้มีการเลือกตั้งแล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2567 และ กลับมาวางแผนเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านได้ทันท่วงที

บางส่วนลาออกเพื่อขยับขยาย ย้ายสายงาน ‘ไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับชาติ’ แทน ได้แก่ สุรพงษ์ ปิยะโชติ (อดีตนายก อบจ. กาญจนบุรี) ไปดำรง รมช.คมนาคม และ อัครา พรหมเผ่า (อดีตนายก อบจ.พะเยา) ไปดำรงตำแหน่ง รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นอกจากนี้ยังลาออกโดยอ้างการ ‘วางตัวเป็นกลาง’ สอดรับกับสถานการณ์การเลือก สว. และเหตุผลอื่น ๆ เช่น ปัญหาสุขภาพ หรือการเตรียมงานพระราชพิธี รวมไปถึงบางส่วน ก็ไม่ได้มีการระบุว่า ลาออกก่อนหมดวาระเพราะเหตุใด

อย่างไรก็ตามคาดการณ์ด้วยว่า สาเหตุการลาออกก่อนหมดวาระของ อดีตนายก อบจ. แท้จริงแล้ว อาจมาจากสาเหตุอื่น ๆ เช่นบทความของ 101 World เรื่อง ‘ทำไมผู้บริหารท้องถิ่นถึงลาออกก่อนครบวาระ?’ โดย ผศ.ณัฐกร วิทิตานนท์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิเคราะห์ 2 สาเหตุการลาออกก่อน ได้แก่

  1. เพื่อหลุดพ้นจากมาตรการควบคุมวิธีการหาเสียงเลือกตั้ง เช่น กรอบเวลาการคิดคำนวณค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง 180 วันก่อนหมดวาระ และการห้ามอนุมัติโครงการที่เข้าข่ายหาเสียง 90 วันก่อนหมดวาระ

  2. เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมือง เนื่องจากผู้สมัครรายอื่นยังขาดความพร้อมในการลงสมัครเลือกตั้ง

ลาออกก่อน เลือกตั้งก่อน ได้เปรียบ
ส่วนใหญ่ได้คนเดิม – กลุ่มเดิม – เชื่อมโยงพรรคการเมืองใหญ่

การลาออกก่อนไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม เปิดทางให้เกิดการเลือกตั้งผู้ดำรงตำแหน่งคนใหม่ The Active รวบรวมข้อมูลของอดีตนายก อบจ. 29 คน ทั้งที่โดนตัดสิทธิ์ และที่ลาออกก่อน ว่า กลับมาลงสมัครอีกครั้งหรือไม่ ? ส่งทายาททางการเมืองลงแทน หรือวางมือออกจากเกมท้องถิ่นไปเลย ?

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม : [Public] เลือกตั้ง อบจ. 2568

นายก อบจ. ลาออกแล้วผลการเลือกตั้งจำนวน (คน)
ลงสมัครต่อได้รับเลือกเป็น นายก อบจ.15
ลงสมัครต่อไม่ได้รับเลือกเป็น นายก อบจ.6
รวมลงสมัครต่อ21
เปิดทางให้กลุ่มตัวเอง / ทายาททางการเมืองลงแทนได้รับเลือกเป็น นายก อบจ.7
เปิดทางให้กลุ่มตัวเอง / ทายาททางการเมืองลงแทนไม่ได้รับเลือกเป็น นายก อบจ.1
รวมเปิดทางให้กลุ่มตัวเอง / ทายาททางการเมืองลงแทน8
ข้อมูล ณ วันที่ 23 ธ.ค. 2567

ข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่า อดีตนายก อบจ. ที่ลาออกก่อนหมดวาระทั้งหมด เลือกที่จะยังลงสมัครต่อ หรือไม่ก็ส่งทายาทลงท้าชิง ไม่มีอดีตนายก อบจ. คนใดเลย ที่วางมือออกจากเกมเลือกตั้ง โดยไม่ลงสมัครเองและไม่ส่งทายาทมาแทนที่ ทั้งนี้ อดีตนายก อบจ. ส่วนใหญ่ เลือกหวนคืนสู่สนามการเลือกตั้งอีกครั้ง ด้วยหวังที่จะคว้าชัยในสมัยถัดไป โดยมีอดีตนายก อบจ. 21 คน (จาก 29 คน) ที่ลงสมัครใหม่อีกครั้ง ในจำนวนนี้แบ่งเป็น

  • ได้รับเลือกเป็น นายก อบจ. ต่ออีกสมัย 15 คน (71.43%)

  • แพ้ให้กับผู้สมัครคนอื่น 6 คน (28.57%)

ในขณะที่อดีตนายก อบจ. 8 คน ที่ลาออกไปแล้ว (หรือโดนตัดสิทธิ์) ก็เลือกที่จะเปิดทางให้กลุ่ม หรือทายาททางการเมืองของตัวเองลงสนามอีกครั้ง แบ่งเป็น

  • ทายาทได้รับการเลือกตั้งเป็นนายก อบจ. ต่อ 7 คน (87.5%)

  • ทายาทแพ้เลือกตั้ง 1 คน (12.5%)

ข้อมูลยังแสดงให้เห็นว่า การลาออกก่อนอาจได้เปรียบจริง เนื่องจากได้เป็น นายก อบจ. ต่อถึง 22 คน เทียบกับไม่ได้เป็นต่อ 7 คน (จาก 29 จังหวัด) นอกจากนี้ ข้อมูลดังกล่าวยังแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของบ้านใหญ่ ที่สามารถรักษาฐานของตัวเองไว้ได้อย่างเหนียวแน่น แม้จะลงเอง หรือส่งต่อให้ทายาททางการเมืองของตัวเองก็ตาม

ผลการเลือกตั้งไม่ได้เพียงแต่สะท้อนความแข็งแรงของบ้านใหญ่เท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับ ‘พรรคการเมืองระดับประเทศ’ อย่างเลี่ยงไม่ได้

The Active รวบรวมข้อมูลของ นายก อบจ. ปัจจุบัน ว่า มีความสัมพันธ์กับพรรคการเมืองระดับประเทศอย่างไรบ้าง จากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน และการรวบรวมข้อมูลโดย Rocket Media Lab

จังหวัดนายก อบจ. ปัจจุบันเป็นคนใหม่ไหมสังกัดคาดการณ์ความสัมพันธ์
ราชบุรีวิวัฒน์ นิติกาญจนาคนเดิมกลุ่มธรรมนัส (พรรคกล้าธรรม)สามีของ บุญยิ่ง นิติกาญจนา สส.ราชบุรี อดีตพรรคพลังประชารัฐ (ปัจจุบัน โดนขับออกจากพรรคพลังประชารัฐ เข้าร่วมพรรคกล้าธรรม)
พิษณุโลกมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์คนเดิมพลังประชารัฐส่งคนใกล้ตัวไปเป็นผู้สมัคร สส.พิษณุโลก พรรคพลังประชารัฐ เมื่อการเลือกตั้งปี 2566
สระแก้วฐานิสร์ เทียนทองกลุ่มเดิม (ทายาททางการเมือง)พลังประชารัฐทายาท ขวัญเรือน เทียนทอง สส.สระแก้ว พรรคพลังประชารัฐ
กำแพงเพชรสุนทร รัตนากรคนเดิมพลังประชารัฐพี่ชายของ วราเทพ รัตนากร อดีตพรรคเพื่อไทยแต่ปัจจุบันทำงานให้กับพรรคพลังประชารัฐ
เพชรบูรณ์อัครเดช ทองใจสดคนเดิมพลังประชารัฐบิดาของ อัคร ทองใจสด สส. เพชรบูรณ์ โฆษกพรรคพลังประชารัฐ
กาญจนบุรีนพ.ประวัติ กิจธรรมกูลนิจกลุ่มเดิม (ทายาททางการเมือง)เพื่อไทยได้รับการสนับสนุนจาก สุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม พรรคเพื่อไทย
ขอนแก่นวัฒนา ช่างเหลาคนใหม่เพื่อไทยสมาชิกพรรคเพื่อไทย และลูกชายของเอกราช ช่างเหลา สส.ขอนแก่น พรรคภูมิใจไทย
กาฬสินธุ์เฉลิมขวัญ หล่อตระกูลคนใหม่เพื่อไทยลงในนามพรรคเพื่อไทย
ร้อยเอ็ดเศกสิทธิ์ ไวนิยมพงศ์คนใหม่เพื่อไทยลงในนามพรรคเพื่อไทย
พะเยาธวัช สุทธวงค์กลุ่มเดิม (ทายาททางการเมือง)เพื่อไทยลงในนามพรรคเพื่อไทย
ยโสธรวิเชียร สมวงศ์คนเดิมเพื่อไทยลงในนามพรรคเพื่อไทย
สุโขทัยมนู พุกประเสริฐคนเดิมเพื่อไทยลงในนามพรรคเพื่อไทย
อุดรธานีศราวุธ เพชรพนมพรกลุ่มเดิม (ทายาททางการเมือง)เพื่อไทยลงในนามพรรคเพื่อไทย
อุตรดิตถ์ชัยศิริ ศุภรักษ์จินดาคนเดิมเพื่อไทยได้รับการสนับสนุนโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) อุตรดิตถ์ พรรคเพื่อไทย
อุบลราชธานีกานต์ กัลป์ตินันท์คนเดิมเพื่อไทยลงในนามพรรคเพื่อไทย
ปทุมธานีพล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่างคนเดิมภูมิใจไทยส่งคนใกล้ตัวไปเป็นผู้สมัคร สส.ปทุมธานี พรรคภูมิใจไทย เมื่อการเลือกตั้งปี 2566
อุทัยธานีเผด็จ นุ้ยปรีคนเดิมภูมิใจไทยสายตรงชาดา ไทยเศรษฐ์ พรรคภูมิใจไทย
นครสวรรค์พล.ต.อ.สมศักดิ์ จันทะพิงค์คนเดิมภูมิใจไทยตัวแทน ชาดา ไทยเศรษฐ์ พรรคภูมิใจไทย
เลยชัยธวัช เนียมศิริกลุ่มเดิม (ทายาททางการเมือง)ภูมิใจไทยตัวแทน ธนาวุฒิ ทิมสุวรรณ อดีตนายก อบจ. เลย พรรคภูมิใจไทย
ระนองสีหราช สรรพกุลคนใหม่ภูมิใจไทยสายตรง คงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ สส.ระนอง พรรคภูมิใจไทย
อ่างทองสุรเชษ นิ่มกุลคนเดิมภูมิใจไทยตัวแทน สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล พรรคภูมิใจไทย และได้รับการสนับสนุนจาก ภราดร-กรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย
นครศรีธรรมราชวาริน ชิณวงศ์คนใหม่ภูมิใจไทยสมาชิกพรรคภูมิใจไทย ได้รับการสนับสนุนจาก พิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน
พระนครศรีอยุธยาสมทรง พันธ์เจริญวรกุลคนเดิมภูมิใจไทยมารดาของ สุรศักดิ์ พันธุ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ พรรคภูมิใจไทย
ชัยภูมิสุรีวรรณ นาคาศัยคนใหม่ภูมิใจไทยภรรยาของ สัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ สส.ชัยภูมิ พรรคภูมิใจไทย
สุรินทร์ธัญพร มุ่งเจริญพรคนใหม่ภูมิใจไทยภรรยาของ ปกรณ์ มุ่งเจริญพร สส.สุรินทร์ พรรคภูมิใจไทย
ตากอัจฉรา ทวีเกื้อกูลกิจกลุ่มเดิม (ทายาททางการเมือง)ภูมิใจไทย– ภรรยาของ ธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ อดีต สส.ตาก (ลงสมัครเลือกตั้ง 66 ในนามพรรคภูมิใจไทย)
– ลูกสะใภ้ของ ณัฐวุฒิ ทวีเกื้อกูลกิจ อดีตนายก อบจ.ตาก ที่ลาออกจากตำแหน่ง
ชุมพรนพพร อุสิทธิ์คนเดิมรวมไทยสร้างชาติสายตรง ชุมพล จุลใส อดีต สส.ชุมพร พรรครวมไทยสร้างชาติ
เพชรบุรีชัยยะ อังกินันทน์คนเดิมรวมไทยสร้างชาติสามีของ ธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารมต.แรงงาน สส.เพชรบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ
ชัยนาทจิตร์ธนา ยิ่งทวีลาภากลุ่มเดิม (ทายาททางการเมือง)รวมไทยสร้างชาติพี่สาวของ อนุชา นาคาศัย สส.ชัยนาท พรรครวมไทยสร้างชาติ
ข้อมูล ณ วันที่ 23 ธ.ค. 2567

มี 29 จังหวัดที่มีการเลือกตั้งก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 โดยทั้ง 29 จังหวัดเลือกตั้งเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยคาดการณ์นายก อบจ. คนใหม่ ที่ได้รับการเลือกตั้งทุกคนมีความเกี่ยวข้องหรือมีความสัมพันธ์กับพรรคการเมืองระดับชาติทั้งสิ้น แบ่งเป็น

คาดการณ์สังกัดพรรคการเมืองรวม (คน)ได้คนเดิมเป็น นายก อบจ.ได้กลุ่มเดิม / ทายาททางการเมืองเป็น นายก อบจ.ได้คนใหม่เป็น นายก อบจ.
พรรคภูมิใจไทย11524
พรรคเพื่อไทย10433
พรรคพลังประชารัฐ431
พรรครวมไทยสร้างชาติ321
กลุ่มธรรมนัส (พรรคกล้าธรรม)11
หมายเหตุ : เป็นการคาดการณ์สังกัดพรรคการเมืองของ นายก อบจ. คนปัจจุบันเท่านั้น / ข้อมูล ณ วันที่ 23 ธ.ค. 2567

ข้อมูลข้างต้น ยังแสดงให้เห็นว่า พรรคภูมิใจไทย และ พรรคเพื่อไทย ได้ นายก อบจ. คนใหม่ ที่สังกัดพรรคเพิ่มมากขึ้น (4 คน และ 3 คน ตามลำดับ) แสดงให้เห็นถึงบทบาทของพรรคการเมือง ที่ลงไปเล่นในสนามท้องถิ่น และสามารถครองเสียงของคนในพื้นที่จนสามารถล้มแชมป์เก่าได้ เช่น วาริน ชิณวงศ์ นายก อบจ. นครศรีธรรมราช ที่เพิ่งได้รับเลือกตั้ง (คาดการณ์สังกัดพรรคภูมิใจไทย) สามารถเอาชนะ กนกพร เดชเดโช อดีตนายก อบจ. นครศรีธรรมราช (คาดการณ์สังกัดพรรคประชาธิปัตย์) ลงได้

พรรค – นโยบาย – บ้านใหญ่
หนุนเลือกตั้งท้องถิ่น เชื่อมการเมืองระดับชาติ

ข้อมูลจาก สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า และ รศ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว รองคณบดี คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เห็นพ้องต้องกันว่า ปัจจัยที่ทำให้ชนะการเลือกตั้งในหลายสนามที่ผ่านมาคือ พรรคการเมือง นโยบาย และบ้านใหญ่ของแต่ละจังหวัด

‘พรรคการเมือง‘ สร้างฐานเสียง

สติธร ชี้ว่า พรรคการเมืองใหญ่ ได้เปรียบในสนามเลือกตั้งท้องถิ่น เนื่องจากมีทรัพยากร มีเครือข่ายและฐานเสียง โดยมองว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นจะช่วยให้พรรคใหญ่ มี ‘รากฐานที่มั่นคง’ และ ‘มีเสียงเป็นฐานคะแนน’ ในการเลือกตั้งระดับชาติ

“เรื่องกระแสมันไปสู้กันตอนโค้งสุดท้าย … แต่ว่าอีกขาหนึ่ง คือ ขาฐานเสียงมันต้องสร้างระยะยาว แล้วก็ต่อเนื่องด้วย ซึ่งสนามท้องถิ่นนี่แหละ ที่เป็นพื้นฐานสำคัญในการที่จะสร้างฐานเสียงตรงนี้ … พอชนะแล้วเข้าไปมีตําแหน่ง ยังสามารถทํางานในเชิงพัฒนา ทํางานในเชิงสร้างประโยชน์สร้างความพอใจให้กับผู้คนได้ต่อเนื่องไปจนหมดสมัย แล้วมันก็เป็นฐานทรัพยากรด้วย”

สติธร ธนานิธิโชติ

สติธร ยังระบุอีกว่า พรรคร่วมรัฐบาลได้เปรียบการแข่งขันสนามท้องถิ่น เนื่องจากเชื่อมโยงเข้ากับระดับชาติ เช่น การหาเสียงที่จังหวัดอุดรธานี พรรคเพื่อไทยมีการพูดถึงภาพรวมทั้งประเทศ และชี้ชวนให้เห็นว่าถ้าจะพัฒนาได้ ต้องเชื่อมโยงท้องถิ่นกับระดับชาติ แสดงให้เห็นถึงการจับต้องได้และทำงานได้มากกว่า

‘นโยบาย’ กระตุ้นการเมืองท้องถิ่นปรับตัว

รศ.โอฬาร สะท้อนปรากฏการณ์การเลือกตั้ง นายก อบจ. ว่า ตั้งแต่ช่วงปี 2562 เป็นต้นมา มีการเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล คณะก้าวหน้า เข้ามาทำงานการเมืองท้องถิ่นมากขึ้น ทำให้นักการเมืองเดิม บ้านใหญ่เดิม หรือตระกูลการเมืองเดิม ไม่สามารถใช้วิธีการทางการเมืองแบบเดิมเพียงอย่างเดียวได้ จึงต้องมี ‘นโยบาย’ มาแข่งขันกัน

พร้อมทั้งมองว่า การเพิ่มขึ้นของการแข่งขันเชิงนโยบาย สะท้อนกระบวนการกระจายอำนาจภายในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีมาตั้งแต่ปี 2540 เริ่มผลิดอกออกผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น

‘บ้านใหญ่’ พิงพรรค เกื้อกูลเลือกตั้งท้องถิ่น-ระดับชาติ

แม้นโยบายจะมีบทบาทที่สำคัญเพิ่มขึ้น แต่ รศ.โอฬาร เชื่อว่า บ้านใหญ่ยังได้เปรียบในการสร้างฐานเสียงสำหรับพรรคการเมือง นอกจากนี้ยังมองว่า บ้านใหญ่ยังเกื้อหนุนกับพรรคการเมืองเพื่อการเลือกตั้งทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ โดยมองว่า พรรคไหนที่สามารถครอง อบจ.ได้ ก็จะมีความได้เปรียบในการที่จะใช้ทรัพยากรของ อบจ. กระจายผลประโยชน์ให้กับเครือข่ายทางการเมืองในระดับจังหวัด อบต. เทศบาล และหน่วยงานอื่น ๆ และการมีบ้านใหญ่ในจังหวัดนั้นมาเป็นพวกเป็นพันธมิตรในพรรคการเมือง ก็จะมีโอกาสมีการชนะเลือกตั้งระดับชาติมากขึ้น

“ผู้คนเห็นและมีทฤษฎีตรงกันก็คือ พรรคอย่างเดียวไม่พอ นโยบายอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีเครือข่ายบ้านใหญ่ประจำจังหวัดเข้าร่วมในพรรคด้วย เป็นหลักประกันว่าพรรคจะมีโอกาสชนะในการเลือกตั้งระดับชาติ เลยทำให้การเลือกตั้งในระดับชาติ และการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นอย่าง อบจ. ถูกมองว่ามีความสัมพันธ์กับแนวโน้มการเลือกตั้งทางหน้า”

รศ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว


อ้างอิง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธนธร จิรรุจิเรข

สงสัยว่าตัวเองอยากเป็นนักวิเคราะห์ data ที่เขียนได้นิดหน่อย หรือนักเขียนที่วิเคราะห์ data ได้นิดหน่อยกันแน่