“คนเดือนตุลา” กับหน้าฉากการเมืองปัจจุบัน

อุดมการณ์ กาลเวลา และความเปลี่ยนแปลง

“คนเดือนตุลา” เป็นคำที่มักใช้เรียกบุคคลที่อยู่ในห้วงของเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญของประเทศไทย ทั้งในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 แต่เพียงคำ ๆ เดียว คงไม่อาจระบุถึงตัวตน ความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองของทุกคนว่าเป็นแบบใด และจะเหมือนกันหรือไม่ เพราะเมื่อเวลาผ่านไป นิสิต นักศึกษาคนรุ่นใหม่ หรือนักต่อสู้ทางการเมืองในเวลานั้น อาจมีบทบาทที่แตกต่างไปโดยสิ้นเชิงในเวลานี้ 

The Active ขอทบทวนประวัติศาสตร์ เนื่องในวาระครบรอบ 46 ปี 6 ตุลา ผ่านหน้าฉากการเมืองไทยในปัจจุบัน 

คนเดือนตุลา

ผ่านอดีต สู่ปัจจุบัน 

หากมองในเส้นทางของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และอาจไม่ได้มีส่วนร่วมโดยตรงในการสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหว ณ ขณะนั้น มีจำนวนไม่น้อยที่ยังคงมีบทบาททางการเมืองในวันนี้ อย่าง ‘ชวน หลีกภัย’ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และอดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย เมื่อครั้งเหตุการณ์ 6 ตุลา ชวน ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็น “รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี” ในรัฐบาลของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช 

การอยู่ในพรรคที่ได้ชื่อว่าเป็น “ขวา” ไม่อาจช่วยอะไร ในสถานการณ์ที่การปลุกปั่นทางการเมืองดำเนินไปถึงจุดที่ข้อเท็จจริงไร้ความหมาย ชวนถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จากวิทยุยานเกราะ ช่องทางการสื่อสารหลักของกลุ่มขวาจัดยืนยันจากเพียงเหตุการณ์ว่าจังหวัดตรังอันเป็นเขตเลือกตั้งของเขา ไม่มีการจัดตั้งลูกเสือชาวบ้าน โดยชวนให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่าในความเป็นจริงแล้ว จังหวัดตรังก็มีลูกเสือชาวบ้าน และชวนก็คือหนึ่งในผู้สนับสนุนตลอดมา 

สุดท้ายทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีเพราะการรัฐประหาร ของ พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ ทำให้ชวนกลับไปใช้ชีวิตเป็นทนายความในจังหวัดตรัง และเริ่มเขียนบทความในชุด “เย็นลมป่า” ลงในนิตยสารพาที ของขรรค์ชัย บุนปาน เป็นบทความส่งต่อเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงตามวิถีประชาธิปไตย มากกว่าหนีเข้าไปสู้จากในป่า

นอกจากนั้น ‘มีชัย ฤชุพันธุ์’ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่เพิ่งสร้างหน้าประวัติศาสตร์การเมือง ด้วยวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน ย้อนกลับไปเมื่อเหตุการณ์ 6 ตุลา มีชัย ได้เข้ามามีตำแหน่งในทางการเมืองด้วยการเป็น “กุนซือกฎหมาย” หรือ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ในรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ด้วย แม้ไม่ปรากฏบทบาทการเคลื่อนไหวช่วงนั้นที่ชัดเจนมากนัก แต่ปรากฏว่าภายหลังการรัฐประหาร มีชัยได้เข้าไปทำหน้าที่เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ถึง 2 สมัย คือ ระหว่าง พ.ศ. 2520 – 2522 และระหว่าง พ.ศ. 2532 – 2534 อีกด้วย 

จาก ‘นักศึกษา’ สู่…สนามการเมือง

ความแตกต่างทางความคิด และอุดมการณ์คงไม่อาจเปรียบเทียบได้จากผู้เคยมีตำแหน่งในห้วงเวลานั้น แต่อาจเปรียบเทียบได้อย่างไว ๆ ผ่านผู้ที่เคยเคลื่อนไหวทางการเมือง เรียกร้องประชาธิปไตยในตอนนั้น ที่ตอนนี้ต่างกระจัดกระจาย อยู่กันคนละข้างทางความคิด หรือฝ่ายตรงข้ามของสนามการเมืองในปัจจุบัน 

“สหายแสง” นามจัดตั้งเมื่อครั้งต่อสู้ตามอุดมการณ์ในป่าหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ของ ‘ศุภชัย โพธิ์สุ’ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ในปัจจุบัน ส.ส.จากจังหวดนครพนม พรรคภูมิใจไทย นักศึกษาครูในภาคอีสาน ที่ออกมาร่วมเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยใน จ.สกลนคร ช่วงปี 2517 – 2519 ภายหลังเหตุการณ์ทางการเมือง เขาทำงานมวลชนในพื้นที่ทุ่งหนองขาม อยู่เขตรอยต่อ 3 อำเภอ คือ อ.เรณูนคร อ.ปลาปาก และ อ.นาแก ก่อนจะกลับไปเรียนครูจนได้ปริญญาตรี ชาวบ้านเรียกติดปากว่า “ครูแก้ว” กระทั่งเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ยังได้เป็นแกนนำสมาพันธ์ประชาธิปไตย จ.นครพนม ก่อนจะเบนเข็มเข้าสู่การเมืองท้องถิ่น และระดับชาติ จนขึ้นสู่ตำแหน่งนำในฝ่ายนิติบัญญัติในปัจจุบัน

ในปีเดียวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา ‘เอนก เหล่าธรรมทัศน์’ รัฐมนตรีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในปัจจุบัน ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ หลังจากได้ร่วมเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ร่วมกับเพื่อนนิสิตจุฬาฯ ตั้งแต่ครั้งเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และหลังเหตุการณ์ล้อมปราบประชาชน เอนกเดินทางไปร่วมการต่อสู้ในป่าที่เขตงานพัทลุง ตรัง และสตูล (เทือกเขาบรรทัด) มีชื่อจัดตั้งว่า “สหายประยูร”

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงก่อนถึงวาระ 45 ปี 6 ตุลา เมื่อปีที่ผ่านมา เอนก ถูกตั้งคำถามจากสังคมอีกครั้ง เมื่อผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่อนุญาตให้จัดงานรำลึกในพื้นที่มหาวิทยาลัย เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 โดยให้จัดในรูปแบบออนไลน์แทน ต่อมามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกหนังสือชี้แจง โดยระบุจะทำหนังสือขออนุญาตไปยังกระทรวง อว. และสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่า ในฐานะแกนนำนักศึกษาในขณะนั้น สมควรวางบทบาทในปัจจุบันอย่างไร

ในขณะที่เครือข่ายของฝ่ายค้านในปัจจุบัน ที่ยังนำเสนอตัวเองว่าเป็น “คนเดือนตุลา” นั้น อาจเห็นภาพความกลมเกลียวเหนียวแน่นได้ชัดเจนมากกว่า โดยเฉพาะอดีตผู้มีตำแหน่งทางการเมือง หลังรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่มีคนเดือนตุลาก้าวสู่แวดวงทางการเมืองมากขึ้น และยังคงมมีบทบาทมาจนถึงปัจจุบัน 

แกนนำพรรคเพื่อไทย อย่าง ‘จาตุรนต์ ฉายแสง’ ที่เริ่มเข้าศึกษาที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในระดับชาติ ก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา จาตุรนต์ เป็นรองเลขาธิการ ฝ่ายเศรษฐกิจ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย หรือ ศนท. 

หลังเหตุการณ์ ปลายปี 2519 จาตุรนต์ หรือ “สหายสุภาพ” เข้าประจำการที่สำนัก 61 ฐานที่มั่นภูพยัคฆ์ น่านเหนือ ซึ่งเป็นที่ตั้งของ ศนท. ในสถานการณ์สู้รบที่ปฏิวัติ เนื่องจากจาตุรนต์ เป็นทายาทของอนันต์ ฉายแสง อดีต ส.ส.ฉะเชิงเทรา เขาจึงได้เป็น ส.ส.สมัยแรกตั้งแต่ปี 2529 ขณะที่เพื่อนคนเดือนตุลาหลายคน ลงสมัคร ส.ส.เหมือนกัน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ในปัจจุบันหลังจากออกจากพรรคเพื่อไทย เพื่อสร้างเส้นทางพรรคการเมืองใหม่ แต่สุดท้ายก็ต้องกลับมาอยู่ในบ้านหลังเดิมอย่างพรรคเพื่อไทย และยังได้รับการต้อนรับอย่างเช่นที่ผ่านมา

แกนนำพรรคเพื่อไทยอีกหนึ่งคน อย่าง ‘ภูมิธรรม เวชยชัย’ ล็อบบี้ยิสต์มือหนึ่งตลอดกาล ตั้งแต่สมัยเป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังร่วมกับเพื่อนนิสิตก่อตั้งพรรคจุฬา-ประชาชน ภูมิธรรมได้เข้าชิงตำแหน่งนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ แต่แพ้ให้กับ วีระกร คำประกอบ ตัวแทนนิสิตวิศวะฯ (ปัจจุบันเป็น ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ) และภูมิธรรมได้เข้าสู่เส้นทางการเคลื่อนไหวทางการเมืองนับแต่นั้นมา ซึ่งภายหลังปี 2520 ภูมิธรรมใช้ชื่อจัดตั้งว่า “สหายใหญ่” 

ในทางการเมือง ภูมิธรรม เคยเป็นดั่งคนคู่กายของทักษิณ ชินวัตร และภายหลังการรัฐประหารปี 2549 ยังคงมีบทบาทในพรรคเพื่อไทยมาโดยตลอด ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร (นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว) และมักปรากฏตัวทุกครั้งในงานเตรียมการเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยในเวลานี้

การชุมนุมเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ ช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมานี้ มักมีการเปรียบเทียบไปถึงขบวนการนิสิตนักศึกษาเดือนตุลา ว่ามีอะไรที่คล้ายคลึงกันหรือไม่ ในขณะเดียวกันผู้ร่วมชุมนุมในครั้งนี้ ก็มีส่วนหนึ่งที่เป็นนักศึกษาในเดือนตุลาเช่นเดียวกัน อย่าง ‘นพ.ทศพร เสรีรักษ์’ อดีตโฆษกในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทศพร เปิดเผยขณะที่ทำหน้าที่เป็นแพทย์อาสาในช่วงการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ เมื่อปี 2563 ว่า ในอดีตตนเป็นนักศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้เดินทางไปเข้าร่วมการชุมนุม เมื่อเดือนตุลาเช่นเดียวกัน 

ในวันนี้ ตนในฐานะประชาชนคนหนึ่ง จึงกลับมาเข้าร่วมชุมนุมเพื่อเรียกร้องในสิ่งเดิม ตามเจตนารมณ์ และอุดมการณ์ทางการเมืองเช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง จนกระทั่งทำให้ได้รับหมายจับในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ จากการเข้าร่วมชุมนุม ในปัจจุบัน ทศพร เดินหน้าเข้าสู่เส้นทางการเมืองอีกครั้งด้วยการเปิดตัวเป็น “ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.”  ของพรรคเพื่อไทย จังหวัดแพร่ เขต 1

ที่สำคัญ ในวาระครบรอบ 46 ปี 6 ตุลา ปีนี้ ทศพร ยังเป็นตัวแทนรับมอบรางวัล ‘จารุพงษ์ ทองสินธุ์ เพื่อประชาธิปไตย’ แทน “วาฤทธิ์ สมน้อย” เยาวชนที่เข้าร่วมการชุมนุม ที่ถูกยิงเสียชีวิตที่หน้า สน.ดินแดง สะท้อนให้เห็นความไม่เป็นธรรมที่ไม่ได้รับจากกระบวนการยุติธรรม

ในอีกฟากหนึ่ง อย่างตำแหน่ง ‘สมาชิกวุฒิสภา’ ที่ต้องยอมรับว่ามีส่วนสำคัญในการก่อร่างสภาพทางการเมืองให้เกิดขึ้นในปัจจุบัน ท่ามกลางข้อครหาถึงความไม่ชอบธรรม ในการกำหนดอนาคตประเทศชาติ หนึ่งในนั้นมี ส.ว. ที่เป็นคนเดือนตุลา อย่าง ‘คำนูณ สิทธิสมาน’ ที่มีความสนใจในการเคลื่อนไหวทางการเมืองมาตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีบทบาทในมหาวิทยาลัยโดยเป็นกรรมการบริหารองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และในปี 2518 คำนูณได้ทำหน้าที่เป็นเลขาธิการ ศนท. ด้วย

เมื่อเกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง คำนูณได้มีโอกาสร่วมกับรุ่นพี่ทำหนังสือเฉพาะกิจ “บันทึกลับจากทุ่งใหญ่” ซึ่งเป็นหนังสือที่สร้างแรงสั่นสะเทือนไปถึงรัฐบาลเผด็จการ เป็นชนวนหนึ่งที่ทำให้ประชาชนออกมาชุมนุมทางการเมือง กระทั่งเกิดเหตุการณ์ ’14 ตุลา’ ในเวลาต่อมา คำนูณ ได้ชื่อว่าเป็น ส.ว. สรรหา ขาประจำมาแล้วหลายสมัย จนกระทั่งในปัจจุบัน แต่ในบางเรื่องก็มีความเห็นที่แตกต่างออกไปจาก ส.ว. ส่วนใหญ่ เช่นเมื่อไม่นานมานี้คำนูณ เป็น ส.ว. เสียงข้างน้อยให้ตัดอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว. อีกด้วย

ส.ว. เสียงข้างน้อยอีกหนึ่งคนในเรื่องนี้ ที่แม้อาจไม่มีบทบาทโดยตรงในการเคลื่อนไหวครั้งนั้น แต่ก็เป็นผู้บันทึกเรื่องราว และถ่ายทอดอุดมการณ์ในขณะนั้น อย่างศิลปินแห่งชาติ ‘เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์’ ผู้ประพันธ์ “เพียงความเคลื่อนไหว” กวีนิพนธ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ในวันที่ 6 ตุลา ที่ขึ้นชื่อว่าอธิบายได้กระชับกินใจที่สุด ตอนหนึ่งว่า “ผูกคอลากกระชากร่างกลางสนาม…เลือดยังลามจากหลังวิ่นรินเป็นสาย…นอนแน่นิ่งเนื้อขาวเปล่าเปลือยกาย…ท่อนไม้ก่ายเกรอะเลือดเลอะเดือดแดง…ฯ”

คำถามที่สำคัญที่สุด คือ อะไรที่ทำให้คนที่เคยผ่านเรื่องราว เหตุการณ์ และมีอุดมการณ์เดียวกัน เปลี่ยนไปได้ในปัจจุบัน อาจเป็นไปได้ว่าการปรับตัวเพื่อแห่งหนทางการเมือง และการอยู่รอด อาจมีความสำคัญมากกว่าอุดมการณ์ที่ต้องยึดถือ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นพลวัต ที่เราไม่สามารถตอบได้ว่าอุดมการณ์ใดดีกว่ากัน สิ่งเหล่านี้เป็นพัฒนาการที่เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่ประวัติศาสตร์ในเดือนตุลานี้เอง ที่สะท้อนว่าอะไรก็เป็นไปได้ การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้หากไฟในการต่อสู้ทางการเมืองของประชาชนเกิดขึ้นร่วมกัน


อ้างอิง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์