เดือนกุมภาพันธ์ 2567 เป็นอีกหนึ่งเดือนที่มีเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองเกิดขึ้น ทั้งเหตุการณ์ในและนอกสภาฯ รวมไปถึงมีการพูดคุยถึงประเด็นต่าง ๆ บนโลกโซเชียลมีเดีย
The Active ทำการเก็บรวบรวมนโยบายที่พูดถึงกันบนโซเชียลมีเดีย ผ่านเครื่องมือ Zocial Eye (หรือ Social Listening – เครื่องมือฟังเสียงของผู้คนที่อยู่ในโลกโซเชียลมีเดีย) ระหว่างวันที่ 1-29 ก.พ. 2567 เพื่อหาว่านโยบายใดที่คนบนโลกออนไลน์ให้ความสนใจมากที่สุดในเดือนที่ผ่านมา
ข้อความที่รวบรวมมาได้ ส่วนใหญ่ปรากฏเป็นหลักบน Facebook ที่ 53.21% ตามมาด้วย X (Twitter) ที่ 21.08% YouTube ที่ 16.72% และอื่น ๆ ที่ 8.99% โดยพบว่ามียอดเอ็นเกจเมนต์ (ยอดกดดู ไลก์ แชร์ และคอมเมนต์รวมกัน) ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดรวม 3,735,957 เอ็นเกจเมนต์ และสามารถจัดอันดับที่สูงที่สุด 5 อันดับ ดังนี้
อันดับที่ 1 ซอฟต์พาวเวอร์ (1.76 ล้านเอ็นเกจเมนต์)
ยังคงเป็นนโยบายที่มาเป็นอันดับ 1 เหมือนในเดือนก่อน (เดือน ม.ค. 2567) นโยบายด้านเศรษฐกิจนี้ได้กลายมาเป็นคำพูดติดปากประจำโลกโซเชียล โดยในเดือนนี้มีการพูดถึงกางเกงซอฟต์พาวเวอร์ หรือกางเกงช้างมากเป็นพิเศษ จากการเปิดตัวกางเกงลายต่าง ๆ
- 1 ก.พ. 2567 อนุกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ด้านแฟชั่นประกาศยุติบทบาททั้งคณะ รวมถึงประเด็นกางเกงช้างที่ขายในไทยแต่ผลิตและนำเข้าจากประเทศจีน
- 6 ก.พ. 2567 พูดถึงการจัดงานมหาสงกรานต์ ระยะเวลา 21 วัน ตั้งแต่วันที่ 1-21 เม.ย. 2567
- 11 ก.พ. 2567 Ed Sheeran นักร้องและนักแต่งเพลงชาวอังกฤษ สักยันต์ 8 ทิศที่ขา ผู้คนมองว่าเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ของไทย
- 12 ก.พ. 2567 พูดถึงการเปิดตัวกางเกงซอฟต์พาวเวอร์ “กะปิปลาร้า” ของสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ผู้คนบนโลกโซเชียลให้ความสนใจ
- 27 ก.พ. 2567 พูดถึงกรณีกางเกงแมวโคราช ที่มีคนไม่สบายใจที่มีการนำปราสาทหินพิมาย-ประตูชุมพลมาทำเป็นลายบนกางเกง
- อ่านเพิ่มเติม นโยบายซอฟต์พาวเวอร์
อันดับที่ 2 ดิจิทัลวอลเล็ต (0.36 ล้านเอ็นเกจเมนต์)
หนึ่งในนโยบายด้านเศรษฐกิจที่ได้รับความสนใจบนโลกโซเชียล โดยมีอันดับเพิ่มขึ้นมาจากอันดับที่ 3 เดือนนี้จึงเป็นเดือนที่เต็มไปด้วยการติดตามความคืบหน้าของนโยบายและข้อสงสัยว่านโยบายจะผ่านจริงหรือไม่ จะผ่านเมื่อไหร่ โดยเนื้อหาส่วนใหญ่ที่ได้เอ็นเกจเมนต์สูงจะเป็นคลิป TikTok อธิบายความคืบหน้าของโครงการ
- 1 ก.พ. 2567 กรณี เผ่าภูมิ โรจนะสกุล เลขานุการ รมว.คลัง กล่าวว่าต้องรอความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำให้กำหนดการโครงการอาจเลื่อนออกไปเล็กน้อย
- 3 ก.พ. 2567 พูดถึงความคืบหน้านโยบาย และกรณีที่ ป.ป.ช. ยังไม่ส่งข้อเสนอแนะมาให้รัฐบาล
- 5 ก.พ. 2567 ทวงถามที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ เคยกล่าวไว้เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2566 ว่าดิจิทัลวอลเล็ตจะเริ่มใช้ได้ในวันที่ 1 ก.พ. 2567
- 7 ก.พ. 2567 พูดถึงกรณี ป.ป.ช. แถลง 8 ข้อเสนอแนะถึงรัฐบาล
- 16 ก.พ. 2567 ความคืบหน้านโยบายหลังตั้งอนุกรรมการศึกษาข้อเสนอแนะความเห็นกฤษฎีกา-ป.ป.ช. กรอบระยะเวลา 30 วัน ตั้งคำถามว่าต้องรอถึงเมื่อไหร่ และหลังจากนี้จะมีทิศทางอย่างไร
- อ่านเพิ่มเติม นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต
อันดับที่ 3 แลนด์บริดจ์ (0.31 ล้านเอ็นเกจเมนต์)
เมกะโปรเจกต์ด้านเศรษฐกิจนี้ ร่วงลงมาจากอันดับ 2 เนื่องจากในเดือนกุมภาพันธ์นี้ไม่ได้มีเหตุการณ์ใหญ่เยอะเท่าเดือนที่ผ่านมา
- 15 ก.พ. 2567 พูดถึงการอภิปรายรายงานการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ของกมธ.วิสามัญฯ โดยพรรคฝ่ายค้าน ชี้ให้เห็นถึงคำถามและข้อผิดพลาดของโครงการ ก่อนที่สุดท้ายสภาจะมีมติเห็นชอบรายงาน
- 16 ก.พ. 2567 ยังคงพูดถึงเรื่องการอภิปรายรายงานการศึกษาเมื่อวันที่ 15 ก.พ. และการพูดถึงประเทศสิงคโปร์เชื่อมโยงกับโครงการแลนด์บริดจ์ กรณีเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ แถลงว่าทางสิงคโปร์ทำสัญญากับผู้จัดคอนเสิร์ต Taylor Swift ว่าห้ามจัดคอนเสิร์ตที่อื่น ๆ ในเอเชีย
- 25 ก.พ. 2567 กรณีพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ขึ้นพูดหาเสียงเลือกตั้งอบจ. จังหวัดภูเก็ตว่า “แลนด์บริดจ์ไม่เอา จะเอาแลนด์สไลด์” ทำให้เกิด #แลนด์บริดจ์ไม่เอาจะเอาแลนด์สไลด์ ตามมา มีการพูดประชดประชันพรรคก้าวไกล พูดถึงผลประโยชน์ที่จะได้หากมีโครงการ และการโต้กลับ-วิจารณ์โครงการว่ายังมีบางจุดที่น่ากังวล
- อ่านเพิ่มเติม โครงการแลนด์บริดจ์ / Timeline โครงการแลนด์บริดจ์
อันดับที่ 4 แก้ปัญหายาเสพติด (0.22 ล้านเอ็นเกจเมนต์)
เป็นเพียงนโยบายเดียวที่ไม่ได้ติด 5 อันดับแรกในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา จัดอยู่ในด้านสังคม-คุณภาพชีวิต เริ่มต้นจากการประกาศแก้กฎกระทรวงใหม่ ครอบครองยาบ้า 5 เม็ดสันนิฐานว่ามีไว้เพื่อเสพ (แต่หากมีพฤติการณ์เป็นการขายก็จะถูกดำเนินคดี) และนโยบายเปลี่ยนผู้เสพให้เป็นผู้ป่วย นำมาสู่ความเข้าใจผิดและการถกเถียงบนโลกออนไลน์อย่างร้อนแรง
- 9 ก.พ. 2567 พูดถึงกรณีเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ กล่าวว่า “…ปัญหายาเสพติด ต้องโยงไปถึงปัญหาของเพื่อนบ้านด้วย ต้องยอมรับว่าประเทศที่ตอนนี้มีปัญหาภายในเยอะมากคือประเทศพม่า” ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าควรพูดถึงประเทศเพื่อนบ้านในเชิงลบแบบนี้หรือไม่
- 13 ก.พ. 2567 กรณี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข โต้ พล.ต.ท.เรวัช กลิ่นเกษร ประเด็นแก้กฎกระทรวง
- 16 ก.พ. 2567 ข่าวคนเข้าใจผิดว่ารัฐบาลออกกฎหมายครอบครองยาบ้า 5 เม็ดให้เป็นผู้เสพ เลยเสพยาบ้าฉลอง 3 วันติด
- 20 ก.พ. 2567 วิดีโอพูดเรื่องปัญหายาเสพติดในด้านสถานที่รักษาของเพจตะลึงกรุง จอนนี่มือปราบ ได้รับความสนใจบนโลกโซเชียล
อันดับที่ 5 สมรสเท่าเทียม (0.20 ล้านเอ็นเกจเมนต์)
นโยบายด้านรัฐธรรมนูญ-กฎหมายนี้ ยังคงติดอยู่ใน 5 อันดับแรกในอันดับเดิมเหมือนเดือนมกราคมที่ผ่านมา และยังคงมีการพูดถึงอย่างต่อเนื่องแม้ไม่ได้มีเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับความคืบหน้าของกฎหมายสมรสเท่าเทียมโดยตรง
- 5 ก.พ. 2567 กรณีมีผู้ออกมาพูดถึงเรื่องเพศสภาพของ ส.ส.พรรคก้าวไกล
- 8 ก.พ. 2567 คณาธิป สุนทรรักษ์ (ลูกกอล์ฟ) โพสต์วิดีโอใน TikTok ครบรอบ 1 ปีวันจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม ได้รับยอดเอ็นเกจเมนต์อย่างล้นหลาม
- 14 ก.พ. 2567 มีการพูดถึงเรื่องสมรสเท่าเทียมในวันแห่งความรัก ต้อนรับความหลากหลาย และตอกย้ำว่ารักไม่มีพรมแดน
- 21 ก.พ. 2567 กระแสความไม่พอใจจากกรณีสภาฯ ปัดตกร่าง พ.ร.บ.คำนำหน้านาม ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าสมาชิกสภาฯ บางคนมีความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศจริงหรือไม่ รวมไปถึงความเสียดายที่ผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม แต่กลับปัดตกร่าง พ.ร.บ.คำนำหน้านาม
- 26 ก.พ. 2567 กระแสรัฐบาลผลักดันซีรีส์วาย (Boy’s Love) และยูริ (Girl’s Love) เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ไปพร้อม ๆ กับการผลักดันพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม
- อ่านเพิ่มเติม กฎหมายสมรสเท่าเทียม
นอกเหนือจากนโยบายต่าง ๆ ที่ถูกพูดถึงในโซเชียล 5 อันดับแรกแล้ว ยังมีความคืบหน้าของนโยบายอื่น ๆ ที่ไม่ได้ติดอันดับ ได้แก่
- 22 ก.พ. 67 สภาฯ รับหลักการร่างกฎหมายแก้ไข พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 ทั้ง 8 ฉบับ
- อ่านเพิ่มเติม ฟื้นฟูอุตสาหกรรมประมง
- 28 ก.พ. 67 สภาฯ รับหลักการร่างกฎหมายชาติพันธุ์ ทั้ง 5 ฉบับ พูดถึงการคุ้มครองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงมีการพูดถึงกรณีส.ส.พรรครวมไทยสร้างชาติกล่าวว่าการมีสภาชนเผ่าพื้นเมืองจะเป็นภัยต่อความมั่นคง
- อ่านเพิ่มเติม การคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตชาติพันธุ์
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความคืบหน้านโยบายและโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลภายใต้การนำของ นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ซึ่งเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตยที่จะมีการวิพากษ์วิจารณ์และถกเถียงว่า เห็นด้วยกับนโยบายต่าง ๆ หรือไม่ อย่างไร ด้วยหลักเหตุและผล ซึ่งโซเชียลมีเดียก็เป็นหนึ่งในช่องทางการแสดงความคิดเห็นของผู้คนเช่นกัน
The Active เชิญชวนประชาชนร่วมติดตามความคืบหน้าของนโยบายและแสดงความคิดเห็นผ่านแพลตฟอร์ม Policy Watch