Policy Monthly Report : ก.ย. 2567
ภายหลังจากเศรษฐา ทวีสิน ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งพ้นตำแหน่งนายกฯ เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2567 เปิดทางให้ แพทองธาร ชินวัตร ก้าวขึ้นมาเป็นนายกฯ คนที่ 31 ของประเทศไทย เดือนกันยายนที่ผ่านมาจึงถือเป็นการทำงานครบเดือนแรกของรัฐบาลแพทองธาร ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเจอ ‘ศึกหนัก’ ทั้งศึกภัยธรรมชาติ เหตุสถานการณ์น้ำท่วมรุนแรงในหลายพื้นที่ ฝั่งประชาชนเองก็มีการตั้งคำถามถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตที่รัฐบาลเคยให้คำมั่นสัญญาไว้ว่าจะทำอย่างไรต่อ หรือประเด็นใหญ่อย่างการแก้รัฐธรรมนูญที่ถูกตั้งคำถามจากฝ่ายค้านว่าดูจะยังไม่ค่อยคืบหน้าสักเท่าไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนถูกพูดถึงเป็นอย่างมากบนโลกออนไลน์และรอดูว่ารัฐบาลจะมีท่าทีอย่างไร
The Active เก็บรวบรวมนโยบายที่ถูกพูดถึงบนโซเชียลมีเดีย ผ่าน Zocial Eye เพื่อสอดส่องและฟังเสียงของโลกโซเชียลมีเดียว่า นโยบายใดที่คนให้ความสนใจมากที่สุดในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา (ข้อมูลช่วงวันที่ 1 – 30 ก.ย. 2567)
โดยจากข้อความที่รวบรวมมาได้ มีจำนวน 116,101 ข้อความ ส่วนใหญ่ปรากฏเป็นหลักบน Facebook ที่ 57.89% อันดับที่สองคือ YouTube ที่ 19.02% ตามมาด้วย X (Twitter) ที่ 11.49% และช่องทางอื่น ๆ อีก 11.60%
หากพิจารณายอดเอ็นเกจเมนต์ (ยอดกดดู ไลก์ แชร์ และคอมเมนต์รวมกัน) ภาพรวมมียอดทั้งหมดที่เกี่ยวข้องรวม 17,391,635 เอ็นเกจเมนต์
โดยยอดเอ็นเกจเมนต์ส่วนใหญ่มาจากช่องทาง TikTok แม้ว่าจะมีจำนวนยอดข้อความน้อยเมื่อเทียบกับช่องทางอื่น ๆ (รวม 1,007 ข้อความ หรือคิดเป็น 0.87%) แต่กลับได้รับความนิยมและเอ็นเกจเมนต์จำนวนมาก ถือเป็นหนึ่งแพลตฟอร์มที่ช่วยกระจายการพูดถึงนโยบายของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี
นโยบายที่มียอดเอ็นเกจเมนต์สูงที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่
1. แจกแล้ว-เริ่มใช้ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’
คืบหน้านโยบายดิจิทัลวอลเล็ต หลังรัฐบาลโอนเงินเข้าบัญชีของกลุ่มเปราะบางกลุ่มแรกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทำให้กระแสการพูดถึงนโยบายดังกล่าวขึ้นมาเป็นอับดับที่ 1 ด้วยยอด 7.60 ล้านเอ็นเกจเมนต์
โดยยอดความสนใจของคนสูงโดเป็นช่วง ๆ ตามข่าวความคืบหน้าโครงการที่รัฐบาลเป็นคนแจ้ง เช่น วันที่ 10 ก.ย. 67 มีการแจ้งข่าวกลุ่มคนถือบัตรคนจน-กลุ่มเปราะบาง รอรับเงินดิจิทัลวอลเล็ต 20 ก.ย. นี้ ตามมาด้วยข่าวในวันที่ 12 ก.ย. 67 มีการแจ้งข่าวกลุ่มเปราะบางพร้อมได้ดิจิทัลวอลเล็ต จ่ายเป็นเงินสดให้ เริ่มวันแรก 25 ก.ย. นี้ และในวันที่ 25 ก.ย. 67 ก็มีการโอนเงินสดหนึ่งหมื่นบาทเข้าบัญชีเป็นวันแรก โดยเริ่มจากการแจกกลุ่มเปราะบางก่อน ตามมาด้วยผู้คนบนโลกโซเชียลออกมาแสดงความยินดีที่ได้เงินหมื่นตามที่รัฐบาลได้หาเสียงไว้
- ติดตามนโยบาย ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท
2. ติดตาม ‘แก้น้ำท่วม’ – นายกฯ ลงพื้นที่
ปี 2567 ถือเป็นหนึ่งในปีที่มีเหตุการณ์น้ำท่วมรุนแรง โดยเฉพาะสถานการณ์น้ำในเดือนกันยายนที่หลายฝ่ายหวั่นเหตุการณ์ซ้ำรอยมหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นมาแล้วในปี 2554 ดังนั้นในเดือนนี้โลกโซเชียลจึงมีการพูดถึงเยอะเหตุการณ์น้ำท่วมเป็นพิเศษเนื่องจากส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมาก โดยมีการพูดถึง 6.51 ล้านเอ็นเกจเมนต์
ภาพรวมมีการติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดต่าง ๆ ทั้งทางพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน เช่น จังหวัดเชียงราย รวมไปถึงมีการพูดถึงการแก้ปัญหาน้ำท่วมของนายกฯ และรัฐบาล เช่น แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ลงพื้นที่ติดตามและแก้ปัญหาสถานการณ์น้ำท่วม ขณะที่ฝ่ายค้านและประชาชนบางส่วนมองว่ารัฐบาลทำงานช้า
- อ่านเพิ่มเติม บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
3. ‘สมรสเท่าเทียม’ พร้อมจดทะเบียนปลาย ม.ค. 68
ในเดือนนี้มีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสมรสเท่าเทียมเพียงแค่เหตุการณ์เดียว แต่มีคนพูดถึงเป็นจำนวนมากจนได้รับยอดเอ็นเกจเมนต์ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 3 (รวม 0.98 ล้านเอ็นเกจเมนต์) ซึ่งคือเหตุการณ์เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2567 ที่ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 หรือ กฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยจะมีผลบังคับใช้ใน 120 วันนับตั้งแต่ประกาศลงราชกิจจาฯ หรือมีผลในวันที่ 22 ม.ค. 2568 มีการพูดแสดงความยินดีที่คนไทยจะได้ใช้กฎหมาย นับเป็นก้าวสำคัญของความเท่าเทียมและเสมอภาคในสังคมไทย ขอบคุณการต่อสู้และผลักดันจากหลายภาคส่วนที่ทำให้กฎหมายนี้เป็นจริง รวมไปถึงรายละเอียดของกฎหมายว่าแตกต่างจากเดิมอย่างไรบ้าง
4. หมูเด้ง – ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ไทยดังไกลไปทั่วโลก
อยู่ในอันดับที่ 4 ซึ่งปกติในเดือนที่ผ่าน ๆ จะติดใน 3 อันดับแรกเสมอ แต่ในเดือนนี้ไม่ได้มีความคืบหน้าของนโยบายซอฟต์พาวเวอร์เป็นพิเศษรวมไปถึงมีสถานการณ์อื่น ๆ ที่ผู้คนให้ความสนใจมากกว่าทำให้นโยบายเรื่องธงอย่างนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ มีอันดับที่ตกลง โดยถูกพูดถึงด้วยยอด 0.91 ล้านเอ็นเกจเมนต์
การพูดถึงยังคงเน้นไปที่ซอฟต์พาวเวอร์ของไทยในมุมของผู้คนบนโลกออนไลน์ อย่างไรก็ตามการนำเอาคำว่า “ซอฟต์พาวเวอร์” มาใช้กับสิ่งต่าง ๆ ที่ผู้คนชื่นชอบและชื่นชม ก็อาจจะสะท้อนการตีความมุมมองของผู้คนที่แตกต่างจากภาครัฐ เช่น “หมูเด้ง” ฮิปโปแคระ ถูกชูเป็นซอฟต์พาวเวอร์ไทยที่ดังไปไกลทั่วโลก เกิดกระแสการเอาหมูเด้งไปปรากฎตัวตามที่ต่าง ๆ เช่น ในรายการโทรทัศน์ นิตยสาร รวมไปถึงภาพยนตร์ “หลานม่า” ที่ได้รับรางวัลซอฟต์พาวเวอร์แห่งปี
- อ่านเพิ่มเติม นโยบายซอฟต์พาวเวอร์
5 ‘แก้รัฐธรรมนูญ’ จะแก้ไหม หรือแก้น้ำท่วมก่อน ?
อีกหนึ่งนโยบายที่หลาย ๆ ฝ่ายมองว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน เพื่อลบล้างผลพวงจากคณะรัฐประหาร รวมถึงแก้ปัญหาอื่น ๆ เช่น แก้ปัญหาทุจริต ฯลฯ อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายวิตกกังวลว่าสถานการณ์การแก้รัฐธรรมนูญในปัจจุบันดูมีท่าจะทำได้ยากมากขึ้น มีการพูดถึงรวม 0.44 ล้านเอ็นเกจเมนต์ เช่น
วันที่ 24 ก.ย. 67 มีการพูดถึงว่า พรรคเพื่อไทยอาจถอยแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราประเด็นจริยธรรม โดยมองว่าตัวเองไม่ได้เป็นคนริเริ่มให้แก้ไข รวมไปถึงการที่นายกฯ บอกว่าขอโฟกัสที่การแก้น้ำท่วมก่อน และยืนยันว่าพรรคร่วมรัฐบาลไม่ได้กลับลำการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายมีความกังวลว่าการแก้รัฐธรรมนูญอาจมีข้อจำกัดมากขึ้น เช่น โพสต์ของ นันทนา นันทวโรภาส สว. เมื่อวันที่ 25 ก.ย. ระบุ กมธ. พ.ร.บ. ประชามติ ของ สว. มีการกลับลำมติที่เห็นด้วยกับร่างของ สส. กลายเป็นไม่เห็นด้วยทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้เห็นด้วยมาตลอด ทำให้กังวลว่าจะสามารถแก้รัฐธรรมนูญได้จริงหรือไม่
- อ่านเพิ่มเติม นโยบายแก้ไขรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ยังมีนโยบายอื่น ๆ ที่ไม่ได้ติดใน 5 อันดับแรก แต่มีความเคลื่อนไหวและผู้คนให้ความสนใจ เช่น
25 ก.ย. 67 สภาฯ ถอนร่างกฎหมายชาติพันธุ์ กลับไปทบทวนใหม่
- อ่านเพิ่มเติม นโยบายคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตชาติพันธุ์
26 ก.ย. 67 พิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน แจงขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทไม่ทัน 1 ต.ค. 67
- อ่านเพิ่มเติม นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
พื้นที่โลกออนไลน์ เป็นหนึ่งในพื้นที่สำคัญที่ก่อให้เกิดการถกเถียง แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ สนับสนุน และกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนเปลี่ยน ทั้งเรื่องของการทำงานรวมไปถึงนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในสังคมประชาธิปไตยที่มีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อย่างไรก็ตาม การนำเสนอนโยบายข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งจากนโยบายของรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ที่ยังมีนโยบายอีกมากมาย ที่ล้วนส่งผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศ
The Active ขอเชิญชวนประชาชนร่วมติดตามความคืบหน้าและแสดงความคิดเห็นต่อนโยบายอื่น ๆ ผ่านแพลตฟอร์ม Policy Watch ซึ่งหวังเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ติดตามการทำงานของรัฐบาล และหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ที่สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อไป