“ศูนย์แก้หนี้แห่งชาติ” และ “พื้นที่นำร่องแก้ปัญหาหนี้” ข้อเสนอสำคัญจากวง Roundtable discussion งาน Policy Forum สู่ทางออกการแก้หนี้แก้จนไทย
ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยข้อมูลหนี้สินครัวเรือนเพิ่มสูงถึงร้อยละ 90 ต่อจีดีพี และหนี้สินที่คนไทยเป็นส่วนใหญ่ เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ข้อมูลนี้สะท้อนภาพรวมรายได้ของทั้งประเทศที่ลดลง เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ และประชาชนกำลังขาดสภาพคล่องทางการเงิน จนเข้าสู่วังวนของการก่อหนี้และยากจะหลุดพ้นจากวังวนหนี้
หากปล่อยให้สถานการณ์ดำเนินต่อไปโดยไม่ทำอะไร คาดว่าจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ…
เมื่อ “หนี้” ไม่ใช่ปัญหาส่วนตัวและไม่อาจแก้ได้ด้วยเพียงพฤติกรรมการใช้จ่ายส่วนบุคคลเท่านั้น แต่หนี้เป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ปัญหาจากทุกภาคส่วนในระดับนโยบาย
The Active สรุปการสนทนาช่วง Roundtable discussion: สู่ปฏิบัติการทางนโยบายแก้หนี้ แก้ความยากจน ในงาน Policy Forum สู่ทางออกการแก้หนี้แก้จนไทย เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ที่ผ่านมา ในรูปแบบ Visual Note
จุดร่วมปัญหา”หนี้”
ข้อมูลจากวงเสวนา Roundtable discussion : สู่ปฏิบัติการณ์ทางนโยบายแก้หนี้ แก้ความยากจน เปิดพื้นที่ระดมสมองจากผู้เชี่ยวชาญหลายหน่วยงานด้านการบริหารจัดการเงินและหนี้สิน อาทิ สถาบันการเงิน กลุ่มธุรกิจสตาร์ตอัพ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ร่วมกันถอดบทเรียนสาเหตุของการก่อหนี้สินในครัวเรือนไทย พบว่า จุดร่วมของปัญหาที่พบ คือ รายได้ สถานการณ์โควิด-19 การขาดเจ้าภาพหลัก ไม่มีความรู้ทางการเงิน มีความรู้แต่ทำจริงไม่ได้ และเจ้าหนี้ไม่เสียภาษี
หลายคนให้ข้อมูลตรงกันว่า “ความไม่รู้ทางด้านการเงิน” เป็นช่องโหว่ใหญ่ของปัญหาหนี้สินครัวเรือน ยกตัวอย่างการกู้หนี้นอกระบบ อุมาพร แพรประเสริฐ จากศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม DSI บอกว่า ไทยมีกฎหมายที่กำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยเอาไว้ไม่เกินร้อยละ 15 แต่หนี้นอกระบบคิดดอกเบี้ยที่มากกว่านั้น ประชาชนเมื่อเป็นหนี้ก็ยอมจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยรายวัน สุดท้ายเมื่อผ่อนไม่ไหว ถูกข่มขู่คุกคามเกิดความกลัว “วันนี้อยากบอกลูกหนี้ให้ลุกขึ้นสู้ อย่ากลัวเพราะเขาทำผิดกฎหมาย ไม่ได้บอกให้เบี้ยวหนี้ หนี้เป็นแล้วต้องจ่าย แต่จ่ายเท่าที่เราเอาของเขามา”
ความไม่รู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการเงินและการเป็นหนี้บัตรเครดิต ยังเป็นอีกตัวอย่างที่ถูกพูดถึงอย่างมาก ซึ่งตัวแทนจากศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ ย้ำว่า หนี้บัตรเครดิตเป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะหากเป็นหนี้เพียงไม่กี่แสนบาท อาจจะถูกฟ้องยึดทรัพย์ รถ บ้าน ซึ่งมีราคาที่สูงกว่าหนี้มาก ด้าน อรมนต์ จันทพันธ์ จากธนาคารแห่งประเทศไทย เสริมว่า การขาดความเข้าใจในเรื่องหนี้เสีย ก็เป็นความเข้าใจที่ยังคลาดเคลื่อน และที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีหน่วยงานที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการเงิน หนี้สิน แต่เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ลูกหนี้ส่วนใหญ่ไม่รู้จะแก้ไขหรือไปหาใคร
นอกเหนือจากความไม่รู้ รายได้ที่ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกคนต่างเห็นสอดคล้องกันว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด อาชีพที่ต้องหยุดชะงัก ทำให้รายได้หายไปทันที เรื่องนี้ อรมนต์ อธิบายว่า เมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินและคนไม่มีรายได้ ไม่มีสวัสดิการรองรับ การกู้หนี้จึงเป็นวิธีเดียวที่มีอยู่ สถานการณ์นี้ยังสะท้อนว่าครัวเรือนไทยไม่ได้ขาดเพียงแค่รายได้ แต่ยังไร้เงินออมที่จะใช้ในยามฉุกเฉิน และเมื่อรัฐไม่ได้มีสวัสดิการใด ๆ รองรับ การสร้างหนี้จึงเป็นทางออกเดียวที่ทำได้
ส่วนประเด็นการขาดเจ้าภาพหลัก เป็นปัญหาของการทำงานที่ขาดศูนย์รวมของการสั่งการ การเชื่อมโยงข้อมูลจากแต่ละหน่วยงาน การทำงานที่ต่างคนต่างทำ ช่องว่างใหญ่คือการขาดข้อมูลทั้งของเจ้าหนี้และลูกหนี้ ทำให้การประเมินศักยภาพของการปล่อยกู้ในระบบสถาบันการเงินกลายเป็นช่องทางการสร้างหนี้ที่มากเกินกว่าศักยภาพที่ลูกหนี้จะจ่ายไหว ยกตัวอย่างกรณี ลูกค้าบัตรเครดิต หากเป็นพนักงานเงินเดือน มีความมั่นคงในรายได้ สามารถที่จะกู้เงินได้ง่ายจากหลายสถาบัน โดยไม่ได้ดูภาพรวมว่าหนี้สินเกินรายรับในสัดส่วนที่รับได้แล้ว ไม่ต่างจากเกษตรกรซึ่งเป็นกลุ่มที่พบปัญหาหนี้มากที่สุด แต่สาเหตุของหนี้กลุ่มนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับรายได้ที่พึ่งพาฟ้าฝนเท่านั้น แต่การออกแบบระบบสินเชื่อสำหรับการจ่ายคืนของคนกลุ่มนี้เป็นการออกแบบที่ไม่ทำให้เกษตรกรสามารถจ่ายหนี้คืนได้จริง เนื่องจากการจ่ายคืนหนี้สินแบบเงินก้อนครั้งเดียวเกินศักยภาพไม่สอดคล้องกับวิถีของชีวิต
ปฏิบัติการณ์ทางนโยบายแก้หนี้ แก้ความยากจน
สำหรับข้อเสนอในการแก้หนี้ครัวเรือนในระดับนโยบาย หลายฝ่ายเสนอตรงกันว่า ต้องพึ่งพาองค์ความรู้และการทำงานร่วมกันจากหลายภาคส่วน เชิดศักดิ์ หิรัญสิริสมบัติ อัยการอาวุโส อดีตรองอัยการสูงสุด เสนอแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ สร้างความตระหนักในเรื่องสิทธิ์ที่ลูกหนี้ควรรู้ ขณะเดียวกันยังมีการร่างกฎหมายฟื้นฟูลูกหนี้ หากมีผลบังคับใช้ จะมีผลต่อลูกหนี้ในการยุติกระบวนการทุกอย่างเอาไว้จนกว่าจะเข้าสู่การเจรจา เสนอเพิ่มศูนย์แก้หนี้แห่งชาติ พัฒนาระบบการบริหารหนี้สินกำหนดเพดานดอกเบี้ย สร้างการป้องกันเน้นให้ความรู้ ขณะที่ อรมนต์ เห็นด้วยว่าต้องแก้อย่างเป็นองค์รวม ข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญ ต้องคลี่ให้ชัดเจนเห็นเจ้าหนี้ทุกรายทั้งในและนอกระบบ เพราะหากไม่มีข้อมูล จะส่งผลต่อการประเมินศักยภาพของลูกหนี้ รวมถึงมีการกำกับดูแลสถาบันการเงินในการปล่อยกู้ไม่ให้เกินศักยภาพที่ลูกหนี้จะรับไหว และรัฐต้องมีสวัสดิการรองรับที่ทั่วถึง
ดร.จิตเกษม พรประพันธ์ ฝ่ายส่งเสริมความรู้ทางการเงิน ธปท. เสนอให้มีการสร้างรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มผลผลิตนอกภาคการเกษตร เพิ่มทักษะสร้างแรงจูงใจและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตทั้งในและนอกภาคการเกษตร ต้องทำให้ประชาชนมีรายได้ที่ดีขึ้น มีชีวิตดีขึ้น มีเงินสำรองฉุกเฉิน ปลูกฝังวินัยและให้ความรู้ทางการเงิน โดยทำงานร่วมกันในทุกภาคส่วนตั้งแต่ระดับองค์กร พื้นที่ และหลักสูตรในห้องเรียน ด้าน อาจิน จุ้งลก มูลนิธิสุภา วงค์เสนา เพื่อการปฏิรูปสิทธิลูกหนี้ สะท้อนว่าที่ผ่านมายังคงขาดเจ้าภาพหลักในการแก้ปัญหาหนี้ การแก้หนี้ต้องทำเป็นขั้นตอน เริ่มต้นจากการสำรวจหนี้ให้ครบ รวบรวมหลักฐานดูความรุนแรงเข้าสู่การเจรจาทำแผนฟื้นฟู ให้ความรู้นำปัญหาปลดหนี้ระดมทุกหน่วยช่วยกัน
ดร.ขจร ธนะแพสย์ คณะกรรมการแก้หนี้รายย่อยของรัฐบาล เห็นด้วยว่ายังขาดเจ้าภาพหลัก แต่สาเหตุของการก่อหนี้ไม่ใช่เพียงแค่ตัวลูกหนี้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น กฎหมาย นโยบายไม่ถูกนำมาใช้ให้ความรู้เท่าทันโดยเฉพาะเจ้าหนี้ เสนอว่าควรมีการกำกับเจ้าหนี้ให้รับผิดชอบในการปล่อยกู้ที่เหมาะสมตามศักยภาพ มีกระบวนการไกล่เกลี่ย ชำระหนี้ให้สอดคล้องกับการดำรงชีพที่เขาอยู่ได้ สร้างสัญญาที่สร้างความเป็นธรรมเพื่อเพิ่มศักยภาพให้ชำระคืนได้จริงมีสิทธิที่จะดำรงชีพอยู่ได้
นอกจากนี้ ในวงเสวนายังเสนอร่วมกันว่า ให้หาพื้นที่นำร่องในการทำงานถอดบทเรียนการแก้ปัญหาหนี้ โดยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพหลัก และมีเจ้าภาพย่อย ๆ ทำงานในระดับพื้นที่และบูรณาการจากทุกหน่วยงานซึ่งมีข้อมูล บุคลากร และความรู้พร้อมอยู่แล้ว