โหมโรงก่อนเลือกตั้ง หาเสียงชิงพื้นที่แห่งความหวัง นโยบายพรรคใด ตอบโจทย์คนจน?
หากฟังการแถลงของนายกรัฐมนตรีในแต่ละครั้ง แน่นอนว่าสัญญาณการยุบสภาอาจยังไม่เกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ แต่อย่างไรก็ตามอายุของรัฐบาลกำลังจะครบวาระ 4 ปี ในเวลาอันใกล้ คงไม่สามารถหลีกเลี่ยง “การเลือกตั้งครั้งใหม่” ไปได้ ประกอบกับความต้องการของประชาชน ที่มองหาการแก้ปัญหาประเทศหลากหลายด้านที่ซ้ำเติมในเวลานี้ การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเป็น “ความหวัง” ของคนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะคนตัวเล็กตัวน้อย ที่ยังมองหาโอกาสเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ว่าจะสามารถแก้ปัญหาหนี้สิน หลุดพ้นจากกับดักรายได้ที่น้อยนิดได้อย่างไร The Active จึงรวบรวมคำประกาศ การนำเสนอนโยบายในช่วงเวลานี้ ว่าทิศทางและชุดนโยบายของแต่ละพรรคการเมืองเป็นอย่างไร
พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ณ ปัจจุบัน ยังไม่เห็นทิศทางนโยบายที่แน่นอน ว่าจะสานงานเก่าเดินตามนโยบายเดิมที่เคยทำมา หรือจะเสนอแพ็กเกจใหม่ สร้างภาพจำที่แตกต่างออกไป เนื่องจากแกนนำและสมาชิก อาจมีความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะ “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” ของพรรคพลังประชารัฐ
แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่านโยบายที่เคยทำมาผ่านรัฐบาลปัจจุบัน คงไม่พ้นถูกยกเป็นผลงานเก่า เพื่อใช้หาเสียงในการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย นโยบายที่ได้รับความนิยมอย่างสูง เช่น “คนละครึ่ง” และ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” และรวมถึงการสานต่อนโยบายเศรษฐกิจประชารัฐ สังคมประชารัฐ อย่าง “บ้านประชารัฐ” เพื่อการเข้าถึงที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย
อย่างโครงการคนละครึ่ง ที่ดำเนินการมามากกว่า 5 รอบ ใช้งบประมาณไปมากกว่า 2.3 แสนล้านบาท ถือเป็นโครงการที่อัดฉีดงบประมาณโดยตรงให้ประชาชน เพื่อหวังช่วยลดค่าครองชีพ และกระตุ้นการใช้จ่ายภายใน นอกจากนั้นกลไกอย่างบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่มุ่งช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง คนยากจน และผู้สูงอายุ น่าจะเป็นภาพจำที่สำคัญของพรรคพลังประชารัฐไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตามนโยบายทั้ง 2 นี้ ยังถูกตั้งข้อสังเกตถึงแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนด้วย
แต่หากเราย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ ช่วงการหาเสียงเลือกตั้งในปี 2562 พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาลยังมีอีกหลายรัฐบาลที่ไม่ได้เริ่มทำ อย่าง ค่าแรงขั้นต่ำ 400 – 425 บาท/วัน และการเพิ่มค่าจ้างและค่าแรงของประชาชนในหลากหลายอาชีพ การระดับการศึกษา ที่ประกาศว่า จบปริญญาตรี เงินเดือนไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท หรือจบอาชีวะ เงินเดือนไม่ต่ำกว่า 18,000 เป็นต้น
สลับมาที่พรรคฝ่ายค้าน อย่าง พรรคเพื่อไทย กันบ้าง เพิ่งประกาศนโยบายหลัก พลิกฟื้นประเทศกันไป สดๆ ร้อนๆ เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ที่ผ่านมา ภายใต้แคมเปญรณรงค์ “คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน” ตั้งเป้าหมายไว้ว่า “ประเทศไทย 2570 คนไทยไร้จน” โดยนโยบายเศรษฐกิจ หลักการบริหารประเทศของพรรคเพื่อไทยคือ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และขยายโอกาส ยังคงถูกต้องและยึดเป็นแนวทางเสมอมาและตลอดไป จากปี 2566 จนถึงปี 2570 พรรคเพื่อไทยจะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของประเทศเติบโตอย่างต่ำเฉลี่ยร้อยละ 5% ต่อปี ช่องว่างความเหลื่อมล้ำจะลดลง
การประกาศนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ ที่ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาสะท้อนแล้วว่า หากทำไม่ได้อาจเป็นบ่วงรัดคอตัวเอง แต่ด้วยความมั่นใจของทีมยุทธศาสตร์พรรค ‘แพทองธาร ชินวัตร’ หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยประกาศกร้าว “คนไทยต้องได้ค่าแรงขั้นต่ำให้สมกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนไทย” คือ ไม่ต่ำกว่า 600 บาทต่อวัน เงินเดือนของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี อยู่ที่ 25,000 บาทขึ้นไป
สำหรับนโยบาย “แก้ปัญหาหนี้สิน” ของพรรคเพื่อไทย จะไม่เน้นแค่การพักหนี้ แต่จะล้างหนี้ให้ประชาชนจนหมดสิ้น โดยเปิดโอกาสให้คนที่ต้องการสร้างเนื้อสร้างตัว หรือวิสาหกิจชุมชนสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้หลากหลาย มีดอกเบี้ยต่ำ มีกองทุนหมู่บ้านที่ขยายบทบาทมากขึ้น กองทุนร่วมทุน และการระดมทุนแบบ crowdfunding ส่งเสริมการแข่งขันพัฒนาธุรกิจ SME ด้วยการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจทุกขั้นตอนแบบ one stop service รวมถึงสร้างกติกาการแข่งขันที่เสรีและเท่าเทียม ทลายการผูกขาดในธุรกิจและอุตสาหกรรมที่กีดขวางความคิดสร้างสรรค์ของรายเล็กรายย่อย เช่น สุรา เบียร์ ไวน์ผลไม้
สอดคล้องกับการนำเสนอแนวนโยบายแก้หนี้ แก้จนของ ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ผอ.ครอบครัวเพื่อไทย กล่าวเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 65 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า การแก้หนี้ ต้องแก้ด้วยรายได้ ไม่ใช่แก้หนี้ ด้วยหนี้อย่างที่เป็นมา เพราะฉะนั้น จึงต้อง “สร้างรายได้ใหม่” เอารายได้ใหม่มาแก้ปัญหา ให้ระบบเศรษฐกิจไทย รายได้ใหม่จากภาคการเกษตร ต้องขับเคลื่อนโดยตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้
โดยใช้เทคโนโลยี AI เพื่อการเกษตร เพื่อการวิเคราะห์ สภาพดิน ฟ้า อากาศ น้ำ อย่างแม่นยำและเกิดผลผลิตสูงที่สุดใช้วิทยาศาสตร์เพื่อที่จะให้เกษตรกรรู้วิธีถนอมผลิตภัณฑ์ กระจายและจัดจำหน่ายให้เร็วที่สุด ไม่ค้างสต็อก และจะสามารถแก้ปัญหาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ แล้ว “จับคู่เกษตรกรไทย” โดยมีรัฐสนับสนุนให้ผลิตผลมีคุณภาพ ลดพื้นที่การนำเข้า และสร้างการผลิตเองให้มากที่สุด จะเป็นการยกระดับรายได้เกษตร
เพื่อตอกย้ำความสำเร็จในอดีต “พรรคเพื่อไทย” ยังต่อยอดนโยบายด้านสาธารณสุข ในปี 2570 ให้กับ “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” หรือ “30 บาทรักษาทุกโรค” ถูกอัพเกรด หรือยกระดับขึ้น สามารถรักษาได้ทั่วประเทศ ประชาชนสามารถใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียว รับการรักษาได้ทั่วประเทศโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพราะข้อมูลสุขภาพถูกเชื่อมไว้บนศูนย์ข้อมูล หรือ Cloud เมื่อเจ็บป่วย ผู้ป่วยเพียงยื่นบัตรประชาชนแล้วอนุญาตให้แพทย์ผู้รักษาเข้าถึงข้อมูลการรักษาได้
พรรคร่วมรัฐบาลอย่าง พรรคประชาธิปัตย์ ในครั้งการหาเสียงเลือกตั้ง ปี 2562 พรรคประชาธิปัตย์ มุ่งหาเสียงผ่านกรอบความคิดว่า “แก้จน สร้างคน สร้างชาติ” โดยเน้นไปที่ นโยบายประกันรายได้พืช 5 ชนิด คือ ข้าว ยาง ข้าวโพดปาล์ม และมันสำปะหลัง ที่แน่นอนว่าครั้งนี้จะตอกย้ำความสำเร็จของพรรคตนเอง ที่พร้อมจะพัฒนาต่อไปในอนาคต
และได้เริ่มรณรงค์มาแล้ว ในช่วงของการเปิดว่าที่ตัวผู้สมัคร ส.ส. ในภูมิภาคต่าง ๆ ว่าเป็นหลักประกันในเรื่องรายได้ให้แก่ประชาชนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ป้องกันความเสี่ยงทางด้านราคาผลผลิตที่มีผลโดยตรงกับรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกร โดยที่ผ่านมาประชาธิปัตย์ กล่าวเสมอว่านโยบายนี้สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้มากกว่า 8 ล้านครัวเรือน โดยตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน ใช้งบประมาณไปกว่า 5 แสนล้านบาท
นอกจากนั้น ยังมุ่งสร้างคะแนนเสียงเกษตรกร ด้วยการยกระดับ “กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตร” ที่กล่าวว่าเป็นนโยบายที่เริ่มต้นในสมัย “รัฐบาลชวน2” เพื่อทำภารกิจแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร และสร้างหลักประกันสินทรัพย์ ไม่ให้ถูกยึดไปจากสถาบันการเงิน ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 5.6 ล้านคน ถึงขั้นที่หัวหน้าพรรคกล่าวว่า “ไม่มียุคไหนมีเงินช่วยพี่น้องมากเท่ายุคนี้”
พรรคภูมิใจไทย กับสโลแกนหาเสียงที่เริ่มกันแล้วในตอนนี้ คือ “ภูมิใจไทย พูดแล้วทำ” กับนโยบาย “กัญชาเสรี” ที่ใช้หาเสียงในปี 2562 แม้ยังมองไม่เห็นความชัดเจนว่าจะสมบูรณ์หรือไม่ แต่เป็นไปได้สูงที่ ภท.จะใช้วิธีขอโอกาสกลับเข้ามาผลักดันนโยบายนี้ต่อ โดยหวังให้เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ สร้างความร่ำรวยให้คนไทย ทลายทุกข้อจำกัด
ในปัจจุบันภูมิใจไทยหวังครองที่นั่ง ส.ส. ในพื้นที่ภาคใต้ โดยเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ได้นำเสนอชุดนโยบายระหว่างเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส. โดยจะมี 8 นโยบายหลัก ที่ออกมาแล้วอย่าง “นโยบายพักหนี้ ปลอดดอกเบี้ย 3 ปี” รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท จากเดิมที่มีแต่พักหนี้เกษตรกร แต่จะพักหนี้ให้กับผู้เป็นหนี้ที่ถูกต้องตามกฎหมายทุกคน
“นโยบายภาษีบ้านเกิดเมืองนอน” โดยภาษีที่เสียไปจะต้องคืนให้กับบ้านเกิด 30% เพื่อนำมาเป็นงบประมาณบำรุงพัฒนาบ้านเกิด และยังมี “นโยบายลดรายจ่ายประชาชน” ด้วยโครงการ 2 โครงการที่มีความเชื่อมโยงกัน คือ 1. ฟรีโซลาร์เซลล์ หลังคาบ้าน ลดค่าไฟฟ้า หลังคาเรือนละ 450 บาท และ 2. รับสิทธิซื้อ รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ราคา 6,000 บาท ผ่อนจ่ายเดือนละ 100 บาท เป็นเวลา 60 งวด
ขณะที่ พรรคก้าวไกล ตอนนี้เดินสายภูมิภาคประกาศเดินหน้านโยบายหลัก เน้นไปที่นโยบาย “สวัสดิการถ้วนหน้า” เพื่อเป็นหลักประกันในการใช้ชีวิตของทุกครอบครัว เมื่อเกิดวิกฤตต้องมีเบาะรองรับ ตั้งแต่เกิดจนตาย “เงินอุดหนุนเด็กเล็ก 1,200 บาท” ต่อเดือน และเงินสนับสนุนเด็กโตและเยาวชน 7-22 ปี อีก “800 บาท” ต่อเดือน
เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป เป็นบำนาญแบบถ้วนหน้า 3,000 บาทต่อเดือน และผู้พิการ ยังได้รับเบี้ยยังชีพอีก 3,000 บาทต่อเดือน นอกจากนั้นเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ของประเทศไทยการดูแลผู้สูงอายุที่เป็น “ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง” ต้องได้รับการดูแลอย่างถ้วนหน้า โดยตั้งกรอบงบประมาณไว้ที่ 9,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่วัยทำงานนั้นก้าวไกลยังประกาศนโยบาย “ค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นทุกปี” เริ่มต้นวันละ 450 บาท รัฐช่วย SME 6 เดือนแรก
ปัยหาการขาดที่ดินทำกิน อันเป็นที่มาของวังวนหนี้สินเกษตรกรนั้น พรรคก้าวไกลยังมีนโยบายจัดตั้ง “กองทุนตรวจสอบข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดิน” และออกเอกสารรับรองสิทธิในที่ดิน 10,000 ล้านบาท เพื่อพิสูจน์สิทธิ์ และออกเอกสารสิทธิ์ให้ครบถ้วนทั้งหมด “ภายใน 5 ปี” ในขณะที่ด้านที่อยู่อาศัยนั้น ยังมีนโยบาย “บ้านตั้งตัว 350,000 หลัง” ด้วย
นอกจากนั้นยังมีแพ็กเกจนโยบายแก้จนรายภาค อย่าง “อีสาน 2 เท่า” เป็นนโยบายพัฒนาพื้นที่ที่ประชาชนจะเป็นผู้กำหนดเอง ให้มีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นแบบเท่าตัว และลดความยากจนลงในปี 2575 ผ่านกลไกกระจายอำนาจ งบประมาณ และการตัดสินใจที่พรรคเสนอกฎหมาย “ปลดล็อกท้องถิ่น” ไปก่อนหน้านี้ ควบคู่กับการปรับโครงสร้างหนี้และจัดการผลผลิต และตลาดด้วย
และพรรคใหม่ที่รวมมือเศรษฐกิจของรัฐบาลประยุทธ์ 1 หลังการเลือกตั้งปี 2562 อย่างพรรค “สร้างอนาคตไทย” นำโดย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มือเศรษฐกิจหลายรัฐบาล โดยมีจุดขายเป็นพรรคเศรษฐกิจ โดยล่าสุด ได้ประกาศแนวทางรีเซ็ตประเทศไทย ด้วยเสนอพันธกิจ “5 แก้ 5 สร้าง” เพื่อฟื้นวิกฤติเศรษฐกิจ หนี้สิน เสนอตั้ง “กองทุนสร้างอนาคตไทย” 3 แสนล้านบาท
โดยกองทุนดังกล่าวเน้น “แก้หนี้ ลดค่าครองชีพ” จะแบ่งสัดส่วน 1 แสนล้านบาท สำหรับ “สร้างอนาคตเอสเอ็มอีไทย”ให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุน ลดภาระทางการเงิน และแก้ปัญหาเรื่องหนี้สิน มีนโยบาย “พักชำระเงินต้นดอกเบี้ย” ส่วนอีก 2 แสนล้านบาท เป้าหมายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก สร้างเศรษฐกิจใหม่
อีกหนึ่งพรรคอย่าง “ไทยสร้างไทย” ที่นำโดย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เปิดนโยบายนโยบายของพรรค โดยเสนอตั้ง 6 กองทุน เพื่อฟื้นคืนเศรษฐกิจของประเทศ ช่วยเหลือผู้ประกอบการคนตัวเล็กตัวน้อย ที่เป็นเส้นเลือดฝอยของประเทศกลับมาทำงานได้ จึงมีนโยบายกองทุนสร้างไทยขึ้นมา ได้แก่ “กองทุนปลดหนี้คนตัวเล็ก” ที่ใช้กลไกรัฐเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้เสียของกลุ่มคนตัวเล็กจำนวนหลายล้านคน “กองทุนสร้างพลังของคนตัวเล็ก” เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นรายย่อย ดอกเบี้ยต่ำ
นอกจากนั้นยังมี “กองทุน Start Up” เพื่อให้โอกาสคนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสตั้งตัว “กองทุนวิสาหกิจชุมชน” เพื่อเป็นการต่อยอดผลิตภัณฑ์ของเกษตรกร “กองทุนการท่องเที่ยว” ช่วยเหลือผู้ประกอบการโรงเเรมขนาดเล็ก ร้านอาหาร สถานบันเทิง จนไปถึงร้านนวดสปา สุดท้าย คือ “กองทุนเครดิตประชาชนเพื่อคนตัวเล็ก” ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งทุนเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน
นอกจากนั้นไทยสร้างไทยยังประกาศ “ยกเลิกการเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” เหลือ 0% สำหรับผู้ที่มีรายได้น้อยกว่า 300,000 บาทต่อปี เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มคนที่เริ่มตั้งตัว ซึ่งคาดว่าเป็นกลุ่มคนไทยราว 2 ล้านคน รวมถึงนโยบาย “ปลดล็อกกฎหมาย” พักการใช้กฎหมายที่เป็นอุปสรรค ต่อการทํามาหากินของประชาชนกว่า 1,000 ฉบับ พักการบังคับใช้เป็นเวลา 3-5 เพื่อให้ประชาชนสามารถประกอบอาชีพได้ เปิดโอกาสให้ประชาชนทํามาหากินได้ทันที ไม่ต้องรอการอนุมัติ อนุญาตที่ล่าช้า
และสุดท้าย พรรคใหม่ ในขวดเก่า อย่าง “พรรคชาติพัฒนากล้า” โดยมี กรณ์ จาติกวนิช เป็นหัวหน้าพรรค เปิดเผยกับ The Active ว่า เรื่องปากท้อง สร้างโอกาสให้ประชาชน เป็นภาระที่ท้าทาย และเป็นเรื่องหลักของพรรค โดยมุ่งเน้นไปที่การ ลดภาระค่าใช้จ่าย และเพิ่มรายได้กับประชาชน โดยการเพิ่มรายได้นั้นพรรคนำเสนอโมเดล “พัฒนาเศรษฐกิจเฉดสี” เป็นโอกาสที่เรามีจุดแข็งแต่มองข้ามไป อย่าง “เศรษฐกิจสีรุ้ง” การสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของกลุ่ม LGBTQ+ เป็นต้น สร้างบรรยากาศในทางบวก ครองตลาดการท่องเที่ยวได้
“เศรษฐกิจสีเทา” เราต้องยอมรับว่าธุรกิจแบบนี้มีอยู่จริงในประเทศไทย แต่ไม่กล้าเอาขึ้นมาในที่สว่าง แทนที่เราจะสามารถเก็บรายได้ เพิ่มรายได้ให้ประชาชน อย่าง คาสิโน ที่สามารถสร้างงาน สร้างโอกาสได้ หรือ “เศรษฐกิจสีขาว” ชูจุดเด่นสายมู การเที่ยววัด สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นวัฒนธรรมของเอเชีย ที่ประเทศไทยมีของดีมากมาย แต่ยังขาดการต้องลงทุน หากสามารถหยิบยกมากให้เป็นแนวทางการท่องเที่ยวได้ จะเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจฐานรากไปในตัว
นอกจากนั้น นโยบายลดค่าครองชีพ กรณ์กล่าวว่า ในบางครั้ง “ต้องกล้าชนโครงสร้างเศรษฐกิจ” อย่าง ราคาน้ำมัน ที่เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้สินค้าราคาแพง ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งสูงขึ้น แต่ตอนนี้มีความไม่เป็นธรรมเชิงโครงสร้างกำหนดราคาน้ำมัน ค่าการกลั่น หรือค่าการตลาดที่ผู้ค้ายังคิดในราคาที่สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ต้องกล้าชนทุนใหญ่ด้วย
ทั้งหมดนี้เป็น “นโยบาย” ส่วนหนึ่งของพรรคการเมือง ที่เริ่มเปิดฉากหาเสียง นำเสนอสู่ประชาชน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แก้จน แก้หนี้ เพื่อนำไปสู่การครองตำแหน่งที่นั่งในสภา ก้าวขึ้นไปครองอำนาจบริหารเพื่อขับเคลื่อนนโยบายนี้ แต่นโยบายต่างๆ เหล่านี้ จะสามารถเกิดผลจริงได้มากแค่ไหน ยังคงอยู่ภายใต้ข้อจำกัดด้านงบประมาณ โครงสร้างการบริหาร และการเห็นพ้องต้องกันของฝ่ายการเมือง ยังเป็นเรื่องท้าทายพรรคการเมือง ซึ่งแน่นอนว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนจะเป็นผู้กำหนด