ส่องสถานการณ์ “ยาฟาวิพิราเวียร์” หากมีผู้ติดเชื้อเพิ่ม

: หากผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้นตามแบบจำลองสถานการณ์ที่เลวร้าย
“ยาฟาวิพิราเวียร์” ยังมีพอหรือขาดแคลน?

ผู้ติดเชื้อรายใหม่ แตะ 2 หมื่นคน อาจทำให้ “ยาฟาวิพิราเวียร์” ขาดแคลน เมื่อรัฐมีนโยบายให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาอย่างรวดเร็ว

ประเมินกันว่า จะต้องใช้ยานี้วันละ 1 ล้านเม็ด ในกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้รับการยืนยัน 

แม้ยังคงเป็นข้อถกเถียงถึงเกณฑ์การจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ ว่าควรจ่ายให้กับผู้ป่วยกลุ่มไหนบ้าง? แต่แนวทางหลักที่แพทย์ใช้ในปัจจุบัน ไม่ใช่ทุกคนที่ป่วยจะได้รับการจ่ายยาต้านไวรัส ฟาวิพิราเวียร์ เพราะแพทย์จะพิจารณาจ่ายให้กับผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการปอดอักเสบ โดยดูจากค่าออกซิเจนในเลือด ที่ต่ำกว่า 90 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ประมาณการณ์ว่า จะต้องให้ยาฟาวิพิราเวียร์ในผู้ป่วย 56% จากผู้ป่วยยืนยันทั้งหมด โดยผู้ป่วยหนึ่งคน ต้องใช้ยา 90 เม็ด หากมีผู้ป่วย 20,000 คนต่อวัน จะต้องใช้ยาประมาณ 30 ล้านเม็ดต่อเดือน 

หมายเหตุ: ปริมาณการใช้ยา “ฟาวิพิราเวียร์” ในผู้ป่วย
คำนวณจากการใช้ยาสูงสุดในกลุ่มผู้ป่วยอาการหนัก 1 โดส = 90 เม็ด

ข้อมูลจาก กองบริหารการสาธารณสุข ระบุ จำนวนยาฟาวิพิราเวียร์ ที่มีอยู่ราว 6 ล้านเม็ด (ณ วันที่ 28 ก.ค. 64 มี 6,821,276 เม็ด) กระจายอยู่ในมือของ องค์การเภสัชกรรม 2,554,554 เม็ด สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 2,372,757 เม็ด กรมการแพทย์ 1,853,145 เม็ด และกรมควบคุมโรค 40,820 เม็ด ขณะที่แนวโน้มปริมาณการใช้ยาต่อวันเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้ติดเชื้อล่าสุด อยู่ที่วันละ 626,385 เม็ด 

จึงมียาฟาวิพิราเวียร์ สำรองใช้ได้อีกประมาณ 8 วัน (นับจากวันที่ 28 ก.ค.) นั่นหมายความว่า ภายในสัปดาห์นี้ ประเทศไทย จะอยู่ในภาวะขาดยาฟาวิพิราเวียร์ 

รศ. ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม เสนอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการให้โรงงานผลิตยาของเอกชนที่มีมาตรฐานเข้ามาผลิตยาเพิ่มเติมเพื่อความมั่นคงทางยาในระยะยาว และลดการนำเข้าซึ่งมีราคาแพงหลักร้อยบาทต่อเม็ด แต่หากผลิตได้เองจะมีต้นทุนเม็ดละเพียง 10 กว่าบาท 

องค์การเภสัชฯ ทยอยนำเข้า เตรียมแผนยาสำรองเดือนละ 30 ล้านเม็ด

ขณะที่ “องค์การเภสัชกรรม” ยืนยันว่า ยาฟาวิพิราเวียร์มีเพียงพอ และอยู่ระหว่างการนำเข้าร่วมกับการผลิตเอง จากความต้องการประมาณ 30 ล้านเม็ดต่อเดือน

ในเดือนสิงหาคม องค์การเภสัชกรรม จะนำเข้า 43.1 ล้านเม็ด เบื้องต้นวันที่ 5 ส.ค. 2564 นำเข้า 3 ล้านเม็ด วันที่ 7 ส.ค. นำเข้า 4 ล้านเม็ด ทยอยไปจนครบ และในเดือนกันยายน องค์การเภสัชกรรมจะผลิตได้เองจำนวน 23 ล้านเม็ด และตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 เป็นต้นไป จะสามารถผลิตได้ไม่น้อยกว่า 40 ล้านเม็ดต่อเดือน โดยจะสต็อกถัวเฉลี่ยยอดจำนวนนำเข้าให้แต่ละเดือนมียาฟาวิพิราเวียร์สำรองคลังไม่ต่ำกว่า 30 ล้านเม็ด 

ประมาณการความต้องการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ ถูกประเมินบนตัวเลขผู้ป่วยยืนยัน ณ ปัจจุบัน ขณะที่ความเป็นจริง ตัวเลขผู้ติดเชื้ออาจมีมากกว่านั้น

คาดการณ์สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ของประเทศไทย ระหว่าง ส.ค. – ธ.ค. 2564 โดย กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค และสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข (27 ก.ค. 2564)

ยังไม่นับว่า หากการพยากรณ์ของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เกิดขึ้นจริง ภาพที่เลวร้ายที่สุดจากแบบจำลอง กลางเดือนกันยายน ประเทศไทยจะมีผู้ติดเชื้อมากถึง 45,000 คนต่อวัน หรือเลวร้ายน้อยกว่านั้นภายใต้สถานการณ์ล็อกดาวน์ จะมีผู้ติดเชื้อ 35,000 คนต่อวัน ในช่วงต้นเดือนตุลาคม

นั่นหมายความว่า อาจมีความต้องการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์มากถึง 60 ล้านเม็ดต่อเดือน

แม้การเข้าถึงยาอันตรายจะจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ แต่เวลานี้ ก็ยังมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ลงทะเบียนกับสายด่วน 1330 สปสช. เพื่อดูแลรักษาที่บ้านหรือ Home Isolation แต่ยังไม่ได้รับการติดต่อกลับจากแพทย์เพื่อประเมินอาการ ซึ่งหากไม่มีเครื่องวัดระดับออกซิเจนในเลือด ก็อาจไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่า พวกเขาควรได้รับยาฟาร์วิพิราเวียร์แล้วหรือยัง 

รวมทั้ง จำนวนผู้ที่เข้าข่ายจะติดเชื้อจากผลตรวจของชุดตรวจด้วยตนเองอย่าง แอนติเจน เทสต์ คิท (ATK) และการตรวจเชิงรุกของหน่วยต่าง ๆ จึงยังไม่สามารถประเมินอย่างชัดเจนได้ว่า ความต้องการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ ในขณะนี้ ตรงกับสถานการณ์จริงหรือไม่ โดยมีโจทย์สำคัญคือทำอย่างไร ให้ผู้ป่วยที่ควรได้รับยานี้ สามารถเข้าถึงยาได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์