3 เดือนรัฐบาลแพทองธาร นโยบายเร่งด่วนคืบหน้าถึงไหนแล้ว ?

เป็นระยะเวลากว่า 3 เดือนแล้วที่ประเทศไทยใด้รัฐบาลชุดใหม่ ภายใต้การนำของนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทยเช่นเดิม หลายนโยบายถูกส่งต่อและดำเนินการต่อจากรัฐบาลชุดที่แล้ว บางนโยบายก็ได้รับการเดินหน้าสานต่อ ในขณะที่บางนโยบายก็กลับหายไปจากการดำเนินการ

The Active ชวนดูผลงานหนึ่งไตรมาสที่ผ่านมาของรัฐบาล ว่า 10 นโยบายเร่งด่วนตอนนี้มีความคืบหน้าถึงไหน และ 10 นโยบายไหนเป็นนโยบายเด่นบนโลกโซเชียลที่คนพูดถึงกัน และพูดถึงกันว่าอะไรบ้าง

10 นโยบายระยะเร่งด่วน ตอนนี้ถึงไหนแล้ว ?

การแถลงนโยบายคณะรัฐมนตรีของนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ต่อรัฐสภา ในวันที่ 12 ก.ย. 2567 คำแถลงดังกล่าวได้ได้แบ่งหมวดหมู่ออกเป็นออกเป็น 9 ความท้าทาย 10 นโยบายเร่งด่วน และ 25 นโยบายระยะกลางและยาว

หนึ่งในส่วนที่ถูกจับตามองมากที่สุดคือนโยบายเร่งด่วน ซึ่งสะท้อนสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยจาก 10 นโยบายรัฐบาลแพทองธารมองในมิติของความเดือนร้อนอันเนื่องมาจากปัญหาเศรษฐกิจ (6 นโยบาย) เป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงปัญหาด้านสังคม คุณภาพชีวิต (3 นโยบาย) และปัญหาในภาคการเกษตร (1 นโยบาย)

รัฐบาลตระหนักดีว่าความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ทั้งเรื่องปัญหาหนี้สิน รายได้ ค่าครองชีพ รวมทั้งความมั่นคงและปลอดภัยในสังคม คือ ปัญหาเร่งด่วนที่รัฐบาลจะต้องเร่งสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ ด้วยการแก้หนี้ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้
กระตุ้นเศรษฐกิจ และแก้ไขปัญหาที่กระทบความมั่นคงของสังคม เพื่อนำความหวังของคนไทยกลับมาให้เร็วที่สุด

คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร

โดยในภาพรวมทั้ง 10 ข้อนโยบายมีการดำเนินการในทุกข้อ แต่การรายละเอียดภายในของแต่ละนโยบายอาจยังไม่ได้ดำเนินการในบางจุด ในโอกาสอันดีครบรอบการทำงาน 3 เดือนของรัฐบาลใหม่ The Active รวบรวมข้อมูล ชวนดูว่าในส่วนของนโยบายเร่งด่วน ได้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนและทำทันทีอย่างที่ได้แถลงไว้จริงหรือไม่

1. ปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ

เป็นนโยบายเร่งด่วนในสมัยนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ซึ่งก็กลายมาเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลแพทองธารด้วย โดยมีการต่อยอดเพิ่มเติมในส่วนของหนี้รถและหนี้บ้าน ซึ่งพักการจ่ายดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี

รายละเอียดความคืบหน้า
ผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ / ช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบมาตรการแก้หนี้ต่อเนื่องจากรัฐบาลเศรษฐา เช่น หนี้ข้าราชการ หนี้นอกระบบ หนี้เกษตรกร หนี้ กยศ.
มาตรการแก้หนี้รถ-บ้าน พักดอกเบี้ย 3 ปี

2. ส่งเสริม SMEs

นายกฯ มีการย้ำถึงการทลายทุนผูกขาด ในงานแถลงผลงาน 90 วัน ‘2568 โอกาสไทย ทำได้จริง’ เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2567 โดยเน้นไปที่การมองแค่ในมิติของการสนับสนุน SMEs เช่นการปลดล็อกการส่งออกข้าวให้ SME ขนาดเล็กส่งออกได้ (แก้กฎหมายจากเดิมที่ต้องเก็บข้าวอย่างน้อย 500 ตันถึงจะส่งออกได้) หรือปลดล็อกการผลิตสุราชุมชน นอกจากนี้ยังมีมาตรช่วยเหลือ SME อื่น ๆ อีก เช่น การเข้าถึงแหล่งเงินทุน

รายละเอียดความคืบหน้า
ดูแลและส่งเสริมพร้อมกับปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEsปลดล็อกการส่งออกข้าว การผลิตสุราชุมชน
แก้ไขปัญหาหนี้ของ SMEs เช่น การพักหนี้ การจัดทำ Matching Fund– มาตรการช่วย SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน / แก้หนี้ยั่งยืน
Soft Loan ช่วย SMEs ไทย ภายใน 2568
จัดทำ Matching Fund ซึ่งเป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างรัฐบาลและเอกชน

3. ลดราคาค่าพลังงานและสาธารณูปโภค

เป็นอีกหนึ่งหมวดที่เดินหน้าต่อจากนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่แล้วเช่นกัน ส่วนใหญ่มีความคืบหน้า เช่น การลดค่าไฟฟ้าในงวดหน้าลง 0.03 บาท/หน่วย นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายที่ได้นำร่องในสายสีม่วงและสายสีแดงแล้ว หรือการเริ่มการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา

รายละเอียดความคืบหน้า
ลดราคาค่าพลังงานและสาธารณูปโภคลดค่าไฟฟ้างวด ม.ค. – เม.ย. 2568 จาก 4.18 บาท/หน่วย เหลือ 4.15 บาท/หน่วย
ปรับโครงสร้างราคาพลังงาน
พัฒนาระบบสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ของประเทศ (SPR)ดำเนินการจัดทำร่างกฎหมายจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันแห่งชาติ (SPR)
สำรวจหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติมร่างกฎหมายปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน
เจรจาประเด็นพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา (OCA)เจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา (Overlapping Claims Area หรือ OCA)
พัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ (Mass Transit)เดินหน้าโครงการลงทุนเพื่อเชื่อมการเดินทาง และลดต้นทุนโลจิสติกส์ควบคู่การสนับสนุนพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ค่าโดยสารราคาเดียวตลอดสาย ในกทม.รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เริ่ม ก.ย. 2568

4. สร้างรายได้ใหม่นำเศรษฐกิจนอกระบบภาษีและเศรษฐกิจใต้ดินเข้าสู่ระบบภาษี

ในงาน ‘2568 โอกาสไทย ทำได้จริง’ มีเพียงการประกาศว่าจะนำเศรษฐกิจนอกระบบภาษีและเศรษฐกิจใต้ดินเข้าสู่ระบบภาษีเท่านั้น โดยระบุว่าเศรษฐกิจเหล่านี้มีมูลค่ามากกว่า 49% ของ GDP ไทย แต่ไม่ได้มีการระบุว่าคือธุรกิจอะไรบ้าง และจะนำขึ้นมาอย่างไร

รายละเอียดความคืบหน้า
นำเศรษฐกิจนอกระบบภาษี (Informal Economy) และเศรษฐกิจใต้ดิน (Underground Economy) เข้าสู่ระบบภาษี พร้อมปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัยประกาศจะนำธุรกิจนอกระบบเข้ามาในระบบ

5. กระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

อีกหนึ่งนโยบายที่เร่งด่วนมาตลอด เงินดิจิทัลวอลเล็ตมีการเปลี่ยนรูปแบบเป็นเงินสดในเฟส 1 ซึ่งทำการแจกกลุ่มเปราะบาง 14 ล้านคนเป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ 25 ก.ย. 2567 เป็นต้นมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อแจกเงินสดเฟส 2 ให้ผู้สูงอายุ 4 ล้านคน ภายในตรุษจีน 2568 และเงินดิจิทัลเฟส 3 ให้ประชาชนทั่วไปในปี 2568

รายละเอียดความคืบหน้า
เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ ควบคู่กับการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นลำดับแรกโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต
– เงินโอน เฟส 1 ให้กลุ่มเปราะบาง 14 ล้านคน
– เงินโอน เฟส 2 ให้ผู้สูงอายุ 4 ล้านคน ภายในตรุษจีน 2568
– เงินดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 3 ให้คนทั่วไป ภายใน 2568
ผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet)
วางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล และพัฒนาศูนย์ข้อมูลภาครัฐ

6. ยกระดับการทำเกษตรเป็นเกษตรทันสมัย

นโยบายเร่งด่วนด้านการเกษตรเพียงหนึ่งเดียว ก่อนหน้านี้อยู่ในนโยบายระยะกลางและยาวของนายกฯ เศรษฐา แต่ถูกนำกลับขึ้นมาเป็นนโยบายเร่งด่วน เช่น นโยบายตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้

รายละเอียดความคืบหน้า
เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชน และการประกอบอาชีพโครงการ SML พัฒนาหมู่บ้าน ในปี 2568
ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ / ยกระดับการทำเกษตรให้ทันสมัย นำเทคโนโลยีด้านการเกษตร (Agri-Tech) มาใช้สานต่อ 9 นโยบายเกษตร ตามแนวคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” เช่น ทูตเกษตรในการขยายตลาดเดิมและเพิ่มตลาดใหม่ การใช้นวัตกรรมมาเป็นจุดขายสินค้าเกษตรผ่านแอปพลิเคชัน
พัฒนาอาชีพด้านการเกษตร ประมง ปศุสัตว์ และอาชีพที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร
คว้าโอกาสในตลาดใหม่ ๆ รวมทั้งอาหารฮาลาลผลักดันอาหารอนาคต / อาหารทางเลือกใหม่
ฟื้นนโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก”ครัวไทยสู่ครัวโลก
เร่งเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและราคาพืชผลการเกษตร

7. ส่งเสริมการท่องเที่ยว

ต่อยอดจากนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเศรษฐาเช่นกัน ในหมวดนี้มีการดำเนินการในทุกข้อ เช่น การจัดงานเทศกาลเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว นโยบายวีซ่าเพื่อนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ในอนาคตจะมีการสร้างสถานบันเทิงครบวงจร หรือเอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์อีกด้วย (แม้จะมีหลายฝ่ายกังวลถึงผลกระทบที่ตามมาก็ตาม)

รายละเอียดความคืบหน้า
เร่งส่งเสริมการท่องเที่ยว เมืองน่าเที่ยว– แคมเปญกระตุ้นการท่องเที่ยว เช่น Amazing Thailand Grand Tourism Year 2025 / สุขท้าลอง 72 สไตล์
– ดันไทยเป็น Festival Country ท่องเที่ยวได้ทั้งปี
นำคอนเสิร์ต เทศกาล และการแข่งขันกีฬาระดับโลกมาจัดในประเทศไทยโครงการ Thailand Music Campaign จัดคอนเสิร์ตศิลปินระดับโลกในไทย
ปรับโครงสร้างการตรวจลงตราทั้งหมดของประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ขอวีซ่านโยบายฟรีวีซ่า 3 ระยะ
ส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-made Destinations)พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร (เอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์)

8. แก้ไขปัญหายาเสพติด

ถือเป็นหนึ่งในปัญหาที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยรัฐบาลมองว่ายาเสพติดเป็นหนึ่งในปัญหาฉุดรั้งศักยภาพของคนไทย จึงเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร็ว โดยในอนาคตจะมีแพลตฟอร์มออนไลน์ซึ่งประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสเข้ามาได้

รายละเอียดความคืบหน้า
บำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด การฝึกอาชีพ การศึกษา และการฟื้นฟูสภาพทางสังคม มีระบบติดตามดูแลช่วยเหลือเพื่อไม่ให้กลับไปสู่วงจรยาเสพติดอีกแพลตฟอร์มแจ้งเบาะแสยาเสพติด ปกป้องคนส่งข้อมูล ส่งตรงถึงนายกฯ
– โมเดลจัดการยาเสพติด
แก้ปัญหายาเสพติดอย่างเด็ดขาดและครบวงจรนายกฯ นั่งหัวโต๊ะ ป.ป.ส. เดินหน้าแก้ปัญหายาเสพติด ประกาศวาระแห่งชาติ ขยายผลทั่วไทย / ตรวจเข้มชายแดน

9. เร่งแก้ไขปัญหาอาชญากรรม

ในคำแถลงระบุปัญหาอาชญากรรมไว้ 3 ประเภท ได้แก่ อาชญากรรม, อาชญากรรมออนไลน์หรือมิจฉาชีพ, อาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เช่น หน่วยงานรัฐ ประเทศเพื่อนบ้าน ผู้ประกอบการต่าง ๆ

รายละเอียดความคืบหน้า
เร่งแก้ปัญหาอาชญากรรม (ออนไลน์ / มิจฉาชีพ / ข้ามชาติ)โครงการ DE-fence platform หรือ แพลตฟอร์มกันลวง ป้องกันการโทรหลอกลวง และ SMS หลอกลวง เร่งพัฒนาให้พร้อมใช้ในต้นปี 2568
ผนึกกำลังกับประเทศเพื่อนบ้านในการแก้ปัญหาอาชญากรรม (ออนไลน์ / มิจฉาชีพ / ข้ามชาติ)ตำรวจไทยและลาวร่วมประชุมแก้ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ยาเสพติด และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งกระทบทั้ง 2 ประเทศ
สร้างกลไกการร่วมรับผิดชอบปัญหาอาชญากรรม (ออนไลน์ / มิจฉาชีพ / ข้ามชาติ) ของบริษัทผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมและธนาคารพาณิชย์

10. ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพและจัดสวัสดิการสังคม

ในการแถลงผลงานรอบ 3 เดือน ‘2568 โอกาสไทย ทำได้จริง’ นายกฯ แพทองธาร ได้พูดถึงนโยบายด้านส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพและจัดสวัสดิการสังคม ถึง 4 นโยบายด้วยกัน โดยเป็นนโยบายสวัสดิการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 3 นโยบาย และสวัสดิการด้านที่อยู่อาศัย 1 นโยบาย

รายละเอียดความคืบหน้า
ส่งเสริมพัฒนาศักยภาพ และจัดสวัสดิการสังคมให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปโครงการเกี่ยวกับการศึกษา เช่น ODOS หนึ่งอำเภอหนึ่งทุนการศึกษา / ทุนการศึกษา summer camp / โรงเรียนต้นแบบประจำอำเภอ
บ้านเพื่อคนไทย

มีเพียง ‘แก้รัฐธรรมนูญ’ เลื่อนจากเร่งด่วน เป็นระยะกลาง-ยาว

ในขณะที่ถ้าเทียบกับนโยบายเร่งด่วนของ ครม.เศรษฐา จะพบว่ามี 5 นโยบาย ได้แก่ เติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต, แก้ปัญหาหนี้สิน, ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน, สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว และแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีเพียงนโยบายแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น ที่ถูกระบุกลายเป็นนโยบายระยะกลางและยาวในคำแถลงของ ครม.แพทองธาร ในขณะที่ 4 นโยบายได้ไปต่อในนโยบายเร่งด่วน สถานการณ์การจัดทำรัฐธรรมนูญปัจจุบันมีความกังวลจากหลายฝ่ายว่าจะทันใช้ในการเลือกตั้งปี 2570 ที่จะถึงหรือไม่

รายละเอียดความคืบหน้า
เร่งจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนโดยเร็วที่สุด– รอสภาฯ สรุปว่าจะใช้ ‘เสียงข้างมาก 1 ชั้น’ หรือ ‘เสียงข้างมาก 2 ชั้น’
– ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะทำประชามติ 2 หรือ 3 ครั้ง
– ยังไม่มีข้อสรุปว่า สสร. มาจากไหน

เทียบ 10 นโยบายถูกพูดถึงมากที่สุดใน 3 เดือน

อย่างไรก็ตาม บางนโยบายเร่งด่วนที่นายกฯ แพทองธาร ได้แถลงไว้ อาจไม่ใช้นโยบายที่คนบนโลกออนไลน์ให้ความสนใจ และบางนโยบายที่คนบนโลกออนไลน์ให้ความสนใจ ก็อาจไม่ใช่นโยบายเร่งด่วนเช่นกัน

The Active รวบรวมข้อมูลผ่านเครื่องมือ Zocial Eye (Social Listening) เพื่อดูว่าโลกออนไลน์พูดถึงนโยบายไหน อย่างไรบ้าง โดยเริ่มตั้งแต่วันที่นายกฯ แถลงนโยบาย ครม. ต่อรัฐสภา จนถึงวันที่นายกฯ แถลงผลงานครบรอบ 90 วัน (ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย. 2567 ถึง 12 ธ.ค. 2567)

โดยนโยบายที่ถูกพูดถึงส่วนใหญ่คือนโยบายเด่นของรัฐบาล ซึ่งอาจเป็นนโยบายที่เกี่ยวกับปากท้องหรือนโยบายด้านเศรษฐกิจที่กระทบคนหมู่มาก เช่น ดิจิทัลวอลเล็ต ลดค่าพลังงาน บางนโยบายมีความเชื่อมโยงกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น บริหารจัดการน้ำ (สถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัด) สันติภาพชายแดนใต้ (กรณีคดีตากใบหมดอายุความเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2567) บางครั้งเป็นการพูดถึงความคืบหน้าหรือที่ทำสำเร็จ เช่น สมรสเท่าเทียม หรือทวงถามความคืบหน้า เช่น แก้รัฐธรรมนูญ นิรโทษกรรม สันติภาพชายแดนใต้ หรือขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท

อันดับที่ 1 ดิจิทัลวอลเล็ต (7.10 ล้านเอ็นเกจเมนต์)

ส่วนใหญ่เป็นคลิปในแพลตฟอร์ม TikTok ที่พูดถึงความคืบหน้าของนโยบายแจกเงินหมื่นเป็นระยะ ๆ แม้สุดท้ายรัฐบาลจะเปลี่ยนรูปแบบการแจกจากเงินดิจิทัล เป็นรูปแบบเงินสดผ่านการโอนเข้าบัญชี ในเฟส 1 สำหรับกลุ่มเปราะบางแทน แต่นโยบายดังกล่าวก็ยังได้รับความสนใจอยู่เรื่อย ๆ โดยเฉพาะในวันที่ 25 ก.ย. 2567 ซึ่งเป็นวันแรกที่มีการโอนเงินหมื่น เฟส 1 ทำให้คนพูดถึงเยอะว่าได้รับเงินแล้ว หลังจากนั้นก็ยังมีการพูดถึงและได้รับความสนใจเป็นระยะ ๆ ว่าเงินหมื่นเฟส 2 และ 3 จะมาเมื่อไหร่ และใครจะได้บ้าง

อันดับที่ 2 บริหารจัดการน้ำ (4.06 ล้านเอ็นเกจเมนต์)

จากสถานการณ์น้ำท่วมทั้งในบริเวณภาคเหนือโดยเฉพาะจังหวัดเชียงรายในช่วงเดือนกันยายน และสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดทางภาคใต้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ทำให้นโยบายแก้ปัญหาน้ำท่วมได้รับความสนใจ มีการติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ต่าง ๆ การช่วยกันแชร์ช่องทางการช่วยเหลือผู้ประสบภัย การติดตามการลงพื้นที่ของนายกฯ แพทองธาร รวมถึงติดตามการออกมาตรการเยียวยาต่าง ๆ ในการแก้ปัญหาน้ำท่วม อย่างไรก็ตาม มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามถึงการทำงานของนายกฯ ทั้งจากฝ่ายค้านและประชาชน โดยบางส่วนมองว่ารัฐบาลทำงานช้า

อันดับที่ 3 ซอฟต์พาวเวอร์ (2.65 ล้านเอ็นเกจเมนต์)

คำว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ถือเป็นหนึ่งคำที่มีการพูดถึงสูงบนโลกออนไลน์ แม้หลายครั้งอาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับรัฐบาลโดยตรง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคำดังกล่าวมีที่มาจากชื่อนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาลเพื่อไทย การพูดถึงส่วนใหญ่จึงเป็นการพูดถึงว่าอะไรคือซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทยบ้าง โดยส่วนใหญ่จะเป็นสิ่งที่อยู่ในกระแสของโลกออนไลน์ เช่น หมูเด้ง ลูกฮิปโปแคระ ถูกชูเป็นซอฟต์พาวเวอร์ไทยที่โด่งดังไปทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีในเชิงวัฒนธรรมอาหาร เช่น เจ๊ไฝ เจ้าของร้านอาหารสตรีทฟู้ดมิชลิน 1 ดาว ที่ประกาศจะเลิกกิจการในปี 2568 หรือข้าวซอย จากกรณี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ โพสต์ทานข้าวซอยร้านข้าวโซอิ ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ

ในเชิงนโยบาย ซอฟต์พาวเวอร์ถูกพูดถึงในมุมของภาพยนต์เป็นส่วนใหญ่ เช่น ภาพยนตร์หลานม่า ที่ได้รับรางวัลซอฟต์พาวเวอร์แห่งปี หรือภาพยนตร์สัปเหร่อ ที่ได้รับรางวัลสุพรรณหงส์ ซึ่งผู้กำกับอย่าง ต้องเต – ธิติ ศรีนวล ขึ้นกล่าวฝากถึงรัฐบาลให้ผลักดันหนังไทย ระบุยังไม่มั่นใจว่าอะไรคือซอฟต์พาวเวอร์

นอกจากนี้ ยังมีการใช้ #คัดค้านการใช้วัฒนธรรมร่วมกับเขมร ที่ระบุว่าควรดันเรื่องนี้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ เพื่อช่วยกันอนุรักษ์ประเพณีไทย อย่างไรก็ตามผู้คนบางส่วนคัดค้านการใช้แฮชแท็ก (#) ดังกล่าว มองว่าสิ่งนี้เป็นกระแสอนุรักษ์นิยม และการใช้วัฒนธรรมร่วมก็เป็นเรื่องปกติในภูมิภาคที่จะมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมร่วมกันอยู่แล้ว

อันดับที่ 4 สมรสเท่าเทียม (2.13 ล้านเอ็นเกจเมนต์)

หลังจากกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านรัฐสภาเรียบร้อยในสมัยรัฐบาลเศรษฐา ในรัฐบาลชุดนี้ เหตุการณ์ที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือ ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 หรือ กฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยจะมีผลบังคับใช้ใน 120 วันนับตั้งแต่ประกาศลงราชกิจจาฯ หรือมีผลในวันที่ 22 ม.ค. 2568 ผู้คนบนโลกออนไลน์ต่างแสดงความยินดีที่คนไทยจะได้ใช้กฎหมายดังกล่าว มีการขอบคุณการต่อสู้และผลักดันจากหลายภาคส่วนทำให้กฎหมายนี้เป็นจริงได้ โดยเหตุการณ์ในวันดังกล่าวมียอดเอ็นเกจเมนต์สูงถึงกว่า 5 แสนเอ็นเกจเมนต์ นอกจากนี้ มีการพูดถึงดาราหรือคนดังที่เป็นกลุ่มคนเพศหลากหลาย เช่น การขอแต่งงานของ มิว-ศุภศิษฏ์ จงชีวีวัฒน์ และ ตุลย์-ภากร ธนศรีวนิชชัย ซึ่งเป็นนักแสดงคู่รักเพศหลากหลายทั้งคู่

อันดับที่ 5 แก้รัฐธรรมนูญ (0.75 ล้านเอ็นเกจเมนต์)

สถานการณ์การแก้รัฐธรรมนูญเปลี่ยนไปหลังการเปลี่ยนรัฐบาล จากเดิมที่เคยเป็นหนึ่งใน 5 นโยบายเร่งด่วนของคำแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของนายกฯ เศรษฐา กลายมาเป็นนโยบายระยะกลางและยาวในคำแถลงของนายกฯ แพทองธาร แม้หลายฝ่ายมองว่าเป็นความเร่งด่วนที่จะต้องรีบแก้ไข แต่หลายฝ่ายก็อาจไม่ได้มองเป็นความเร่งด่วน เช่น วันที่ 24 ก.ย. 2567 มีการพูดถึงว่า พรรคเพื่อไทยอาจถอยแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราประเด็นจริยธรรม โดยมองว่าตัวเองไม่ได้เป็นคนริเริ่มให้แก้ไข รวมไปถึงการที่นายกฯ บอกว่าขอโฟกัสที่การแก้น้ำท่วมก่อน และยืนยันว่าพรรคร่วมรัฐบาลไม่ได้กลับลำการแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด รวมถึงอีกหลายสถานการณ์ที่ส่อความกังวลว่า อาจแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ยากขึ้น เช่น กรณี สว. กลับลำไปใช้ ‘เสียงข้างมาก 2 ชั้น’ แทน

อันดับที่ 6 นิรโทษกรรม (0.47 ล้านเอ็นเกจเมนต์)

เป็นหนึ่งในนโยบายที่ยังค่อยคืบหน้าและยังไม่มีทางไปต่อ จากกรณีเมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2567 สภาฯ รับทราบเนื้อหารายงานการศึกษาของ กมธ.ศึกษาร่างนิรโทษกรรมฯ โดยไม่ต้องลงมติ แต่โหวตไม่เห็นด้วยกับข้อสังเกต ด้วย 240 ต่อ 152 เสียงมีการวิพากษ์วิจารณ์พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาล แต่เสียงส่วนใหญ่โหวตไม่เห็นด้วย บางคนงดออกเสียง ซึ่งรวมถึงขัตติยา สวัสดิผล สส.พรรคเพื่อไทย ที่เป็นเจ้าของญัตติเสียเอง

เหตุการณ์ดังกล่าวมีการพูดถึงในหลายมิติ เช่น ปิยบุตร แสงกนกกุล คณะก้าวหน้า ระบุเหตุการณ์ดังกล่าว กระทบพรรคเพื่อไทยใน 2 ประการ คือ ความกลัวจนไม่กล้าทำอะไร และโดนพรรคร่วมรัฐบาลกดดัน-ต่อรอง ซึ่งมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยต่อโพสต์ดังกล่าว หรือคลิป TikTok ของพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ ระบุตอนอภิปรายว่าไม่นับคดี ม.112 เป็นคดีการเมืองที่นิรโทษกรรม จนสภาฯ ปัดตกข้อสังเกตดังกล่าว

นอกสภาฯ มีการเรียกร้องให้นิรโทษกรรมประชาชน เช่น กรณีมีคนเล่นมุกนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ติดคุก มีโพสต์ที่ไม่เห็นด้วยกับการเล่นมุกดังกล่าวว่า มีนักศึกษาที่ติดคุกและไม่ได้ประกันตัวจริง บางคนต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ จึงเรียกร้องให้มีการนิรโทษกรรมประชาชน

อันดับที่ 7 สันติภาพชายแดนใต้ (0.44 ล้านเอ็นเกจเมนต์)

ถูกพูดถึงอย่างมากในเดือนตุลาคม เนื่องจากครบรอบ 20 ปี เหตุการณ์ตากใบ ซึ่งจะหมดอายุความในวันที่ 25 ต.ค. 2567 ส่งผลให้ผู้คนบนโลกออนไลน์สนใจเป็นอย่างมาก มีการนับถอยหลัง (Countdown) ก่อนคดีหมดอายุความ เรียกร้องความยุติธรรมให้ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต กดดันให้จำเลยมาขึ้นศาลก่อนคดีหมดอายุความ บางส่วนระบุ แม้ในอดีตจะมีการเยียวยาด้วยการจ่ายเงินมาแล้ว แต่ก็มองว่าไม่พอ ควรได้รับความยุติธรรมผ่านการดำเนินคดีผู้กระทำผิดด้วย

โพสต์ของพรรณิการ์ วาณิช โฆษก กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ เป็นอีกหนึ่งโพสต์ที่ได้รับความสนใจ โดยระบุหากไม่สามารถนำจำเลยคดีตากใบมาขึ้นศาลได้ อาจส่งผลกระทบใน 3 ระดับ ได้แก่ ความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่, การถูกผู้ก่อความไม่สงบใช้เป็นข้ออ้างในการก่อเหตุ และการเจรจาสันติภาพ หรือกรณีของ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี สส.พรรคเพื่อไทย หนึ่งในจำเลยคดีตากใบ ยื่นหนังสือลาออกจากพรรคเพื่อไทย ในวันที่ 14 ต.ค. 2567 มีการตั้งคำถามว่า เป็นการปัดความรับผิดชอบหรือไม่ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวก็อาจสะท้อนท่าทีการรับมือเพื่อแก้ไขปัญหาของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้

อันดับที่ 8 ลดค่าพลังงาน (0.38 ล้านเอ็นเกจเมนต์)

เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล โลกโซเชียลมีการพูดถึงสถานการณ์ค่าพลังงาน ทั้งเหตุการณ์ที่มีแนวโน้มอาจทำให้ค่าไฟสูงขึ้น หรือมาตรการตรึงค่าไฟของรัฐบาล เช่น วันที่ 28 ต.ค. 2567 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึงแพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ระบุไม่เห็นด้วยกับการประกาศรับซื้อพลังงานหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์ มองว่ารับซื้อด้วยราคาแพงเกินไป ไม่เปิดให้มีการแข่งขัน อาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุน และทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟแพง และวันที่ 27 พ.ย. 2567 กระทรวงพลังงานประกาศลดค่าไฟฟ้างวด ม.ค. – เม.ย. 2568 จากเดิม 4.18 บาท/หน่วย เหลือ 4.15 บาท/หน่วย (ลด 0.03 บาท/หน่วย) ระบุให้เป็นของขวัญปีใหม่คนไทย คอมเมนต์บางส่วนพูดในเชิงประชดว่า ‘ลดเยอะจัง’ หรือ ‘ลดขนาดนี้ ไม่ต้องลดก็ได้’

อันดับที่ 9 ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ (0.36 ล้านเอ็นเกจเมนต์)

ภายหลังการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั้งประเทศในวันที่ 1 ม.ค. 2567 และปรับเป็น 400 บาทในบางพื้นที่เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2567 ในสมัยรัฐบาลเศรษฐา จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท/วันเหมือนที่เคยได้หาเสียงไว้ การพูดถึงบนโลกออนไลน์จึงเน้นไปที่การติดตามสถานการณ์การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำว่ามีการเคลื่อนไหวอย่างไรบ้าง เช่น สถานการณ์ประชุมบอร์ดปรับค่าแรงขั้นต่ำล่มหลายครั้ง หรือนายกฯ แพทองธาร ระบุ จะผลักค่าแรงขั้นต่ำให้ได้ 400 บาทภายในปีนี้ ซึ่งระบุตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย. 2567

ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรง โดยมีกระแสคัดค้านจาก สนธิ ลิ้มทองกุล ผ่านคลิป TikTok ระบุไม่เห็นด้วยที่แรงงานข้ามชาติ (ในคลิประบุชัดเจนว่าเป็นแรงงานชาวเมียนมาร์ (พม่า)) จะได้ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทเท่าคนไทย

อันดับที่ 10 แก้ปัญหายาเสพติด (0.31 ล้านเอ็นเกจเมนต์)

เป็นอีกหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลชุดนี้ มีการรายงานความคืบหน้าด้านการแก้ปัญหายาเสพติดของนายกฯ เป็นระยะ ๆ เช่น นายกฯ เดินหน้าสั่งการแก้ปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง ในการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ส. ขยายผลจากนโยบายรัฐบาลเศรษฐา 25 จังหวัดสู่ 77 จังหวัดทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2567 หลังแถลงนโยบายเพียงไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ หรือนายกฯ ลงพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ติดตามงานแก้ไขปัญหายาเสพติด เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2567

นอกเหนือจากนโยบายระดับชาติแล้ว นโยบายปราบปรามยาเสพติดยังถูกพูดถึงในสนามการเลือกตั้งท้องถิ่น หรือการเลือกตั้งนายก อบจ. โดยในการปราศรัยหาเสียง นายก อบจ. อุดรธานี เมื่อวันที่ 13 พ.น. 2567 มีทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ช่วยหาเสียง โดยระบุถึงนโยบายปราบปรามยาเสพติดว่า ตนเกลียดพ่อค้ายาเสพติด และนายกฯ แพทองธารจะร่วมมือกับ ครม. จัดการปัญหายาเสพติด ด้ายชัยธวัช ตุลาธน คณะก้าวหน้า ปราศรัยตอบกลับทักษิณในวันที่ 16 พ.ย. 2567 ว่า กรณีที่บอกว่าเกลียดพ่อค้ายาเสพติด แต่กลับมีรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลที่เป็นพ่อค้ายาเสพติดเสียเอง ถือเป็นวิวาทะที่คนให้ความสนใจทั้งสองฝ่ายอย่างมาก

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธนธร จิรรุจิเรข

สงสัยว่าตัวเองอยากเป็นนักวิเคราะห์ data ที่เขียนได้นิดหน่อย หรือนักเขียนที่วิเคราะห์ data ได้นิดหน่อยกันแน่

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

ชญาดา จิรกิตติถาวร

เปรี้ยว ซ่า น่ารัก ไม่กินผัก ไม่กินเผ็ด