กว่าสมรส…จะเท่าเทียม
นับตั้งแต่วันที่วุฒิสภาพิจารณา และมีมติเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ …) พ.ศ. …. หรือ สมรสเท่าเทียม เมื่อวันอังคารที่ 18 มิ.ย. 67 ถึงวันนี้ (19 ก.ย. 67) เท่ากับผ่านมาแล้ว 93 วัน ที่ร่างฯ ฉบับดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการเพื่อมีผลบังคับใช้ในทางกฎหมาย
ทั้งนี้ ตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 145 เมื่อวุฒิสภามีมติเห็นชอบร่างกฎหมาย นายกรัฐมนตรีต้องรอไว้ 5 วัน จึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ภายใน 20 วัน เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว จึงประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายได้
หากร่างฯ ฉบับใด พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือพ้น 90 วันแล้วไม่ได้พระราชทานคืนมา ให้รัฐสภาประชุมร่วมกันอีกครั้ง ตามมาตรา 146 รัฐสภาหรือ สส. และ สว. สามารถลงมติยืนยันร่างกฎหมายนั้นอีกครั้งด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของทั้งสองสภา (750 คน) หรือ สส. และ สว. รวมกัน 500 เสียง และให้นายกรัฐมนตรีนำทูลเกล้าฯ อีกครั้ง
หากพระมหากษัตริย์ไม่ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานคืนมาภายใน 30 วัน ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างกฎหมายนั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมาย เสมือนว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว
สมรสเท่าเทียม อยู่ในขั้นตอนไหน
เมื่อนับจากที่วุฒิสภามีมติเห็นชอบ สมรสเท่าเทียม และอ้างอิงข้อมูลจาก คณะทำงานเพื่อสมรสเท่าเทียม และบางกอกไพรด์ ว่านายกฯ ได้นำร่างฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ แล้วเมื่อวันที่ 4 ก.ค. 67 ซึ่งจะครบกำหนด 90 วัน ในวันที่ 2 ต.ค. 67 ซึ่งหากพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยมีผลบังคับใช้ภายใน 120 วัน หรือภายในช่วง ก.พ. 68
ทั้งนี้ คณะทำงานบางกอกไพรด์ มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ และภาคีเครือข่ายที่ร่วมกันผลักดันสมรสเท่าเทียม ร่วมกับกรุงเทพมหานคร เตรียมแถลงข่าว “พร้อมแต่งงาน : สู่วันสมรสอย่างเท่าเทียม” อัปเดตสถานะทางกฎหมาย ภาครัฐและภาคธุรกิจ มีความพร้อมอย่างไร เมื่อถึงเวลาที่คู่รัก LGBTQIAN+ จดทะเบียนได้จริง พร้อมพาคู่รักก้าวสู่การสมรสเท่าเทียมอย่างภาคภูมิใจ ด้วยกิจกรรมหลากหลาย วันศุกร์ที่ 20 ก.ย. 67 เวลา 10:30 – 12:30 น. ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
อ้างอิง
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560
- รายงานสารบบกระบวนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….