ภายหลังศาลรัฐธรรนูญมีคำวินิจฉัยให้ เศรษฐา ทวีสิน พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ปมแต่งตั้งพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี สะท้อนการไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง มีลักษณะต้องห้าม โดยให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา ส่งผลให้การดำเนินงานของรัฐบาลเศรษฐาสิ้นสุดลง ซึ่งต่อมา แพทองธาร ชินวัตร ได้ก้าวขึ้นมาเป็นนายกฯ คนที่ 31 ของประเทศไทย
รัฐบาลภายใต้การนำของนายกฯ เศรษฐา มีอายุเพียง 11 เดือนเศษเท่านั้น แต่ในระยะเวลาไม่ถึง 1 ขวบดี มีนโยบายต่าง ๆ เกิดขึ้นมามากมาย ซึ่งได้รับเสียงตอบรับทั้งคำชื่นชม รวมไปถึงคำวิจารณ์ต่าง ๆ จากทั้งโลกออนไลน์และโลกความเป็นจริง
The Active รวบรวมข้อมูลจาก Zocial Eye ซึ่งเป็นเครื่องมือ Social Listening ย้อนดูว่าในระยะเวลาเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่การแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อ 11 ก.ย. 2566 จนถึงวันที่ต้องร่ำลาจากตำแหน่งนายกฯ ตามคำวินิจฉัย เมื่อ 14 ส.ค. 2567 นโยบายไหนได้จับจองพื้นที่ในโลกโซเชียลอย่างไรบ้าง
โดยจัดอันดับนโยบายที่ได้ยอดเอ็นเกจเมนต์ (ยอดกดดู ไลก์ แชร์ และคอมเมนต์รวมกัน) สูงที่สุดบนโลกออนไลน์ 10 อันดับแรก ดังนี้
1. ซอฟต์พาวเวอร์ (31,596,383 เอ็นเกจเมนต์)
ไม่น่าแปลกใจที่ติดในอันดับที่ 1 เนื่องจากเป็นคำที่ถูกพูดถึงอย่างมากในบริบทต่าง ๆ ในช่วงแรกที่รัฐบาลมีการประกาศนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ออกมามีการตั้งคำถามจากผู้คนมากมายว่า “ซอฟต์พาวเวอร์คืออะไรกันแน่ ?” ทั้งจาก ธิติ ศรีนวล ผู้กำกับหนังสัปเหร่อ (หนึ่งในหนังที่รัฐบาลชูว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย) และจากผู้คนบนโลกออนไลน์เองก็ตาม
ภายหลังบริบทของคำนี้ก็ยังไม่ได้ถูกทำให้ชัดเจนว่าตกลงแล้วคืออะไรกันแน่ แต่ก็มีการนำคำนี้ไปใช้กับสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทยทั้งแบบเดิมที่อยู่ในภาพจำอยู่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการที่รัฐสนับสนุนและเห็นชอบว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของไทย เช่น มวยไทย ชุดไทย อาหารไทย เทศกาลสงกรานต์ กางเกงช้าง และแบบที่มีความร่วมสมัยมากขึ้น โดยในแบบนี้จะมีการพูดถึงตามกระแสในแต่ละเดือน และมีจำนวนการพูดถึงเยอะมากกว่า เช่น พี่จอง-คัลแลน ศิลปิน LISA และเพลง Rockstar เพลงลูกทุ่ง ซีรีส์วาย-ยูริ หมาจรจัด หรือแม้กระทั่ง sex worker เองก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีแค่เสียงชื่นชมว่าอะไรเหมาะสมเป็นซอฟต์พาวเวอร์บ้าง ในบางกรณีก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมเช่นกัน ยกตัวอย่างกรณี ททท. จัดแข่งบันทึกสถิติโลกในด้านต่าง ๆ เพื่อผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทย เช่น แข่งใส่การเกงช้างให้ได้มากที่สุดใน 1 นาที ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม
หรือกรณีชุดทีมพิธีการเข้าร่วมพิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 ลักษณะเสื้อผ้าไหมสีฟ้าและมีลายที่กระดุม ก็เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความสวยงาม ประชดประชันว่าสะท้อนความเป็นไทยที่เป็นไทยจริง ๆ จนภายหลังคณะกรรมการโอลิมปิกประเทศไทยก็ได้มีการเปลี่ยนชุดเข้าร่วมเป็นแทร็คสูทสีน้ำเงินลายบ้านเชียงแทน
ติดตามนโยบาย นโยบายซอฟต์พาวเวอร์
2. ดิจิทัลวอลเล็ต (28,935,007 เอ็นเกจเมนต์)
หนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ส่วนใหญ่มาจากการพูดถึงในเชิงวิจารณ์หน้าบ้านโครงการที่เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในแต่ละเดือน เช่น การเลื่อนวันที่จะแจกเงินหมื่น (จากเดิมที่เคยตั้งเป้าไว้ว่าจะได้ช่วงเดือน ก.พ. ก็เลื่อนไปเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ และเลื่อนอีกครั้งเป็นช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2567) หรือเงื่อนไขของของที่ซื้อได้ (ที่ไม่สามารถจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเทอม หรือซื้อสมาร์ทโฟนได้) รวมถึงวิพากษ์กรณีร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-11 สามารถเข้าร่วมโครงการได้
รวมไปถึงหลังบ้านโครงการ เช่น แหล่งที่มาของรายได้ (จากตอนแรกที่บอกว่าจะไม่กู้เงิน สู่ความเป็นไปได้ที่มี พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท และอยู่ในรูปแบบของ พ.ร.บ.งบประมาณ แทน)
นอกเหนือจากการวิจารณ์นโยบายอย่างเผ็ดร้อนบนโลกออนไลน์ หนึ่งในเนื้อหาที่ได้รับความสนใจสูงในนโยบายนี้กลับไม่ใช่การวิจารณ์นโยบาย แต่คือคลิปวิดีโอสั้น ๆ บนแพลตฟอร์ม TikTok ที่อธิบายความคืบหน้าโครงการ และสอนวิธีลงทะเบียนในแอปทางรัฐ สะท้อนให้เห็นถึงกลุ่มคนที่สนใจและตั้งใจรอรับเงินหมื่นจริง ๆ
ติดตามนโยบาย ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท
3. สมรสเท่าเทียม (5,216,147 เอ็นเกจเมนต์)
หนึ่งในนโยบายที่สำเร็จไปเรียบร้อยของรัฐบาลเศรษฐา คนที่พูดพูดถึงส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพื่อให้ผู้มีความหลากหลานทางเพศมีสิทธิเท่าเทียมกับคู่สมรสชายหญิง ส่วนใหญ่มีการพูดถึงการติดตามนโยบายเป็นระยะ ๆ ตั้งแต่วันแรกที่เข้าสภาฯ จนถึงวันสุดท้ายที่ผ่านสภาฯ
โดยเริ่มต้นการเดินทางวันที่ 21 ธ.ค. 2566 เมื่อสภาฯ มีการอภิปรายและโหวตรับหลักการร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมทั้ง 4 ฉบับในวาระที่ 1 ตามมาด้วยการแต่งตั้ง กมธ. ในวาระที่ 2 ซึ่งก็ถูกตั้งคำถามว่า กมธ.สัดส่วนพรรคเพื่อไทยไม่มีผู้มีความหลากหลายทางเพศที่เป็นเพศกำเนิดหญิง เช่น เลสเบี้ยน (Lesbian) แซฟฟิก (Sapphic) หรือผู้ที่เป็นนอนไบนารี (Non-Binary) อยู่เลย จนกระทั่งในวันที่ 27 มี.ค. 2567 สภาฯ ก็ได้ผ่านในวาระ 3 ส่งไม้ต่อให้วุฒิสภาพิจารณา ท่ามกลางข้อกังขาถึงสิทธิ์ในการเลี้ยงดูบุตรของกลุ่มคนเพศหลากหลายที่ร่างดังกล่าวยังไม่ได้ให้ไว้
จนกระทั่งในเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นเดือนไพรด์ (Pride Month) เฉลิมฉลองความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2567 กฎหมายดังกล่าวก็ผ่านวุฒิสภาในวาระที่ 3 ประตูสู่ความเท่าเทียมเปิดออกอ้าแขนรับกลุ่มคนเพศหลากหลาย นำพาประเทศไทยเป็นประเทศที่ 3 ในเอเชีย และประเทศแรกในอาเซียนที่จะมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม
นอกเหนือจากการพูดถึงกฎหมายสมรสเท่าเทียมโดยตรงแล้ว มีการพูดถึงกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเสมอภาคทางเพศด้วย เช่น เหตุการณ์สภาฯ ปัดตกร่าง พ.ร.บ.คำนำหน้านาม ทำให้หลายคนเสียดายที่ผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม แต่กลับปัดตกร่าง พ.ร.บ.คำนำหน้านามทิ้ง หรือกรณีแก้กฎหมายฟ้องชู้ เพื่อให้เท่าเทียมทั้งชายหญิงนั่นเอง
ติดตามนโยบาย สมรสเท่าเทียม
4. แก้หนี้ (5,216,147 เอ็นเกจเมนต์)
ถือหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนที่ได้ประกาศไว้ตอนแถลงนโยบายต่อรัฐสภา มีการพูดถึงอย่างมากในช่วง 4 เดือนแรกของการเป็นรัฐบาล (เดือน ก.ย. – ธ.ค.) จากการที่รัฐบาลประกาศนโยบายแก้หนี้ในหลายด้านตั้งแต่ช่วงแรกของการเป็นรัฐบาล เช่น หนี้ครู หนี้นอกระบบ หนี้ทั้งระบบ โดยเฉพาะหนี้เกษตรกร ที่รัฐบาลประกาศพักหนี้เกษตรกร 3 ปี เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2567
ติดตามนโยบาย แก้หนี้นอกระบบ
5. ลดค่าพลังงาน (4,578,923 เอ็นเกจเมนต์)
เป็นอีกหนึ่งนโยบายเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ถูกพูดถึงอย่างมากตั้งแต่วันแรก ๆ ที่มีมติครม. จากการที่ ครม. มีมติลดราคาพลังงานหลายครั้ง จนเหลือ 3.99 บาท/หน่วย ในงวด ก.ย. – ธ.ค. 2566 และหลังจากนั้นมีการตรึงราคาค่าไฟฟ้าอีก 3 งวด (ตั้งแต่ ม.ค. – ธ.ค. 2567) ที่ 4.18 บาท/หน่วย
ติดตามนโยบาย ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงงาน
6. ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ (3,592,041 เอ็นเกจเมนต์)
สนใจการประกาศของเศรษฐา ทวีสิน ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท/วัน ให้เร็วที่สุด โดยมีการอนุมัติขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2-16 บาททั่วประเทศในวันที่ 8 ธ.ค. 2566 ซึ่งก็ยังไม่ถึง 400 บาท/วันอยู่ดี ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมาก ตามมาด้วยการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท/วัน ในกิจการโรงแรม 4 ดาวขึ้นไป ใน 10 จังหวัด ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าธุรกิจดังกล่าวมีการให้ค่าแรงมากกว่า 400 บาทต่อวันอยู่แล้ว และการประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท/วัน ในวันที่ 1 ต.ค. 2567
มีการพูดถึงกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เหตุการณ์สภาฯ รับหลักการร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2 ฉบับ ได้แก่ ฉบับ วรรณวิภา ไม้สน พรรคก้าวไกล และฉบับ วรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ พรรคภูมิใจไทย แต่กลับปัดตก 1 ฉบับซึ่งคือ ฉบับ เซีย จำปาทอง พรรคก้าวไกล นำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลที่เสนอนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท แต่กลับตีตกกฎหมายเพื่อให้ได้แรงงานราคาถูก และมีการย้ำในโลกออนไลน์ว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นสิ่งจำเป็น
ติดตามนโยบาย ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
7. แก้รัฐธรรมนูญ (3,510,908 เอ็นเกจเมนต์)
หนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลอีกนโยบาย ในช่วงแรกของการเป็นรัฐฐาล ชาวโซเชียลให้ความสนใจกับการเปลี่ยนจุดยืนแก้รัฐธรรมนูญของรัฐบาล และกรณีสภาฯ คว่ำญัตติเสนอทำประชามติรัฐธรรมนูญใหม่ เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2566
มีการเว้นช่วงไปเป็นระยะเวลาหลายเดือน กระแสการพูดถึงการทำรัฐธรรมนูญใหม่กลับมาอีกครั้งในวันที่ 23 เม.ย. 2567 เมื่อ ครม. เคาะทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ครั้ง กำหนดคำถามประชามติรอบแรกว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำ รธน. ฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์” และไม่กำหนดคำถามประชามติเกี่ยวกับการให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
หนึ่งในเหตุการณ์ที่ได้รับความสนใจก็คือ กรณี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ โพสต์ข้อความเนื่องในวันครบรอบ 10 ปี คสช. รัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนของยิ่งลักษณ์ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2567 ในโพสต์ระบุหวังเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่พาประเทศกลับสู่หนทางประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
ติดตามนโยบาย แก้รัฐธรรมนูญ
8. พ.ร.บ.อากาศสะอาด (3,425,748 เอ็นเกจเมนต์)
ช่วงแรก ๆ ของการเข้ารับตำแหน่งรัฐบาลเป็นช่วงใกล้ฤดูฝุ่นพอดี โดยเฉพาะสถานการณ์ฝุ่นในจังหวัดภาคเหนือ ช่วงต้นปี 2567 ที่รุนแรง และการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดของอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่หลายราย นำไปสู่การเรียกร้องแก้ปัญหาฝุ่น และสนับสนุนให้มี พ.ร.บ.อากาศสะอาด
นอกจากการเรียกร้องยังมีการติดตามการออกกฎหมาย เช่น พูดถึงและแสดงความยินดีกรณีสภาฯ รับร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาดทั้ง 7 ฉบับ เมื่อ 17 ม.ค. 2567 โดยมีการพูดถึงอย่างมากถึงประมาณเดือน เม.ย. เท่านั้น เนื่องจากหลังจากเดือนนั้นสถานการณ์ฝุ่นก็เบาบางลงตามฤดู ความสนใจของผู้คนบนโลกโซเชียลก็น้อยตาม
ติดตามนโยบาย พ.ร.บ.อากาศสะอาด
9. บริหารจัดการน้ำ (3,414,773 เอ็นเกจเมนต์)
จากสภาวะอากาศสุดขั้วทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งตามมา โดยผู้คนบนโลกออนไลน์เน้นไปที่การพูดถึงเรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วมเป็นหลัก และการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม
นอกจากนี้ โลกโซเชียลมีการติดตามสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด เช่น พื้นที่ภาคอีสาน ช่วงเดือน ต.ค. 2566 พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ช่วงเดือน ธ.ค. 2566 และในหลายจังหวัดช่วงเดือน พ.ค. – ก.ค. 2567
ติดตามนโยบาย บริหารจัดการน้ำ
10. แลนด์บริดจ์ (2,725,492 เอ็นเกจเมนต์)
นโยบายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมนี้ ถูกพูดถึงในด้านความคืบหน้าและด้านที่ถูกคัดค้านเป็นส่วนใหญ่ โดยถูกพูดถึงเยอะช่วงประมาณเดือน ม.ค. – ก.พ. 2567 เช่น กรณี สส. พรรคก้าวไกล 4 รายลาออกจาก กมธ.แลนด์บริดจ์ ตามด้วย กมธ. เห็นชอบรายงานผลการศึกษาฯ เหตุการณ์ครม.สัญจร ลงพื้นที่จังหวัดระนอง มีชาวบ้านในพื้นที่ออกมาคัดค้านโครงการ หรือเหตุการณ์อภิปรายรายงานการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ของกมธ.วิสามัญฯ โดยพรรคฝ่ายค้านชี้ให้เห็นข้อผิดพลาดของโครงการ ก่อนที่สุดท้ายสภาฯ จะมีมติเห็นชอบรายงาน
ติดตามนโยบาย แลนด์บริดจ์
อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามกันต่อไปว่า นโยบายเหล่านี้จะสานต่อหรือไม่ เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร หรือจะยกเลิกหรือไม่ เมื่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ย้ายไปอยู่ที่แพทองธาร ชินวัตร