นับตั้งแต่ประเทศไทยมี พ.ร.บ.ยกเลิก พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 พ.ศ. …. สถานภาพของผู้ค้า และผู้ให้บริการทางเพศ (Sex Worker) มีโทษทางอาญา จำคุกตั้งแต่ไม่เกิน 1 เดือน – 15 ปี ปรับ 1,000 – 300,000 บาท หากอายุไม่เกิน 15 ปี จำคุก 1 ปี – 20 ปี ปรับ 20,000 – 400,000 บาท แม้ผู้ให้บริการทางเพศจะยินยอมก็มีความผิด

นับแต่นั้นเป็นเวลาเกือบ 3 ทศวรรษ ที่ภาคประชาชนพยายามขับเคลื่อนให้มีการยกเลิกกฎหมายฉบับเดิม ที่มองว่าไม่สอดคล้องกับสภาพสังคม เศรษฐกิจ สิทธิมนุษชน ซ้ำยังไม่สามารถลดจำนวนของ Sex Worker หน้าใหม่ลงได้ ส่งผลไปถึงการจำกัดสิทธิต่าง ๆ โดนเอารัดเอาเปรียบ ถูกแสวงหาผลประโยชน์โดยข้อกฎหมายอีกด้วย
แต่การยกเลิกกฎหมายเดิมยังมีความท้าทาย ในสังคมที่ยึดถือศีลธรรม ความดีงาม ทำให้ที่ผ่านมาการเขยื้อนร่างฯ โดยรัฐบาล พรรคการเมือง มีความเสี่ยงที่จะเสียคะแนนความเชื่อมั่นจากประชาชน เห็นได้จากการหาเสียงเลือกตั้งครั้งล่าสุด
The Active ชวนทบทวนร่างฯ ที่ภาครัฐ พรรคการเมือง ภาคประชาชน เวลานี้อยู่ในขั้นตอนไหนบ้าง และจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับ Sex Worker ได้อย่างไร ?

ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองการให้บริการทางเพศ พ.ศ. …. – ฉบับ สค.
ร่างฯ ฉบับนี้เป็นกฎหมายใหม่ที่ผ่านการจัดทํา และรับฟังความคิดเห็นมานานกว่า 5 ปีทั่วประเทศ โดยมีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวกระทรวง (สค.) กระทรงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นเจ้าภาพ ทั้งในส่วนของภาครัฐ พนักงานบริการ และสถานบริการ
ตามไทม์ไลน์เดิมในเดือน พ.ย. 66 ร่างฯ ฉบับนี้จะต้องอยู่บนโต๊ะของ รมว.พม. และยื่นเข้าสู่ ครม. ในเดือน ธ.ค. 66 แต่กลับหยุดรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้าย โดยได้รับคําตอบว่า พม. ขอเวลาศึกษา และรับฟังความคิดเห็นร่างกฎหมายดังกล่าวเพิ่มเติมอีก 3 เดือน กระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาลยุคของนายเศรษฐา ทวีสิน ร่างฯ นี้จึงอยู่ระหว่างการติดตามความคืบหน้า ต่อไป
ร่าง พ.ร.บ.บริการทางเพศ และคุ้มครองผู้ให้บริการ – ฉบับพรรคประชาชน
ร่างฯ ในอดีตที่ยังเป็นพรรคก้าวไกล ที่เป็นการพัฒนาต่อมาจากงานศึกษาของคณะกรรมาธิการกิจการ เด็กเยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการกลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศชุดที่ 25
ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ตัวแทน สส.พรรคประชาชน ผู้นำเสนอร่างฯ กล่าวถึงหัวใจของฉบับนี้ว่า การบริการทางเพศต้องเป็นไปโดยสมัครใจเท่านั้น และต้องมีอำนาจต่อรองกับสถานประกอบการที่มีแนวคิดเป็นระบบธุรกิจ เพื่อให้มั่นใจว่าการค้าบริการทางเพศไม่เข้าข่ายการค้ามนุษย์ และไม่มีการกักขังเพื่อการค้าประเวณี และจะไม่มีการขึ้นทะเบียนว่าเป็นพนักงานบริการทางเพศต่อหน่วยงานของรัฐใด ๆ
ปัจจุบันสถานะของร่างฯ ยังไม่ได้ยื่นเข้าสู่สภาฯ และ อยู่ระหว่างศึกษากฎหมายจากต่างประเทศเพิ่มเติม เพื่อรอยื่นเสนอประกบร่างฯ ฉบับอื่นๆ
ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 พ.ศ. …. – ฉบับพนักงานบริการ และมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ
ร่างฯ ฉบับองค์กรที่ขับเคลื่อนสิทธิของ Sex Worker ต้องการผลักดันให้ยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ที่ไม่มีการปรับเปลี่ยนไปตามบริบทสังคมที่มีความเปลี่ยนแปลง ผ่านแนวคิด sex work is work หรือมองเห็นว่ากลุ่มคนเหล่านี้ก็แค่พยายามจะไม่เป็นภาระของสังคม พยายามจะหารายได้เลี้ยงตัวเอง แต่งานของพวกเขายังไม่ถูกกฎหมาย และไม่มีโอกาสได้สวัสดิการทางสังคม
โดยหัวใจของร่างฯ คือ การยกเลิกกฎหมายที่เอาผิด Sex Worker และบังคับใช้กฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อเอาผิดผู้ฝ่าฝืน เช่น ค้ามนุษย์ ฟอกเงิน ฯลฯ และได้รับการปกป้องดูแลเช่นเดียวกับแรงงานตามกฎหมาย
ปัจจุบันตัวแทนได้เข้ายื่นร่างกฎหมาย พร้อมรายชื่อผู้สนับสนุน จำนวนกว่า 13,000 รายชื่อ ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาดำเนินการตามระเบียบต่อไป
ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ให้บริการทางเพศ พ.ศ. …. – ฉบับพนักงานบริการทางเพศ และเอ็มพาวเวอร์ พ.ศ.2568
ร่างฯ อีกฉบับที่เสนอโดยพนักงานบริการทางเพศ และมูลนิธิส่งเสริมโอกาสผู้หญิง (EMPOWER FOUNDATION) ที่ผลักดันให้ยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 เปลี่ยนมาเป็นการคุ้มครองแทน ซึ่งเป็นฉบับที่ต่อยอดมาจากที่เคยมี พม.เป็นเจ้าภาพ
โดยหัวใจของ ร่างฯ ฉบับนี้ คือการยืนยันว่าพนักงานบริการทางเพศควรได้รับการคุ้มครองและปกป้องผ่าน พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน ประกันสังคม ค่าชดเชยแรงงาน และกฎหมายแรงงานที่เกี่ยวข้อง ในรูปแบบที่ไม่ต่างกับแรงงานในธุรกิจประเภทอื่นๆ อีกทั้งยังออกข้อกำหนดให้จ่ายค่าแรงอย่างเป็นธรรม ผู้ให้บริการมีสิทธิปฏิเสธไม่ให้บริการได้ อายุขั้นต่ำที่สามารถให้บริการทางเพศได้อยู่ที่ 20 ปี และผู้ให้บริการทางเพศต้องเต็มใจที่จะให้บริการ หากใครถูกบังคับให้บริการโดยขัดขืนใจ ก็จะถือว่าเป็นการค้ามนุษย์
สถานะของร่างในปัจจุบัน อยู่ระหว่างการริเริ่มเพื่อเตรียมเสนอรวบรวมรายชื่อ ตามกลไกรัฐสภา โดยจะมีการเปิดร่างฯ พร้อมเสวนา “ถึงเวลายกเลิกความผิดกับคนทำงานบริการทางเพศ” วันที่ 3 มี.ค.68 เวลา 09.30-12.30 น. ณ โรงแรมรัตนโกสินทร์ ราชดำเนิน กทม.

