เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2566 อันเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของการประกาศเจตนารมณ์ ว่ารัฐบาลจะดำเนินนโยบายอะไรบ้าง ท่ามกลางความคาดหวังว่ารัฐบาลที่จากการเลือกตั้งจะสามารถฟื้นความเชื่อมั่น พาประเทศก้าวฝ่าวิกฤตสร้างความเข้มแข็ง
ผ่านมา 6 เดือน นอกจากผลงานทัวร์รอบโลก 15 ประเทศ ที่ทำลายสถิติโลกแล้ว แต่ละนโยบายที่นายกฯ เศรษฐา เคยประกาศไว้คืบหน้ามากน้อยแค่ไหน The Active ประมวลข้อมูลจากแพลตฟอร์ม Policy Watch ที่ติดตามและรวบรวมความคืบหน้าของนโยบายรัฐบาลในเชิงการดำเนินพบว่ามีหลายนโยบายที่เริ่มเห็นความคืบหน้า ในขณะที่หลายนโยบายยังคืบหน้าน้อยมาก โดยสามารถจำแนกเป็น 3 กลุ่มได้ดังนี้ 1. กลุ่มที่ทำแล้วเริ่มเห็นความคืบหน้า, 2. กลุ่มทำแล้วแต่สะดุด หรือยังไม่ตรงตามเป้า และ 3. กลุ่มที่มีความคืบหน้าน้อย
กลุ่มนโยายที่ทำแล้วเริ่มเห็นความคืบหน้า
จากการติดตามนโยบาย มีนโยบายที่เริ่มดำเนินการแล้วมีความคืบหน้า ทั้งหมด 12 นโยบาย เช่น
สมรสเท่าเทียม
ในถ้อยแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2566 ต่อรัฐสภา ว่ารัฐบาลจะผลักดันให้มีกฎหมายสนับสนุนสิทธิและความเท่าเทียมของกลุ่มหลากหลายทางเพศ โดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้สั่งการให้ กระทรวงยุติธรรมเร่งดำเนินการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม) หวังให้เป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในประเทศไทย ทั้งในมิติด้านสังคมและการสร้างครอบครัว โดยจะทำให้เกิดการยอมรับในทางกฎหมายกับการสร้างครอบครัว การอยู่ร่วมกันของบุคคลมีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ของคู่สมรส LGBTQ+
สำหรับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม มีหลักการเพื่อให้คู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศได้รับสิทธิและสวัสดิการคู่สมรสเท่าเทียมกับคู่รัก โดยร่างกฎหมายผ่านสภาฯ ในวาระหนึ่ง ทั้ง 4 ฉบับ เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2566 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายเป็นรายมาตรา โดยใช้ร่างของ ครม. เป็นหลัก
- ติดตามรายละเอียดนโยบาย สมรสเท่าเทียม ใน Policy Watch
พ.ร.บ.อากาศสะอาด
ที่ผ่านมามีความพยายามจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลักดันให้มี พ.ร.บ.อากาศสะอาดมาตั้งแต่ยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ขณะที่พรรคเพื่อไทย ก็เคยประกาศนโยบายตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้งเอาไว้ว่าจะแก้ปัญหา PM 2.5 ที่ทุกต้นตอโดยจะผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน สอดรับกับการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่พยายาม เคลื่อนไหว พ.ร.บ.อากาศสะอาดอย่างต่อเนื่องร่าง
สำหรับ พ.ร.บ.อากาศสะอาด มีหลักการเพื่อบริหารจัดการและควบคุมกิจกรรมที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศในทุกมิติ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่น การก่อมลพิษข้ามพรมแดน ไฟป่า ที่กระทบต่อสุขภาพของคนในประเทศ โดยร่างกฎหมายผ่านสภาฯ ในวาระหนึ่ง ทั้ง 7 ฉบับ เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2567 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายเป็นรายมาตรา โดยใช้ร่างของ ครม. เป็นหลัก
- ติดตามรายละเอียดนโยบาย พ.ร.บ.อากาศสะอาด ใน Policy Watch
แก้หนี้นอกระบบ / พักหนี้เกษตรกร
รัฐบาลประกาศปัญหาหนี้เป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากเป็นปัญหาที่กัดกร่อนสังคมไทยและเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาอื่น ๆ ในสังคมตามมา โดยความคืบหน้านโยบายพักหนี้เกษตรกรเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2566 มาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อย สำหรับลูกหนี้ที่มีหนี้ไม่เกิน 300,000 บาท โดยมีผู้แจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการแล้ว 1,679,033 ราย (คิดเป็น 80 % ของผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 2,101,784 ราย) รวมจำนวนต้นเงินที่พักชำระหนี้ 236,136 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีการแถลงความคืบหน้าหนี้ทั้งระบบเมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2567 โดยมีการไกล่เกลี่ยสำเร็จ 12,000 คน (คิดเป็น 57% ของรายการที่มีข้อมูลครบและเข้ากระบวนการไกล่เกลี่ย 21,000 ราย จากผู้ลงทะเบียนทั้งหมด 140,000 ราย) มูลหนี้ลดลง 670 ล้านบาท (จากมูลค่าหนี้รวมทั้งหมด 9,800 ล้านบาท) จึงอาจกล่าวได้ว่านโยบายดังกล่าวมีการดำเนินงานที่คืบหน้าตามที่ได้ตั้งเป้าไว้
- ติดตามรายละเอียดนโยบาย แก้หนี้นอกระบบ พักหนี้เกษตรกร ใน Policy Watch
ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power)
อีกนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทยที่พยาามเพื่อผลักดันประเทศไทยให้เป็นประเทศชั้นนำของโลกด้านซอฟต์พาวเวอร์ มีการพัฒนาแรงงานทักษะสูง สร้างงานสร้างรายได้ ขยายอุตสาหกรรมเป้าหมาย และส่งเสริมการส่งออก โดยคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เห็นชอบกรอบงบประมาณ 5,164 ล้านบาท ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ไทย 11 ด้าน
และเป็นหนึ่งในนโยบายที่มีการพูดถึงมากที่สุดนโยบายหนึ่ง มีการกำหนดอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ไทยใน 11 ด้าน และประยุกต์ต่อในหลาย ๆ ด้านทั้งจากฝั่งรัฐบาลและฝั่งประชาชน เช่น งานเย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567 ที่จะมีการจัดงาน 21 วัน หรือกางเกงช้าง รวมถึงความพยายามที่จะผลักดันร่าง พ.ร.บ. THACCA เพื่อให้มีหน่วยงานขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ ซึ่งคาดว่าจะเข้าสภาฯ ช่วงปลางปี 2567 นี้
- ติดตามรายละเอียดนโยบาย ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ใน Policy Watch
การคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตชาติพันธุ์
ที่ผ่านมา ความพยายามในการออกกฎหมาย เพื่อให้ความคุ้มครองสิทธิของชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งในประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์กว่า 60 กลุ่ม รวมประมาณ 6.1 ล้านคน โดยปัจจุบัน ร่างกฎหมายผ่านสภาฯ ในวาระหนึ่ง ทั้ง 5 ฉบับ เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2567 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายเป็นรายมาตรา โดยใช้ร่างของ ครม. เป็นหลัก
- ติดตามรายละเอียดนโยบาย การคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตชาติพันธุ์ ใน Policy Watch
นอกจากนี้ยังมีนโยบายอื่น ๆ ที่ทำรัฐบาลเริ่มดำเนินการแล้วมีความคืบหน้า เช่น
- ระบบหลักประกันสุขภาพ
- ฟื้นฟูอุตสาหกรรมประมง
- สันติภาพชายแดนใต้
- สนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV)
- ใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ทหาร
- การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก
- การทูตแบบสมดุล
ทำแล้วแต่สะดุด หรือยังไม่ตรงตามเป้า
หลายนโยบายที่ได้รับความสนใจในช่วงพรรคเพื่อไทยหรือพรรคร่วมรัฐบาลได้หาเสียงไว้ช่วงเลือกตั้ง แต่ผ่านมา 6 เดือน หลายนโยบายเริ่มดำเนินการแล้วแต่ยังมีจุดติดขัด-สะดุด หรือเริ่มดำเนินการแล้วแต่ยังไม่ถึงเป้าหมาย ทั้งหมด 12 นโยบาย เช่น
ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
เพื่อให้ประชาชนมีเงินเดือนและค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นธรรม เหมาะสมกับค่าครองชีพในปัจจุบัน และดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี โดยตั้งเป้าหมายค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันโดยเร็วที่สุด และได้ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน และเงินเดือนคนจบปริญญาตรีและข้าราชการเริ่มต้นที่ 25,000 บาท ภายในปี 2570
ปัจจุบันการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำยังไม่ถึงเป้าหมายแรก หรือ 400 บาทต่อวันตามที่ได้ตั้งไว้ โดยราชกิจจานุเบกษาประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2-16 บาททั่วประเทศ มีผลวันที่ 1 ม.ค. 2567 อยู่ที่ 330 – 370 บาท ขึ้นอยู่กับจังหวัด และอาจมีการปรับค่าแรงขึ้นอีกรอบในเดือน เม.ย. 2567 และในปี 2568 ตามลำดับ
- ติดตามรายละเอียดนโยาย ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ใน Policy Watch
รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย
หนึ่งในนโยบายปฏิบัติการเร่งรัด (Quick Win) ของรัฐบาลในด้าน “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน
ปัจจุบัน นโยบายนี้ถูกใช้กับรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) และรถไฟฟ้ามหานคร (สายสีม่วง) เท่านั้น โดยอยู่ระหว่างการจัดทำพระราชบัญญัติตั๋วร่วม และคาดว่าจะได้ใช้รถไฟฟ้า 20 บาททุกสาย ช่วงกลางปี 2568
- ติดตามรายละเอียดนโยบาย รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ใน Policy Watch
โครงการแลนด์บริดจ์ (Land Bridge)
เมกะโปรเจกต์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคม เชื่อมโยง 2 ท่าเรือ เพื่อส่งเสริมการขนส่งทางน้ำ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ แม้ทางรัฐบาลจะมีการ Road show และเชิญชวนนักลงทุนต่างประเทศมาร่วมลงทุน รวมถึงสภาฯ จะเห็นชอบผลการศึกษาของ กมธ. แลนด์บริดจ์ เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวถูกตั้งคำถามจากทางฝ่ายค้านถึงความคุ้มค่าของการลงทุน และการคัดค้านจากชาวบ้านในพื้นที่ เช่น เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ เครือข่ายรักษ์ระนอง เนื่องจากความกังวลว่าจะกระทบต่อด้านสิ่งแวดล้อม สังคมวัฒนธรรม และสุขภาพของประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
- ติดตามรายละเอียดนโยบาย โครงการแลนด์บริดจ์ (Land Bridge) ใน Policy Watch
ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท
อีกนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทยที่ถูกจับตามากที่สุด ด้วยเป้าหมายเร่งด่วนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการใส่เงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ และกระจายไปยังทุกพื้นที่ให้หมุนเวียนอยู่ในระบบ แต่ที่ผ่านมารายละเอียดของนโยบายดูจะยังไม่นิ่ง ผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องยังไม่อาจหาข้อสรุปสุดท้ายว่านโยบายนี้จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร
ที่สำคัญยังถูกตั้งคำถามจากทั้งฝ่ายค้าน รวมไปถึงมีข้อเสนอแนะและความเห็นจากองค์กรต่าง ๆ เช่น คณะกรรมการกฤษฎีกา และป.ป.ช. โดยเมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2567 บอร์ดนโยบายฯ ดิจิทัลวอลเล็ต มีมติตั้งอนุกรรมการด้านการตรวจสอบการกระทำอาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการ กำหนดระยะเวลาในการศึกษาข้อเสนอแนะ 30 วัน ส่งผลให้โครงการยังไม่ได้เดินหน้าตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
- ติดตามรายละเอียดนโยบาย : ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ใน Policy Watch
แจกโฉนดที่ดิน ส.ป.ก.
นโยบายแก้ปัญหากรรมสิทธิ์ที่ดิน เป็นนโยบายด้านเกษตรที่สำคัญของรัฐบาล ควบคู่กับนโยบายเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร โดยตั้งเป้าหมายให้เกษตรกรทุกครัวเรือนมีที่ดินทำกินอย่างเพียงพอ ด้วยการออกโฉนดที่ดิน 50 ล้านไร่ ทั่วประเทศ โดยที่ดินในเขตสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) นับเป็นเป้าหมายในนโยบายของรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม ระหว่างการดำเนินงานเกิดข้อพิพาทเรื่องพื้นที่ทับซ้อนระหว่างพื้นที่อุทยานฯ เขาใหญ่ และพื้นที่ที่ ส.ป.ก. ออกเอกสารสิทธิให้ ทำให้เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2567 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้ยกเลิกเอกสารสิทธิที่รุกพื้นที่อุทยานฯ เขาใหญ่ทุกแปลง ต่อมาในวันที่ 4 มี.ค. 2567 มีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ฝั่งอุทยานฯ) และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฝั่ง ส.ป.ก.) โดยใช้ One Map แก้ปัญหานำร่องพื้นที่อุทยานฯ เขาใหญ่ และอุทยานฯ เขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด ภายใน 2 เดือน
- ติดตามรายละเอียดนโยบาย แจกโฉนดที่ดิน ส.ป.ก. / ย้อนรอยออก ส.ป.ก.อุทยานเขาใหญ่ ใครคือไอ้โม่ง? ใน Policy Watch
นอกจากนี้ยังมีนโยบายอื่น ๆ ที่ทำแล้วแต่ยังสะดุดหรือไม่ตรงตามเป้าที่วางไว้ เช่น
- ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน
- ส่งเสริมการมีบุตร
- แก้หนี้ครู
- ระบบสุขภาวะทางจิต
- บริการจัดการทรัพยากรน้ำ
- เรียนดีมีความสุข (ลดภาระครู-นร.)
- รัฐบาลดิจิทัล
คืบหน้าน้อย
ส่วนนโยบายที่มีความคืบหน้าในการดำเนินงานน้อย มีทั้งหมด 7 นโยบาย เช่น
สังคมสูงวัย
- รัฐบาลตระหนักถึงผลกระทบจากสังคมสูงวัย ซึ่งประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ (Aged Society) โดยมีคนสูงวัยมากกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนประชากร ซึ่งจะส่งผลต่อศักยภาพทางเศรษฐกิจจากการลดลงของสัดส่วนประชากรช่วงวัยทำงาน
- แม้มีการเคลื่อนไหวจากเครือข่ายภาคประชาชนยื่นรายชื่อ 43,826 รายชื่อ เพื่อเสนอกฎหมายร่าง พ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ เสนอให้มีบำนาญถ้วนหน้าด้วยรัฐสวัสดิการ เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2566 แต่รัฐบาลก็ไม่ได้มีนโยบายอย่างชัดเจนเพื่อรองรับการมาถึงของสังคมสูงวัย
- ติดตามรายละเอียดนโยบาย สังคมสูงวัย ใน Policy Watch
แก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน
- ถือเป็นนโยบายที่มีมาในทุกยุคทุกรัฐบาล ไม่เว้นแม้แต่ในรัฐบาลชุดนี้ เพื่อลดการเกิดคอร์รัปชัน
- แม้นายกฯ จะมีการพูดถึงปัญหาคอร์รัปชันหลายครั้งโดยการใช้หลักนิติธรรมควบคู่ เช่น การประกาศขจัดปัญหาคอร์รัปชันโดยการใช้หลักนิติธรรม และใช้เทคโนโลยีเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ไปเมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2566 หรือการประกาศย้ำการมีหลักนิติธรรมจะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ช่วยขจัดคอรัปชันให้หมดไปได้ เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2567 อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลไม่ได้มีนโยบายที่เป็นรูปธรรมชัดเจนในการแก้ปัญหาดังกล่าว
- ติดตามรายละเอียดนโยบาย แก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ใน Policy Watch
การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- รัฐบาลสานต่อนโยบาย Carbon Neutrality (ความเป็นกลางทางคาร์บอน) เพื่อรับมือสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และมีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นผู้นำของอาเซียนในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ เพื่อเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนและนำไปสู่การเปิดประตูสู่การค้าโลก
- รัฐบาลเข้าร่วมเวที COP28 มีการกล่าวจุดยืนของไทยเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และในวันที่ 21 ก.พ. 2567 พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.ทส. มอบหมายให้กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เร่งจัดการและแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ แต่การดำเนินการก็ยังไม่ได้คืบหน้ามากแต่อย่างใด
- ติดตามรายละเอียดนโยบาย การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ใน Policy Watch
แก้ไขรัฐธรรมนูญ
- หนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเศรษฐา เพื่อให้คนไทยมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นโดยไม่แก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์ และจะมีการทำประชามติต่อไป
- แม้คณะกรรมการพิจารณาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญจะได้ข้อสรุปว่า จะถามคำถามประชามติเพียงข้อเดียว คือ “เห็นชอบหรือไม่ ให้มีการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยไม่แก้ไข หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์” ตั้งแต่วันที่ 26 ธ.ค. 2566 แต่ปัจจุบันก็ยังไม่ได้มีการเสนอเรื่องต่อ ครม. ต่อแต่อย่างใด
- ติดตามรายละเอียดนโยบาย แก้ไขรัฐธรรมนูญ ใน Policy Watch
แก้ไขฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5)
- ดำเนินนโยบายด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า การเผาในที่โล่ง และหมอกควัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชน
- แม้ ครม. จะเห็นชอบมาตรการของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ในปี 2567 เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2566 มีการกำหนดเป็นมาตรการให้หน่วยงานภาครัฐไปปฏิบัติ แต่ไม่มีการกำหนดแผนแก้ปัญหาเหมือนรัฐบาลที่ผ่านมา การดำเนินการแก้ฝุ่น PM2.5 จึงเน้นไปที่ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเป็นส่วนใหญ่
- ติดตามรายละเอียดนโยบาย แก้ไขฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ใน Policy Watch
นอกจากนี้ยังมีนโยบายอื่น ๆ ที่มีความคืบหน้าในการดำเนินงานน้อย เช่น