เสียหายไปเท่าไหร่ กับการจับปลาไม่เลือกหน้า
“อวนลาก” เครื่องมือประมงที่มีฉายาว่าเป็นเครื่องมือที่ “ไม่เลือกจับ… จับไม่เลือก” เพราะไม่ว่าจะเป็นปลากลุ่มเป้าหมาย เป็นปลาที่ต้องการจับหรือไม่ และไม่ว่าจะเป็นตัวเล็กหรือตัวใหญ่ ก็ล้วนมีสิทธิ์ติดอวนขึ้นมาได้ทั้งนั้น อุปกรณ์สูบทรัพยากรทางทะเลที่ทรงประสิทธิภาพ ในทางตรงกันข้ามกลับกลายเป็นสิ่งทำลายสมดุลของระบบนิเวศในท้องทะเล
โครงการสำรวจองค์ประกอบชนิดสัตว์น้ำในปลาเป็ดจากการประมงขนาดใหญ่ พื้นที่ จ.สงขลา โดย ชวลิต วิทยานนท์ และคณะ ให้ข้อมูลว่า ในอดีตเมื่อชาวประมงจับสัตว์น้ำขึ้นมาบนเรือจะมีการคัดแยกนำสัตว์น้ำที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย เช่น ปลาเศรษฐกิจพันธุ์ต่างๆ เก็บรักษาเพื่อนำไปขายบนฝั่ง ส่วนกลุ่มปลาที่ไม่ต้องการจะโยนลงทะเลตามเดิม หรือนำมาทิ้งบนฝั่ง
แต่ปัจจุบัน สัตว์น้ำกลุ่มที่ไม่ต้องการกลับถูกนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์บกและสัตว์น้ำ เช่น เอามาเลี้ยงเป็ด และให้นิยามใหม่กับกลุ่มปลาเหลือทิ้งเหล่านี้ว่าเป็น “ปลาเป็ด” นำมาสร้างมูลค่าทางการตลาด ด้วยคุณประโยชน์ทางโภชนาการที่มีโปรตีนสำคัญในการผลิตอาหารสัตว์ จึงกลายเป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมปลาป่น ถูกป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมปศุสัตว์และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
นับเป็น “ความสูญเสียของทรัพยากรทางทะเล ทำลายระบบนิเวศของแหล่งน้ำธรรมชาติ” เพราะปลาเป็ด ยังรวมถึงลูกสัตว์น้ำหรือสัตว์น้ำวัยรุ่นที่ยังมีขนาดเล็ก การไม่ปล่อยพวกมันกลับคืนธรรมชาติ ทำให้เสียโอกาสที่จะเติบโตเป็นปลาขนาดใหญ่ในอนาคต เช่น ปลาอินทรีบั้ง ปลาทรายแดง ปลาทรายขาว ปลาตาหวาน ปลาสาก ปลาปากขลุ่ย หมึกต่างๆ หอยเชลล์ กั้งกระดาน เป็นต้น ส่วนสัตว์น้ำชนิดที่มีขนาดเล็กที่สูญเสียโดยตรง ได้แก่ ปลาแพะ ปลาแป้นแก้ว ปลานกขุนทองเขี้ยว เป็นต้น
“การใช้อวนลาก และทำประมงปลาเป็ด จึงเป็นการทำประมงที่ไม่คุ้มค่า และไม่ยั่งยืน”
มูลค่าความเสียหายจากการจับ “ปลาเป็ด”
การสุ่มเก็บตัวอย่างปลาเป็ดและข้อมูลเรือประมงอวนลากแผ่นตะเฆ่ในจังหวัดสงขลา 2 ครั้ง (เดือนธันวาคม พ.ศ.2560 และมกราคม พ.ศ.2561) จำนวน 9 ลำ เป็นข้อมูลขนาดเรือระหว่าง 21.23-79.51 ตันกรอส ออกทำการประมง 5-10/เที่ยว จับสัตว์น้ำจากเรือทั้ง 9 ลำ รวม 57,992 กิโลกรัม พบว่ามีสัดส่วนของปลาเป็ดในเรือแต่ละลำ 6.16-47.56% โดยเป็นลูกสัตว์น้ำเศรษฐกิจ 34.81% ของปลาเป็ดที่จับได้ทั้งหมด แบ่งเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจ 68 ชนิด และลูกสัตว์น้ำเศรษฐกิจอีก 55 ชนิด
การนำลูกสัตว์น้ำเศรษฐกิจมาขายในราคาปลาเป็ด ได้มูลค่า 14,096.94 บาท หรือ กิโลกรัมละ 5.50 บาท (ราคาจากสมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย) แต่หากปล่อยให้สัตว์น้ำเหล่านี้เติบโตจนได้ขนาด ตลาดจะมีมูลค่าต่ำสุด 198,870.34 บาท มูลค่าสูงสุด 333,683.34 บาท (ราคาจากองค์การสะพานปลา) เท่ากับกว่า การนำลูกสัตว์น้ำเศรษฐกิจมาขายในราคาปลาเป็ดก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 184,773.40-317,586.40 บาทต่อเที่ยวของการออกทำการประมง
หากอนุมานว่าในรอบ 1 ปี มีการออกเรือทำประมง 30 เที่ยว จะสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจ 5,543,202.00-9,527,592.00 บาท
ข้อเสนอในการแก้ปัญหาการทำประมงไม่ยั่งยืน และการล่าปลาเป็ด
คณะวิจัยมองว่า ในน่านน้ำไทยมีความหลากหลายชนิดของปลาเศรษฐกิจมากกว่า 700 ชนิด การใช้แนวทางหรือมาตรการเดียวในการจัดการประมง ไม่อาจช่วยลดความสูญเสียสัตว์น้ำในภาพรวมได้ ต้องใช้หลายมาตรการประกอบกัน
“ต้องมีการกำหนดเขตรักษาพืชพันธุ์สัตว์น้ำ เขตคุ้มครองหรือเขตห้ามจับสัตว์น้ำ การงดหรือจำกัดการใช้เครื่องมือประมงที่ทำลายล้าง เช่น อวดลากทุกประเภท เรือปั่นไฟจับปลากะตัก และการกำหนดหรือส่งเสริมการดัดแปลงเครื่องมือให้มีการถูกพลอยจับให้น้อยลงกว่าที่เป็นอยู่”