เครือข่ายพัฒนาเมือง ร่วมพูดคุยหาแนวทาง UNLOCK CITY POTENTIAL โอกาสของพื้นที่ในการพัฒนาเมือง และการสร้างอนาคตของเมือง : เรียนรู้จากกรณีตัวอย่าง 13 นักพัฒนาเมือง สู่การปลดล็อกข้อจำกัดในการพัฒนาเมือง จาก 39 แนวคิด 9 เมือง ผ่านการบอกเล่าประสบการณ์ข้อเรียนรู้จากกรณีตัวอย่างทั่วประเทศ
- อ่าน แชร์ไอเดีย ‘ปลดล็อกเมือง’ ขยายผล พัฒนาเมืองยั่งยืน
- อ่าน มองโอกาสเพิ่มศักยภาพเมืองด้วยพื้นที่สีเขียว
รศ.พีรดร แก้วลาย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายโจทย์คำถาม เมืองโดน Lock ได้อย่างไร ใครเป็นคน lock เมือง? ว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เติบโตแบบกระทันหัน ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับจังหวัดใกล้เคียงด้วย การพัฒนาเมืองอย่างรวดเร็วนี่เองทำให้เกิดการล็อกเมือง เพราะไม่ได้มีกระบวนการวางแผน เป็นเมืองแบบไม่ทันตั้งตัว โตแบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และไม่พร้อมที่จะเป็นเมือง ไม่ได้อิงให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง พื้นที่สาธารณะไม่ได้ถูกคำนึงตั้งแต่แรก
สำหรับกระบวนการ Unlock เมืองเป็นเรื่องของทั้งโลก หลายเมืองทั่วโลกก็กำลังทำกระบวนการนี้อยู่เหมือนกัน เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดึงดูดให้คนเก่ง ๆ ยังอยากอยู่ในเมือง เช่น เมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ ก่อนมีการเติบโตทางอุตสาหกรรมสูงมาก จนไม่สามารถพัฒนาเมืองต่อได้ มีคนเริ่มทยอยย้ายออกจากเมือง หลังจากนั้นภาครัฐจึงมีการทำงานร่วมกับภาคเอกชนและธุรกิจรายย่อย ตั้งเป้าหมายใหม่ให้กับเมือง มีโมเดลร่วมกันในการพัฒนาเมือง ทำให้เกิดการขยายพื้นที่สาธารณะสีเขียว ตามความต้องการของคนในเมือง
ตัวอย่างอื่น ๆ ที่เห็นหลายเมืองในต่างประเทศ เราพบว่า สถานที่ต่าง ๆ ที่เคยมีรั้วรอบขอบชิด ก็พยายามเอารั้วออก เอาพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ทำให้เกิดโอกาสใหม่ ๆ เช่น ชองเกซอน ประเทศเกาหลีใต้ รางรถไฟไฮไลน์ของนิวยอร์ก อเมริกา ก็เปลี่ยนเป็นพื้นที่สาธารณะ เป็นการบ้านของผู้บริหารเมืองที่ต้องพยายามหาพื้นที่เหล่านี้ สร้างแรงดึงดูดให้เกิดการพัฒนา พื้นที่สาธารณะใหม่ ๆ มีแนวคิด Unlock ด้วยการออกแบบและซ่อมแซมเมือง ด้วยการขยายพื้นที่ทางเดิมเท้า หรือกระทั่งความพยายามทำให้คนเข้าถึงธรรมชาติมากขึ้น ข้อกำจัดของเมืองมีร่วมกันทั่วโลกดังนั้นเราจึงมีแนวร่วมเยอะ
“การชวนให้เยาวชนได้เข้ามามีส่วนในกระบวนการ ช่วยทำให้ได้เห็นมุมมองที่หลากหลาย เรายังเห็นโอกาสในการพัฒนาพื้นที่ใต้ทางด่วน พื้นที่ของหน่วยงานราชการ เพื่อปลดล็อกเมืองให้กับทุกคน ให้กับผู้สูงอายุ สร้างโอกาสปากท้อง เศรษฐกิจเมืองด้วยการเชื่อมตรอกซอกซอย การใช้ศิลปะจัดแสดงสร้างสีสันในพื้นที่ การพัฒนาเพิ่มศักยภาพชาวบ้านในชุมชน สิ่งสำคัญคือการใช้ข้อมูลเป็นฐานในการขับเคลื่อนเมือง เพื่อปลดล็อก เมืองด้วยความคิด ทัศนคติ การสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือ”
ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร คณะทำงานด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยริมคลองแม่ข่า กล่าวในหัวข้อ “พื้นที่สาธารณะกับความเหลื่อมล้ำ กรณีศึกษาคลองแม่ข่า เชียงใหม่” ว่า เราจะทำให้พื้นที่สาธารณะแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร? ผ่านคลองแม่ข่า จ.เชียงใหม่ มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แต่สิ่งที่ยังไม่ได้เปลี่ยนคือ ความเหลื่อมล้ำด้านที่อยู่อาศัย ยังมีบ้านที่อยู่อาศัยอยู่ริมคลองแม่ข่า ที่เรียกร้องการพัฒนา แม้ว่าจะมีการปรับปรุงกายภาพเยอะมากจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแล้วแต่ที่อยู่อาศัยก็ยังไม่มีแผนการพัฒนาที่ชัดเจน ยังคงคลุมเครืออยู่ ทั้งที่ที่อยู่อาศัยเป็นหนึ่งในศักยภาพทางเศรษฐกิจ
วันนี้ภาพที่คนนอกเห็นแม่ข่า กับภาพที่คนอื่นมองเข้ามามันอาจจะต่างกัน ปัจจุบันพื้นที่สาธารณะ ถูกทำให้เป็นlandmark เป็นที่ถ่ายรูปฟีลญี่ปุ่น แต่จริง ๆ แล้วชุมชนในพื้นที่ริมคลองแม่ข่า ระยะ 4.7 กิโลเมตร มีทั้งหมด 21 ชุมชน 2,169 หลังคาเรือน 4,361 คน คิดเป็น 3% ของประชากรในเขตเทศบาล 73% มีสัญญาเช่าระยะสั้นในที่ดินของรัฐ 28% อยู่อย่างไม่มีสัญญาเช่า 9% ไม่มีทะเบียนบ้าน 12% ไม่มีอาชีพ 28% เป็นกลุ่มเปราะบาง
เราจะทำให้การพัฒนามองปัญหาแบบองค์รวมได้อย่างไร เพื่อแก้ปัญหาที่มันทับซ้อนอยู่ กุญแจสำคัญอย่างแรกคือต้องทำให้การพัฒนาระบบที่อยู่อาศัย เป็นการพัฒนาเมืองทั้งระบบ กุญแจดอกที่ 2 ทำให้เมืองเป็นเจ้าภาพเชื่อมกับเจ้าที่ ทุน ระเบียบ จะทำอย่างไรให้หน่วยงานผู้สนับสนุนอย่างองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มาจากการเลือกตั้ง และทำให้มีวิสัยทัศน์ในการมองการพัฒนาเมืองอย่างเป็นระบบ รวมถึงเรื่องที่อยู่อาศัยเลย มีบทบาทในการเชื่อมโยงภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงเอกชน ให้เข้ามาร่วมดูแลผู้เดือดร้อน
และกุญแจดอกที่ 3 คือการทำให้ที่อยู่อาศัยในที่สาธารณะมีราคาที่เข้าถึงได้ ผ่านกลไกทางสังคมในระบบที่อยู่อาศัย มีองค์กรกลางของชุมชน มีภาษีเมือง บริหารเมือง สู่ชุมชน มีระบบ housing stock นอกระบบตลาดรองรับแรงงาน และเมืองได้ประโยชน์จากการพัฒนาทุกฝ่ายทุกมิติ
ยุทธภูมิ สุประการ หัวหน้าศูนย์น่านศึกษาวิทยาลัย กล่าวในหัวข้อ “พื้นที่สาธารณะ กับการอนุรักษ์” ว่า น่านมีกลไกการขับเคลื่อนจังหวัดผ่านทุนทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ เป็นอัตลักษณ์ของเมืองน่าน หลายคนจึงมองว่าเป็นเมืองที่มีต้นทุนในการเป็นต้นน้ำและเมืองเก่าที่มีชีวิตมีประวัติศาสตร์ตั้งแต่สุโขทัย โดยน่านมีประชากร 474,539 คน มีพื้นที่ป่าทางกฎหมาย 80% คนน่านอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของพื้นที่ ในการวางนโยบายถูกคาดหวังทั้งคนในและคนนอกพื้นที่ว่าจะพัฒนาควบคู่กับการอนุรักษ์อย่างไร เรามีหน่วยงานมากมายร่วมสังเกตการณ์ วางแนวทางการพันาเมือง โดยเราให้ความสำคัญว่าคนในเมืองมีแนวทางจะกำหนดทิศทางเมืองอย่างไร ทั้งมิติทั้งด้านการอนุรักษ์และร่วมสมัย ซึ่งวันนี้กำลังจะเสนอยื่นต่อ Unesco เป็นเมืองสร้างสรรค์ จึงพยายามพัฒนาในสู่จุดนี้
“เรามี ต้นทุนทางวัฒนธรรม 18 กลุ่มชาติพันธุ์ ความสัมพันธุ์ต่อพื้นที่ เชื่อมโยงเขตใจเมืองน่าน กระบวนการข้างหน้า เราพยายามวิเคราะห์และมองผ่านตัวเองว่าจะไปอย่างไรต่อต้องคำนึงถึงหลายมิติมาก ทั้งเรื่องบริบทปัจจัยทางวัฒนธรรม รวมถึงความต่างของคน วัย บริบท มองเมืองอย่างไร เราจะหาจุดร่วมของการใช้งานพื้นที่เมือง “ปรับปรุงเมืองแต่ไม่เปลี่ยนแปลง” เปิดพื้นที่สีเขียวเชื่อมโยงพื้นที่เชิงวัฒนธรรม การอนุรักษ์และปกป้องเมือง ผ่านการจัดการผังเมือง”
ยุทธภูมิ กล่าวต่อว่า การทำกิจกรรมของเมืองในมิติต่าง ๆ โดยเฉพาะการให้พื้นที่คนหลากวัยมาจัดกิจกรรมที่เขตเมือง และสร้างบทบาททั้งเด็กและเยาวชน คนหนุ่มสาวให้เข้ามาจัดการเมือง ยกประเด็น การจัดการศาลากลางหลังเก่า เราเรียนรู้ที่จะให้ภาคเอกชนและภาครัฐมาร่วมกันหาแนวทางการจัดการพัฒนาใจกลางเมืองน่าน ในฐานะน่านเมืองเก่าที่มีชีวิต ซึ่งเรามองว่า ทั้งหมดคือนิเวศด้านวัฒนธรรม การเรียนรู้ร่วมกันของจังหวัดน่านที่มีชีวิต
ผศ.ปัทมพร วงศ์วิริยะ อาจารย์ประจำสาขาวิชาสถาปัตยกรรมผังเมืองและการออกแบบ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ขอนแก่น กล่าวในหัวข้อ walkable และ creative economy โดยตั้งคำถามว่า เราจะพัฒนาพื้นที่สาธารณะเมืองขอนแก่นอย่างไร? โดยพบว่าขอนแก่นมีพื้นที่สีเขียวเยอะมาก แต่เรายังไม่ได้วางแผนปรับปรุงพื้นที่อย่างจริงจังทำให้พื้นที่ใช้งานไม่เต็มประสิทธิภาพ ยังมีข้อจำกัดเรื่องการเดิน เราพบว่าความท้าทายคือเราจะเริ่มได้อย่างไร ทำอย่างไรคนขอนแก่นจึงจะออกมาเดินกัน ประเด็นต่อมาคือเราจะมีพื้นที่สีเขียวมากกว่านี้ได้ไหม เพราะมันยังไม่พอสำหรับอัตราการใช้งานต่อคน
หลายโครงการที่เราทำมีการถอดบทเรียนการมีส่วนร่วมของหลายกลุ่มพบว่า ประเด็นสำคัญเป็นสิ่งที่เราต้องทำให้เกิดขึ้นคือ 1.เชื่อมโยงย่านให้สามารถเข้าถึงพื้นที่ต่าง ๆ ของเมืองได้อย่างเท่าเทียม 2.มีพื้นที่ใช้งานอย่างหลากหลาย ปลอดภัย สบาย สะดวก และเข้าถึงง่าย 3.มีกิจกรรมที่สามารถปรับเปลี่ยนตามความต้องการของคนในสังคม 4.สามารถสร้างโอกาสทางสังคมและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ 5.สามารถระบุอัตลักษณ์ของพื้นที่ได้ ว่าแต่ละย่านของขอนแก่นก็อยากจะแสดงความเป็นตัวตน และ 6.คือการทำให้พื้นที่สาธารณะก่อเกิดความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของเรา คือพื้นที่ที่ทำให้เราได้เป็นส่วนหนึ่ง ไม่ใช่แค่ผู้ใช้งานแต่เป็นผู้ร่วมดูแลรักษาด้วย
“กระบวนการสำคัญที่เราทำคือความพยายามเชื่อมย่าน ใจกลางของขอนแก่นเป็นพื้นที่ที่มีสถานที่สำคัญอยู่โดยรอบ ทั้งศูนย์ราชการ สถานีขนส่ง โรงเรียน ห้างสรรพสินค้า ซึ่งเราสามารถเดินทางได้ในรัศมี 1-2 กิโลเมตร แต่ปัญหาคือเราเดินไม่ได้ จึงต้องใช้รถ และตอนนี้รถก็เริ่มติด เราจึงต้องตั้งคำถามใหม่ว่าเราจะเชื่อมต่อย่านต่าง ๆ ได้อย่างไรโดยการเอาเรื่องการเดินมาชูโรง ผ่านการสร้างความร่วมมือระหว่างเครือข่าย อย่างเวทีสาธารณะถนนรื่นรมย์ ทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ประชาสังคม วิชาการ ประชาชน ระดมความคิดเห็นถึงการพัฒนาย่าน ออกแบบ จัดสรรงบประมาณ บริหารจัดการ เรามีสภาเมืองที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาเมืองที่ตอบโจทย์ความต้องการ เช่น โครงการ walking environment การปรับปรุงถนนรื่นรมย์ ขณะนี้กำลังรอก่อสร้างจริง”
ยิปซี จันทร์เพ็งเพ็ญ ประธานกลุ่มสกลเฮ็ด จ.สกลนคร กล่าวในหัวข้อ adaptive reused พื้นที่เสียโอกาสสู่พื้นที่โอกาส ว่า ที่ผ่านมากลุ่มสกลจังซั่นได้ไปทำงานในพื้นที่ย่านเมืองเก่า เริ่มด้วยการทำกราฟิตี้บอกเล่าเรื่องราวชุมชน แล้วค่อย ๆ ทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน ติดตั้งแสงสว่าง พัฒนาชุมชน ชวนคนเข้ามาทำร้านตัดผม ร้านกาแฟ นักดนตรี และความร่วมมือของคนทำงานพัฒนาเมืองหลาย ๆ คน เข้าไปทำกิจกรรมด้วยกัน หลังจากนั้นเราก็มีการทำสนามเด็กเล่นให้กับชุมชนตอบแทน
ต่อมาเราเห็นศักยภาพของพื้นที่ตรอกข้างเรือนจำเก่า จึงวางแผนเข้าไปทำกิจกรรม ฉายหนังบนกำแพงสูงของเรือนจำ ประสานความร่วมมือ ชุมชนเข้ามาขับเคลื่อนด้วยกัน ด้วยแนวคิด “สร้างความทรงจำใหม่ ฟื้นฟูสถานที่ให้เกิดการใช้งานได้และน่าอยู่” กระตุ้นให้ชุมชนได้กลับมาค้าขาย สร้างงาน กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน สร้างโอกาสในการลงทุน พร้อมกับการรักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิม
“เราพยายามทำงานร่วมกับกลุ่มคนต่าง คนที่จะสร้างแรงบันดาลใจ ช่วยเปิดมุมมองใหม่ ผู้ประกอบการ ร้านค้าที่เป็นแนวร่วม อยู่รอบ ๆ พื้นที่ ซึ่งเราพบว่าค่อนข้างซบเซาเงียบเหงา ร่วมสร้างความตระหนักร่วมในคุณค่าของพื้นที่ กลุ่มนักวิชาการ สถาปนิก ผู้ที่จะสื่อสารเรื่องภูมิสถาปัตย์ เล่าโอกาสของพื้นที่ ว่าจะสร้างประโยชน์อะไรได้บ้าง กลุ่มชาวบ้าน ร้านค้าชุมชนรอบ ๆ พื้นที่ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แชร์ความคิดเห็นรอบด้าน เพื่อสร้างแนวร่วมเดียวกัน กลุ่มศิลปินนอกกระแส นักเรียน นักศึกษา ผู้ที่สนใจ กำลังหาโอกาสในการอยู่ในเมืองหรือทำกิจกรรมในเมือง เราจึงเห็นกลุ่มศิลปินจากที่ต่าง ๆ มาร่วมกันเพ้นท์กำแพง เป็นพื้นที่แสดงงานต่อสาธารณะ”
ยิปซี กล่าวต่อว่า แม้เราจะพยายามทำให้เห็นโอกาสในการพัฒนาพื้นที่ แต่เมื่อเทศกาลนครสกลนครทำแปลนแบบพัฒนาพื้นที่ออกมาก็ยังเน้นทำถนนเหมือนเดิม แต่เราจะพยายามสื่อสารเรื่องของปลดล็อกพื้นที่ และทำให้พื้นที่รกร้าง พื้นที่สาธารณะ ถูกขับเคลื่อน ให้ภาครัฐได้ฟังเสียงของคนในเมืองมากขึ้น
สุทธหทัย นิยมวาน เยาวชนจากกลุ่ม city connect แชร์ประสบการณ์พัฒนาเมืองของคนรุ่นใหม่ผ่าน hatyai connect กับเป้าหมายฟื้นคืน หาดใหญ่โดยการสร้างอัตลักษณ์ให้กับเมือง เรามีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ อย่างแรกคือการเดินเมือง 3 เส้นทาง เล่าเรื่องเมืองผ่านการกินอาหารระหว่างทาง 3 มื้อ เราเล่าเรื่องวัฒนธรรมและวิถีชีวิต ที่สะท้อนประวัติศาสตร์และโอกาสการพัฒนาเมือง เราได้แจกกล้องฟิล์มให้กับผู้ร่วมกิจกรรม และจัดแสดงภาพถ่ายเหล่านั้นในชุมชน ซึ่งพบว่ามีคนให้ความสนใจจำนวนมากทั้งในพื้นที่และในออนไลน์ จุดประกายให้เราทำงานต่อ เราจึงได้จัดกระบวนการในการทำพื้นที่สาธารณะของหาดใหญ่ต่อ เปิดพื้นที่การสื่อสารของกลุ่มคนต่าง ๆ พร้อมจัดงานนิทรรศการเปิดพื้นที่ต่อเนื่อง hatyai define youth หรือ นิทรรศการเยาวชนหาดใหญ่ my youth exhibition บอกเล่าเรื่องราวการทำงานในฐานะเยาวชน พร้อมนำเสนอความต้องการพัฒนาเมืองจากมุมมองของเยาวชน บทสนทนาที่เราคุยมาตลอดในการออกแบบเมืองคือ เยาวชนคือส่วนสำคัญที่ต้องรับฟังเขา “การออกแบบเมือง คือการวางแผนเพื่ออนาคตของคนรุ่นถัดไป แล้วทำไมจะไม่ฟังพวกเขาหละ”
“ข้อเสนอสำคัญของเยาวชนริทัศน์หาดใหญ่คือ ต้องการมีพื้นที่ทดลองสำหรับเยาวชน (sand box) ที่ต้องมาพร้อมกับงบประมานสนับสนุนการดเนินการ ให้อิสระในการคิด การลองดผิดลองถูก มีคำแนะนำจากผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่ใช่การตัดสินใจแทน”
กฤษฎาพงษ์ ตันทอง ผู้ร่วมก่อตั้ง บจก ซิตี้ เดต้า อนาไลติกส์ (บริษัทในเครือภูเก็ตพัฒนาเมือง) กล่าวในหัวข้อ Phuket Smart City ต้นแบบเมืองอัจฉริยะ ว่า การขับเคลื่อนเมืองใช้ข้อมูลเป็นฐานของการพัฒนา ตั้งแต่การศึกษากฎหมายผังเมือง ข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพราะถ้าข้อมูลผิดหรือไม่เข้าใจก็จะทำให้เกิดปัญหาตามมา ยกตัวอย่าง ปัญหาเรื่องน้ำท่วม ภูเก็ตเกิดน้ำท่วมหลายครั้ง ซึ่งข้อมูลแสดงให้เห็นตำแหน่งน้ำท่วมที่เปลี่ยนไปจากเดิม วิเคราะห์ได้ว่าตรงไหนซ้ำที่เดิม ตรงไหนไม่ซ้ำ โดยความร่วมมือกับภาคประชาชน ภาครัฐ บูรณาการทำงานร่วมกัน ช่วยให้โยธาธิการและผังเมืองเข้าไปจัดตั้งโครงการต่าง ๆ ที่แก้ปัญหาได้ตรงจุด ซึ่งเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว ได้จัดทำ data city platform ร่วมกับ depa ดึงระบบฐานข้อมูลกลางไปอยู่ในฐานข้อมูล smart city วิเคราะห์ข้อมูลระดับต่าง ๆ สิ่งที่ภูเก็ตพัฒนาเมืองทำวันนี้คือ เราเห็นทิศทางของทางน้ำ โอกาสเกิดน้ำท่วม เรายังทำนายจุดที่ทำให้เกิดฝนตก วิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้าได้ ข้อมูลจึงเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาเมือง
“สำหรับบทเรียนและสิ่งที่ต้องทำต่อไป คือ 1.การได้มาซึ่งข้อมูล ต้องเกิดขึ้นจากความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ใช้ศาสตร์และศิลป์ในการนำข้อมูลมาขับเคลื่อนเมือง และการให้ความสำคัญกับท้องถิ่นเป็นตัวขับเคลื่อน 2.ความสมบูรณ์ของข้อมูล ข้อมูลต้องมีขนาดใหญ่มาก ๆ อาจจะไม่สำคัญเท่ากับข้อมูลที่มีความสมบูรณ์และเพียงพอต่อการใช้ประโยชน์ 3.ความเข้าใจของผู้ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล คือต้องรู้ว่าข้อมูลมีอะไรเป็นอย่างไร ทำไมเป็นแบบนั้น แล้วมันจะเป็นอย่างไรต่อไป แล้วจะแก้ไขอย่างไร คนที่เกี่ยวข้องต้องสามารถอ่านข้อมูลเพื่อประโยชน์ได้ เช่น ต้องตอบได้ผู้ป่วยติดเตียงอยู่ที่ไหน ต้องวางแผนในการจัดการต่อ”
ชนสรณ์ เฉียบเอี่ยมเชาน์ หัวหน้าโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ learning city ผู้ก่อตั้ง conversation และกลุ่ม dot to dot กล่าวในหัวข้อ การพัฒนาพื้นที่สาธารณะ soft power สู่ hard power โดยเยาวชน ว่า วันนี้เราต้องการคนรุ่นใหม่ขับเคลื่อนเมือง แต่เมืองที่ดีต้องมีส่วนในการพัฒนาเมืองด้วย โลกปัจจุบันผันผวนไม่แน่นอน ซับซ้อน คลุมเครือ ทำให้คนรุ่นใหม่เผชิญกับความสิ้นหวัง ขาดทักษะการทำงานสังคม ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนทั่วไป ดังนั้นหากจะให้คนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมพัฒนาเมือง จึงต้องมีกระบวนการ ที่ทำให้ทำให้เมืองเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้สาธารณะ เราทำกิจกรรม conversation เป็นพื้นที่เรียนรู้ซึ่งกันและกัน เรียนรู้เรื่องราวในท้องถิ่น เรียนรู้เรื่องการอยู่ร่วมกัน ออกแบบกระบวนการโดยนักการศึกษา เราทำเวิร์คชอปที่ช่วยเสริมพลังคนรุ่นใหม่ the connector project ผ่านโทรแกรมพัฒนาศักยภาพส่วนตัว ตั้งคำถามว่าเรายังไม่รู้อะไร ทำอย่างไรให้รู้มากกว่านี้ และจะทำอะไรให้พื้นที่รอบ ๆ เกิดเป็นแบรนด์ชุมชนที่เรียกว่า ยมจินเดย์ yomjinday ที่ถนนยมจินดาย่านเมืองเก่า จ.ระยอง
ทั้งหมดคือกระบวนการที่เราทำกับเยาวชน ออกแบบเพื่อขับเคลื่อนพัฒนาให้เด็ก ๆ เข้าไปทำงานกับชุมชน หาข้อมูลชุมชน เรียนรู้ชุมชนและนำออกมานำเสนอ สร้างแบรนด์ สร้างสินค้าชุมชน ทั้งหมดทำงานร่วมกับคณะกรรมการชุมชน และสมาชิกทุกขั้นตอน และเราใช้คอนเซปเดิมมองพื้นที่ เนื้อหา กิจกรรม เชื่อมโยงกับเมือง เพื่อไปต่อการพัฒนาบริบทของเมืองต่อไป เราเลือกการเดินทัวร์เป็นวิธีการเพื่อสื่อสารเรียนรู้ โดยมองว่า หากพื้นที่สาธารณะถูกออกแบบให้มีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน และมีกิจกรรมหมุนเวียนอย่างสม่ำเสมอ จะสามารถเป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในแง่บวกต่อพื้นที่โดยรอบได้
“เราค้นพบว่ากระบวนการนั้นสำคัญ และพื้นที่การเรียนรู้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดพวกเรา เราจึงต่อยอดไปที่เรื่องการพัฒนาคน เพื่อต่อยอดชุมชนสร้างสรรค์ผ่านการทำงานร่วมกับโรงเรียนรอบ ๆ เราพาน้อง ๆ ไปทำงานชุมชน น้อง ๆ ได้เรียนรู้อะไรที่มากกว่าอินเทอร์เน็ตให้ เจอเรื่องที่ไม่เคยถูกสื่อสาร ทำให้เกิดแผนที่ชุมชนเดินเท้า มีรายละเอียดที่กูเกิ้ลให้ไม่ได้ ปลายทางเราคืนข้อมูลให้กับชุมชน เพื่อต่อยอดในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ทั้งหมดนี้คือการพัฒนาเมือง ด้วยการพัฒนาคน ผ่านการเรียนรู้แนวระนาบ”
ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ประธานกรรมการบริหารอุทยานสวนป๋วย 100 ปี ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต กล่าวถึง พื้นที่สาธารณะกับการอนุรักษ์ระบบนิเวศปลายน้ำในเมืองอุตสาหกรรม ว่า เรามีสายน้ำเป็นจุดเชื่อมต่อระบบนิเวศและธรรมชาติ โดยเราใช้กิจกรรมพายเรือเก็บขยะเป็นเครื่องมือในการรณรงค์ให้สังคมตระหนักว่าขยะเป็นการทำลายธรรมชาติของเราเอง ในภาพใหญ่ที่สุด คือชีวิตบนโลกคือการพึ่งพากันระหว่างพืชและสัตว์ ชีวิตของเรามีสิ่งจำเป็นเพียงแค่ 3 อย่างเท่านั้นคือ อากาศ น้ำ อาหาร ขาดไม่ได้ ขาดแล้วตาย วันนี้เราไม่ขาดแต่ทุกอย่างปนเปื้อนมลพิษหมด สำหรับแม่น้ำคือต้นทางของระบบนิเวศ ผ่านภูเขาลงทะเล แม่น้ำจึงเปรียบเหมือนเส้นเลือดของธรรมชาติ แต่เราพบความผิดปกติของพื้นที่ชายฝั่ง เช่น วัดขุนสมุทรจีน วัดหงษ์ทอง กลายเป็นวัดกลางน้ำ จากการที่ทะเลรุกล้ำแผ่นดิน เพราะการสร้างเขื่อน ทำให้ไม่มีตะกอนลงไปถึง ระหว่างพายเรือเก็บเรายังพบขวดสารเคมีอันตราย ทุกครั้งที่ชาวนาจะเกี่ยวข้าว ปลาในน้ำก็จะตาย เพราะเกษตรกรใช้สารเคมี เรายังพบการใช้น้ำของภาคอุตสาหกรรม เราพบว่ามีกำแพงคอนกรีตริมฝั่งทำให้แม่น้ำเหมือนท่อระบายน้ำ ทั้งหมดนี้คือปัญหาที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำของเรา
“เสนอว่า 1.ต้องทำให้แม่น้ำสามารถไหลสะดวกได้เหมือนเก่า ประตูน้ำ เขื่อนทุกแห่งต้องสามารถเปิดได้ ให้ชาวบ้านสัญจร หาอาหาร ทำประมงได้เหมือนเดิม ฟื้นคืนแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์ และพืชพรรณ ให้แม่น้ำกลับมาเป็นแหล่งอาหารของคนไทย 2.รักษาระบบนิเวศริมน้ำ หยุดทำให้แม่น้ำกลายเแป็นท่อระบายน้ำ โดยการไม่สร้างเพิ่มเขื่อนปูนริมฝั่ง 3.ทำป่าให้เป็นพื้นที่สาธารณะ และชุมชนมีส่วนร่วมดูแลทั้งป่าในป่า ป่าบนบก ป่าในเมือง ป่าชายเลน หัวใจสำคัญที่สุดคือการอยู่ร่วมกันระหว่างธรรมชาติ และการพัฒนา เพราะผลลัพธ์คือคุณภาพชีวิตของเรา บางปะกงคือตัวอย่าง ทุกปีจะมีโลมาอิรวดี หากปีไหนแย่พวกมันจะไม่มา เป็นตัววัดคุณภาพของธรรมชาติ โดยสรุปจึงขอเรียกร้องให้พวกเรา คืนอากาศบริสุทธิ์ คืนน้ำสะอาด คืนอาหารที่ไม่มีสารก่อมะเร็ง และให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองในฐานะเจ้าของ นั่นคือกลไกและปัจจัยความสำเร็จ ซึ่งใช้ได้กับแม่น้ำและทุกที่ทั่วประเทศไทย”
จุฤทธิ์ กังวานภูมิ กลุ่มปั้นเมือง นำเสนอในหัวข้อ “การพัฒนาพื้นที่สุขภาวะต่อผู้สูงอายุ” ว่า เมืองมีส่วนกำหนดวิธีคิด พฤติกรรมของคนในเมือง สำหรับไชน่าทาว์น เขตสัมพันธวงศ์ สถานการณ์ปัจจุบันมีประชากรลดลง 40% ในระยะ 20 ปี และมีผู้สูงอายุ 29% เป็นสังคมสูงวัยต่อเขตที่เยอะทุกส่วนของกทม.และเป็นเขตที่พื้นที่สาธารณะน้อยมาก เนื่องจากที่ดินราคาแพง แม้ว่าจะมีพื้นที่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาแต่กลับกลายเป็นขาดพื้นที่เข้าถึงแม่น้ำ เปรียบว่าเป็นเมืองที่อยู่แล้วจน ป่วย ไร้วาสนา เครื่องรางของขลังก็ช่วยไม่ได้ กล่าวคือ ผู้สูงอายุขาดโอกาสในการใช้ชีวิตในเมือง ด้วยกายภาพเมืองไม่รองรับความเสี่ยง และยังขาดพื้นที่สาธารณะ ขาดโอกาสในการเข้าสังคม แต่พื้นที่นี้ก็ยังมีโอกาสอยู่บ้าง ทั้งเรื่องของการเป็นย่านสร้างสรรค์และเมืองสุขภาวะ ที่หลายหน่วยงานกำลังพยายามขับเคลื่อนอยู่ โดยพยายามเชื่อมโยงวัฒนธรรม เศรษฐกิจ พื้นที่สาธารณะเข้าด้วยกันด้วยการเดินเมือง เราจึงพยายามทำกิจกรรมสัมพันธ์กับย่านอื่น ๆ มากขึ้นไม่ให้ย่านถูกทิ้งโดดเดี่ยว
“แล้วจะปลดล็อกข้อจำกัดตรงนี้อย่างไร เราก็มาวิเคราะห์พื้นที่ และกลไกภาครัฐ ว่าต้องแก้ปัญหารับกันอย่างไรบ้าง คือเมื่อเรามีความต้องการของชุมชน ต้องการคนช่วยคิด เรื่องนโยบายภาครัฐ ต้องการคนช่วยทำ เมื่อมีข้อเสนอน่าสนใจ ก็ต้องการการสนับสนุนโปรโมต ต้องพยายามหาวิธีต่อรองกันให้ได้โอกาสและประโยชน์ตรงเงื่อนไข ซึ่งสิ่งที่เราทำมาตลอดคือพร้อมเสมอต่อการทำงานร่วมกับกลุ่มอื่น ๆ ที่สนใจอยากพัฒนาเมือง และเชื่อมโยงกับพื้นที่ข้าง โดยหวังว่า จากกุญแจผีที่เราพยายามทำกันจะเปลี่ยนเป็นมาสเตอร์คีย์ในการปลดล็อกเมืองจริง ๆ ได้อย่างไร”
ยศพล บุญสม หัวหน้าโครงการ we!park กล่าวในหัวข้อ “พื้นที่สาธารณะ กับการสร้างโอกาส” ว่า สถานการณ์เมืองตอนนี้มีพื้นที่ว่างอยู่เยอะ แต่ถูกเอามาปลูกกล้วย ปลูกมะนาว แต่เราอยากจะเป็นตัวกลางในการเชื่อมทรัพยากรของเมือง ซึ่งเราเห็นว่ามีอยู่ทั้งที่ดิน ทุน และความสามารถ อีกอย่างหนึ่งคือเราทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงข้อเสนอ ความต้องการ ความคิด สู่ระดับนโยบาย สุดท้ายคือการพยายามทำให้พื้นที่ต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ และเมืองใหม่ ๆ กลายเป็นพื้นที่สีเขียว
อย่างแรกคือปลดล็อกข้อมูลดูแลมีพื้นที่อยู่ตรงไหนบ้าง ปลดล็อกที่ดินโดยพื้นที่ของรัฐพัฒนาโดยรัฐ พื้นที่ของรัฐพัฒนาโดยเอกชน และพื้นที่เอกชน พัฒนาโดยรัฐ การปลดล็อกทุน อาจจะมีการระดมทุนกัน ด้วยการเชื่อมโยงทรัพยากร การปลดล็อกความรู้ ด้วยการขยายข้อมูลองค์ความรู้ในการพัฒนาเมืองออกไปในวงกว้าง การปลดล็อกบุคลากร เช่น การอบรมเจข้าหน้าที่รัฐ อบรมเยาวชน อบรมเอกชน อบรมชุมชน การปลดล็อกการสื่อสารเพื่อเปลี่ยนความคิดแบบเดิม ๆ ด้วยการสื่อสาร สร้างการมีส่วนร่วมให้เกิดความเข้าใจในเป้าหมายเดียวกัน เราพยายามทำให้มันเป็นสานพานการผลิตพื้นที่สีเขียวอย่างมีคุณภาพ เราปลดล็อกวิธีการ จากการอบรมสู่การพัฒนาแบบ การเชื่อมโยงทรัพยากร การทำต้นแบบการใช้งานพื้นที่ การก่อสร้างพื้นที่กายภาพ และการติดตามประเมินผล
“เป้าหมายปลายทางไม่ใช่การผลิตพื้นที่เท่านั้น แต่คือการผลิตระบบนิเวศ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ถ้าเราสร้างได้สำเร็จก็จะเกิดการสร้างรายได้ โอกาสทางธุรกิจ ต้องไม่มองว่าการทำพื้นที่สีเขียวคืองานการกุศล คือหน้าที่ของรัฐ แต่มันคือโอกาสของเมือง หากเราทำให้เกิดระบบนิเวศนี้เมื่อไหร่จะทำให้เกิดความยั่งยืน และเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน สิ่งสำคัญคือเราพบว่าบล็อกที่เป็นอุปสรรคในทางนโยบายคือ เรื่องหลักคิด mind set ที่ยังคิดว่าเป็นงานการกุศล ไม่ใช่โอกาสทางธุรกิจทำให้มันไม่มีพลังในการขับเคลื่อน และถ้าผู้นำยังมองไม่เห็นในส่วนนี้ ไม่เห็นว่าพื้นที่สีเขียวสร้างเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนเมืองได้ ก็จะไม่ถูกปลดล็อก แต่ถ้ามีการเห็นความสำคัญเรื่องนี้ ก็จะเกิดประโยชน์ในทุกมิติ สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และหากว่าเกิดระบบขึ้นแล้ว แม้ว่าจะเปลี่ยนผู้บริหารเมืองอย่างไร แต่การขับเคลื่อนเมืองก็จะดำเนินต่อไปได้”
พันธิตรา สินพิบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาเครือข่ายพื้นที่สร้างสรรค์ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) กล่าวในหัวข้อ “บทบาทพื้นที่สาธารณะ ต่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของเมือง” ว่า พื้นที่สร้างสรรค์คือพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์จากความคิดสร้างสรรค์ จากระบบนิเวศสร้างสรรค์ โดยใช้กลไกความสร้างสรรค์เพิ่มขีดจำกัดในพื้นที่นั้น ส่วนเศรษฐกิจสร้างสรรค์คือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นสินทรัพย์ เทคโนโลยี นวัตกรรม สำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์เรามีเป้าหมายหลัก ๆ คือการพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งมิติเศรษฐกิจ และสังคม คือ เมืองน่าอยู่ พื้นที่น่าลงทุน และน่าท่องเที่ยว ปัจจุบันเรามีย่านสร้างสรรค์ 33 พื้นที่ ปัจจัยเริ่มต้นของการทำงาน หรือเครือข่ายพื้นที่สร้างสรรค์ (CDN) เมื่อศึกษาข้อมูล ศึกษาพื้นที่ เพื่อสร้างโอกาสให้กับเมืองให้ได้ โดยวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็ง แผนพัฒนาเมือง คนขับเคลื่อนเมือง สินทรัพย์ต่าง ๆ สาธารณูปโภค ธุรกิจสร้างสรรค์ การมีพื้นที่สาธารณะ ที่จะรองรับการรวมตัวและทำกิจกรรมสร้างสรรค์
“บทบาทการขับเคลื่อนพื้นที่สร้างสรรค์ เราพบว่าอาคารและพื้นที่เก่าของเมืองเป็นต้นทุนสำคัญ เราสร้างกิจกรรมบอกเล่าเรื่องราวของพื้นที่ เช่น เมืองเก่าน่าน ตลาดเก่าเมืองพะเยา ในเรื่องการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของพื้นที่สาธารณะเราก็พยายามสร้างพื้นที่ สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ เฟ้นหาโจทย์ จัดงานทดสอบ จัดกิจกรรมเมืองเพื่อศึกษาข้อมูลความต้องการเชิงลึกจากนั้นก็จะมีการปรับปรุงพื้นที่เพื่อรองรับต่อไป เช่น พื้นที่ริมทาง ป้ายรถเมล์ เราทำงานร่วมกับหลายภาคส่วน เพื่อร่วมขับเคลื่อน รวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการเชื่อมโยงย่านตรอกซอกซอยต่าง ๆ ช่วยสร้างศิลปะชุมชน พาคนเข้าไปยังจุดที่ไม่เคยมี เช่น พื้นที่กลางธงชัย สกลจังซั่น สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจหมุนเวียนจำนวนมาก เพื่อกระตุ้นเมือง ตรงไหนซบเซาก็พยายามหากิจกรรมเข้าไปต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็พยายามหาหมุดหมายใหม่ ๆ ให้กับเมือง เช่น ย่านหัวลำโพง ประปาแม้นศรี”
ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในหัวข้อ “พื้นที่สาธารณะ กับโอกาสเชิงคุณภาพชีวิตเมือง” ว่า ปัจจุบัน กทม. มีการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานโดยเริ่มจากการปรับบทบาททีมงานข้าราชการ กทม.และข้าราชการการเมือง สร้างความร่วมมือ เปิดพื้นที่ และปรับปรุงทางกายภาพ อย่างแรกเลยคือภาครัฐต้องทำหน้าที่เป็นผู้ให้การสนับสนุน ไม่ว่างานนั้นจะเป็นใครจัด กทม.อาจจะไม่ต้องเป็นคนจัดก็ได้ อาจจะเป็นคนให้ใช้สถานที่ ทำหน้าที่อำนวยความสะดวก และพร้อมรวมมือกับผู้คนมากขึ้น หลายเรื่องกทม. อาจจะไม่ได้เชี่ยวชาญ ดังนั้นจึงทำงานความร่วมมือกับ 4 เกรียวคือ กทม. ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม จากเดิมที่อาจจะเป็นแค่ผู้ตัดสินใจอนุญาติ ก็อาจต้องกลายเป็นผู้ขับเคลื่อนงานนั้นด้วย ในเรื่องของการเปิดพื้นที่และอำนวยความสะดวกให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น มีกลุ่มหลายกลุ่มต้องการพื้นที่สาธารณะ เช่น เราเปิดพื้นที่สวัสดิการให้คนไร้บ้าน พื้นที่สวัสดิการเพื่อคนจนเมือง อย่างน้อยคือมีที่ซักผ้า ห้องอาบน้ำ มากกว่านั้นคือพื้นที่สาธารณะสำหรับจัดกิจกรรม เรามีเทศกาล 12 เดือน ที่เคยผ่านมา และมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่พยายามผลักดันมากขึ้น รวมถึงความพยายามรณรงค์ให้เกิดกิจกรรมเปิดหมวกในที่สาธารณะ เพื่อเปิดโอกาสให้กับศิลปินในเมือง มีแผนจะทำ bangkok street performer มีกระบวนการคัดเลือกคนที่จะมาโชว์ ตอนนี้กำลังผลักดันอยู่ หรือในเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เราก็มี bangkok design week แม้ไม่ใช่ผู้จัดโดยตรงแต่ให้ความสะดวกในการใช้พื้นที่ สุดท้ายคือการปรับปรุงกายภาพ ทั้งสวนสาธารณะ หรือสถานที่ของรัฐต่าง ๆ ซึ่งอาจจะไม่มีระบบการรองรับที่ดีมากนัก ก็จะพยายามทำให้พร้อมต่อการใช้งาน และเป็นพื้นที่อเนกประสงค์มากขึ้น เช่น ลุมพินีสถาน มีอาคารเก่า เราก็จะปรับปรุง การปรับปรุงลานกีฬา ซึ่งมีอยู่นับพันแห่งแต่ไม่ได้ปรับปรุงมานานมากแล้ว เพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนเส้นเลือดฝอย หรือแม้แต่โรงยาสูบเก่าของสวนเบญจกิติต่อไปก็จะปรับปรุงเป็นสนามเด็กเล่นเป็นลานกีฬาด้วย
สามารถชมรายการย้อนหลังได้ที่ UNLOCK CITY POTENTIAL : โอกาสของพื้นที่ในการพัฒนาเมือง และการสร้างอนาคตของเมือง