อุบัติเหตุทางการเมืองหลังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุให้ พรรคก้าวไกล ถูกยุบ และในอีกกรณีที่มีผลให้ เศรษฐา ทวีสิน ต้องพ้นเก้าอี้นายกรัฐมนตรี เมื่อกระดานการเมืองถูกล้ม หมากตัวใหม่จึงเข้ามาลงสนามแทน จนประเทศไทยได้นายกรัฐมนตรี คนที่ 31 ‘แพทองธาร ชินวัตร’
อย่างที่ทราบกัน นายกฯ อุ๊งอิ๊ง มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของผู้นำประเทศไทย ถือว่าสูสีหากต้องขับเคี่ยวกับทางฝั่งฝ่ายค้านภายใต้พรรคใหม่ อย่าง พรรคประชาชน ที่มี ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ เป็นหัวหน้าพรรค และเป็นว่าที่ผู้นำฝ่ายค้าน นี่จึงเป็นคู่ต่อกรทางการเมืองเลือดใหม่นับจากนี้ไปจนถึงการเลือกตั้งในปี 2570
หากไล่ย้อนดูอายุของผู้นำของไทย ตั้งแต่ยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 พบว่า เมืองไทยเปลี่ยนมือผู้นำมาแล้ว 6 Generations และนี่เป็นครั้งแรกที่คน Generation Y (Gen Y) อย่าง นายกฯ อุ๊งอิ๊ง และ สส. เท้ง ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำทางการเมือง ซึ่งอายุของทั้งคู่ เป็นสัดส่วนอายุที่น้อยกว่าประชากรคนไทยครึ่งประเทศอีกด้วย
หรือนี่คือปรากฏการณ์ที่อาจกลายเป็น บรรทัดฐานใหม่ ทางการเมือง กับความพยายามดันคนรุ่นใหม่เข้ามาคุมบังเหียนมากขึ้น ? และคนรุ่นใหม่ที่ว่านั้น ใหม่ จริงหรือไม่ ?
The Active ชวนสำรวจ Data อายุของผู้นำทางการเมืองของไทย ไปพร้อมกับบทวิเคราะห์ทางการเมืองของ ปุรวิชญ์ วัฒนสุข คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้นำทางการเมืองทั้ง 6 Generations: เริ่มเป็นนายกฯ กันอายุเท่าไร ?
ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 พบว่า ในยุคนั้น บุคคลที่ขึ้นมามีบทบาททางการเมืองล้วนแล้วแต่เป็น ‘คนรุ่นใหม่’ ที่มีความคิดใหม่ มีความฝันใหม่ ๆ ต่อสังคม อย่าง ปรีดี พนมยงค์, ควง อภัยวงศ์, ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รวมถึง แปลก ขีตตะสังคะ (จอมพล ป. พิบูลสงคราม) หนึ่งในคณะราษฎร ก็มีอายุเพียง 30 ต้น ๆ เท่านั้น หลังจากก่อการปฏิวัติสำเร็จ และได้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทยในช่วงอายุ 40 ปี เป็นภาพสะท้อนถึงความต้องการเปลี่ยนสู่รัฐสมัยใหม่ของราษฎรไทย
ภายหลังปี 2490 จนถึง ปี 2535 เมืองไทยเริ่มเข้าสู่เหตุการณ์ไม่สงบทางการเมืองมากขึ้นเรื่อย ๆ กลุ่มทหารเข้ามาแทรกแซงและยึดอำนาจอธิปไตย ทำการฉีกและเขียนรัฐธรรมนูญในนามคณะรัฐประหาร ในช่วงสมัยดังกล่าว มีจุดที่น่าสังเกตคือ ค่าเฉลี่ยอายุของนายกฯ มีแนวโน้มสูงขึ้น เหตุเพราะหัวหน้าคณะรัฐประหารล้วนเป็น นายพล ทหารชั้นผู้ใหญ่ ที่ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่น Greatest Generation เมืองไทยจึงอยู่ภายใต้การบริหารของประมุขแห่งกองทัพ ที่มีอายุมากถึง 50 – 70 ปี
ยุคร่วมสมัยตั้งแต่ ปี 2535 เป็นต้นมา อายุของผู้นำไทยทั้ง นายกรัฐมนตรี และผู้นำฝ่ายค้านในรัฐสภา เริ่มกระจายตัวในแต่ละรุ่นและมีความหลากหลายมากขึ้น มีผู้นำจากทั้ง Silent Generation อย่าง ชวน หลีกภัย และ ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นต้น
ขณะที่คนรุ่น Baby Boomer เข้ามามีบทบาทมากขึ้นอย่าง ทักษิณ ชินวัตร, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยเช่นกัน รวมไปถึงคน Generation X อย่าง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ ชัยธวัช ตุลาธน
ล่าสุด แพทองธาร ชินวัตร ก็ได้รับเลือกเป็นนายกฯ จาก Generation Y คนแรกในฐานะตัวแทนของคนรุ่นใหม่ ขณะที่คน Generation Z แม้จะเลือกตั้งได้แล้ว แต่ถ้าอ้างอิงตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 2560 คนรุ่นนี้จะถึงเกณฑ์ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้เร็วที่สุดในปี 2575 (คนที่เกิดปี 2540 มีอายุครบ 35 ปี)
อย่างไรก็ตาม อ.ปุรวิชญ์ ให้ความเห็นว่า ความเป็นคนรุ่นใหม่หรือรุ่นเก่าไม่ได้ยึดเอา ‘ตัวเลขอายุ’ เป็นปัจจัยหลัก แต่กำหนดด้วย ‘ความคิด’ หรือ ‘ไอเดีย’ ที่มีต่อประเด็นทางสังคมและการเมือง กล่าวคือ แม้เป็นคนอายุมาก ก็ถือว่าเป็นคนรุ่นใหม่ได้ หากมีใจใฝ่คุณค่าของโลกสมัยใหม่ เช่น ความเสมอภาคเท่าเทียม, ความเป็นพลเมืองโลก เป็นต้น
ในทางกลับกัน แม้เป็นคนรุ่นใหม่ แต่ยังยึดติดอยู่ในระบบการเมืองมีที่มีแนวความคิดและการทำงานแบบอนุรักษ์นิยม ก็ไม่อาจพูดได้ว่าเขาเป็นคนรุ่นใหม่ 100%
“เรามักมีสมมติฐานว่าคนรุ่นใหม่มักมีแนวคิดที่เปิดกว้างต่อความหลากหลาย แต่มันไม่เสมอไป เพราะคนรุ่นใหม่ที่เป็นอนุรักษ์นิยมก็มี ฉะนั้น สนามการเมืองต่อจากนี้ จะเป็นสนามที่แข่งขันกันเรื่องของ ‘ไอเดีย’ และ ‘ความสดใหม่’ เพราะแค่ ‘อายุ’ อย่างเดียวไม่พอ”
ปุรวิชญ์ วัฒนสุข
นายกฯ คน(รุ่น)ใหม่ ในวันที่สังคมไทยแก่ลงอย่างรวดเร็ว
ข้อมูลจาก องค์การสหประชาชาติ, World Population Prospects ที่เก็บข้อมูลประชากรไทยตั้งแต่ ปี 2493 – 2566 ได้คาดการณ์ ‘อายุมัธยฐานประชากรไทย’ ในปี 2567 ว่า จะอยู่ที่ 40.1 ปี กล่าวคือ ถ้านำประชากรทั้งประเทศไทยมายืนเรียงอายุจากน้อยไปหามาก คนที่ยืนอยู่ตรงกลางแถว จะมีอายุอยู่ที่ 40 ปี ซึ่งแปลผลได้ว่า ประเทศไทยเป็นประชากรสูงอายุ โดยที่ผ่านมาประเทศไทยมีค่าอายุมัธยฐาน ดังนี้
- ปี 2493 – 2525: ประชากรไทย มีอายุมัธยฐานต่ำกว่า 20 ปี ถือว่าเป็น “ประชากรวัยเยาว์” (Young population)
- ปี 2526 – 2545: ประชากรไทย มีอายุมัธยฐานระหว่าง 20 – 29 ปี ถือว่าเป็น “ประชากรวัยกลาง” (Median aged population)
- ปี 2546 เป็นต้นมา: ประชากรไทย มีอายุมัธยฐาน 30 ปีขึ้นไป ถือว่าเป็น “ประชากรสูงอายุ” (Aged population) และทะลุหลัก 40 ปี ในปี 2567 นี้เอง
แม้จำนวนประชากรผู้สูงวัยจะพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่พื้นที่ทางการเมืองเริ่มผลัดใบ และแทนที่ด้วยคนรุ่นใหม่มากขึ้น ทั้งในระดับ สส. ไปจนถึงระดับรัฐมนตรี แล้วเช่นนี้การเมืองเรื่องของนโยบายจะสอดคล้องกับกลุ่มคนส่วนใหญ่ในชาติหรือไม่?
อ.ปุรวิชญ์ ให้ความเห็นต่อประเด็นนี้ ว่า อายุหรือวัยวุฒิไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ แต่อยู่ที่ภาวะการเป็นผู้นำต่างหาก ทุกวันนี้มีวิกฤตใหม่เกิดขึ้นถี่ และรุนแรงมากขึ้น ทั้งโรคอุบัติใหม่ ภัยธรรมชาติ ตลอดจนภัยสงคราม ดังนั้นผู้นำประเทศต้องมีความเป็นผู้นำ ยืดหยุ่น รับมือได้ไว มองการณ์ไกล และโอบรับความแตกต่างหลากหลาย เพื่อนำพาคนทุกวัยผ่านพ้นวิกฤตไปได้
“การสร้างนโยบายไม่ใช่เรื่องของผู้นำคนเดียว แต่เป็นเรื่องของทั้งทีมผู้นำ ดังนั้น แม้ผู้นำจะอายุน้อยแต่เสียงไม่ดังพอที่ทีมซึ่งเป็นคนความคิดเก่าจะรับฟัง อย่างไรเสีย นโยบายแบบคนรุ่นใหม่ก็คงไม่เกิดขึ้น การเปลี่ยนแปลงก็คงไม่เกิดขึ้น”
ปุรวิชญ์ วัฒนสุข
ขณะที่ แพทองธาร เป็นนายกฯ คนแรกที่มีอายุน้อยกว่าค่ามัธยฐาน ซึ่งทัศนะของ อ.ปุรวิชญ์ เห็นว่า เธอจะเจอกับแรงกดดันรอบด้าน เพราะเธอต้องแบกรับความหวังของคนทุกช่วงวัย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่คาดหวังว่าเธอจะเป็นตัวแทนให้กับคนรุ่นราวคราวเดียวกันได้
แต่ในทางกลับกัน เธอยังแวดล้อมไปด้วยคณะทำงานของพรรคเพื่อไทยที่เป็นคนรุ่นเก่า ยังอยู่ในระบบการเมืองแบบเก่า โดยเฉพาะสถานการณ์ของรัฐบาลผสมที่อยู่ร่วมกันได้ด้วยโควตาแบ่งเค้กแต่ละกระทรวง
อายุ 18 ปีเลือกตั้งได้ แต่จะเป็น ‘รัฐมนตรี’ ทำไม ? ต้องรอ 35 ปี ?
ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 20 ฉบับ แต่ละฉบับก็กำหนดอายุขั้นต่ำของสิทธิทางการเมืองต่าง ๆ เช่น สิทธิการเลือกตั้ง, สิทธิในการลงสมัคร สส., สว., ตลอดจนการเป็นรัฐมนตรี
The Active รวบรวมข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญทั้ง 20 ฉบับ ว่า ระบุอายุขั้นต่ำไว้อย่างไรบ้าง ? พบว่า บางฉบับก็ไม่ได้กำหนดเกณฑ์อายุขั้นต่ำ ซึ่งเป็นฉบับที่ถูกเขียนขึ้นโดยคณะรัฐประหาร (ส่วนใหญ่คณะรัฐประหารจะตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติขึ้นมาทำหน้าที่แทนรัฐสภาอยู่แล้ว) และยังพบว่า อายุขั้นต่ำสู่การเป็นรัฐมนตรีมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ
รัฐธรรมนูญฉบับ ปี 2560 กำหนดให้คนไทยสามารถมีสิทธิ์เลือกตั้งได้ 18 ปี ลงสมัคร สส. ได้อายุ 25 ปี เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีได้อายุ 35 ปี และสามารถลงสมัคร สว. ได้อายุ 40 ปี จะเห็นว่า ด้วยเกณฑ์อายุเหล่านี้ คน Generation Z ซึ่งมีสิทธิ์เลือกตั้งแล้วจะยังไม่มีสิทธิ์เป็นรัฐมนตรีจนกว่าอายุ 35 ปี (อย่างเร็วที่สุดในปี 2575) แม้ว่าครั้งหนึ่ง รัฐธรรมนูญฉบับปี 2517 และ 2521 เคยอนุญาตให้คนไทยอายุ 25 ปี ก็สามารถขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีได้
สังเกตได้ว่า ประเทศไทยเพิ่งมีนายกรัฐมนตรีและผู้นำฝ่ายค้านคนใหม่ มีอายุที่เลยเส้นขั้นต่ำในการเป็นรัฐมนตรีไปเพียงนิดเดียว (แพทองธาร อายุ 38 ปี, ณัฐพงษ์ อายุ 37 ปี) และเส้นอายุมัธยฐาน ยังย้ำว่าทั้ง 2 คน มีอายุที่น้อยกว่าคนครึ่งประเทศ และในอนาคตช่องว่างระหว่างเส้นอายุมัธยฐาน กับ เส้นอายุขั้นต่ำ ในการเป็นรัฐมนตรีจะห่างมากขึ้น
กล่าวคือ ความเป็นไปได้ที่คนไทยจะได้รัฐมนตรีที่เยาว์วัย จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ (อ้างอิงตามการประมาณการขององค์การสหประชาชาติที่คาดการณ์ว่า อายุมัธยฐานของคนไทยจะอยู่ที่ 50 ปี ในปี พ.ศ. 2600)
อ.ปุรวิชญ์ ให้ความเห็นว่า บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเหล่านี้คือการคัดลอกเนื้อความจากฉบับเก่า ส่งต่อมาเรื่อย ๆ แต่การกำหนดเกณฑ์อายุส่วนหนึ่ง ก็เป็นเพราะสังคมยังเชื่อใน ‘วัยวุฒิ’ เชื่อว่าการทำงานที่มีความรับผิดชอบสูงอย่างตำแหน่งทางการเมือง ต้องผ่านโลกและมีวุฒิภาวะมาพอสมควร ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่จำเป็น
ขณะที่ต่างประเทศ อย่าง สหราชอาณาจักร และ ฝรั่งเศส ก็สามารถมีสิทธิ์เลือกตั้ง และลงรับเลือกตั้งได้พร้อมกันที่อายุ 18 ปี และถ้าได้รับเลือกเป็น สส. ก็จะมีสิทธิได้รับเลือกเป็นรัฐมนตรีด้วยเช่นกัน
อ.ปุรวิชญ์ ยังเสริมว่า ประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยที่ผ่านมา สะท้อนว่า ระบบวัยวุฒิ ไม่ได้การันตีว่าคนอายุมากจะทำงานได้อย่างมีวุฒิภาวะเสมอไป โดยเฉพาะโลกยุคใหม่ที่ต้องอาศัยการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ เน้นพึ่งพาการมีส่วนร่วมจากคนทุกช่วงวัย ณ วันนี้ จึงไม่แปลกที่สังคมจะเริ่มตั้งคำถามว่า “ทำไมจะเป็นรัฐมนตรีต้องรออายุถึง 35 ปี ?” “ทำไมถึงเป็น สส. ตั้งแต่อายุ 18 ปีไม่ได้ ?” และคำถามเหล่านี้จะเป็นเชื้อไฟในการถกเถียงถึงความเหมาะสมของกฎหมาย แน่นอนว่าอาจไม่ได้เกิดการแก้ไขในเร็ว ๆ นี้ แต่สังคมก็ได้เริ่มถกเถียงถึงประเด็นเหล่านี้แล้ว
“การกำหนดอายุขั้นต่ำไม่ใช่เรื่องแปลก ในต่างประเทศก็มี เพียงแต่การร่างรัฐธรรมนูญของไทยส่วนใหญ่มันคือการ ‘ลอกกันมา’ มันไม่ได้มีการถกเถียงอย่างจริงจังว่าเท่าไหร่จึงเหมาะสม ? หลายประเทศใกล้ไทยอย่างสิงค์โปร์ มาเลเซีย คนอายุ 25 ปีก็ขึ้นเป็นรัฐมนตรีได้แล้ว และทำไมชาติเราถึงเป็นแบบนั้นไม่ได้ คนก็เริ่มตั้งคำถามมากขึ้น”
ปุรวิชญ์ วัฒนสุข
บทส่งท้าย: หรือนี่จะเป็นบรรทัดฐานใหม่ทางการเมือง ?
ถึงตรงนี้สิ่งที่ อ.ปุรวิชญ์ ทิ้งท้ายคือ ตั้งแต่พรรคเพื่อไทยได้ แพทองธาร เข้ามาฟอร์มทีมคนรุ่นใหม่ภายในพรรค ก็เห็นความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการสื่อสารทางการเมือง สังเกตง่าย ๆ จากการอภิปรายของ สส. ในสภา เริ่มมีการนำ ‘ข้อมูล’ มาใช้ถกเถียง และโน้มน้าวพี่น้องประชาชนมากขึ้น จากแต่ก่อนที่จะเน้นใช้ฝีปากสด ๆ ในการอภิปราย
แม้กระทั่งสไลด์นำเสนอ ยังมีการกำหนดธีม และรูปแบบที่เหมือนกันทั้งพรรค ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่เป็นวิธีการสื่อสารทางการเมืองตั้งแต่ยุคพรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล มาจนถึงพรรคประชาชน
ปรากฏการณ์นี้คล้ายคลึงกับยุคสมัยรัฐบาลไทยรักไทย ภายใต้การนำของทักษิณ นำเข้านวัตกรรมทางการเมืองที่เรียกว่า ‘นโยบาย’ และเน้นสื่อสารเชิงการตลาด ปฏิรูปให้พรรคการเมืองเป็นผู้ผลิตสินค้า (นโยบาย) และให้ประชาชนเป็นผู้เลือกซื้อ ทำให้หลังจากนั้นทุกพรรคการเมืองต้องขบคิดกันเรื่องวิธีสื่อสารเชิงนโยบายมากขึ้น
สนามการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ในปี 2570 จะเป็นบททดสอบพรรคการเมืองอีกครั้ง เมื่อประชาชนมองหาการเมืองที่ขับเคลื่อนด้วย ข้อมูล ประกอบกับการนำเสนอ นโยบาย ที่ยิงตรงไปยังทุกกลุ่มเป้าหมาย เหล่านี้เป็นวัฒนธรรมการเมืองใหม่ ที่ทุกพรรคต้องแข่งกันปรับตัว
ดังนั้น การนำเสนอภาพของ ‘คนที่มีอายุน้อย’ ขึ้นเป็นตัวแทนของพรรค อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายในการซื้อใจคน เพราะไม่ใช่แค่ ‘ไอเดีย’ ที่สดใหม่เท่านั้น ถ้าพรรคการเมืองไม่ปรับตัว ย่อมมีความเสี่ยงที่พรรคจะหดตัว และสูญพันธ์ุได้ในอนาคต