ภาคประชาสังคม ชี้ กลไกสภายังไม่เท่าทันสถานการณ์สังคม ด้าน iLaw จับตาร่าง รธน. ฉบับประชาชน นับแสนรายชื่อให้จบใน 15 วัน
วันนี้ (26 ก.ย. 2563) ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน คณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร จัดเสวนา “ประชาชนกับสภา” มี นภาพร เพ็ชร์จินดา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการฯ, บารมี ชัยรัตน์ สมัชชาคนจน, ชุมาพร แต่งเกลี้ยง คณะรณรงค์สมรสเท่าเทียม และณัชปกร นามเมือง โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)
บารมี กล่าวถึงปัญหาการเข้าชื่อขอเสนอกฎหมายผ่านกลไกรัฐสภาที่มีความล่าช้า ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง บางเรื่องถูกดึงเวลาไว้ก่อน เช่น กฎหมายภาษีที่ดิน รวมถึงหากรัฐบาลเตรียมกฎหมายอีกฉบับมาประกบไม่ทัน จนถูกเลื่อนพิจารณาหรือตีตกไป รวมถึงกลไกในคณะกรรมาธิการวิสามัญ ก็มีปัญหามากจนรับเรื่องร้องเรียนไม่หมด และน้อยคนที่จะรับทราบปัญหาของแต่ละกลุ่มอย่างจริงจัง
สอดคล้องกับ ชุมาพร ที่กล่าวว่า การทำงานของกรรมาธิการฯ มีลักษณะเน้นไปที่การศึกษากฎหมายเพื่อหาแนวทางสงเคราะห์มากกว่า ไม่ได้ทำหน้าที่ผลักดันกฎหมาย ทั้งที่ประชาชนได้ศึกษามาอย่างดีแล้ว เช่น กฎหมายสมรสเท่าเทียม ทำให้คนเบื่อที่จะใช้กลไกรัฐสภาแก้ปัญหา และออกมาเคลื่อนไหวนอกสภา ต่างจากกรณีของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่เวลาจะแก้กฎหมายก็เปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเพียงแค่ 7 วัน
ด้าน ณัชปกร เสนอว่า หากสภาฯ ได้รับเรื่องร้องเรียน ควรจะมีการเผยแพร่เพื่อให้ประชาชนติดตาม และบางเรื่องประชาชนศึกษามาดีแล้ว จึงไม่ควรมาตั้งกรรมาธิการฯ เพื่อมาศึกษาอีก แต่ควรจะมีนิติกร เพื่อมาช่วยทำร่างกฎหมายให้กับประชาชน
เมื่อถามถึงความคืบหน้า วาระการบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ตัวแทนจาก iLaw กล่าวว่า อยู่ในขั้นตอนของการตรวจสอบรายชื่อ ซึ่ง ‘ชวน หลีกภัย’ ประธานสภาฯ ระดมเจ้าหน้าที่ประมาณ 100 คนมาตรวจนับรายชื่อ ซึ่งคาดว่าจะเร็วขึ้น จาก 45 วัน เหลือแค่ 15 วัน