เสวนา “พลิกพับบุด” บอกเล่าคุณค่า เปิดเบาะแสหนังสือบุดที่สูญหายจากศูนย์ศิลปวัฒนธรรมนครศรีฯ วอนขอคืน หลังรวมกลับมาเกือบ 100 เล่ม
เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2563 หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์ กรุงเทพ) จัดเสวนา “พลิกพับบุด” หนังสือบุด สมุดข่อยโบราณ และมรดกทางภูมิปัญญาอันหาค่ามิได้ พร้อมจัดแสดงหนังสือบุด หรือ สมุดข่อย สีมากถา ฉบับจังหวัดนครศรีธรรมราช เล่มที่ถูกโจรกรรมและถูกนำมาคืนโดยไม่ทราบที่มา ซึ่งมีนักประวัติศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านสมุดข่อยโบราณเข้าร่วมวงเสวนา เพื่อแสดงให้เห็นถึงคุณค่าทางภูมิปัญญาและศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ประเมินค่าไม่ได้ของหนังสือบุด และพูดคุยถึงเบาะแสการพบหนังสือบุดที่สูญหาย รวมไปถึงการขอคืนหนังสือบุดที่อยู่ในการครอบครองในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ
‘สุรเชษฐ์ แก้วสกุล’ นักวิจัยอิสระ ด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี ศิลปสถาปัตยกรรม ผู้พบเบาะแสการสูญหายของหนังสือบุด กล่าวว่า ด้วยความสนใจในการศึกษาเรื่องหนังสือบุดโบราณ จึงได้ทราบข้อมูลว่ามีหนังสือบุดจำนวนหนึ่งถูกนำไปปล่อยในตลาดมืด ซึ่งต่อมาในวันที่ 8 มิ.ย. 2563 พบว่ามีการโพสต์ในกลุ่มคนรักสมุดไทย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการแลกเปลี่ยน-พูดคุยเอกสารโบราณ ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อการซื้อขาย ได้มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ขายสำเนาของหนังสือบุดสีมากถา ซึ่งมีลักษณะเหมือนกับเล่มที่เคยพบที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช และเมื่อไปสอบถามกับทางศูนย์ฯ ก็พบว่าหนังสือหายไปจริงจากระบบประมาณ 200-300 เล่ม จากการนำไปทำสำเนา จากนั้นจึงได้พบเบาะแสอื่น ๆ ตามมาอีกหลายครั้งว่าอาจจะมีหนังสือบุดหายไปมากถึง 1,000 เล่ม ก่อนจะเริ่มติดต่อทยอยขอคืนหนังสือบุด
‘นพ.บัญชา พงษ์พานิช’ ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ กล่าวถึงความสำคัญของการจัดเสวนาในครั้งนี้ คือ ต้องการขอคืนหนังสือบุดที่สูญหายไปกลับคืนมา โดยมีการขอรับคืนผ่านศูนย์รับบิณฑบาตคืนหนังสือบุดสมุดข่อยจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งขณะนี้มีผู้ส่งหนังสือบุดคืนมาแล้วรวมเกือบ 100 เล่ม และอยู่ระหว่างติดตามเบาะแสของหนังสือบุดที่หายไป หากผู้ที่ซื้อไปอยากจะจัดส่งหนังสือบุดคืน สามารถส่งทางไปรษณีย์ได้ทันที หรือ โทร 081-304-0357
ด้าน ‘ศาสตราจารย์พิเศษศรีศักร วัลลิโภดม’ สำนักเมืองโบราณ นักวิชาการด้านโบราณคดีและมานุษยวิทยา กล่าวถึง คุณค่าความสำคัญของหนังสือบุดโบราณว่า เป็นสิ่งที่รวบรวบรากเหง้าวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งเป็นข้อมูลและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โดยส่วนใหญ่จะเป็นพระสงฆ์ ผู้สูงวัย และปราชญ์ของแต่ละท้องถิ่นจะบันทึกองค์ความรู้แขนงต่าง ๆ ลงไป ตั้งแต่หลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา, การสักยันต์, ตำรายาแผนโบราณ ฯลฯ ที่ในอดีตถูกเก็บรักษาไว้ในวัด เพราะวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน แต่ต่อมาเมื่อวัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงไป มีการศึกษาหาความรู้จากเทคโนโลยี ทำให้หนังสือบุดกลายเป็นสิ่งมีที่คุณค่าเฉพาะกับผู้ที่มีความสนใจหรือรู้ถึงที่มา ซึ่งก็มีคนบางกลุ่มที่มีความชอบในการครอบครองสิ่งของโบราณ ก็อาจจะมีการซื้อหาหนังสือบุดเหล่านี้ไปครอบครอง อย่างที่มีการประกาศขายในตลาดมืด การขอคืนหนังสือบุดครั้งนี้จึงมีความสำคัญเพราะหมายถึงการเก็บรักษามรดกทางภูมิปัญญาที่ประเมินค่าไม่ได้
ทั้งนี้ ในวันที่ 24 ก.ค. นี้ จะมีการเปิดกล่องหนังสือบุดที่ถูกส่งคืนมายังศูนย์รับบิณฑบาตคืนหนังสือบุดสมุดข่อยจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 3 กล่อง เพื่อตรวจสอบว่ามีลักษณะตรงตามหนังสือบุดที่หายไปจากศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชหรือไม่