เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ย้ำ ร่างฉบับของเครือข่ายฯครอบคลุมคดีทางการเมืองทั้งหมด ชี้คดี ม. 112 เป็นเพียงบางส่วนของกฎหมาย

13 ก.ค. 68 จากกรณีที่ พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาคนที่หนึ่งปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรก่อนที่จะมีการลงมติการพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรม จนต้องเลื่อนการลงมติไปวันที่ 16 กรกฎาคม 2568 แทน
ซึ่งในวันนั้นสภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรม-สร้างเสริมสังคมสันติสุขในวาระหนึ่ง 5 ฉบับ ได้แก่ ฉบับ สส. พรรคประชาชน /พรรคก้าวไกล(เดิมก่อนยุบพรรค) ฉบับ สส.พรรครวมไทยสร้างชาติ ฉบับ สส. พรรคครูไทยเพื่อประชาชน ฉบับสส. พรรคภูมิใจไทย และฉบับที่เสนอโดยภาคประชาชน
ณธกร นิธิศจรูญเดช เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายรณรงค์สาธารณะ แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย ระบุว่า คดีอาญา มาตรา112 มีความท้าทาย ที่จะผ่านไม่ผ่าน ที่ผ่านมามีการพูดคุยกับทางวิปรัฐบาล มีความพยายามในการผลักดันตลอดว่าร่างของประชาชน เป็นร่างกฎหมายที่มีความชอบธรรม เหตุผลแรก คือ ผ่านการเข้าชื่อจากประชาชนมากกว่า 36,000 รายชื่อ และร่างของประชาชนไม่ได้เขียนเฉพาะเจาะจง เรื่องการ นิรโทษกรรมคดี ม.112 แต่มีการเขียนระบุหลักการว่าเป็นการนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองฉะนั้นแล้วจึงมองว่าไม่มีเหตุผล ที่กฎหมายฉบับนี้จะไม่ผ่านวาระหนึ่งได้
“ การที่กฎหมายฉบับนี้ผ่านวาระหนึ่ง ไปวาระสอง ถือเป็นโอกาสที่ดีด้วยซ้ำที่จะเกิดการถกเถียงเรื่องของการรวมคดีใดบ้าง เพราะว่า เป็นการถกเถียงในสภาและเป็นการเปิดโอกาสให้ตัวแทนของเครือข่ายได้เข้าไปพูดในเชิงรายละเอียดมากขึ้น”
อีกทั้งยังมองว่า เป็นหมุดหมายที่ดีหากร่างกฎหมายโดยประชาชน ถูกเสนอพิจารณาอย่างเต็มที่และให้พื้นที่ในการถกเถียงกันได้อย่างมีอารยะในพื้นที่ของสภา
“ ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับประชาชนเป็นร่างที่เราคิดว่ามันครอบคลุมประชาชนทุกสี ทุกฝ่าย ซึ่งนับรวมคดีที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 2549 มาจนถึงปัจจุบัน”
ณธกร กล่าวเพิ่มเติมว่า ม.112 เป็นทั้งความท้าทาย และเป็นหมุดหมาย เนื่องจากตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมาที่มีคดีในมาตรา 112 เข้ามาเกี่ยวข้อง และปฏิเสธไม่ได้ว่ากฎหมายมาตรานี้ ถูกใช้มาเป็นหนึ่งในเครื่องมือจากความขัดแย้งทางการเมือง
พงศธรณ์ ตันเจริญ ผู้ต้องหาคดีอาญามาตรา 112 จากกรณีการชุมนุมปราศรัยหน้าที่ทำการธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรอสืบพยาน กล่าวว่า การที่ไม่มีกฎหมายนิรโทษกรรมจะทำให้มีผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งต้องติดคุกและมีคดี หากประเมินคาดว่าน่าจะมีตัวเลขของผู้ที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองไม่ต่ำกว่า 1,000 คน ห่วงอนาคต ความขัดแย้งจะไม่สามารถคลี่คลายได้
พงศธรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่ากฎหมายนิรโทษกรรมคือบันไดก้าวแรกที่นำไปสู่การพูดคุยและหาทางเดินหน้าไปต่อสำหรับภาพรวมความขัดแย้งในประเทศ ณ ขณะนี้
“จะต้องมีกฎหมายังนิรโทษกรรมและจะต้องไม่มีเงื่อนไข ณ ขณะนี้บางกลุ่มอาจจะมองว่า คดีการเมืองอื่น ๆ ได้ ยกเว้น ม.112 การวางเงื่อนไขแบบนี้อาจนำไปสู่ความขัดแย้งมากกว่านี้ ทำไมถึงยกเว้น 112 มีปัญหามากกว่าคดีอื่นอย่างไร ทั้งที่ก็เป็นคดีทางการเมืองเหมือนกัน แต่ปัญหาคือเขากำลังต่อสู้ในกระบวนการอยู่”
ขณะที่ iLAW ระบุว่า สิ่งที่ต้องติดตาม คือ ร่างเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนจะผ่านวาระหนึ่งหรือไม่ เนื่องจากเป็นร่างฉบับเดียวที่ระบุชัดเจนว่า คดีมาตรา 112 ต้องได้รับการนิรโทษกรรมทันที แม้ว่าร่างฉบับพรรคครูไทยเพื่อประชาชนและรวมไทยสร้างชาติจะไม่นิรโทษกรรมให้คดีมาตรา 112 แต่ไม่ได้ล็อคไว้ในหลักการและเหตุผล ทำให้ยังพอมีโอกาสในการเพิ่มได้เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ข้อ 120 วรรคสาม ” นอกจากนี้หากร่างภูมิใจไทยผ่านวาระหนึ่งไปพร้อมกับร่างฉบับอื่นๆและกลายเป็นร่างหลัก จะทำให้การนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 ไม่สามารถทำได้แล้ว
