นักวิจัยชี้ ปัญหาโลกร้อน กระทบกระบวนการผลิตข้าวไทย ทั้งต้นทุน การใช้น้ำมาก และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เชื่อหากไทยสนับสนุนการปลูกข้าวยั่งยืนตามมาตรฐาน SRP จะช่วยลดต้นทุนการผลิต -เพิ่มผลผลิตต่อไร่ ตอบโจทย์ BCG ของประเทศ สร้างโอกาสการแข่งขันในตลาดโลก สุดท้ายลดเงินอุดหนุนจากรัฐได้ 4-5 หมื่นล้านบาทต่อปี

วันนี้ (12 ก.ค.2568) ปัจจุบันพื้นที่เพาะปลูกครึ่งหนึ่งของไทย ใช้ปลูกข้าว ข้าวจึงมีบทบาทสำคัญมากต่อการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม แต่ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาปัญหาโลกร้อน มีผลกระทบต่อการผลิตข้าว และยังทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ต้องใช้น้ำปริมาณมาก และยังปล่อยก๊าซเรือนกระจก หากมีนวัตกรรมจะช่วยตอบโจทย์การผลิตข้าวที่ยั่งยืนได้
ข้าวไทยเผชิญปัญหาอะไรบ้าง
รองศาสตราจารย์ภูมิสิทธิ์ มหาสุวีระชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หัวหน้าโครงการประเมินค่าของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพในการพัฒนาระบบผลิตข้าวในประเทศไทย ภายใต้โครงการ The Economics of Ecosystems and Biodiversity (TEEB) For Agriculture and food ประเทศไทย กล่าวว่า การผลิตข้าวในไทยมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยมาก พื้นที่เพาะปลูกครึ่งหนึ่งของประเทศไทยถูกใช้ในการทำนาข้าว และหนึ่งในห้าของครัวเรือนไทยปลูกข้าว ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ โดยคิดเป็นประมาณหนึ่งในสี่ของการส่งออกทั่วโลก
การผลิตในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญ วิธีการผลิตข้าวแบบดั้งเดิมใช้ปริมาณน้ำชลประทานจำนวนมาก มีแนวโน้มที่จะทำให้ดินเสื่อมโทรม ปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมีความเชื่อมโยงกับการลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพ เกษตรกรและชุมชนในชนบทประสบปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการสัมผัสสารเคมีที่ใช้ในการเกษตร และการเพิ่มขึ้นของฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในอากาศจากการเผาตอซังข้าวหลังฤดูเก็บเกี่ยว

คู่แข่งข้าวไทยคือใคร
พื้นที่เกษตรไทยครึ่งหนึ่งเป็นนาข้าว แล้วเกษตรกรไทยครึ่งหนึ่งเป็นชาวนา ซึ่งปัญหาของข้าวไทยบ้านเรา เรามีต้นทุนการเพาะปลูกข้าวเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันผลผลิตต่อไร่ทรงตัวมาตลอดระยะเวลา 10 ปีแล้ว ต้นทุนที่สูงผลผลิตลด และกำไรจากการขายข้าวน้อยก็ทำให้ไทยขยับช้า หากมองในมุมความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทย ในตลาดโลกก็ลดลง อย่างคู่แข่งสำคัญประเทศอินเดียกับประเทศเวียดนาม แซงหน้าไปมาก ถ้าดูตามข้อมูลสถิติย้อนหลัง 20 ปี อัตราการเพิ่มขึ้นสำหรับผลผลิตต่อไร่ของประเทศคู่แข่ง เป็นบวกมาตลอด
“คือของเราเนี่ย ขึ้นแล้วก็นิ่ง แต่ของอินเดียของเวียดนาม ขึ้นอย่างเดียว หากมองการแข่งขันของข้าวไทยลดลงไปมาก ปัจจุบันไทยอาจจะแข่งได้โดยเฉพาะเรื่องของข้าวคุณภาพสูง เช่นข้าวหอมมะลิ แต่ก็ไว้ใจไม่ได้ เพราะว่าฝั่งเวียดนาม ฝั่งอินเดียเขาก็มีการผลิตสายพันธุ์ข้าวใหม่ๆ มาแข่งในตลาดระดับบน เหมือนกัน”
ในปัจจุบัน เรื่องสิ่งแวดล้อมก็เป็นประเด็นสำคัญ เพราะมีการเผชิญกับปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่งมาจากการเผานาข้าว เพราะฉะนั้นก็คือแหล่ง ของการเกิดมลพิษทางอากาศ ซึ่งก่อผลกระทบต่อสาธารณะ ทั้งในแง่ของฝุ่น PM2.5 การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สูง แล้วมันกลับไปกระทบชาวนาเองในระยะยาว เพราะว่าหากเผาต่อเนื่องคุณภาพดินเสีย ผลผลิตก็จะลดลง ถ้าอยากจะได้ผลผลิตเพิ่มก็ต้องอัดปุ๋ย ต้นทุนก็เพิ่มก็เป็นวังวน สุดท้ายคือถ้าเกิดเราไม่แก้ วิธีการเพาะปลูกของเราใหม่ อนาคตข้าวไทยก็จะ ค่อยค่อยแย่ลงไปเรื่อยๆ นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้น
นโยบายเป้าหมายที่ไทยกำลังจะเดินหน้า
ในปี 2019 โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) มีการทำโครงการ TEEB Agrifood project ที่วิเคราะห์ว่ากระบวนการการผลิตอาหารในภาคเกษตร นำไปสู่ ต้นทุนผลตอบแทน ที่เกิดขึ้นกับทั้งเกษตรกร และสาธารณะอย่างไรบ้าง จากการทำการเกษตรที่ต่างกัน ประเทศไทยถูกเลือกเป็นประเทศหนึ่ง ในนำร่องของเอเชีย เพราะเราเป็นผู้ผลิต และส่งออกอาหารหลัก สินค้าเกษตรของเราส่งออกเป็นอาหารหลัก เป็นถือเป็นครัวโลก
เราจึงทำโครงการเปรียบเทียบ การเพาะปลูกข้าว 3 รูปแบบ คือ ปลูกแล้วเผา ปลูกแบบออร์แกนิก และปลูกข้าวยั่งยืน ดู โปรเจ็กต์ไปจนถึงปี 2050 ว่าอันไหนสร้างประโยชน์ให้กับไทยสูง เกษตรกรได้กำไร ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากน้อยขนาดไหน ลดต้นทุนสุขภาพ ลดมลพิษทางอากาศมากน้อยขนาดไหน วัดความหลากหลายในชีวภาพออกมา ซึ่งพบว่า ข้าวแบบออร์แกนิก กับข้าวยั่งยืน ดีกว่าข้าวปัจจุบัน และข้าวยั่งยืน ทำได้ดีกว่า ข้าวออร์แกนิกไม่ใช้สารเคมีเลย ซึ่งเกษตรกรมีความเสี่ยงสูงมากกับการจัดการ แต่ข้าวยั่งยืนตามความเหมาะสมเสี่ยงน้อย ขายราคาเดิม ต้นทุนลด ถึงจะเป็นราคาตลาด เกษตรกรก็ดีขึ้นเมื่อเทียบกับข้าวปัจจุบัน แล้วเหตุผลทางด้านสิ่งแวดล้อมก็ชัดว่า ข้าวยั่งยืน ลดก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gas) ข้าวยั่งยืนตามมาตรฐาน SRP (The Sustainable Rice Platform) น่าจะเป็นทางเลือก ช่วยพัฒนาข้าวไทย

ข้าวยั่งยืนปลูกที่ไหนบ้าง
รองศาสตราจารย์ภูมิสิทธิ์ กล่าวอีกว่าผลการศึกษาในปี 2567 เริ่มต้นจากพื้นที่นำร่องในอำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น ครอบคลุม 37 หมู่บ้าน โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 249 ครัวเรือน ทำการเพาะปลูกข้าวในพื้นที่ 1,500 ไร่ ผลการวิจัยพบว่าเกษตรกรที่ปลูกข้าวยั่งยืนตามมาตรฐาน SRP (The Sustainable Rice Platform) จำแนกเป็นข้าวหอมมะลิ 105 ได้กำไรเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1,600 บาทต่อไร่ ขณะที่เกษตรกรที่ปลูกข้าวเหนียว กข6 ได้กำไรเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1,700 บาทต่อไร่ เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการปลูกแบบเดิม ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นมาจากการลดต้นทุนการผลิตข้าวต่อกิโลกรัมลงประมาณ 30% แม้ว่าต้นทุนต่อไร่จะสูงขึ้นเนื่องจากการใช้ปุ๋ยตามสูตรที่ถูกต้องและในปริมาณที่เหมาะสม แต่ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นถึง 30% ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตโดยรวมดีขึ้น เกษตรกรยังได้รับราคาสูงกว่าราคาตลาดเล็กน้อย เนื่องจากข้าวที่ผลิตได้มีคุณภาพระดับพรีเมียม
ลดต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม-สุขภาพมากน้อยแค่ไหน
การศึกษาวิเคราะห์ประโยชน์ต่อสาธารณะจากโครงการ พบว่าการห้ามเผาข้าวหลังฤดูเก็บเกี่ยว ช่วยลดมลพิษทางอากาศซึ่งนำไปสู่การลดต้นทุนการดูแลสุขภาพเฉลี่ยต่อไร่จำนวน 112 บาท เมื่อคำนวณกับพื้นที่ทั้งหมด 1,500 ไร่ ทำให้ลดต้นทุนค่ารักษาพยาบาลได้กว่า 168,000 บาทต่อปี นอกจากนั้นการผลิตข้าวด้วยวิธี SRP ช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นมูลค่า 974 บาทต่อไร่ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย BCG (Bio-Circular-Green Economy) ของประเทศ โดยโครงการนี้สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการปลูกข้าวได้ 20-30% นอกจากนี้ยังคาดการณ์ว่าจะช่วยลดการพึ่งพิงเงินอุดหนุนจากภาครัฐที่ใช้ไปกับเกษตรกรปลูกข้าวปีละ 40,000-50,000 ล้านบาท หากเกษตรกรสามารถสร้างกำไรจากการปลูกข้าวได้ด้วยตนเอง
สำหรับกระบวนการทำงานและการขยายผลภายใต้โครงการฯมีดังนี้ คือ เริ่มจากการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานเกษตรจังหวัดขอนแก่นและกรมชลประทาน เพื่อคัดเลือกพื้นที่และเกษตรกรที่เข้าร่วม จากนั้นสร้าง NODE (Local Lead Farmer) เพื่อทำหน้าที่ประสานงานและติดตามเกษตรกรในพื้นที่ โดยแต่ละ NODE ดูแลเกษตรกรประมาณ 10-15 คน และในปี 2568 ได้สานต่อโครงการ”Thai Rice for Life: รู้คุณค่าข้าว เพื่อชีวิต และธรรมชาติ” โดยขยายพื้นที่ต่อเนื่องในอำเภอพระยืน และมีการขยายพื้นที่ใหม่ไปยัง 3 อำเภอ ในจังหวัดขอนแก่น ได้แก่ อำเภอพล อำเภอหนองสองห้อง และอำเภอน้ำพอง โดยมีเกษตรกรเข้าร่วม 1,150 ครัวเรือน กระจายอยู่ใน 83 หมู่บ้าน ครอบคลุมพื้นที่กว่า 16,000 ไร่

เป้าหมายระยะยาวในการสร้างเกษตรกรต้นแบบ
รองศาสตราจารย์ภูมิสิทธิ์ กล่าวถึงการฝึกอบรมและผลผลิตว่าการฝึกอบรมเกษตรกรจัดเป็น 3 โมดูล ได้แก่ โมดูลที่ 1 การวางแผนการเพาะปลูก การเลือกเมล็ดพันธุ์ และการเตรียมดิน โมดูลที่ 2 การใส่ปุ๋ย การจัดการน้ำ และการจัดการศัตรูพืช และโมดูลที่ 3 การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวโดยไม่มีการเผานาข้าว สำหรับผลผลิตจากโครงการฯในปีที่ผ่านมาบริษัทเอกชนได้เข้ามารับซื้อข้าวโดยตรงจากเกษตรกรในโครงการประมาณ 170 ตัน ขณะที่ในปี 2568 เกษตรกรแจ้งความจำนงจะขายข้าวประมาณ 2,800-2,900 ตัน จากผลผลิตจริงที่คาดว่าจะได้ประมาณ 4,000 ตัน อย่างไรก็ตาม เป้าหมายระยะยาวของโครงการคือการสร้างเกษตรกรต้นแบบจำนวน 1,000 คนใน 500 หมู่บ้าน ในปี 2569 เพื่อเกษตรกรต้นแบบเหล่านี้จะเป็นฐานในการขยายกลุ่มเป้าหมายให้ได้ 10,000 ครัวเรือนในปี 2570 และ 40,000 ครัวเรือนในปี 2571 ซึ่งทำให้พื้นที่เพาะปลูกข้าวที่ใช้วิธีการเพาะปลูกแบบปัจจุบันเปลี่ยนเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าว SRP ประมาณ 400,000 ไร่ ในปี 2571

ปัจจุบันข้าว SRP มีความต้องการในตลาดต่างประเทศสูง โดยเฉพาะตลาดอเมริกาที่เป็นตลาดข้าวหอมมะลิหลักของไทยเริ่มให้ความสนใจข้าว SRP โดยมีปริมาณความต้องการในระดับหลายหมื่นตันหรืออาจถึงแสนตันต่อปี และตลาดสหภาพยุโรปที่มีความต้องการข้าวที่ได้รับรองมาตรฐาน SRP จากไทยหลายหมื่นตันต่อปี ดังนั้นการพัฒนาข้าวยั่งยืนจึงเป็นกลยุทธ์สำคัญในการรักษาความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลก โดยเฉพาะในตลาดที่มีมูลค่าสูง หากไม่ส่งเสริมให้เกิดข้าว SRP ในระยะยาว ประเทศไทยมีโอกาสเสียตลาดให้กับประเทศคู่แข่งโดยเฉพาะเวียดนามที่ประกาศผลิตข้าวคาร์บอนต่ำภายใน 3-4 ปีข้างหน้า

ปัญหาและช่องว่างของการปลูกข้าวยั่งยืน
แต่ปัญหาหลัก คือ ระบบการสนับสนุนเกษตรกรของภาครัฐยังเป็นการสนับสนุนแบบไม่มีเงื่อนไขและไม่เฉพาะเจาะจงทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ขาดแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเพาะปลูก นอกจากนั้นเงินทุนวิจัยของภาครัฐที่ไม่สูงและไม่ต่อเนื่องทำให้การทำงานวิจัยเพื่อสร้างต้นแบบและขยายผลใน Scale ขนาดใหญ่ทำได้ค่อนข้างจำกัดและไม่ต่อเนื่อง
จึงอยากให้ภาครัฐออกนโยบายสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนมาร่วมสนับสนุนโครงการ โดยสร้างแพลตฟอร์ม Cluster เชื่อมข้อมูลทั้งระบบ สร้างกลไกเชื่อมต่อตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อให้การพัฒนาข้าว SRP ของไทยมีความยั่งยืน สามารถรักษาฐานเกษตรกรที่มีอยู่ และเสริมสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในตลาดส่งออกข้าวระดับโลก
