ฝ่ายค้านชี้ จับกุม นศ. ไม่แก้ปัญหา คณาจารย์คณะสังคมวิทยาฯ มธ. เรียกร้องคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก ‘แฟลชม็อบ มศว’ ย้ำ 3 ข้อเรียกร้อง
นายกฯ สั่งตรวจสอบเบื้องหลังความเคลื่อนไหว
เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2563 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างการแถลงหลังประชุมคณะรัฐมนตรี ระบุว่าการเคลื่อนไหวของนักศึกษาต้องดูตามข้อเท็จจริงว่ามีผู้อยู่เบื้องหลังหรือละเมิดข้อกฎหมายหรือไม่ รวมไปถึงต้องมีการตรวจสอบกลไกการขับเคลื่อนและเส้นทางการเงิน แม้ว่าการชุมนุมถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานก็ตาม แต่โดยส่วนตัวไม่อยากพูดให้เกิดเป็นปัญหา ดังนั้น จึงต้องหาวิธีดำเนินการอย่างละมุนละม่อม
“การเคลื่อนไหวที่ผ่านมามันหมิ่นเหม่เกินไป ประชาชนส่วนใหญ่รับไม่ได้ ในเรื่องการจัดกิจกรรมต้องไปดูว่าใครอยู่เบื้องหลังหรือไม่ เพราะมันมีค่าใช้จ่ายจำนวนมากมาจากไหน เหล่านี้มันต้องตรวจสอบทั้งหมด เป็นเรื่องของกลไกการทำงานปกติ”
ฝ่ายค้านชี้ จับกุมนักศึกษาไม่แก้ปัญหา
ขณะเดียวกันยังมีปฏิกิริยาจาก พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ต่อกรณีกระแสการจับกุมนักศึกษา โดยได้โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ ระบุว่า การจับเยาวชนไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา แต่กลับทำให้สถานการณ์รุนแรง ขัดแย้งมากขึ้น ทางออกคือผู้มีอำนาจต้องแก้ไขระบบการเมืองที่ไม่ชอบธรรม หรือนิติรัฐที่บิดเบี้ยว และสร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อรับฟังนักศึกษา
การจับกุมเยาวชนไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาใดเลย กลับจะยิ่งทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น ขัดแย้งมากขึ้น ทางออกคือผู้มีอำนาจต้องแก้ไขระบบการเมืองที่ไม่ชอบธรรม นิติรัฐที่บิดเบี้ยว และสร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อรับฟังสิ่งที่พวกเขาคิดอย่างมีวุฒิภาวะเสียที #หยุดคุกคามประชาชน
— Pita Limjaroenrat (@Pita_MFP) August 13, 2020
เช่นเดียวกันกับ “กลุ่มแคร์” ออกแถลงการณ์สนับสนุนถึงความมีเสรีภาพต่อการแสดงออกของประชาชน และกลุ่มนักศึกษา โดยเฉพาะการเรียกร้องด้วยความบริสุทธิ์ใจ และอยู่ในขอบเขตของกฎหมาย จึงไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงกับผู้เห็นต่างในทุกรูปแบบ เพราะอาจนำประเทศไปสู่ทางตันได้ แต่ทางออกที่ดีควรรับฟังความเห็นต่าง เพื่อป้องกันเหตุการณ์ซ้ำรอยในประวัติศาสตร์
เรียกร้องคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก
คณาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้คุ้มครองสวัสดิภาพนักศึกษา ด้วยวิธีการจัดการความขัดแย้งตามหลักสันติธรรม และปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก โดยมีข้อเสนอต่อมหาวิทยาลัย นักศึกษา เจ้าหน้าที่ และสาธารณชน 4 ข้อ
- ขอให้มหาวิทยาลัยปกป้องสิทธิเสรีภาพการแสดงออกและเปิดพื้นที่การแสดงออกให้แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่ชุมนุมโดยสงบปราศจากความรุนแรง ตามกรอบของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ หากมหาวิทยาลัยละเลยหน้าที่นี้ก็จะมีส่วนผลักไสให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชนต้องเผชิญกับความเสี่ยงนอกพื้นที่สถาบันการศึกษา
- ขอให้นักศึกษายึดมั่นในหลักของสิทธิเสรีภาพ และหลีกเลี่ยงการแสดงออกด้วยถ้อยคำแสดงความเกลียดชัง (hate speech) ข้อเรียกร้องใด ๆ ของนักศึกษาก็ควรที่จะต้องวางอยู่บนหลักเหตุผลและข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา หลีกเลี่ยงถ้อยคำและท่าทีที่จะนำไปสู่การเหยียดหยาม หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายกัน
- ขอให้เจ้าหน้าที่รัฐบังคับใช้กฎหมายอย่างยุติธรรม โดยคำนึงถึงเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิส่วนบุคคลเป็นสำคัญ ดูแลความปลอดภัยให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชนที่ร่วมชุมนุม เคารพในกระบวนการยุติธรรมตามหลักสากลและมีธรรมาภิบาล ไม่คุกคามข่มขู่ ใช้อำนาจนอกระบบกฎหมายไปเพื่อปิดกั้นการแสดงออกของประชาชน คณาจารย์จะเฝ้าดู ตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐและพร้อมปกป้องสิทธิเสรีภาพของนักเรียน นักศึกษา และประชาชน ตามกำลังที่สามารถกระทำได้
- ขอให้สาธารณชนรับฟังทำความเข้าใจข้อเสนอของนักศึกษาด้วยหลักเหตุผล หากผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของผู้ชุมนุมก็ควรโต้แย้งบนหลักเหตุผลและข้อเท็จจริง โดยสันติมิใช่ด้วยอคติ ค่านิยม ความเชื่อ หรือการถูกครอบงำด้วยอารมณ์ ซึ่งย่อมไม่ส่งผลดีต่อสังคมโดยรวม
ขณะที่การจัดกิจกรรมแฟลชม็อบ ของนิสิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ “มศว คนรุ่นเปลี่ยน ให้มันเปลี่ยนที่รุ่นเรา” ณ ลานเทาแดง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ท่ามกลางฝนที่ตกหนักในช่วงเย็นวานนี้ (13 ส.ค.) โดยย้ำถึงจุดยืนของกลุ่ม มศว คนรุ่นเปลี่ยนทั้ง 3 ข้อ ที่ต้องการเรียกร้องต่อรัฐบาล ได้แก่ 1. หยุดคุกคามประชาชน 2. ยุบสภา 3. ต้องมี ส.ว. ที่มาจากประชาชน และเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ยังเชิญชวนให้ไปร่วมกันในการชุมนุมวันที่ 16 ส.ค. นี้ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยด้วย