ด้าน “กสม. ชุดปัจจุบัน” ขอผู้ชุมนุมแจ้งข้อเรียกร้องที่ชัดเจน มีเหตุผลอธิบายได้ ไม่เลื่อนลอย
ขอให้เคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
วันนี้ (21 ส.ค. 2563) อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 6 คน คือ วสันต์ พานิช, สุนี ไชยรส, นัยนา สุภาพึ่ง, นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ, เตือนใจ ดีเทศน์ และ อังคณา นีละไพจิตร ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลเคารพสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความเห็นของนักเรียน นักศึกษา และประชาชน และยุติการคุกคามทุกรูปแบบ
แถลงการณ์ระบุว่า ปัจจุบันสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองของไทยทวีความรุนแรงขึ้น เยาวชน นักเรียน นิสิตนักศึกษาที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกอย่างสันติ เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมือง แต่กลับถูกมองว่าเป็นผู้เห็นต่างจากรัฐ และถูกคุกคามในรูปแบบต่าง ๆ กัน โดยเฉพาะการถูกคุกคามโดยกฎหมาย (Judicial Harassment)
นำมาสู่ข้อเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการคุกคาม เรียกร้องให้มีแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเปิดโอกาสให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน และยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ให้ประเทศไทยคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่ข้อเรียกร้องเหล่านี้ถูกตีความจากบางกลุ่มว่าข้อเรียกร้องของเยาวชนเป็นความพยายาม “ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์” ซึ่งการตีความลักษณะนี้อาจนำไปสู่ความขัดแย้งและการใช้ความรุนแรงในสังคมไทยมากขึ้น
ในฐานะผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งติดตามสถานการณ์ทางการเมืองอย่างใกล้ชิด มีความห่วงกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน ที่อาจลุกลามบานปลายจนนำไปสู่การใช้ความรุนแรงดังที่เคยปรากฏในอดีต จึงมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง 6 ข้อ คือ 1) รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเคารพและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองและการแสดงออกอย่างสันติของ นักเรียน นิสิตนักศึกษา และประชาชน พร้อมยุติการคุกคามทุกรูปแบบ
2) รัฐบาลควรแก้ปัญหาความขัดแย้งทางความคิดของคนในชาติ โดยนำหลักรัฐศาสตร์มาเป็นแนวทางในการแก้ปัญหา มากกว่ามองว่าใครผิดใครถูกและใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อผู้เห็นต่างจากรัฐ ซึ่งอาจนำไปสู่การสร้างความขัดแย้ง ความเกลียดชัง และความไม่ไว้วางใจรัฐมากยิ่งขึ้น
3) ส่วนข้อเสนอของผู้ชุมนุมเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากการแสดงความคิดเห็นที่อยู่ในกรอบกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การกระทำอันเป็นการละเมิดหรือล้มล้างสถาบัน หากแต่เป็นการนำเสนอเพื่อตั้งคำถามที่จะนำไปสู่การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ดำรงอยู่กับสังคมไทยอย่างสง่างาม ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐบาลและภาคประชาสังคมทุกฝ่ายจึงควรรับฟังซึ่งกันและกันด้วยขันติและอหิงสาธรรม และไม่ควรนำประเด็นนี้ไปใช้ในการปลุกระดมให้คนไทยเกลียดชังกัน ซึ่งสุดท้ายอาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรงของคนในชาติ
4) รัฐบาลและรัฐสภาควรเร่งดำเนินการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ก่อนยุบสภาเพื่อให้เป็นไปตามข้อเสนอ ซึ่งสอดคล้องกับมติของพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน ทั้งนี้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ต้องเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการแสดงความคิดเห็นและตัดสินใจ และจัดตั้งสภาสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ประกอบด้วยประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองอันเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560
5) รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการควรดำเนินมาตรการที่จำเป็นในการคุ้มครองการใช้สิทธิเสรีภาพของเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กขององค์การสหประชาชาติ โดยให้เด็กมีส่วนร่วมในทุกกิจการที่ส่งผลกระทบต่อเด็ก โรงเรียนต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกทางการเมือง และรับประกันว่าจะต้องไม่มีการลงโทษเด็กด้วยความรุนแรงทุกรูปแบบ กรณีเด็กทำผิดกฎหมาย ต้องมีการประกันว่าเด็กและเยาวชนทุกคนจะได้รับความช่วยเหลืออย่างเหมาะสมตามกระบวนการกฎหมายที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน
ขอทุกฝ่ายในการชุมนุม ยึดหลักสิทธิมนุษยชน ใช้สันติวิธีแก้ไขปัญหา
แถลงการณ์ของ 6 อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ถูกเผยแพร่ หลังจากเมื่อวานนี้ (20 ส.ค.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดปัจจุบัน ได้ออก แถลงการณ์อย่างเป็นทางการ ต่อกรณีการชุมนุมและเรียกร้องทางการเมืองของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดปัจจุบันมีความเห็นและข้อเสนอดังนี้
1) ตามรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ แต่การใช้เสรีภาพดังกล่าว ย่อมอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
การใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมที่จะได้รับความคุ้มครองดังกล่าว จะต้องไม่เป็นการพูด แสดงท่าทาง หรือกระทำโดยวิธีการอื่น ที่ก้าวร้าว ดูหมิ่นเหยียดหยาม หรือจาบจ้วง หรือการใช้คำพูดที่สร้างความเกลียดชัง (Hate speech) อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้อื่น
2) ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งสามารถมีความคิดเห็นเป็นของตนเองแล้ว มีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นได้เสรีในเรื่องที่มีผลกระทบต่อเด็ก โดยความคิดเห็นดังกล่าวของเด็กจะต้องได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังตามสมควรแก่อายุและวุฒิภาวะของเด็กคนนั้น และแม้เด็กจะมีสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก แต่การใช้สิทธิดังกล่าว ก็ต้องเคารพต่อสิทธิและชื่อเสียงของบุคคลอื่นด้วย
3) ขอให้ผู้ชุมนุมแจ้งข้อเรียกร้องที่มีความชัดเจน มีเหตุผลที่อธิบายได้ ไม่เลื่อนลอย ไม่ผูกขาดความถูกต้องสมควรแต่ฝ่ายเดียว และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
4) ขอให้ผู้เข้าร่วมการชุมนุมมีมาตรการดูแลความปลอดภัยด้านสุขภาพในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพราะหากมีการติดเชื้อโรคนี้จากการชุมนุมที่ขาดความระมัดระวังและการใช้เสียงตะโกน ผลกระทบที่ตามมาคือค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และการสูญเสียความเชื่อมั่นในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของเชื้อโรคนี้ที่นานาชาติมีต่อประเทศไทย
5) ขอให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ “หลักการสำคัญสำหรับการบริหารจัดการการชุมนุมอย่างเหมาะสม 10 ประการ” (10 Principles for the proper management of assemblies) ที่จัดทำโดยผู้เสนอรายงานพิเศษแห่งองค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและการรวมกลุ่มอย่างสันติ เช่น รัฐต้องเคารพและดูแลสิทธิทุกประการของผู้ที่เข้าร่วมในการชุมนุม การจำกัดการชุมนุมโดยสันติใด ๆ ต้องเป็นไปตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล รัฐควรอำนวยความสะดวกในการใช้เสรีภาพการชุมนุมโดยสันติ และการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมจะต้องไม่แทรกแซงสิทธิในความเป็นส่วนตัวหรือสิทธิอื่น ๆ ที่กฎหมายไม่อนุญาตให้ทำได้
6) ในกรณีมีเด็กและเยาวชนเข้าร่วมการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ ขอให้เจ้าหน้าที่ของรัฐจัดให้มีพื้นที่ปลอดภัย (safety zone) เพื่อเป็นหลักประกันว่า เด็กและเยาวชนเหล่านี้จะไม่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงไม่ว่ากรณีใด ๆขอให้ผู้บริหารสถานศึกษาจัดให้โรงเรียนและมหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับนักเรียน นิสิต และนักศึกษา ในการแลกเปลี่ยนและแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ อย่างสร้างสรรค์ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย เช่น การจัดเวลาหรือพื้นที่ให้เป็นการเฉพาะในการแสดงและแลกเปลี่ยนความเห็นในบรรยากาศทางวิชาการ เป็นต้น และปฏิบัติตามข้อสั่งการขององค์กรให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
7) ขอให้ทุกฝ่ายเปิดใจรับฟังซึ่งกันและกัน เคารพต่อความคิดเห็น ความเชื่อ และศรัทธาที่แตกต่าง อันเป็นคุณค่าสำคัญของสังคมพหุวัฒนธรรมที่หล่อหลอมมาช้านาน ไม่ควรกระทำการใด ๆ ที่มีลักษณะเป็นการยั่วยุรวมถึงการใช้ความรุนแรงต่อกันทั้งทางกายและทางวาจา เช่น การดูหมิ่นเหยียดหยามกัน
8 ) ขอให้ทุกฝ่ายยึดหลักสิทธิมนุษยชนและใช้แนวทางสันติวิธีในการแก้ไขปัญหา รับฟังความคิดเห็นอันบริสุทธิ์ใจของอีกฝ่ายหนึ่ง และพิจารณาหากลไกการหารือและเจรจาหาทางออกอันเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม