เครือข่ายญาติผู้เสียหายร้องประธานรัฐสภา หลังพบ ส.ส.หลายพรรคยื่นร่างกฎหมายชื่อเดียวกัน ถือเป็นฉันทามติร่วมป้องกันการอุ้มหาย
วันนี้ (27 ส.ค. 2563) ที่อาคารรัฐสภา เครือข่ายญาติผู้เสียหาย องค์กรเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชน และตัวแทนภาคประชาชน ยื่นหนังสือต่อ นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ในฐานะผู้แทนนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ขอให้เร่งรัดการพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … ในสมัยประชุมรัฐสภานี้ เนื่องในโอกาสวันรำลึกถึงบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหาย หรือวันผู้สูญหายสากล 30 ส.ค. นี้
เครือข่ายฯ กล่าวว่า การอุ้มหายมักจะถูกเจ้าหน้าที่ใช้เป็นเครื่องมือในเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อสร้างความหวาดกลัวและความรู้สึกไม่ปลอดภัยอย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชน การจัดให้มีกฎหมายเพื่อคุ้มครองป้องกันไม่ให้ประชาชนถูกทรมานและอุ้มหาย และมีการเยียวยาเหยื่ออาชญากรรมอุ้มหาย จึงเป็นมาตรการที่จำเป็นและเร่งด่วน
ขณะนี้มีร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … ทั้งฉบับของรัฐบาลที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2563 แต่กลับมีเหตุที่ต้องนำร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจทานอีกครั้ง ทั้ง ๆ ที่นับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ร่างกฎหมายของรัฐบาลได้ผ่านการตรวจแก้ไขทั้งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนหลายรอบแล้วก็ตาม
โดย เครือข่ายฯ ทราบว่า คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎรได้นำ (ร่าง) พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … (ฉบับประชาชน) มาปรับปรุงรายมาตราสำเร็จเป็นร่างกฎหมายสมบูรณ์แล้ว ตั้งแต่วันที่ 26 มิ.ย. 2562 และได้เสนอร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ได้ร่วมกันลงชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาไปแล้ว
นอกจากนี้ พรรคการเมืองบางพรรคโดยสมาชิกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดเช่น พรรคประชาธิปัตย์และพรรคประชาชาติ ก็ได้ยื่นร่างกฎหมายชื่อเดียวกันเข้าสู่การพิจาณาของรัฐสภาด้วยเช่นกัน แสดงให้เห็นว่าเป็นฉันทามติของบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนหนึ่งที่ต้องการให้ประเทศไทยมีกฎหมาย ที่ยืนยันสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย ที่ทุกคนปลอดพ้นจากการทรมานและอุ้มหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและหลักประติบัติเยี่ยงคนชาติ (National Treatment) หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี พ.ศ. 2527 ตั้งแต่วันที่ 2 ต.ค. 2550 และได้ลงนามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ พ.ศ.2549 ตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค. 2555
ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยหลายสมัยได้จัดทำร่างกฎหมายอนุวัติการ (Implementation) หรือ การดำเนินการให้เป็นผลตามบทบัญญัติแห่งอนุสัญญา เพื่อปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ แต่จนถึงขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายอนุวัติการดังกล่าว แม้ว่าจะมีการเรียกร้องและผลักดัน ทั้งจากในประเทศและนานาชาติให้ประเทศไทยดำเนินการโดยไม่ชักช้าตลอดมาก็ตาม