ภาคประชาชน ชี้ เป็นเพียงความเห็น อยู่ที่นายกฯ ตัดสินใจ แนะ เปลี่ยนรูปแบบจัดเก็บภาษี เผย อนุ กมธ. จัดทำข้อเสนอมีเวลาอีก 30 วัน
จากกรณีที่ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เสนอความเห็นต่อ ร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ พ.ศ. … ฉบับภาคประชาชน ที่ นิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง กว่า 13,000 รายชื่อ เป็นผู้เสนอ สาระสำคัญ คือ ให้ประชาชนอายุ 60 ขึ้นไป รับบำนาญ 3,000 บาทต่อเดือน
โดย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีความเห็นว่า นายกรัฐมนตรีไม่ควรให้คำรับรองร่างดังกล่าว เนื่องจากมี พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2564 กำหนดให้ผู้สูงอายุมีสิทธิรับเบี้ยยังชีพได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในระเบียบคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ พ.ศ. 2552 และระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 อยู่แล้ว
ล่าสุด นิมิตร์ เทียนอุดม ในฐานะตัวแทนประชาชนที่ยื่นร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ระบุว่า กฎหมายฉบับนี้ เป็นการเปลี่ยนเบี้ยยังชีพให้เป็นบำนาญแห่งชาติ ซึ่งเป็นหลักประกันทางรายได้รายเดือน โดยอ้างอิงตามเส้นความยากจนที่ต้องปรับตามสภาพเศรษฐกิจ แต่เบี้ยยังชีพเป็นอัตราเงินที่แช่แข็งคงที่มานานและไม่มีฐานคิดเรื่องการปรับจำนวนที่แน่นอน เป็นการสงเคราะห์ และการบริหารจัดการก็แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
“กฤษฎีกาสามารถให้ความเห็นได้ เราน้อมรับฟัง แต่ท้ายที่สุดแล้วความเห็นนั้นต้องไม่เป็นอุปสรรคไปขัดขวางให้กฎหมายบำนาญแห่งชาติ ได้มีโอกาสไปพิจารณาต่อในสภาฯ กุญแจสำคัญที่จะให้กฎหมายนี้ได้ไปต่อหรือไม่อยู่ที่ นายกรัฐมนตรีว่าจะให้กลไกสภาได้ทำหน้าที่พิจารณา”
สำหรับการขับเคลื่อน ร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ อยู่ในการศึกษาแนวทางและจัดทำข้อเสนอ ภายใต้คณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อจัดทำแนวทางร่าง พ.ร.บ.บํานาญแห่งชาติ ภาคประชาชน ซึ่งจะต้องศึกษาและจัดทำร่างกฎหมายภายใน 30 วัน ก่อนยื่นเสนอนายกรัฐมนตรีเห็นชอบปลายเดือนกันยายนนี้ ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของสภา
โดยคณะอนุกรรมาธิการได้ศึกษาถึงความเป็นไปได้ เช่น แหล่งที่มางบประมาณ มีการเรียกหน่วยงานราชการต่าง ๆ มาสอบถามความเห็น เช่น สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่ระบุว่ามีเงินที่ได้จากการขายสลากถึง 2 แสนล้านบาท สามารถนำมาอุดหนุน ในร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ ได้
ขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ระบุว่าหากเพิ่ม VAT (Value Added Tax : ภาษีมูลค่าเพิ่ม) ให้เป็น 8 % ก็จะทำให้เงินเพิ่มอีก 2 แสนล้านบาท เพื่อนำมาอุดหนุนเป็นบำนาญแห่งชาติ
ส่วนความเห็นของภาคประชาชน คือ การเปลี่ยนรูปแบบการเก็บภาษีให้มีการกระจายภาษีแบบใหม่ เช่น ยกเลิก BOI (ลดหย่อนภาษีกับนักลงทุน) จะได้เงินกลับคืนมาถึง 2 แสนล้านบาท ขยับภาษีในการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ภาษีที่ดิน ภาษีน้ำมัน ก็จะได้เงินส่วนนี้มาเป็นแหล่งที่มาของงบประมาณใน ร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ ซึ่งจะต้องครอบคลุม ผู้สูงอายุถึง 12 ล้านคน ใช้งบประมาณกว่า 4.3 แสนล้านบาทต่อปี คิดเป็น 2.5 % ของ GDP
ซึ่งสิ่งเหล่านี้มองว่าขึ้นอยู่กับรัฐมีเจตจำนง ที่จะดำเนินนโยบายหรือไม่ เพราะเห็นได้ชัดว่ามีความเป็นไปได้ในการจัดสรรงบประมาณ และถือว่าเป็นโครงสร้างขนาดใหญ่ในการรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย