สสจ.ภูเก็ต เร่งส่งทีมประเมินความพร้อมรับ ‘ภูเก็ตโมเดล’ เตรียม ICU 20 ห้องรับผู้ป่วยหนัก พร้อมดึง อสม. ทุกตำบลร่วมทีมสอบสวนโรค
วันนี้ (31 ส.ค. 2563) นพ.ธนิศ เสริมแก้ว นายแพทย์สาธารณสุข จ.ภูเก็ต เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมหลังรัฐบาลมีมาตรการนำร่องเปิดเมืองที่จังหวัดภูเก็ต ว่ามีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน หรือ EOC ที่มีหัวหน้าหน่วยราชการช่วยกันดู ประเมินสถานการณ์ เฝ้าระวัง และออกมาตรการรองรับหากเกิดเหตุฉุกเฉิน
เพื่อเตรียมความพร้อมนำร่อง ภูเก็ตโมเดล ที่จะต้องรองรับชาวต่างชาติเข้ามากักตัวภายในจังหวัด ล่าสุดมีโรงแรมที่เข้าโครงการสถานกักกันโรคทางเลือก หรือ ALSQ มากกว่า 60 โรงแรม แต่ที่สมัครเข้ามา ปัจจุบันมี 2 โรงแรมที่ผ่านการประเมินตามเกณฑ์มาตรฐาน คือโรงแรมอนันตรา และโรงแรมตรีสราซึ่งมีห้องรวมกันทั้งหมด 75 ห้อง ขณะเดียวกันถ้าจะรับนักท่องเที่ยวเพิ่มก็จะต้องมีจำนวนห้องและโรงแรมที่ใช้เป็น ALSQเพิ่มมากขึ้น
นพ.ธนิศ ยังบอกอีกว่า จังหวัดได้ส่งทีมไปประเมินความพร้อมและตรวจสอบ แต่ปัญหาจะอยู่ที่เมื่อ ALSQ มากขึ้นก็จะต้องเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลที่จะต้องเข้าไปดูแลเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งปัจจุบันจังหวัดภูเก็ตมีโรงพยาบาลอยู่ 9 แห่ง อาจไม่เพียงพอ แต่ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายว่าจะต้องเพิ่มบุคลากรเข้ามาดูแลส่วนนี้หรือไม่
ส่วนทรัพยากรด้านสาธารณสุขโดยพื้นฐานแล้วจังหวัดภูเก็ตมีโรงพยาบาล 9 แห่ง มีห้องเตียงผู้ป่วยหนักหรือ ICU ประมาณ 20 ห้อง ประเมินคร่าว ๆ ก็จะมีเตียงรองรับผู้ป่วยโควิดทั่วไปประมาณ 400 เตียง
“โดยหากฉุกเฉินจริง ๆ ก็สามารถจัดตั้งโรงพยาบาลสนามซึ่งมีเตียงรองรับมากกว่า 100 เตียงได้ จึงไม่อยากให้ประชาชนต้องวิตกกังวลเพราะโควิดรอบก่อน ภูเก็ตมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 200 เคส สามารถดูแลและควบคุมได้เป็นอย่างดี จึงมีประสบการณ์รับมือ”
ดึง อสม. ร่วมทีมระบาดวิทยา เข้าถึงทุกครัวเรือน
นพ.ธนิศ กล่าวอีกว่า อีกมาตรการป้องกันควบคุมโรคที่สำคัญก็คือทีมสอบสวนโรค หรือทีมระบาดวิทยา ปัจจุบันจังหวัดภูเก็ตมีทีมสอบสวนโรค ประจำอยู่ทุก รพ.สต. ทั้ง 18 ตำบล ทีมประจำอำเภออีก 3 ทีม รวมทั้งทีมประจำจังหวัดอีก 1 ทีม รวมเป็น 21 ทีม มีความพร้อมรองรับการนำร่องเปิดเมืองในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งหัวใจของการควบคุมโรค ตามหลักการระบาดวิทยา คือ เมื่อมีผู้ติดเชื้อจะต้องเร่งสอบสวนโรค เปิดเผยไทม์ไลน์การติดเชื้อและการเดินทาง ว่าผู้ป่วยไปที่ไหนมาบ้าง ติดจากไปที่ไหน ไปพบใครบ้าง เพื่อตามหาผู้ใกล้ชิด ตรวจเชื้อและผู้ป่วยเชิงรุกเพื่อไม่ให้เชื้อแพร่ระบาดออกไป
ด้าน ศุภกร ชื่นรอด นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ทีมสอบสวนโรค รพ.สต.เกาะแก้ว อเมือง จ.ภูเก็ต กล่าวว่า สำหรับทีมสอบสวนโรคที่มีอยู่ทุกตำบลนั้นเตรียมความพร้อมมาก่อนที่จะเกิดโควิดแล้ว โดยเฉพาะการควบคุมโรคไข้เลือดออก ซึ่งภูเก็ตเป็นจังหวัดที่ฝนชุก ไข้เลือดออกที่ยุงลายเป็นพาหะจึงระบาดมาก โดยหากมีผู้ป่วย 1 รายเป็นไข้เลือดออก ทีมสอบสวนโรค จะลงไปตรวจสอบทันทีว่าโดนยุงที่ไหนกัด และส่งทีมเทศบาลไปฉีดยาพ่น ส่ง อสม. ลงไปให้ความรู้กับประชาชนในละแวกนั้นเพื่อกำจัดลูกน้ำยุงลายจากโมเดลดังกล่าว จากการทำงานสืบสวนโรค ทำให้เมื่อเกิดวิกฤตโควิด ก็ใช้หลักการเดียวกันในการสืบสวนโรค คือค้นหาสาเหตุและต้นตอของโรคให้เจอ เพื่อที่จะไปควบคุมโรคระบาด
“ผมที่ได้รับการอบรมงานระบาดวิทยาเพื่อที่จะมาใช้ในทีมสอบสวนโรคระดับตำบลเกาะแก้ว ก็รู้สึกว่าการสืบสวนโรค มีความสำคัญมาก ๆ ในการช่วยควบคุมโรค และหลังจากที่มีการเปิดเมือง ทีมสอบสวนโรคจะต้องทำงานหนักมากขึ้น”
ด้าน ธนวรรณ เอกทวีวัฒนเดช ประธาน อสม. หมู่ ต.เกาะแก้ว อ.เมือง จ.ภูเก็ต บอกว่า โควิด-19 รอบแรกก็ถูกสั่งให้ลงพื้นที่ไปสอบสวนโรคพร้อมกับนักระบาดวิทยา ประจำรพ.สต.โดยอาศัยความที่ว่าตนรู้จักกับชาวบ้านทุกครัวเรือนสามารถเข้าถึงได้ทุกบ้าน จึงเป็นประโยชน์ในการสอบสวนโรค
“ช่วงแรก ๆ ที่มีคนไทยกลับจากต่างประเทศ ให้กักตัวที่บ้าน จะต้องมาติดตามดูว่าบ้านไหน มีคนที่กลับมาจากต่างประเทศ บ้านไหนที่มีคนเข้าข่ายอาการกลุ่มเสี่ยง ก็ต้องรายงานกลับไปที่ รพ.สต. เพื่อเฝ้าระวัง”
นางธนวรรณ ยังบอกอีกว่า แม้จะเป็นงานจิตอาสาแต่ก็พร้อมที่จะทำงานนี้เพื่อให้ชุมชนปลอดจากผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยหากจังหวัดภูเก็ตเริ่มนำร่องเปิดประเทศจริง อสม. ก็น่าจะต้องทำงานหนักมากขึ้นเช่นกัน