คนรุ่นใหม่ กับ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ส่องข้อเสนอ พาวัฒนธรรมสร้างสรรค์ไทย ไปให้ไกลกว่าเดิม

เยาวชน คนรุ่นใหม่ ภายในงาน ‘Splash – Soft Power Forum 2025’ มอง 1 ปีผ่านไป หลายเรื่องตื่นตัว เชื่อ ศักยภาพคนไทยมีดีไม่แพ้ใคร วอนรัฐส่งเสริมถูกจุด พาคนไทยอวดฝีมือสู่สายตาชาวโลก ยกระดับงานศิลปะร่วมสมัย งานออกแบบท่าเต้น งานหนัง ซีรีส์ จริงจัง เชื่อเป็นโอกาสสำคัญ

The Active พูดคุยกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่เข้าร่วมงาน Splash – Soft Power Forum 2025 เพื่อถามถึงโอกาส ความคาดหวัง และความเปลี่ยนแปลงที่อยากเห็น ภายหลังรัฐบาลเดินหน้านโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา 

นักเต้น…ต้องการพื้นที่แสดงออก อย่าปล่อยให้อยู่แค่ใต้ดิน

ณัฐวุฒิ โปจุ้ย นักศึกษาจากวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วัย 21 ปี ที่มีความสนใจในศาสตร์การเต้น มองว่า กระแสของวงการ T-Pop กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงนี้ เช่น วง 4 – Eve มีการออกแบบท่าเต้นที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์สูงมาก จึงมองว่า ตอนนี้เด็กไทยมีไอเดียการออกแบบท่าเต้นที่ไม่แพ้ระดับโลก แต่ยังขาดพื้นที่ในการแสดงออก ที่ผ่านมามีงานใหญ่ ๆ เช่น Red Bull แต่ก็ยังไม่มีพื้นที่อื่น ๆ มากนัก วงการเต้นอาจเรียกได้ว่าเป็นกลุ่ม ‘ใต้ดิน’ 

ณัฐวุฒิ โปจุ้ย นักศึกษาจากวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ณัฐวุฒิ จึงอยากให้มีพื้นที่เรียนรู้เรื่องการเต้นอย่างจริงจังมากขึ้น ไม่ใช่แค่ชุมนุมในโรงเรียนเพื่อใช้เวลาว่างมาเต้น หรือมาซ้อมเท่านั้น อยากเห็นภาพไทยเป็นเหมือนเกาหลี ที่มีรายการ ‘Street Woman Fighter’ มีทีมคิดท่าเต้นแบบ ‘Royal Family’ ที่สร้างผลงานระดับโลกจากการออกแบบท่าเต้นให้ศิลปินที่มีชื่อเสียงมาแล้วหลายคน ซึ่งไทยยังไปไม่ถึงจุดนั้น มีเพียงทำคลิปเต้น เต้นโชว์กันเองเท่านั้น

“ศักยภาพเราพร้อมสู้กับนานาชาติอยู่แล้ว เพียงแต่ยังขาดการสนับสนุน ต่อยอด เด็กหลายคนเก่งมาก มีไอเดียเรื่องการออกแบบท่าเต้น มันยากมากกว่าที่จะท่าเต้นออกมาได้ สิ่งที่ควรส่งเสริมควรจะเป็น พื้นที่ให้เด็กได้มาแสดงตัวตน”

ณัฐวุฒิ โปจุ้ย

ธีรดนย์ ปานแดง นักเต้น ฟรีแลนซ์

สอดคล้องกับ ธีรดนย์ ปานแดง นักเต้น ฟรีแลนซ์ วัย 20 ปี ก็มองว่า การเต้นแบบ B-Boy และฟรีสไตล์ยังเป็นรูปแบบที่เฉพาะกลุ่มอยู่มาก ส่วนใหญ่แล้วการแข่งขัน Cover Dance หรือออกแบบท่าเต้นประกอบเพลง สาย Battle หรือ Freestyle Dance ยังมีไม่มาก แม้เริ่มเยอะขึ้นจากเดิม หลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริม เคยส่งคนไปแข่งบ้าง แต่ก็ยังถือว่าน้อย อยากให้มีการสนับสนุนไปต่างประเทศมากขึ้น เพราะนักเต้นไทยมีศักยภาพสู้ได้ มีคนไทยไปแข่งต่างประเทศมาแล้ว ไปเป็นกรรมการงานต่างประเทศ อีกทั้ง อยากให้รัฐบาลสนับสนุนหลักสูตรการเต้น เนื่องจากเริ่มเห็นภาพว่ามีเยาวชนเริ่มเต้นสนใจมากขึ้น

“ถ้ามีเทควันโดได้ ทำ B-Boy หรือฟรีสไตล์ให้เป็นกีฬาที่จริงจังก็น่าจะดีขึ้น ผมก็สามารถไปเป็นครูสอนเต้นให้เด็ก ๆ ได้” 

ธีรดนย์ ปานแดง

‘ศิลปะร่วมสมัย’ จุดประกาย ภายใต้แรงผลักดันของรัฐ

ธัญชนก เบญจจินดา Gallery Assistant ที่ Warin Lab Contemporary วัย 27 ปี มองว่า หลังจากรัฐบาลเริ่มผลักดันนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ วงการศิลปะเองก็ตื่นตัวขึ้น เพราะก่อนหน้านี้จุดศูนย์กลางของศิลปะร่วมสมัย จะมีเพียงหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) เท่านั้น ที่เป็นพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่มาจัดแสดง และเปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้เห็นผลงาน แต่พอมีการสนับสนุน ก็เป็นการจุดประกายให้คนในวงการมีการทบทวนตัวเองว่าอุตสาหกรรมศิลปะต้องการอะไร และอยากให้รัฐช่วยเหลือด้านใดบ้าง เช่น ในช่วงปีที่ผ่านมา มีการขอความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวงการศิลปะ ทั้งศิลปิน, คนทำ Gallery, คิวเรเตอร์ หรือ นักสะสมงานศิลปะ ทำให้มีการพูดคุยกันมากขึ้น 

ธัญชนก เบญจจินดา Gallery Assistant

ทั้งนี้ยังมีความพยายามพูดถึงการจัดตั้ง ‘สภาศิลปะ’ ซึ่งประเด็นนี้มีตัวอย่างของต่างประเทศให้เห็นแล้วว่า จะเป็นการจัดสรรงบฯ ของรัฐบาลเพื่อกระจายงบฯ ให้ใช้ยกระดับการทำงานร่วมกันภายในอุตสาหกรรม หากจัดตั้งได้จริงก็จะช่วยผลักดันได้มาก เพราะองค์กรที่มีในปัจจุบันมีเพียงสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) ซึ่งมีบทบาทคัดเลือกผลงาน และซื้อผลงานเพื่อเก็บเป็นสมบัติของชาติ และมีพิพิธภัณฑ์เพื่อให้คนทั่วไปได้เห็น Masterpiece ของแต่ละยุค 

วอนรัฐหนุนความหลากหลาย ส่งศิลปิน-ศิลปะไทย โกอินเตอร์

ธัญชนก ยังอยากเห็นความหลากหลายของงานศิลปะ ปัจจุบันคนที่ยั่งยืนอยู่เป็นศิลปินได้ ต้องเป็นงานศิลปะที่ได้รับความนิยมสูง แต่ถ้ามีงบฯ สนับสนุนศิลปินที่มีแรงสนับสนุนน้อยกว่า ก็จะเห็นความหลากหลายมากยิ่งขึ้นไปอีก เช่น ตอนนี้หลายคนชอบ Art Toys แต่คนในวงการอาจชอบรูปแบบอื่น ๆ ด้วย จึงอยากให้มีการสนับสนุนในจุดนี้ด้วย

ธัญชนก ยังมองว่า ตอนนี้ผลงานศิลปินไทยได้ไปต่างประเทศ แกลเลอรี่ไทยได้ไปจัดแสดงที่ Art Fair ระดับโลก แต่ก็ไปด้วยตัวเอง หรืองานใหญ่ ๆ ที่ไทยไม่ได้เข้าร่วม เช่น มหกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ (Venice Biennale) ที่จัดขึ้นทุก ๆ 2 ปี ณ ประเทศอิตาลี แต่ละประเทศที่เข้าร่วมจะมีพาวิเลียนเป็นของตัวเอง แต่ของไทยไม่มี ซึ่งก็อาจมองได้ว่า ไทยสนับสนุนในประเทศมากกว่า แต่เมื่อมีงบฯ จำกัด ก็อาจจะต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ ก็ควรที่จะเกิดขึ้นไปพร้อม ๆ กัน

นอกจากนี้การที่ศิลปะไทยก้าวสู่ระดับโลกไม่ใช่ว่าแค่เอาไทยไปต่างชาติ แต่เป็นการเอาต่างชาติเข้าไทยด้วย ถ้าไทยสามารถจัด Art Fair แล้วเปิดพื้นที่ให้แกลเลอรี่ต่างชาติเข้ามาจัดที่ไทย ไทยก็จะได้เห็นว่าเทรนด์โลกกำลังซื้ออะไร เหมือนการเริ่มปรับตัวให้คนไทยได้เห็นว่านี่คือสิ่งที่คนข้างนอกสนใจ จะได้มีความเชื่อมโยงและเข้าใจกัน

“ไม่ใช่แค่ว่าเราจะผลักไทยไปอย่างเดียว ซึ่งมันก็จำเป็น แต่ต้องเข้าใจได้ด้วยว่าข้างนอกไปถึงไหน คนในประเทศรู้มั้ยว่าประเทศเรามีอะไร และข้างนอกทำอะไรกันอยู่”

ธัญชนก เบญจจินดา

วงการหนัง ซีรีส์ไทย ทั่วโลกต้องรู้จักมากกว่านี้

ขณะที่ ศุภิศรา กำเนิดมณี และ โศรดา ปริญญาวิภาต นิสิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วัย 18 ปี มองว่า ในวงการภาพยนตร์ มีศิลปินดารานำซอฟต์พาวเวอร์สอดแทรกเข้าไปตัวบทด้วย เช่น ประเด็นเกี่ยวกับศาสนา วัด วัฒนธรรมของไทย 

ศุภิศรา กำเนิดมณี (ซ้าย) และ โศรดา ปริญญาวิภาต (ขวา) นิสิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

อีกทั้งเรื่องการแต่งกายที่โดดเด่นด้วย นอกจากชุดไทยแล้ว ชาวต่างชาติใส่กางเกงช้างเยอะขึ้น ต่างชาติได้เห็นศิลปวัฒนธรรมผ่านการแต่งกายของไทย แต่ทั้งคู่ก็ยังอยากให้ประชาสัมพันธ์ให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น เพื่อให้คนทั่วไปได้รับรู้ถึงวัฒนธรรมที่กำลังผลักดัน ไม่ใช่แค่องค์กรหรือสำนักงาน เพราะตอนนี้การเผยแพร่ข่าวสารดูเหมือนเน้นไปที่ความสนใจของนักท่องเที่ยวและองค์กรเป็นหลัก แต่ยังขยายไปไม่ถึงระดับชุมชนเท่าที่ควร

“อยากให้ประชาสัมพันธ์มีความน่าสนใจมากขึ้น ให้ประชาชนคนทั่วไปเห็น ไม่ใช่แค่องค์กร จะได้กว้างขวางขึ้น”

วัชรพร ลาภเอกอุดม นักเรียนโรงเรียนนวมินทราชูทิศกรุงเทพมหานคร

เช่นเดียวกับ วัชรพร ลาภเอกอุดม นักเรียนโรงเรียนนวมินทราชูทิศกรุงเทพมหานคร วัย 16 ปี มองว่า ซีรีส์วายเติบโตขึ้นมาก ๆ จึงอยากให้ทั่วโลกได้รู้วงการภาพยนตร์ไทยให้มากขึ้นกว่าทุกวันนี้

“อยากให้ภาพยนตร์ไทยโตไปในระดับ Hollywood บ้าง ให้ชาวโลกรู้จัก แบบอาหารไทย”

วัชรพร ลาภเอกอุดม

Author

Alternative Text
AUTHOR

วรัตถ์ สารบรรณ

นักศึกษา ชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาปรัชญา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาธรรมศาสตร์