‘อนุสรณ์ ธรรมใจ’ ร้องนายกฯ เร่งแก้ปัญหาธรรมาภิบาล ขอ รมว.คลัง คนใหม่กล้าตัดสินใจ แก้เศรษฐกิจองค์รวม กระจายอำนาจใช้งบฯ ลงท้องถิ่น
ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ในฐานะอดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง แสดงความกังวลต่อกรณีการลาออกของ ปรีดี ดาวฉาย หลังรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพียงไม่ถึง 1 เดือน
โดยเชื่อว่า อาจส่งผลต่อท่าทีนักลงทุน และความมั่นใจของประชาชน เนื่องจากทุกคนในประเทศ ทราบดีว่าวิกฤตโรคระบาด โควิด-19 ที่ไทยเผชิญส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจหดตัวเป็นประวัติการณ์ ความเสียหายเกิดขึ้นทั้งกับคุณภาพชีวิตประชาชน ปากท้อง รายได้ลดลง รวมถึงคนตกงานก็เพิ่มสูงขึ้น สังคมจึงจับตาการแก้ปัญหาของรัฐบาล และตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นหัวใจของทีมเศรษฐกิจ ที่ต้องกล้าตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ เช่น หากจำเป็นต้องก่อหนี้ เพื่อมาลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการจ้างงานก็ต้องทำ หรือ หากต้องตัดงบประมาณบางส่วนที่ไม่จำเป็น นำมาดูแลแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชนก็ต้องทำให้เกิดความชัดเจน
ผศ.ดร.อนุสรณ์ ยอมรับว่า การสรรหารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สำหรับธรรมเนียมปฏิบัติของรัฐบาลนี้ ชัดเจนว่าเป็นโควต้าของนายกรัฐมนตรี ที่ตัดสินใจเลือกใครมาทำหน้าที่ แต่ปัญหาเศรษฐกิจที่ถาโถมเข้ามาอย่างหนัก คนที่มาทำงานนี้ก็ต้องทำใจไว้ก่อน เพราะหากตัดสินใจรับปากมาทำแล้วก็ต้องให้สู้เต็มที่ และไม่เพียงต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ ซื่อสัตย์ สุจริตเท่านั้น แต่ด้วยวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ จำเป็นที่การแก้ปัญหาของรัฐมนตรีฯ คลัง ต้องสามารถมองในด้านเศรษฐกิจเชิงมหภาค ไม่ใช่แค่มองในเชิงจุลภาค แต่ถ้ารัฐมนตรีฯ คลัง ไม่สู้แล้ว ทุกคนก็เกิดความหวั่นไหว
“เชื่อว่าตอนนี้คงไม่มีใครอยากมาทำหน้าที่นี้ เพราะอย่างกรณีคุณปรีดี ที่ยอมเสียสละตำแหน่งในภาคธุรกิจ มาทำงานให้รัฐบาล ก็ยังต้องมาลาออกกลางคันแบบนี้ จริง ๆ ก็ต้องเคารพการตัดสินใจว่าเป็นเพราะปัญหาสุขภาพ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าเรื่องนี้สังคมจับตา และตั้งข้อสังเกต อาจมีอะไรที่มากกว่านั้น หรือจริง ๆ แล้ว เป็นเพราะความไม่สบายใจ ลำบากใจ หรือว่าพบกับปัญหาอะไรที่อาจจะขัดต่อหลักธรรมาภิบาล ถึงจะเสียสละมาทำงาน แต่เมื่อเห็นว่าไม่ถูกต้องก็พร้อมที่จะไปได้ตลอดเวลา”
อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.อนุสรณ์ ยังขอให้ นายกรัฐมนตรีเร่งเฟ้นหาตัวบุคคลที่เหมาะสมมารับตำแหน่งรัฐมนตรีฯ คลังคนใหม่โดยเร็ว เพื่อไม่ให้การแก้ไขปัญหาให้กับประเทศ และประชาชนขาดความต่อเนื่อง ที่สำคัญนายกรัฐมนตรีเอง ก็ต้องตรวจสอบระบบการทำงานของแต่ละกระทรวงจากนี้ด้วยว่า เกิดปัญหาในเรื่องระบบธรรมาภิบาลหรือไม่ ซึ่งก็ต้องทบทวนและหาแนวทางป้องกัน ที่สำคัญคือในเวลานี้วิสัยทัศน์การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ อาจทำให้มากกว่าการดำเนินการแค่เพียงส่วนกลาง แต่ควรมีแนวทางกระจายอำนาจทางการคลัง ลงสู่ท้องถิ่นให้มากที่สุด เพราะในเวลานี้ท้องถิ่นกำลังประสบปัญหาขาดแคลนงบประมาณอย่างหนัก ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่รัฐจากส่วนกลางจะทำได้ทุกเรื่องโดยไม่กระจายอำนาจ