ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก “วันหนึ่ง ยาวิชัยป้อง” ชาวบ้านแม่กวัก จ.ลำปาง ชี้ บุกรุกป่าสงวนโดยเจตนา แม้ปรากฏร่องรอยทำกินตั้งแต่ปี 2497
วันนี้ (8 ก.ย. 2563) ศาลจังหวัดลำปางนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ตามที่พนักงานอัยการจังหวัดลำปางเป็นโจทก์ยื่นอุทธรณ์ คดี นางวันหนึ่ง ยาวิชัยป้อง หรือ นางแสงเดือน ตินยอด หญิงวัย 53 ปี กับพวก ชาวบ้านแม่กวัก ต.บ้านอ้อน อ.งาว จ.ลำปาง รวม 2 คน ในข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและมีอาวุธไว้ในครอบครอง หลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง ตั้งแต่วันที่ 18 ธ.ค. 2562
คดีนี้ นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยตนเอง ตลอดจนได้ขึ้นให้ปากคำเป็นพยานฝ่ายจำเลย ชี้ว่าพื้นที่ทำกินของนางวันหนึ่ง มีร่องรอยการใช้ประโยชน์ปรากฏในภาพถ่ายทางอากาศตั้งแต่ปี 2497 จึงไม่ใช่การบุกรุกพื้นที่ใหม่
นอกจากนั้น นายวิศรุต ศรีจันทร์ กองเลขานุการขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ยังได้ให้ปากคำยืนยันว่าชุมชนบ้านแม่กวัก ได้เข้าสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาของ ขปส. ผ่านกลไกของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน แต่พนักงานอัยการได้ยื่นอุทธรณ์ จึงนำมาสู่การนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้
หลังใช้เวลาอ่านคำพิพากษากว่า 1 ชั่วโมง ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้จำคุกนางแสงเดือน กับพวกรวม 2 คน 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา ปรับ 4 แสนบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 เปอร์เซ็นต์ตั้งแต่วันที่ 6 ก.ย. 2561 ข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติโดยเจตนา และมีคำสั่งให้ออกจากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่โป่ง รื้อสิ่งปลูกสร้างและพืชผลอาสิน
สำหรับสาระสำคัญที่ทำให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษชาวบ้านทั้ง 2 คน เนื่องจากกรณีที่นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้ เป็นพยานเบิกความในทำนองว่า ตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 ซึ่งจำเลยที่หนึ่ง ถือว่าอยู่ระหว่างพิสูจน์สิทธิครอบครองเพราะพบร่องรอยการทำกินมาก่อนนั้น ศาลเห็นว่า มติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2541 และคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 นั้น ไม่ใช่เรื่องที่กำหนดให้การกระทำของจำเลยทั้งสองหรือผู้บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติรายอื่น ไม่เป็นการกระทำความผิด เพียงแต่เป็นแนวปฏิบัติในการแก้ปัญหาเท่านั้น อีกทั้ง ต้องเป็นที่ดินที่มีการครอบครองมาก่อนปี 2545 แต่จำเลยทั้งสอง ไม่เข้าเงื่อนไขดังกล่าว พยานหลักฐานจำเลยทั้งสอง จึงไม่มีน้ำหนักรับฟัง หักล้างพยานหลักฐานโจทก์
รวมทั้งเป็นกระทำโดยรู้สำนึกตลอดเวลา เพราะมีการติดป้ายประกาศห้ามตั้งแต่ตรวจยึดครั้งแรก ว่าห้ามยึดถือเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าว แต่จำเลยยังคงร่วมบุกรุกเข้ายึดครองทำประโยชน์ ถือว่าเป็นการกระทำโดยเจตนา จึงมีความผิดตามฟ้องของโจทก์
ขณะที่ทนายความฝ่ายจำเลยอยู่ระหว่างดำเนินการประสานงานกองทุนยุติธรรมจังหวัดลำปาง เพื่อยื่นขอประกันตัว ท่ามกลางบรรยากาศการเข้าให้กำลังใจของชาวบ้านกลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) จังหวัดลำปาง ทั้งนี้ ยังเปิดเผยว่าเตรียมยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ศาลชั้นต้นยกฟ้อง ชี้ เป็นพื้นที่ทำกินมาก่อนและอยู่ในพื้นที่ผ่อนผัน
สำหรับคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษายกฟ้องไปก่อนหน้านี้ สรุปได้ว่า จำเลยขาดเจตนา การเข้าไปทำกินของจำเลยมีหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศเมื่อปี 2545 อยู่ในกลุ่มประชาชนที่ได้รับการผ่อนผันตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 และพยานของรัฐทุกปากให้การว่าพื้นที่ตรงนี้มีการทำประโยชน์มาก่อนจริง เข้าหลักเกณฑ์ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิ.ย. 2541 ไม่ผิดอาญา เมื่อไม่ผิดคดีอาญา จึงไม่ต้องชำระค่าเสียหายคดีแพ่งกว่า 1 ล้านบาท ในข้อหาทำให้โลกร้อน ส่วนคดีอาวุธปืน สืบได้ว่ากระท่อมนั้นเป็นที่เปิดโล่ง ซึ่งจำเลยใช้ประโยชน์เพียงชั่วคราว มีคนผ่านไปผ่านมาตลอด ใครก็สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ และไม่มีการตรวจลายนิ้วมือ ไม่สามารถชี้ชัดว่าเป็นของจำเลยจริง ให้ยกประโยชน์ให้จำเลย
ส่วนประเด็นว่าต้องออกจากที่ดินหรือไม่ต้องมีการพิสูจน์สิทธิ์ โดยการที่จะต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างหรือออกจากพื้นที่นั้นต้องให้กรมป่าไม้พิสูจน์สิทธิ์ตามมติคณะรัฐมนตรี 30 มิ.ย. 2541 ก่อน หากเข้าข่ายได้รับการคุ้มครองก็ไม่ต้องออกจากพื้นที่ แต่หากไม่ได้รับการคุ้มครองให้จำเลยย้ายออกจากพื้นที่ภายใน 60 วันนับจากวันที่การพิสูจน์สิทธิ์เสร็จสิ้น
นอกจากนั้น ศาลยังวินิจฉัยว่า การดำเนินการตามนโยบายโฉนดชุมชนของชุมชนบ้านแม่กวักตั้งแต่ปี 2556 นั้น เป็นการดำเนินการไปตามนโยบายของรัฐ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. 2553 จึงเป็นนโยบายที่ชอบด้วยกฎหมาย การที่เจ้าหน้าที่จะเข้าไปตรวจยึดพื้นที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด ไม่ใช่ปฏิบัติตามดุลยพินิจของตัวเอง
นางแสงเดือน ตินยอด ถูกอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไทดำเนินการให้ตัดฟันยางพาราสองครั้ง คือในปี 2556 และ 2558 ตามนโยบายทวงคืนผืนป่า ภายหลังได้รับการพิสูจน์ว่าพื้นที่ทำกิน 12 ไร่ของตนไม่ได้อยู่ในพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานฯ เมื่อต่อสู้เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจึงถูกเจ้าหน้าที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่โป่งแจ้งความดำเนินคดีเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2561 แม้มีคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 คุ้มครอง และพิสูจน์ได้ว่าทำกินในพื้นที่มาก่อน ซึ่งคดีนี้เป็นหนึ่งใน 46,000 คดีบุกรุกพื้นที่ป่าตามนโยบายทวงคืนฝืนป่า รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา