ย้ำ สถานการณ์สารโลหะหนักปนเปื้อน จากกิจการเหมืองในเมียนมา ละเมิดสิทธิประชาชน มอบหมาย ทส.หน่วยงานหลัก บูรณาการหลายกระทรวง ตรวจสุขภาพ-จัดหาน้ำสะอาด-ฟื้นฟูแหล่งน้ำ พร้อมรายงานความคืบหน้า ใน 30 วัน
วันนี้ (15 ก.ค. 68) ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบข้อเสนอแนะจาก คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เกี่ยวกับมาตรการหรือแนวทางส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจากปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน โดยเฉพาะกรณีการปนเปื้อนมลพิษในแม่น้ำกก และแม่น้ำสาย ที่มีต้นตอมาจากกิจกรรมการทำเหมืองแร่ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา
ย้ำสถานการณ์มลพิษ น้ำกก-น้ำสาย ‘ละเมิดสิทธิประชาชน’
รายงานของ กสม. ระบุว่า ปัญหาดังกล่าวทวีความรุนแรงขึ้น จากการทำเหมืองแร่ทองคำ และแรร์เอิร์ธของบริษัทเอกชนที่ไม่ทราบสัญชาติ บริเวณต้นน้ำในรัฐฉาน โดยใช้สารเคมีอันตรายในการสกัดแร่ ทำให้ดินและกากแร่ปนเปื้อนโลหะหนัก อาทิ สารหนู แคดเมียม และปรอท ไหลลงสู่แม่น้ำกกและแม่น้ำสาย และลามเข้าสู่เขตแดนไทย โดยไม่มีระบบบำบัดหรือควบคุมที่มีประสิทธิภาพ

กสม.เห็นว่า สถานการณ์นี้เป็นการละเมิดสิทธิประชาชน ในการมีชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่สะอาดและปลอดภัย และหากไม่มีมาตรการป้องกัน อาจลุกลามสู่ลุ่มน้ำโขงในอนาคต ซึ่งจะยิ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้างมากขึ้น
ข้อเสนอ กสม. คุ้มครองสิทธิมนุษยชน
1. มาตรการภายในประเทศ
- ให้กรมควบคุมมลพิษ เพิ่มความถี่ในการเก็บตัวอย่างน้ำและตะกอนดินในพื้นที่เสี่ยง พร้อมให้คำแนะนำแก่ประชาชน และพัฒนาระบบเตือนภัยให้รวดเร็วและทั่วถึง
- ให้กระทรวงสาธารณสุข (กรมควบคุมโรค กรมอนามัย และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด) ตรวจสุขภาพและคัดกรองโรคจากโลหะหนัก (โดยเฉพาะสารหนู) ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
- ให้การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกระทรวงมหาดไทย จัดหาน้ำดื่มสะอาดสำรองในพื้นที่ประสบภัย พร้อมวางแผนจัดหาแหล่งน้ำดิบที่ปลอดภัย และพัฒนาระบบประปาหมู่บ้านให้มีประสิทธิภาพ
- ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประเมินผลกระทบต่อภาคเกษตรและการท่องเที่ยว พร้อมออกมาตรการเยียวยาเฉพาะหน้า
- ให้สนับสนุนงบประมาณ สำหรับการขจัดสารพิษ ฟื้นฟูแหล่งน้ำ และอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำ และพืชพรรณริมตลิ่ง เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ
- ให้คณะกรรมการลุ่มน้ำโขงเหนือ เป็นหน่วยประสานหลัก เสนอให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ แต่งตั้งหรือปรับปรุงองค์ประกอบของอนุกรรมการทรัพยากรน้ำระดับจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่
2. มาตรการระหว่างประเทศ
- ให้กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เจรจากับประเทศแหล่งกำเนิดมลพิษ เพื่อยุติกิจการเหมืองแร่ที่เป็นต้นเหตุโดยเร็ว ผ่านกลไกความร่วมมือทั้งในระดับทวิภาคีและภูมิภาค
- ส่งเสริมการพัฒนากฎหมายภายในของประเทศในภูมิภาค เพื่อรองรับการจัดการมลพิษข้ามพรมแดน การป้องกันและเยียวยาผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรม
ครม.มอบ ทส. หน่วยหลัก บูรณาการทุกกระทรวง-รายงานความคืบหน้าใน 30 วัน
ครม. ยังมีมติให้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องดังกล่าวไปพิจารณา ร่วมกับกระทรวงกลาโหม, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงบประมาณ, สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ, คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ, คณะกรรมการลุ่มแม่น้ำโขงเหนือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โดยให้ ทส.สรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินงานในภาพรวม และส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ภายใน 30 วัน เพื่อให้การดำเนินการตอบสนองต่อข้อเสนอแนะของ กสม. เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างชัดเจน และทันต่อสถานการณ์มลพิษที่กำลังลุกลามในภูมิภาค