ยืนยัน หากร่างกายพร้อม จะได้สิทธิจ้างต่อ ด้าน ผอ.สำนักป้องกันรักษาป่าฯ ตอบเอง ถ่ายโอนภารกิจให้ อปท. ไม่ใช่เหตุผลยุบ “เหยี่ยวไฟ”
วานนี้ (15 ก.ย. 2563) หลัง The Active นำเสนอกรณีการร้องเรียนจากเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษเหยี่ยวไฟ กรมป่าไม้ ว่าภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ จะมีการเลิกจ้างเหยี่ยวไฟนับพันคน ทำให้หลายคนมีความกังวลหากถูกเลิกจ้างในช่วงเวลานี้ รวมถึงข้อมูลจาก ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมควบคุมไฟป่าภาคกลาง ที่ระบุว่า มีงบประมาณถูกตัดราว 20 ล้านบาท ส่งผลต่อการพิจารณาต่อสัญญาในปีงบประมาณ 2564 ที่อาจมีเหยี่ยวไฟไม่ได้รับการต่อสัญญา 30-40 คน เท่านั้น
หลังข่าวถูกนำเสนอออกไป มีเจ้าหน้าที่เข้ามาชี้แจงเพิ่มเติม โดยผู้ใช้เฟซบุ๊ก ชีวะภาพ ชีวะธรรม แสดงความเห็นว่า
กระผม นายชีวะภาพ ชีวะธรรม ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่า และควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้ กรณีดังกล่าว…
- ขอยืนยันว่า ไม่มีการเลิกจ้าง ชุดเหยี่ยวไฟ จำนวนเป็น 1,000 นาย อย่างที่เข้าใจกันครับกรมป่าไม้ เล็งเห็นความสำคัญของชุดปฎิบัติการดังกล่าวดี ว่าเป็นชุดที่ได้รับการฝึกฝน มาเป็นอย่างดี เป็นชุดปฎิบัติการดับไฟป่า, ชุดกู้ภัย และปฏิบัติการสนับสนุนช่วยเหลือ เจ้าหน้าที่ หน่วยงานอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
- ในปี 2563 ที่ผ่านมา กรมป่าไม้ มีชุดปฎิบัติการเหยี่ยวไฟ จำนวน 325 นาย ปฎิบัติการดับไฟป่าอยู่ทั่วประเทศ ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ไม่ได้มีอัตรากำลังระดับ 1,000 นาย
- เมื่อถึงสิ้นเดือน กันยายน ของทุกปี สัญญาจ้างก็จะหมดลง ก็จะมีการจัดทำสัญญาจ้างใหม่ ซึ่งก็จะมีการคัดเลือกทดสอบความพร้อมทุก ๆ อย่างของร่างกาย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติของการคัดเลือกบุคคลที่เข้าไปปฎิบัติงานดับไฟป่า ที่ยากลำบากอันตราย ในปี 2563 ที่ผ่านมามีพี่น้อง ประชาชนต้องเสียชีวิต และบาดเจ็บเพราะการเข้าไปดับไฟป่าจำนวนมาก การคัดเลือก และทดสอบร่างกาย “ชุดเหยี่ยวไฟ” ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสําคัญระดับต้น ๆ กรณีที่เข้าใจกันว่ามีการทดสอบร่างกาย และคัดเลือกออกเพราะไม่มีงบประมาณ จึงเป็นข้อมูลที่เข้าใจกันคาดเคลื่อน
- ภายหลังการทดสอบ เมื่อมีบุคคลที่ไม่ผ่านการทดสอบ หรือได้คะแนนในระดับที่ต้องปรับปรุง ก็จะมีการโยกย้ายไปในพื้นที่เหมาะสม สำหรับพื้นที่ ที่มีความรุนแรงของไฟป่า เช่น จังหวัดเชียงใหม่ ก็จะคัดเลือกบุคคลที่มีความพร้อมสูงสุด ในบางจังหวัดมีสถานการณ์ ไฟป่าไม่รุนแรง ก็จัดชุดปฎิบัติการที่มีความพร้อมที่แตกต่างกันไป
- กระผม ในฐานะตำแหน่งผู้อำนวยการป้องกันรักษาและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้
ผู้ควบคุมดูแล ภารกิจของการป้องกันและควบคุมไฟป่า ขอยืนยันว่า กรมป่าไม้ หรือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือรัฐบาล ไม่มีมาตรการที่จะปลดหรือลดอัตรากำลังของชุดปฎิบัติการเหยี่ยวไฟ อย่างที่เข้าใจกัน นอกเสียจากว่ากำลังพลในชุดปฎิบัติการ “เหยี่ยวไฟ” ไม่ผ่านการทดสอบ เพราะเราเข้าใจดีถึงความสำคัญของชุดปฏิบัติการ “เหยี่ยวไฟ” เป็นอย่างดี - กรณี การถ่ายโอนภารกิจฯ ก็ไม่ใช่เป็นเหตุผลที่จะมายุบภารกิจ หน้าที่ของชุด “เหยี่ยวไฟ ” แต่อย่างใด เพราะการควบคุมดูแลไฟป่า ควรเป็นเรื่องของทุกหน่วยงาน ทุกระดับ ในระดับท้องถิ่น ก็ควรจะต้องมีชุดปฎิบัติการควบคุมดูแลดับไฟป่า ในระดับต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อแต่ละหน่วยงานจะได้บูรณาการการปฎิบัติงานควบคุมและดูไฟป่า อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
- สุดท้าย ขอยืนยันว่า กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรัฐบาล เล็งเห็นความสำคัญของชุดปฎิบัติการ “เหยี่ยวไฟ” คงเป็นไปไม่ได้ที่จะไปลดอัตรากำลังลง ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ขอยืนยัน ครับ
ผอ.ส่วนควบคุมและปฏิบัติการไฟป่า ยืนยัน มีประกันชีวิตให้เหยี่ยวไฟ
The Active สอบถามเพิ่มเติมไปยัง ดุลย์ฤทธิ์ ฤทัยวรุณรัตน์ ผอ.ส่วนควบคุมและปฏิบัติการไฟป่า กรมป่าไม้ ได้รับการชี้แจงเพิ่มเติมว่า เรื่องการจ้างงานเจ้าหน้าที่เหยี่ยวไฟที่หลายคนเป็นห่วงว่าจะมีการเลิกจ้าง ข้อเท็จจริงคือ การจ้างเจ้าหน้าที่เหยี่ยวไฟตามสัญญาจ้าง จะเป็นการจ้างปีต่อปีตามงบประมาณที่กรมป่าไม้ได้รับ ซึ่งสัญญาจ้างจะสิ้นสุดในเดือนกันยายนของทุกปี และจะมีการจ้างใหม่เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมในปีงบประมาณถัดไป
โดยทุกปีจะมีการรับสมัครเพื่อคัดเลือกบุคคลที่มีสมรรถนะร่างกายที่แข็งแรง และมีความพร้อมจะเดินทางไปปฏิบัติงานในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งผู้ที่มาสมัครเป็นเจ้าหน้าที่เหยี่ยวไฟทราบภารกิจที่จะต้องปฏิบัติและเข้าใจเกี่ยวกับค่าตอบแทนที่ได้รับ ว่าเป็นการจ้างตามปีงบประมาณ
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2564 กรมป่าไม้ ก็มีแผนจะจัดจ้างเจ้าหน้าที่เหยี่ยวไฟเช่นเดียวกับปี 2563 เพียงแต่ต้องจัดทำสัญญาจ้างใหม่ และมีการปรับเกลี่ยกำลังพลในแต่ละพื้นที่ให้สอดคล้องกับภารกิจ ซึ่งบางคนอาจต้องย้ายไปประจำฐานปฏิบัติงานในพื้นที่ใหม่ ทำให้บางคนอาจมีความกังวลว่าจะถูกเลิกจ้าง ซึ่งไม่เป็นความจริง หากยังมีความพร้อมที่จะปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมาย ก็จะได้รับสิทธิในการจ้างงานต่อไป
ขอให้เจ้าหน้าที่เหยี่ยวไฟเชื่อมั่น ว่าหน่วยงานมีความห่วงใยบุคลากรที่มีคุณค่าต่อหน่วยงานเสมอ และได้จัดทำคำของบประมาณเพื่อจัดจ้างงานในปี 64 ไว้แล้ว
ผอ.ส่วนควบคุมและปฏิบัติการไฟป่า ยังบอกอีกว่า งบประมาณที่ใช้จ้างเหยี่ยวไฟไม่ได้ถูกตัดจากสาเหตุที่กรมป่าไม้ถ่ายโอนภารกิจไปให้ อปท. ส่วนเรื่องสวัสดิการหน่วยงานได้ทำประกันชีวิตให้กับเจ้าหน้าที่เหยี่ยวไฟทุกคน หากได้รับอันตรายจากการทำงานก็จะได้รับการช่วยเหลือจากกรมป่าไม้ และได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนของมูลนิธิต่าง ๆ