ติง นายกฯ โชว์ผลงาน จัดการ ‘ภัยพิบัติ-ฝุ่น’ ยังไม่ตรงจุด ลืม พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ

ภาคประชาชน มอง มาตรการรับมือภัยพิบัติ ยังไร้ความชัดเจน ขาดมาตรการกลไกระบบเตือนภัย การเผชิญเหตุ ผิดหวังรัฐปล่อยจิตอาสาทำหน้าที่แทน จี้รัฐผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ

ภายหลังการแถลงผลงานรัฐบาลในรอบ 3 เดือนของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และมอบนโยบาย ภายใต้ชื่อ “2568 โอกาสไทย ทำได้จริง” โดยมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ ภัยพิบัติ ที่ไทยเผชิญอย่างหนัก ทั้งปัญหามลพิษทางอากาศ จากฝุ่น PM2.5 และปัญหาน้ำท่วม และ ภัยแล้ง 

แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

ให้ประชาชนขุดลอก คูคลอง นำดินไปขายได้ 

นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ปัญหาของน้ำท่วม-น้ำแล้ง ปีนี้ไทยเจอน้ำท่วมหนัก ในพื้นที่ของภาคเหนือ ดินโคลนถล่ม น้ำท่วมในบางพื้นที่ของภาคอีสาน และตอนนี้น้ำก็ยังท่วมหนักพื้นที่ภาคใต้ โดยมองว่า ปัญหาของน้ำท่วม-น้ำแล้ง มีมานาน แต่ไม่เคยถูกแก้ปัญหาอย่าง บูรณาการ จึงต้องเปลี่ยนวิธีคิดการแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งอย่างถาวร ทําให้น้ำมีทางออก ทุกฝ่ายต้องคุยกัน ซึ่งรวมไปถึงมวลน้ำที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ต้องมีการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ และในช่วงน้ำแล้งต้องทำให้น้ำมีเพียงพอต่อการอุปโภค บริโภค ไม่ว่าจะเป็นในด้านของเกษตร อุตสาหกรรม คือสิ่งที่ต้องวางแผนในระยะยาว โดยมี 2 เรื่องหลัก ได้แก่

  1. พัฒนาการขุดลอกคูคลอง ศึกษาการแก้กฎหมาย โดยอนุญาตให้ประชาชน สามารถนำดินจากการขุดลอกคูคลอง ไปใช้ประโยชน์ หรือนำไปขาย สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ โดยเสียค่าใช้จ่ายในการขุดเอง ภายใต้เงื่อนไขที่ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

  2. การสร้าง Floodway ขนาดใหญ่ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองอย่างจริงจัง

นักจัดการภัยพิบัติ มอง นโยบายแก้ปลายเหตุ ไร้แนวทางรับมือสถานการณ์

ขณะที่ โกเมศร์ ทองบุญชู ผู้ประสานงานเครือข่ายจัดการภัยพิบัติ เปิดเผยกับ The Active ว่า จากที่ได้ติดตาม นายกฯ แถลง มองว่า เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุและไม่ถูกจุด อย่างการสร้าง Floodway จะต้องศึกษาให้ดี ยกตัวอย่าง Floodway ที่ จ.นครศรีธรรมราช มีประโยชน์ แต่ผลกระทบก็มีมากเช่นกัน เพราะการปล่อยน้ำลงทะเลในฤดูน้ำหลากน้ำระบายออกได้ดี ฝั่งเมืองรอดแต่ว่าอีกฝั่งหนึ่ง ที่เป็นชนบทเดือดร้อน ที่สำคัญในช่วงภัยแล้งกินระยะเวลานานกว่าช่วงน้ำท่วม ก็ไม่มีน้ำกักเก็บไว้ใช้ ส่วนอีกที่คือ อ.หาดใหญ จ.สงขลา ที่บอกว่าเป็นโครงการสุดยอดแต่ก็ยังเอาไม่อยู่ 

โกเมศร์ ทองบุญชู ผู้ประสานงานเครือข่ายจัดการภัยพิบัติ

“ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกและความรุนแรงของภัยพิบัติ อย่างการทำพนังกั้นน้ำ ก็เอาไม่อยู่ต้องยกระดับ พนังกั้นน้ำที่สร้างกันไว้สุดท้ายก็แตกหมด ผมมองว่าเรื่องนี้รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีเองต้องศึกษาให้ดี” 

โกเมศร์ ทองบุญชู

ส่วนการขุดลอกคลอกนั้น โกเมศร์ ชี้ว่า ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดของกรมชลประทาน หรือหน่วยงานที่ขุดลอกคลองเพื่อไล่น้ำ สุดท้ายก็จะเจอวิกฤตภัยแล้ง เพราะระบายน้ำออกจนหมด โดยส่วนตัวเห็นด้วยกับการสร้างแก้มลิง แต่การจะขุดลอกระบายน้ำอาจไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกจุด

โดยส่วนที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องภัยพิบัติ ไม่มีการวางแผน หรือวางเป็นระบบ ทั้ง 3 ระบบ คือ

  1. การเตรียมความพร้อม การรับมือต่อภัยพิบัติ โดยการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้ชาวบ้านรู้เท่าทัน สภาพภูมิอากาศโลก

  2. การแจ้งเตือนภัย จะเห็นว่ากรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งเตือนฉบับที่ 2 แต่น้ำท่วมมิดหัวชาวบ้านไปแล้ว จากบทเรียนที่เห็นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งหลักการเตือนภัยต้องแม่น และต้องเข้าถึงชาวบ้าน

  3. การช่วยเหลือเผชิญเหตุ มองว่า รัฐบาลชุดนี้อ่อนแอมากที่สุด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตอนที่ขอความช่วยเหลือให้เข้าพื้นที่เผชิญเหตุ กลับเข้าไปล่าช้าไปหลังจากที่น้ำท่วมไป 10 วันแล้ว ทั้งที่จริงแล้วควรจะช่วยเหลือเผชิญเหตุตั้งแต่ 2 วันแรก หรืออย่าง จ.เชียงราย ก็เช่นเดียวกัน เพราะติดขัดข้อระเบียบต่าง ๆ

“ผมคิดว่าเรื่องนี้มันต้องมีการสนับสนุนจากทั้ง 2 ฝ่าย คือ รัฐบาลตั้งหน่วยงานแต่ก็ไม่ทำอะไรเลย มันต้องมีการประสานให้ข้อมูล แล้วจัดการภัยพิบัติให้ได้ในยามที่เกิดภัย ไม่ใช่ปล่อยงานการเผชิญเหตุเป็นหน้าที่ของอาสาสมัคร ถ้าอย่างนั้นเราจะมีรัฐบาลไว้ทำไม ในมุมมองส่วนตัวคิดว่าวันนี้ การเผชิญเหตุเป็นหน้าที่ของท้องถิ่น หน้าที่ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย เป็นหน้าที่ของจังหวัด ที่มีอำนาจ แต่ไม่คิดยับยั้ง จริง ๆ แล้วไม่ได้อยากวิจารณ์ แต่จะบอกว่ารัฐบาลไม่รู้เรื่องมันก็ดูหนักไป”

โกเมศร์ ทองบุญชู

ตั้ง KPI นโยบาย แก้ฝุ่น PM 2.5 ต้องลดลงทุกปี 

ขณะเดียวกัน สิ่งที่นายกฯ แถลงย้ำ คือเรื่องการแก้ปัญหามลพิษ ฝุ่น PM2.5 โดยระบุว่า ตั้งแต่รัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ได้กำหนด KPI เรื่องฝุ่น PM2.5 คือทําให้ต้องมีฝุ่นน้อยลงทุกปี และการควบคุมการเผาไหม้ เผาไร่ เผาพื้นที่การเกษตรต่าง ๆ ที่รัฐบาลดำเนินการ ทำให้ฝุ่น PM2.5 ในเชียงใหม่ ภาคเหนือ ลดพื้นที่การเผาไหม้ไปถึง 50% ซึ่งปัญหานี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา โดยนำการเปรียบเทียบช่วงฝุ่นที่มากที่สุดในของปีที่แล้ว กับปีนี้ พบว่าก็ลดลง 20% จึงเชื่อว่า รัฐบาลมาถูกทาง ทั้งฝุ่นในประเทศ และฝุ่นข้ามแดน จากนโยบายไม่รับซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ที่มาจากการเผา โดยเฉพาะโรงงานน้ําตาล หรือภาคเอกชนก็ต้องมีส่วนเข้ามาช่วยด้วย

“เราต้องเป็นทีมเดียวกันทั้งประเทศ เพื่อจะแก้ปัญหาที่หมักหมมมานาน ปัญหาที่เรื้อรัง แล้วก็แน่นอนค่ะ เป้าหมายของรัฐบาลเอง ก็ต้องการที่จะคืนสภาพอากาศดี ๆ ให้กับพี่น้องประชาชน คืนสุขภาพที่ดี ให้กับประชาชนคนไทยทุก ๆ คน”

แพทองธาร ชินวัตร

พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ เป็นจุดขาย แต่ นายกฯ เลือกเล่า​เรื่องเดิม

ด้าน ดนัยภัทร โภควณิช นักกฎหมายมหาชนด้านสิทธิเสรีภาพ และผู้ประสานงานคณะทำงานด้านกฎหมาย เครือข่ายอากาศสะอาดในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. … ให้ความเห็นกับ The Active ต่อประเด็นการแถลงของ นายกฯ ว่า การแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นการพูดพูดถึงเรื่องเก่าไม่มีอะไรใหม่ ที่ภาคประชาชนจะฟังแล้วรู้สึกถึงมาตรการใหม่ในการจัดการ แต่เป็นการนำสิ่งที่ทำมาตั้งแต่รัฐบาลเศรษฐา ซึ่งทำมาเป็นปีแล้ว โดยเครือข่ายอากาศสะอาด ที่ทำงานด้านการผลักดัน พ.ร.บ. อากาศสะอาดฯ ในที่ประชุมได้พูดคุยกับทั้งเอกชน ภาครัฐ ก็จะเห็นนโยบายที่ทำอยู่เป็นนโยบายเก่า และยังไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เป็นลักษณะ “พลิกสถานการณ์ฝุ่นจากร้ายเป็นดี” แต่เป็นการบรรเทาผลกระทบเท่านั้น 

“แต่ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับรัฐบาล เพราะเราอาจไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงทันทีในช่วงของรัฐบาลเพื่อไทยไม่ถึง 2 ปี ที่ผ่านมา เพราะรัฐบาลเจอมรสุมหลายเรื่อง ทั้งการเมือง การเปลี่ยนรัฐบาล ทำให้อาจไม่ได้โฟกัสเรื่องเดียวได้ ก็เข้าใจ ก็เลยทำให้ไม่เห็นอะไรที่เกิดความเปลี่ยนแปลง”

ดนัยภัทร โภควณิช

ดนัยภัทร ย้ำด้วยว่า การแถลงว่าฝุ่นลดลงจากปีที่แล้ว เชื่อว่าประชาชนจะตอบได้ว่า ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่าลดลงจริงไหม ซึ่งจากเท่าที่ติดตามกับทางภาคเหนือก็ทราบมาว่าไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามออกมาตรการมาแก้ไขปัญหา ซึ่งต้องทำบนพื้นฐานโครงสร้างการแก้ปัญหาแบบเดิมอยู่ กำลังมีการแก้ไขโครงสร้างเดิม ผ่าน การพิจารณา พ.ร.บ. อากาศสะอาดฯ ที่กำลังดำเนินการอยู่ ทำให้การแก้ปัญหาเป็นลักษณะเฉพาะหน้า ส่วน พ.ร.บ. อากาศสะอาดฯ อาจจะไม่ได้เห็นชัดเจนในคำแถลง เพราะไม่มีการพูดถึง (แต่ปรากฏในเอกสาร) ซึ่งกฎหมายอากาศสะอาด เป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด ภายใต้ข้อจำกัด และเงื่อนไขที่ต้องมีกฎหมายที่มีคุณภาพออกมาใช้ ตรงนี้เป็นโจทย์ของรัฐบาล และคณะกรรมาธิการฯ ที่กำลังเร่งทำงานอยู่

“คำถามจากภาคประชาชนอย่างผม ไม่แน่ใจว่ามาตรการที่นายกฯ พูดนั้นเป็นมาตรการที่ดีที่สุดหรือยัง ที่จะนำมาแก้ไขปัญหาได้ หรือถ้ามองว่าจะพึ่งพา พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ ก็ต้องย้อนกลับมาดู ในขณะที่ กมธ. กำลังพิจารณา เรามีเครื่องมือในกฎหมายที่สมบูรณ์หรือยัง เป็นสิ่งที่ประชาชนอาจจะยังไม่ค่อยทราบมากนัก มีหลายประเด็นที่ใน พ.ร.บ. ที่เป็นประเด็นร้อนที่ประชาชนอาจจะยังไม่รู้ เนื่องจากมีหลายฝ่ายเข้ามาให้ความเห็นมีทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย เช่น เรื่องของกองทุน ประเด็นเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ ค่าธรรมเนียม ภาษี เป็นต้น”

ดนัยภัทร โภควณิช

อ่านเพิ่ม : โค้งสุดท้าย กม.อากาศสะอาดฯ ลุย “เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์” จัดการผู้ก่อฝุ่น

ดนัยภัทร ยังกล่าวด้วยว่า อาจเป็นไปได้ว่า พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ ยังไม่เสร็จจึงไม่อยากนำมาพูด แต่ประชาชนมีสิทธิ์ที่จะได้รับรู้ว่าทำไมถึงไม่เสร็จ และเกิดความล่าช้าเพราะอะไร เกิดปัญหาอะไร เพราะผ่านเข้ามาเป็นปีแล้วประชาชนควรได้รับรู้ 

ดนัยภัทร โภควณิช กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. …

นอกจากนี้ ดนัยภัทร ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า สัดส่วนการแถลงนโยบายจะเน้นเรื่องเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ ปากท้อง เมื่อเทียบเคียงกับภาคสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ จะเห็นว่า รัฐบาลให้น้ำหนักในส่วนแรกมากกว่า ซึ่งสะท้อนผ่านงบประมาณแผ่นดิน รวมทั้งเรื่องเมื่อเจาะนโยบายสิ่งแวดล้อม ก็ยังขาดการเชื่อมโยงกับนโยบายสุขภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่เครือข่ายอากาศสะอาด พยายามผลักดันมาโดยตลอด 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active