‘จอน อึ๊งภากรณ์’ เป็นตัวแทนยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประชาชน พร้อมรายชื่อประชาชน 100,732 รายชื่อ ถึงประธานรัฐสภา พรรคฝ่ายค้านร่วมรับร่างฯ ด้วย
วันนี้ (22 ก.ย. 2563) เวลาประมาณ 14.00 น. ภาคประชาชนเดินทางถึงหน้าอาคารรัฐสภา (เกียกกาย) พร้อม 100,732 รายชื่อ เพื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน หลังนัดหมาย เพื่อเดินเท้าจากสถานีรถไฟฟ้าเตาปูนถึงอาคารรัฐสภา รวมระยะทาง 2.2 กิโลเมตร
มีการตั้งเวทีปราศรัยชั่วคราว เพื่ออธิบายเหตุผลของความจำเป็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และความแตกต่างกันในสาระสำคัญระหว่างฉบับของพรรคการเมือง และฉบับประชาชน โดยเฉพาะสัดส่วนที่มาของ ส.ส.ร. ในการเป็นตัวแทนร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ขณะที่ตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้าน เช่น สุทิน คลังแสง ประธานวิปพรรคร่วมฝ่ายค้าน จากพรรคเพื่อไทย, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล วิโรจน์ ลักขณาอดิศร รังสิมันต์ โรม และเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.พรรคก้าวไกล ร่วมต้อนรับและเป็นพยานรับมอบร่างแก้ไขฯ
สุทิน คลังแสง ระบุว่า หากร่างฯ ของประชาชนนำเสนอไม่ทันบรรจุเป็นวาระการพิจารณาร่วมกันของสองสภา ในวันที่ 23-24 ก.ย. นี้ แต่สาระสำคัญจะถูกนำไปพิจารณาในชั้นของกรรมาธิการ รวมถึงจะมีการกำหนดโควตาของภาคประชาชนเข้าร่วมพิจารณาในฐานะกรรมาธิการด้วย
ด้าน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ระบุว่า การเคลื่อนไหวเพื่อขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในวันนี้ เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง แต่ตนในฐานะสมาชิกรัฐสภาก็จะทำหน้าที่อภิปรายในสภา เพื่อให้เห็นความจำเป็นของการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 และนำมาซึ่งการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจากกระบวนการ ส.ส.ร.
ช่วงท้ายกิจกรรม ตัวแทนคณะประชาชนปลดแอก ได้อ่านแถลงการณ์ “รัฐสภาต้องพิจารณาข้อเสนอของประชาชน” สาระสำคัญระบุว่า พวกเขาใช้เวลาเพียง 43 วันเท่านั้น นับตั้งแต่ 7 ส.ค. – 19 ก.ย. ในการช่วยกันรวบรวมรายชื่อประชาชนกว่า 100,000 รายชื่อ โดยเสนอให้รัฐสภาพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อกลับสู่หนทางประชาธิปไตย และเป็นทางออกจากปัญหาทางการเมือง
โดยยกตัวอย่างปัญหาในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เช่น ส.ว. 250 คน จากการคัดเลือกของ คสช., นายกรัฐมนตรีที่ไม่ผ่านการเลือกตั้ง และการยึดครององค์กรตรวจสอบ ฯลฯ พร้อมระบุว่า แม้จะมีหลายพรรคการเมืองเสนอแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผ่านกลไก ส.ส. บ้างแล้ว แต่ขาดการแก้ไขในประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะร่างฯ จากพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล ที่ยังคงกำหนดสัดส่วน ส.ส.ร. ให้มีโควตาจากตัวแทน ส.ส. และ ส.ว. จึงไม่เพียงพอที่จะแก้ไขความผิดปกติในระบอบการเมืองในปัจจุบันได้ จึงขอให้รัฐสภา แสดงความจริงใจที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อหาทางออกทางการเมือง คืนอำนาจให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองและกำหนดทิศทางของประเทศ
สำหรับกลุ่มองค์กรประชาชนที่ร่วมกิจกรรม “รื้อ ร่าง สร้างรัฐธรรมนูญประชาชน” ได้แก่ เครือข่าย People Go Network, เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ, กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า, คณะประชาชนปลดแอก และ iLaw หรือโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน