‘เพื่อไทย – ประชาชน’ เห็นพ้อง แก้ ม.256 ตั้ง สสร. ทำ รธน.ใหม่ ประชามติ 2 ครั้งพอ

ตัดเสียง สว. กรุยทางรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยันไม่ขัดกฎหมาย ยกคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญปี 64 ชัดเจนแล้ว

รัฐสภาจะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ในวันที่ 13 – 14 ก.พ. 68 เพื่อปลดล็อกให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีความง่ายขึ้น โดยสาระสำคัญของการแก้ไขครั้งนี้ พรรคเพื่อไทย และ พรรคประชาชน จะยื่นเสนอให้มีการตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งประเทศ ซึ่ง สสร.จะมีอำนาจพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมา รวมถึงยังเสนอให้ตัดเงื่อนไขที่ให้มีเสียงจาก สมาชิกวุฒิสภา (สว.) อย่างน้อย 1 ใน 3 หรืออย่างน้อย 67 คน เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ล่าสุดมีการตั้งข้อสังเกตจาก สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ว่าการที่ สส.พิจารณาแก้ไขมาตรา 256 ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ เพราะเข้าใจว่าจะต้องทำประชามติได้รับความเห็นชอบจากประชาชนก่อน

(ซ้าย) ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย / (ขวา) พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน
(ภาพ : Youtube : Prachatai)

พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ระบุในงาน “ผ่าน ม.256 เปิดประตูเลือกตั้ง สสร. เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่” ว่า ปัญหานี้เกิดจากการที่มีคนไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2564 และได้วินัจฉัยว่ารัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้  โดยต้องให้ประชาชนลงประชามติก่อนว่ามีความประสงค์อยากให้ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องจัดทำประชามติให้ประชาชนเห็บชอบอีกครั้ง รวมแล้วจะต้องมีประชามติ 2 ครั้ง

แต่ก็มีบางคนไปตีความว่า ประชามติครั้งที่ 1 จะต้องทำก่อนที่พรรคการเมืองจะเสนอญัตติร่างรัฐธรรมนูญต่อสภาในวาระที่ 1 ทำให้คณะกรรมการของประธานสภาทุกชุดเข้าใจตามนี้ และให้พรรคการเมืองไปทำประชามามติก่อนเสนอญัตติร่างรัฐธรรมนูญ

เมื่อต้นปี 2567 พรรคเพื่อไทย จึงเสนอให้ถามศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้ง แต่ปรากกฎว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่รับวินิจฉัย เพราะคำวินิจฉัยของศาลเมื่อ 2564 มีความชัดเจนอยู่แล้ว

พริษฐ์ ระบุว่า ได้รวบรวมหลักฐานทั้งหมดชี้แจงคณะกรรมการของประธานสภา เช่น คำวินิจฉัยของรายบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน โดย 5 คนระบุชัดเจนว่า การทำประชามติ 2 ครั้งเพียงพอ แต่มี 2 คนที่ใช้คำลักษณะคล้ายกับคำวินิจฉัยกลางที่เป็นข้อถกเถียง ส่วนอีก 1 คนบอกว่าต้องทำประชามติ 3 ครั้ง และอีก 1 คน บอกว่าทำประชามติกี่ครั้งก็ไม่สามารถทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่เห็นพ้องทำประชามติ 2 ครั้งเพียงพอ

อีกทั้งหลักฐานกราฟฟิกของศาลรัฐธรรมนูญที่สรุปคำวินิจฉัย ที่ระบุขั้นตอนการเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ได้มีการกล่าวถึงให้มีการทำประชามติก่อน และจากที่ฟัง ผลการหารือระหว่างคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง และประธานศาลรัฐธรรมนูญ ก็ไม่มีส่วนไหนที่ระบุว่าต้องทำประชามติจำนวน 3 ครั้ง คณะกรรมการของประธานสภา จึงมีมติเสียงข้างมากให้สามารถบรรจุวาระการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ได้

“ยืนยันว่าการเดินหน้าทำประชามติ 2 ครั้ง ไม่ขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทั้งฉบับตาม นอกจากนี้ การประชามติจะมีก่อนการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และหลังทำแล้ว ดังนั้นเมื่อการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ผ่าน 3 วาระ ก็จะต้องทำประชามติถามประชาชนก่อนว่าเห็นชอบให้มีการตั้ง สรร. เพื่อทำรัฐธรรมฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อทำรัฐธรรมฉบับใหม่เสร็จ ก็ต้องทำประชามติปิดท้ายให้ประชาชนรับรองความเห็นชอบ

พริษฐ์ วัชรสินธุ

ขณะที่ ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ระบุว่า เพื่อไทยเห็นต้องกันกับพรรคประชาชนในเรื่องการทำประชามติที่จะต้องมีเพียง 2 ครั้ง เพราะการแก้ไขมาตรา 256 ยังไม่ใช่ขั้นตอนการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงอยากให้ความมั่นใจต่อ สส.และ สว. ยืนยันว่า เป็นอำนาจหน้าที่ของ สส.และ สว. ที่สามารถแก้ไขมาตรา 256 ได้ โดยไม่ได้ขัดแย้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด เพราะศาลระบุว่า จะต้องทำประชามติก่อนจัดทำรัฐธรรมฉบับใหม่

อีกทั้งคำวินิจฉัยของศาลฯในขณะนั้นก็ออกมาระหว่างการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 วาระ 2 และ 3 เมื่อปี 2564 ซึ่งไม่ได้เกิดปัญหา หรือมีใครถูกดำเนินคดี หรือถูกสั่งระงับการพิจารณาของสภาในครั้งนั้น ซึ่งก็เป็นสิ่งยืนยันที่อย่างหนึ่งว่าการเดินหน้าแก้ไข มาตรา 256 ที่จะเกิดขึ้นครั้งล่าสุดสามารถทำได้ด้วยอำนาจของรัฐสภา

“หากจะต้องยื่นถามศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้งว่าจะต้องทำประชามติก่อนพิจารณาแก้ไข มาตรา 256 อีกหรือไม่ ส่วนตัวมองว่าไม่มีความจำเป็น และการทำประชามติ 2 ครั้งเพียงพอ”

ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ

ปุรวิชญ์ วัฒนสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ภาพ : Youtube : Prachatai)

สอดคล้องกับ ปุรวิชญ์ วัฒนสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็เห็นพ้องกันกับพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชน โดยบอกว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องจำนวนการทำประชามติ มีความชัดเชนอยู่แล้ว และการแก้ไขมาตรา 256 ไม่ต้องทำประชามติก่อน เพราะเป็นกระบวนการปลดล็อกเงื่อนไขนำไปสู่การจัดตั้ง สสร. เพื่อทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่หากจะมีคนส่งเรื่องนี้ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ก็เคยได้รับคำตอบมาชัดเจนแล้วหลายครั้ง จึงมองว่าไม่มีความจำเป็นที่ต้องยื่นถามศาลฯอีกครั้ง ยกเว้นจะเป็นการถ่วงเวลา เพื่อไม่ให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกทันก่อนที่ สส.จะหมดวาระดำรงตำแหน่งสมัยนี้

“ผมจะบอกนักศึกษาในคลาสตลอดว่า การเมืองถ้าจะทำอะไร มันเป็นไปได้หมด ถ้าคุณมีเจตจำนงจะทำมัน ถ้าคุณมีเจตจำนงอะไรนะ มันมีทางไปได้หมดแหละ อันนี้จะต้องสะท้อนเสียงดัง ๆ ไปถึงรัฐสภา ทั้ง สส. และ สว. ทุกคนเลย ว่าอยากมีเจตจำนงอยากจะเห็นอนาคตกติกาพื้นฐานของประเทศเป็นอย่างไร”

ปุรวิชญ์ วัฒนสุข

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active