เปิดวง ถกปัญหาที่ดินการรถไฟ

ร.ฟ.ท. พร้อมช่วยเหลือ แต่ขอที่ดินพัฒนาเชิงพาณิชย์ ชุมชน ร้อง อย่าเอาใจนายทุนแล้วทิ้งคนจน ด้าน พอช. ขอเป็นตัวกลางคลี่ปมความขัดแย้ง

วันนี้ (14 ก.ย. 2563) ตัวแทน การรถไฟแห่งประเทศไทย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และเครือข่ายภาคประชาสังคม ผู้เดือดต่อกรณีการไล่รื้อที่ดินริมทางรถไฟ เข้าร่วมเวทีสาธารณะ “การพัฒนาชุมชนในที่ดินการรถไฟฯ ทำอย่างไรจะได้ประโยชน์กับทุกฝ่าย” เพื่อสะท้อนปัญหาความเดือดร้อนของคนจนเมือง และมองอนาคตในการพัฒนาที่ดินร่วมกัน

ทองเชื้อ วระชุน ตัวแทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค ระบุว่า การเกิดขึ้นของชุมชนริมทางรถไฟ ไม่ใช่เกิดขึ้นมาอย่างไร้สาเหตุ แต่คนที่อยู่ริมทางรถไฟ เป็นภาพสะท้อนของกลไกการพัฒนาที่ไม่ทั่วถึงในสังคม ตั้งแต่นโยบายถึงระดับปฏิบัติการ พื้นที่ในชุมชนเมืองจนถึงชนบทที่ห่างไกล

“ผลกระทบของคนจนภาคเกษตรกรรม ชาวบ้านปลูกข้าวทำนาไม่ได้ ก็เลยหนีมาเมืองกรุงฯ หวังว่าชีวิตจะดีขึ้น เข้ามาใช้ชีวิตด้วยการทำงานหาเช้ากินค่ำ แต่ค่าครองชีพที่สูงกว่ารายได้ ทำให้เงินไม่พอค่าเช่าบ้าน ก็เลยไปหาอยู่ที่ฟรีริมทางรถไฟ พอเห็นคนอื่นอยู่ได้ก็มาอยู่ตาม ๆ กัน ระหว่างนั้น ก็มีการเก็บเงินค่าเช่าที่กับเจ้าถิ่น ใครมารีดไถก็ต้องให้ กระทั่งมีการไล่รื้อเกิดขึ้น พอช. จึงเข้ามาช่วยเหลือ ประสานงานหารือกับการรถไฟ”

การหารือกับผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 7 ส.ค. ที่ผ่านมา ผู้ว่าการรถไฟฯ วางแนวทางการแก้ปัญหาที่เป็นธรรม หรือ win-win กับทุกฝ่าย ให้ชาวบ้านอยู่ได้ รถไฟเดินรถได้ เพราะหากปมปัญหานี้ยังไม่ถูกแก้ การพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์ของการรถไฟฯ เองก็ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้

มนเฑียร อัตถจรรยา ผู้อำนวยการศูนย์บริหารทรัพย์สิน การรถไฟแห่งประเทศไทย ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้บุกรุกในที่ดินของการรถไฟฯ ทั้งหมดราว 3,800 ราย มีการทำสัญญาการใช้ที่ดินของการรถไฟฯ แล้ว 64 สัญญา 61 ชุมชน ทั้งนี้ การทำสัญญากับการรถไฟเน้นเป็นสัญญาระยะสั้น เนื่องจากในอนาคตชุมชนก็คงต้องหลีกทางในโครงการอื่น ๆ ของการรถไฟ

“การรถไฟฯ ได้จัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยบนที่ดินริมการรถไฟ โดยมี พอช. เป็นคู่สัญญา ช่วยเจรจาหาทางออก สำหรับพื้นที่ที่มีสัญญาแล้ว ก็มีการจัดเก็บค่าเช่าให้การอยู่อาศัยเป็นไปอย่างถูกต้อง ค่าเช่าเป็นอัตราที่ต่ำมาก คือไม่เกิน 23 บาทต่อตารางเมตร ต่อปี เพื่อเอื้อต่อการอยู่อาศัยของคนจน แต่สำหรับกรณีการขอสัญญาเช่าใหม่ คงต้องพิจารณาในหลายเรื่อง อย่างแรก คือ พื้นที่ตรงนั้นต้องไม่ติดขัดกับโครงการพัฒนาของการรถไฟฯ หรือหากจะมีการสร้างที่อยู่อาศัยในที่ดินทางรถไฟ อย่างน้อย ๆ ต้องเป็นอาคารสูง ไม่ใช่บ้านชั้นเดียวหรือสองชั้น”

ด้าน ณัฐวุฒิ อัศวโกวิทวงศ์ ผอ.ศูนย์วิจัยบูรณาการภาพสังคมและพื้นที่ (CISR) กล่าวว่า การรถไฟควรจะพัฒนาพื้นที่ โดยคำนึงถึง บริบทรอบชุมนุมรอบด้านควบคู่กับการบริหารจัดการทรัพยากร แม้ว่าการจัดการเรื่องเช่าที่ดินชุมชนจะไม่ใช้พันธกิจของการรถไฟฯ ก็ตาม

“นิเวศของชุมชน กับการพัฒนาศักยภาพการเดินรถของการรถไฟฯ ควรจะเป็นแนวทางในการใช้เพื่อแก้ปัญหาของการรถไฟได้ เพราะในปัจจุบันมีชุมชนที่เสี่ยงต่อการรื้อย้าย ทั้งในระยะใกล้และในอนาคต ดังนั้น แผนการระยะยาวจึงจำเป็นในด้านของการจัดการทรัพยากร กับข้อเสนอของประชาชนที่ต้องการให้ พอช. ช่วยเหลือต่อเนื่อง และเป็นคู่สัญญาให้ มองว่าไม่ควรเป็นเช่นนั้น แต่ พอช. ควรจัดให้มีนิติบุคคลเป็นคู่สัญญาภายใต้ MOU ร่วมกัน เพื่อให้เกิดความคล่องตัวมากกว่า”

ด้าน ปฏิภาณ จุมผา รองผู้อำนวยการ พอช. ยืนยันว่า พอช. เกิดมาจากพันธกิจในการแก้ไขปัญหาคนจนเมือง และช่วยเหลือจัดหาที่อยู่มั่นคง ดังนั้น จึงจะให้ความช่วยเหลือกับประชาชนผู้เดือดร้อนจนกว่าจะแก้ไขปัญหาได้ในที่สุด

“การแก้ไขปัญหาที่ดินเป็นปัญหาระดับชาติ และเป็นนโยบายของรัฐบาล ในฐานะกลไกของรัฐต้องดำเนินการตามยุทธศาสตร์ ซึ่งการแก้ไขปัญหาที่ดินอย่างยั่งยืน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องเข้ามาร่วมหารือ และแก้ไขปัญหาโดยเอาประชาชนเป็นตัวตั้ง ผมเข้าใจว่า การรถไฟฯ และ พอช. เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ความทุกข์ของประชาชนคือสิ่งที่เราต้องช่วยกัน ซึ่งอย่างน้อยเร็ว ๆ นี้จะต้องมี MOU เพื่อเปิดทางแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

ทั้งนี้ วันที่ 28 ก.ย. ที่จะถึงนี้ เครือข่ายภาคประชาชนและชาวบ้านผู้เดือดร้อนบนที่ดินริมทางรถไฟ จะเดินทางไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่อเรียกร้องให้มีการจัดทำ MOU เพื่อให้เป็นอีกภาคส่วนที่เข้ามาแก้ปัญหาร่วมกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้