“ชัชชาติ” เดินหน้าแก้ปัญหาด้านที่อยู่อาศัยคนจนเมือง

“ชัชชาติ” รับ 15 ข้อเสนอ สลัม 4 ภาค เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก ยัน ห้องเช่าราคาถูกเพื่อผู้มีรายได้น้อยเดินหน้าทำได้ทันทีบนพื้นที่ของ กทม. ขณะที่นักวิชาการ ชี้ ถือเป็นจุดเปลี่ยนทางนโยบาย ที่อยู่อาศัยที่ทุกคนเอื้อมถึงได้

วันนี้ (2 ต.ค. 2566) เครือข่ายสลัม 4 ภาค จากทั่วประเทศ และภาคีเครือข่าย รวมตัวกันที่ลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ช่วงเช้า เพื่อร่วมกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกปี 2566 โดยปีนี้เริ่มที่กรุงเทพมหานคร เพราะถือเป็นเขตปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษที่มีจำนวนแรงงาน และกลุ่มคนจนผู้มีรายได้น้อยมาอาศัยทำงานขับเคลื่อนเมืองจำนวนมาก และประสบปัญหาการเข้าถึงที่ดินทำกินที่อยู่อาศัย หากนำร่องนโยบายแนวทางการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ที่เมืองหลวง ก็จะเป็นโมเดลสำคัญกับการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยให้กับเขตเมืองในภูมิภาคต่าง ๆ ต่อไป

สำหรับข้อเรียกร้องสำคัญ ที่เสนอต่อ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีทั้งหมด 15 ข้อ

  1. ให้กรุงเทพมหานคร เป็นหน่วยงานในการขอใช้ที่ดินสาธารณะ และที่ดินของหน่วยงานกรุงเทพหมานคร เพื่อให้ชุมชนจัดสร้างที่อยู่อาศัยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีโครงการบ้านมั่นคง ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนเข้ามาสนับสนุน
  2. กรุงเทพมหานครต้องหยุดการใช้กฎหมาย ปว.44 ที่มาจากอำนาจเผด็จการ และริดรอนสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรม และให้มีกระบวนการยกเลิกกฎหมาย ปว.44 นี้
  3. ให้มีมาตรการที่ชัดเจนให้ชุมชนสามารถปรับปรุงสร้างความมั่นคงการอยู่อาศัยในที่เดิมได้ โดยมีหลักเกณฑ์ ดังนี้ 1) ต้องเป็นชุมชนที่ไม่ปลูกบ้านเรือนรุกล้ำลำคลอง หรืออยู่ในสภาพที่ขัดขวางการระบายน้ำ และมีพื้นที่ในการปรับปรุงจัดผังการอยู่อาศัยใหม่ให้เป็นระเบียบไม่ขัดขวางการระบายน้ำ 2) เป็นชุมชนที่อยู่ในพื้นที่เสื่อมสภาพแล้ว ไม่สามารถใช้ในการระบายน้ำได้ ให้ชุมชนสามารถจัดผังการอยู่อาศัยในพื้นที่เดิม
  4. ในกรณีชุมชนที่ไม่สามารถอยู่ที่เดิมได้ ให้กรุงเทพมหานครขอใช้ที่ดินสาธารณะในเมือง เพื่อเป็นพื้นที่รองรับการย้ายไปสร้างชุมชนใหม่
  5. ให้กรุงเทพมหานคร สนับสนุน และสำรวจชุมชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่สาธารณะริมคลอง ในเขตกรุงเทพมหานคร ร่วมกับภาคีองค์กรชุมชน สถาบันพัฒนาองค์ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ได้ข้อมูลชุมชนที่ชัดเจน เพื่อใช้ในการแก้ปัญหา
  6. ให้ชุมชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครสามารถจดแจ้งชุมชนได้ เพื่อให้ผู้อยู่อาศัย และแรงงานที่ใช้ชีวิตในกรุงเทพมหานคร ได้เข้าถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตพื้นฐาน  และกรุงเทพมหานครสามารถนำข้อมูลใช้ในการทำแผนการพัฒนาเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  7. ให้มีนโยบายการเก็บภาษีแบบรายแปลงย่อยตามการอยู่อาศัยจริง หรือตามทะเบียนบ้านของผู้อยู่อาศัยในโครงการ
  8. จัดทำข้อมูลชุมชนในโครงการบ้านมั่นคงในพื้นที่กรุงเทพมหานครร่วมกัน (สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน, กรุงเทพมหานคร, องค์กรชุมชน)
  9. ต้องการการสนับสนุนจากกรุงเทพมหานคร ในการอำนวยการ การจัดสร้างที่อยู่อาศัยในโครงการบ้านมั่นคง และการพัฒนาสาธารณูปโภค
  10. ให้แจ้งนโยบายการสนับสนุนโครงการบ้านมั่นคง และประสานงานกับสำนักงานเขต ให้มีการสนับสนุน และมีแผนการพัฒนาโครงการบ้านมั่นคงในพื้นที่ร่วมกัน ระหว่างองค์กรชุมชน สำนักงานเขต และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
  11. มีการดำเนินการนำร่องห้องเช่าราคาถูกย่านหัวลำโพง ร่วมกับ สสส.  กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และกำลังดำเนินการที่ศูนย์คนไร้บ้าน จ. ปทุมธานี และก่อสร้างแล้วเสร็จที่ซอยเลียบวารี 79 เขตหนองจอก  จึงต้องการ การสนับสนุนจากกรุงเทพมหานครในการสร้างรูปธรรมที่อยู่อาศัยเช่าราคาถูกให้หลากหลาย รองรับผู้เช่าห้องในเมือง และสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาที่อยู่อาศัยเช่าราคาถูกสำหรับคนเริ่มต้นทำงาน ของกรุงเทพมหานคร
  12. กรุงเทพมหานครจะดำเนินการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเช่าราคาถูกอย่างไร  เริ่มดำเนินการในช่วงเวลาไหน ซึ่งทางเครือข่าย และหน่วยงานภาคีต่าง ๆ จะมีส่วนร่วมได้อย่างไร
  13. มีการดำเนินการพัฒนานโยบายห้องเช่าราคาถูก ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และภาคีต่างๆ (ตามเอกสารแนบ) ซึ่งต้องการความร่วมมือจากหน่วยงานกรุงเทพมหานคร ในการบูรณาการ และเพิ่มศักยภาพในการพัฒนานโยบาย และรูปธรรม
  14. ให้แจ้งไปยังสำนักงานเขต ให้ดำเนินการสร้างความเข้าใจกับชุมชนที่ต้องรื้อย้าย ให้รับรู้และย้ายชื่อไปไว้ในทะเบียนบ้านอื่นที่มี
  15. กรณีที่จะย้ายไปสร้างชุมชนใหม่ในโครงการบ้านมั่นคง ให้สำนักงานเขตออกทะเบียนบ้านให้ก่อน 1 หลัง เพื่อรองรับผู้ที่จะรื้อย้ายไป  และเมื่อสร้างบ้านเสร็จ ก็สามารถดำเนินการย้ายเข้าทะเบียนบ้านของตัวเองได้

โดย ชัชชาติ ตอบรับข้อเรียกร้องทั้ง 15 ข้อ โดยเฉพาะเรื่องเร่งด่วนอย่างห้องเช่าราคาถูกที่ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงหรือเอื้อมถึงได้ สามารถเดินหน้าได้ทันที

“เรื่องห้องเช่าราคาถูก บางทีพวกเราต้องการห้องเช่าราคาถูกประคองไปก่อน เพราะยังไม่มีที่อาศัยเป็นการถาวร เราจะรวบรวมห้องเช่าราคาถูกให้ ถ้าเป็นไปได้ อาจจะสร้างพื้นที่บนพื้นที่ กทม. เอง และจัดให้มีห้องเช่าราคาถูกเพื่อพวกเราที่อ่อนแอ เปราะบางอยู่ มาอยู่กันชั่วคราว พอเข้มแข็งขึ้น ก็หาที่อยู่ที่ถาวรต่อไป“

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ด้าน รศ.บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ กลุ่มผู้เช่าที่อยู่อาศัยเป็นกลุ่มที่ถูกมองข้ามมาโดยตลอด เวลารัฐอุดหนุนที่อยู่อาศัย มักอุดหนุนให้ไปกู้ธนาคารให้ผ่อนบ้านเป็นที่อาศัยของตนเอง ฟังดูเหมือนดี แต่ว่าการช่วยเหลือในลักษณะนั้น กลุ่มเป้าหมายที่จะได้ประโยชน์ คือคนที่มีรายได้ประจำ หรือมีฐานะปานกลาง แต่คนที่มีรายได้น้อยจริง ๆ ประกอบอาชีพในภาคเศรษฐกิจ ซึ่งไม่สามารถกู้ธนาคารได้ ไม่สามารถเป็นเจ้าของได้ หรืออยากจะกู้และถ้าผ่อนก็เป็นภาระดอกเบี้ยในระยะยาว กลุ่มคนที่รายได้น้อยจริง ๆ จึงไม่ได้ประโยชน์ ดังนั้น จะได้จะได้ประโยชน์กว่า คนกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่จะเช่าที่อยู่อาศัยราคาถูก ก็มาพร้อมกับคุณภาพที่ไม่ดี ดังนั้น ทำอย่างไรให้เขาเช่าที่อยู่อาศัยถูกด้วย และมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย ในทุกวันนี้ที่อยู่อาศัยราคาถูกห้องแบ่งเช่าเล็กมาก ห้องน้ำไม่พอ ก็ใช้ร่วมกันเป็น 10 ห้อง ดังนั้น จึงต้องกลับมาสนใจคนกลุ่มนี้ด้วย

“การตอบรับของผู้ว่าฯ กทม. ถือเป็นจุดเปลี่ยนทางนโยบายที่สำคัญ ที่เดิมเรามักอุดหนุนให้คนเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัย และการส่งเสริมการเป็นเจ้าของส่งผลกระทบ ยิ่งทำให้คนเก็งกำไร ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยมีแต่จะสูงขึ้น แต่การส่งเสริมห้องเช่า อย่างมีความมั่นคงจะแก้ปัญหาได้ จึงคิดว่าการที่ กทม. โดยผู้ว่าตอบรับจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ถ้าดำเนินการได้จริง ๆ ซึ่งแทนที่เราจะสรรหาคนมากู้ แต่เราสร้างแล้วคนมีรายได้น้อยมาอยู่ จ่ายค่าอยู่อาศัยราคาถูก จนมีคุณภาพดี มีรายได้ดี หากมีกำลังซื้อค่อยย้ายออก เป็นจุดเปลี่ยนด้วยวิธีคิดสำคัญ“

รศ.บุญเลิศ วิเศษปรีชา

รศ.บุญเลิศ กล่าวต่อว่า อุปสรรคสำคัญ มี 2 เรื่อง คือถ้าโครงการอยู่ชานเมือง จะไม่ตอบโจทย์ผู้มีรายได้น้อย ดังนั้น ที่ดินที่อยู่ในเมืองก็ต้องไม่คิดเชิงธุรกิจ คาดหวังว่าที่ดินรัฐจะนำมาใช้ในแง่นี้ อีกส่วนหนึ่งเป็นไปได้ไหม จะสนับสนุนห้องเช่าที่เอกชนทำอยู่แล้ว แต่ไม่ได้มาตรฐาน จ่ายเงินอุดหนุนให้เขาทำห้องเช่าได้มาตรฐาน ซึ่งประเทศที่เป็นสังคมรัฐสวัสดิการ เช่น ในยุโรป ทำแบบนี้ ไม่ใช่ว่ารัฐทำเท่านั้น เอกชนก็ช่วยได้ ทำได้ แต่รัฐต้องหนุนเสริม ให้สิทธิผู้มีรายได้น้อย อันนี้ก็จะเป็น การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยจริง ๆ

จากนั้นภาคประชาชนได้เคลื่อนขบวนมาที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อแสดงออกในการเรียกร้องรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยเลือกตั้ง สสร. 100% กำหนดสิทธิสวัสดิการขั้นพื้นฐานต่าง ๆ รวมถึง ที่อยู่อาศัยที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนเข้าถึงอย่างเป็นธรรมเท่าเทียม

จากนั้นเคลื่อนขบวนไปที่กระทรวงคมนาคม ติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาที่ดินชุมชนริมทางรถไฟ และเคลื่อนขบวนมาที่องค์การสหประชาชาติ หรือ UN เรียกร้องให้ UN และ UN-Habitat ยืนเคียงข้างกับองค์กร และผู้คนทุกแห่งทั่วโลกที่เรียกร้องความรับผิดชอบจากรัฐบาลในการปฏิบัติตามหลักสิทธิขั้นพื้นฐานด้านที่อยู่อาศัย เพื่อให้ทุกคนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง เพียงพอ และปลอดภัย

โดยเวลานี้ อยู่ระหว่างเตรียมเคลื่อนไปร่วมชุมนุมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ เพื่อเรียกร้องนโยบาย 9 ด้าน ที่เสนอต่อรัฐบาลไปก่อนหน้านี้


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active