หลัง กลุ่มสนับสนุนและคัดค้านการแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชฯ เดินทางย้ำข้อมูลและเหตุผล ที่กระทรวงอุตสาหกรรม วันนี้ (25 ก.ย.)
วันนี้ (25 ก.ย. 2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความเคลื่อนไหวที่กระทรวงอุตสาหกรรมเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา คึกคักไปด้วยกลุ่มผู้สนับสนุนและคัดค้านต่อการยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ทั้งพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส
หลังมีการกำหนดวาระประชุมของคณะกรรรมการวัตถุอันตราย ในวันจันทร์ที่ 28 ก.ย. นี้ ที่จะพิจารณาเรื่องดําเนินการตามข้อเสนอและความเห็นเกี่ยวกับประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2563 เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ที่ยกระดับเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 คือ ให้มีผลยกเลิกการใช้ไปแล้วนั้น
เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกําจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) พร้อมตัวแทนภาคีที่ร่วมสนับสนุนการแบนสารเคมีฯ ยื่นจดหมายถึง สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการวัตถุอันตราย ผ่านผู้แทนกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อคัดค้านการทบทวนแบนสารพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ที่พวกเขาเชื่อว่าจะมีการพิจารณาในที่ประชุมวันที่ 28 ก.ย. นี้ โดยสอดคล้องกับท่าทีของ เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมอบหมายให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดําเนินการ เสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย ให้มีการทบทวนมติตามข้อเสนอของเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง และกลุ่มที่คัดค้านการแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ตามที่ปรากฏเป็นข่าวมาก่อนหน้านี้ และคาดว่าจะมีการพิจารณาข้อเสนอของสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทยและเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง
พวกเขาระบุเหตุผลการยื่นคัดค้านทบทวนการแบนทั้ง 2 สาร เนื่องจากแนวโน้มของโลกในขณะนี้ มุ่งสู่การผลิตที่ยั่งยืนและยกเลิกการใช้สารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง ประเทศในเขตร้อนที่ปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดเดียวกับประเทศไทย คือ อ้อย ข้าวโพด มันสําปะหลัง ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ได้ทยอยยกเลิกการใช้ และกําลังจะยกเลิกการใช้พาราควอตแล้วหลายประเทศ เช่น บราซิล ซึ่งมีพื้นที่ปลูกอ้อยมากกว่าไทย 7.3 เท่า ปลูกข้าวโพดมากกว่า ไทย 14.6 เท่า ยกเลิกการใช้พาราควอตไปเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2563 ส่วนมาเลเซีย ซึ่งมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันมากกว่าไทย 7.4 เท่า ยกเลิกการใช้พาราควอตเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2563 ในขณะที่เวียดนามซึ่งมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดใกล้เคียงกับไทย ยกเลิกการใช้พาราควอตตั้งแต่ปี 2561 และไนจีเรีย ที่มีพื้นที่ปลูกมันสําปะหลังมากกว่าไทย 4.9 เท่า ปลูกข้าวโพดมากกว่าไทย 4.4 เท่า พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันมากกว่าไทย 4.3 เท่า กําลังดําเนินการให้มีการยกเลิกโดยเร็ว
ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงาน Thai-PAN กล่าวว่า ปรากฏการณ์ที่หลายประเทศทั่วโลกทยอยยกเลิกการใช้สารพิษชนิดนี้ แสดงถึงการตระหนักเรื่องพิษภัยผลกระทบต่อเกษตรกรและแรงงานในภาคเกษตร รวมถึงประชาชนทั่วไปเป็นสําคัญ อีกทั้ง ยังชี้ให้เห็นว่าข้ออ้างเรื่อง ไม่มีวิธีการจัดการวัชพืชหรือประเทศไทยไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ หากแบนพาราควอต ไม่เป็นความจริง ดังนั้น Thai-PAN และภาคีเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง ขอยืนยันให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายคงมติให้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ตามมติของคณะ กรรมการฯ เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2562 และต้องไม่ยืดระยะการแบนออกไปอีก
“เป็นเวลามากกว่า 3 ปี นับตั้งแต่ 5 เมษายน 2560 ที่คณะกรรมการร่วม 4 หน่วยงาน ในนามคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกําจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง กระทรวงสาธารณสุข มีมติให้ยกเลิกการใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หาทางออกให้แก่เกษตรกร และหลังจากที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2562 ได้ยืดระยะเวลาบังคับ ใช้ไปแล้ว เป็น 1 มิ.ย. 2563 และยังยืดหยุ่นเวลาในการถือครองออกไปอีก 90 วัน จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะเลื่อนการแบนออกไป”
นอกจากนี้ Thai-PAN ยังได้แนบข้อมูลเพื่อชี้แจงโต้กลับ กรณีข้อเสนอให้ทบทวนการแบนของฝ่ายเห็นต่างทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งพวกเขาเห็นว่ามีการบิดเบือนข้อมูล เพื่อทําลายความน่าเชื่อถือของข้อมูลจาก ศ.ดร.พรพิมล กองทิพย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ Thai-PAN
- อ่านเพิ่ม Thai-PAN เตรียมเอาผิดสมาคมวัชพืชฯ หมิ่นประมาท
- อ่านเพิ่ม กุมารแพทย์ 3 รพ. ยืนยัน ร่วมวิจัย ผลกระทบสารเคมีเกษตร
กลุ่มค้านแบนสารฯ ยืนยันและชี้แจงเหตุผลทบทวนการแบน
ด้าน เครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง วันนี้ ได้เดินทางไปที่กระทรวงอุตสาหกรรมเช่นกัน เพื่อยืนยันและชี้แจงเหตุผลที่ได้ยื่นเสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาทบทวนการแบนสารเคมีทั้ง 2 ชนิด ที่ได้ยื่นผ่านกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปก่อนหน้านี้ โดยนำเสนอเอกสารตอบกลับจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เกี่ยวกับข้อมูลการตรวจสารพาราควอตตกค้างในผักผลไม้
อัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายฯ ระบุว่า เอกสารดังกล่าวทำให้เห็นข้อเท็จจริงของการดำเนินการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นการเก็บตัวอย่างแบบสุ่มไม่จำเพาะเจาะจงผู้จำหน่าย คือ เก็บจากใครก็ได้ในตลาด เก็บมาเพื่อทดสอบหาความถูกต้องของวิธีวิเคราะห์ ซึ่งวิธีที่วิเคราะห์ดังกล่าว เป็นการวิเคราะห์ 3 สาร หรือ 3 ควอต คือ ไดควอต, คลอมีควอต และ มีพิควอต ที่เป็นสารซึ่งไม่มีการขึ้นทะเบียนและนำเข้ามาใช้ในไทย แต่ภายนอกประเทศใช้ได้ ดังนั้น การที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจพบ 3 สารนี้ในผักผลไม้ จึงสันนิษฐานได้ว่า เป็นการเก็บตัวอย่างผลไม้นำเข้าจากต่างประเทศที่มีการใช้สารนี้ ไม่ใช่ในประเทศไทย แต่ข้อมูลดังกล่าวของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กลับถูกนำมาเสนอประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตรายและเป็นผลให้มีการยกเลิกการใช้สารพาราควอต ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่จำเป็นต้องใช้สารดังกล่าว ซึ่งไม่มีสารทดแทนใดที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่า และส่งผลต่อค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับมากขึ้นในการกำจัดวัชพืชและศัตรูพืช จึงต้องเสนอให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย พิจารณาทบทวนเรื่องนี้อีกครั้ง
“ข้อมูลเหล่านี้นำมาสู่การแบน 2 สาร และจำกัดการใช้ 1 สาร ซึ่งทำให้เกษตรกรเดือดร้อนอย่างมาก ซึ่งไม่มีสารทดแทนใดที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่า และส่งผลต่อค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับมากขึ้นในการกำจัดวัชพืชและศัตรูพืช จากข้อมูลที่ไม่มีการตรวจสอบให้ถูกต้อง และเป็นข้อมูลที่เป็นเท็จ เราจึงขอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาข้อมูลใหม่อีกครั้ง และจะจับตาการประชุมของคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันที่ 28 กันยายนนี้อย่างใกล้ชิด”
ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2562 มีมติให้ยกระดับสารเคมี 3 ชนิด คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2562
กระทั่งวันที่ 27 พ.ย. 2562 การประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งเป็นครั้งแรกที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมนั่งเป็นประธานการประชุม มีการพลิกมติ เลื่อนแบน “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” ออกไปอีก 6 เดือน จากเดิมจะเริ่มยกเลิกการใช้ในวันที่ 1 ธ.ค. 2562 เป็นวันที่ 1 มิ.ย. 2563 ส่วน “ไกลโฟเซต” ให้จำกัดการใช้ โดยอ้างเรื่องความจำเป็น ของวัตถุดิบที่ไทยต้องใช้และนำเข้าจากต่างประเทศ อย่างถั่วเหลืง ที่ยังมีการใช้สารดังกล่าวในพื้นที่เพาะปลูกอยู่ แต่การพลิกมติไปมา จึงเป็นสิ่งที่ต้องจับตาว่า การประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันที่ 28 กันยายนที่จะถึงนี้ จะมีการพิจารณาเรื่องนี้ออกมาในทิศทางใด