ฟัง 2 ด้าน “จะนะ” เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต

“กลุ่มหนุน” ชี้ จะเป็นการพัฒนาภาคใต้ตอนล่าง ดึงเม็ดเงินมหาศาล “กลุ่มค้าน” ตั้งคำถามกระบวนการ และไม่สอดคล้องทุนทางทรัพยากร

พวกเราเป็นคนส่วนใหญ่ของพื้นที่ ที่ต้องการอยากให้มีการพัฒนาบ้านเกิดของตัวเอง

คือ บางส่วนของประกาศจากชาวบ้านจะนะ จังหวัดสงขลา ที่ยืนยันเหตุผลความต้องการ “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” พร้อมขอให้ภาครัฐเดินหน้าโครงการนี้ต่อ

แนวคิดเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมที่จะนะ เริ่มมาตั้งแต่ ปี 2559 โดย ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่เสนอต่อรัฐบาลเห็นชอบ หวังเป็นกลไกการพัฒนาภาคใต้ตอนล่าง ตั้งความหวังว่าจะดึงเม็ดเงินจากนักลงทุนกว่า 6 แสนล้านบาท ภายใน 5 ปี หรือในปี 2565 รวมถึงการคาดการณ์ว่าจะเกิดการจ้างงานกว่า 100,000 อัตรา ผ่านกิจกรรม 6 ประเภท คือ

  1. พื้นที่เขตอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมเบา จำนวน 4,253 ไร่
  2. พื้นที่อุตสาหกรรมหนัก จำนวน 4,000 ไร่ เช่น อุตสาหกรรมผลิตกังหันลม เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ผลิตหัวรถจักร เชื้อเพลิงชีวภาพ เคมีชีวภาพ
  3. พื้นที่เขตอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า จำนวน 4,000 ไร่ จำนวน 4 โรง กำลังผลิตรวม 3,700 เมกะวัตต์
  4. พื้นที่เขตอุตสาหกรรมต่อเนื่องกับกิจกรรมหลังท่าเรือ จำนวน 2,000 ไร่
  5. พื้นที่เขตอุตสาหกรรมศูนย์รวมและกระจายสินค้า จำนวน 2,000 ไร่
  6. พื้นที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จและแหล่งที่พักอาศัย จำนวน 500 ไร่

การพัฒนาอะไรก็แล้วแต่ ก็เกิดที่ฐานรากได้ หรือจะเป็นธุรกิจขนาดเล็กก็ได้ เป็นไปตามศักยภาพพื้นที่ ต้องคิดถึงคนที่ไปเรียนหนังสือจบมา ก็ไม่มีงานทำในพื้นที่ให้กับเขา ไม่มีโอกาส สิ่งที่ ศอ.บต. ทำก็คือการสร้างโอกาสให้คนในพื้นที่ ภาครัฐพยายามอย่างเต็มที่ในการสร้างโอกาสให้กับพื้นที่โครงการนี้ ซึ่งเป็นโครงการระยะยาว เป็นจุดเริ่มต้นเพียงเท่านั้นเอง

รศ.บดินทร์ รัศมีเทศ รองเลขาธิการ ศอ.บต.

รศ.บดินทร์ รัศมีเทศ รองเลขาธิการ ศอ.บต. ย้ำว่า นี่คือทางเลือกเพื่อเพิ่มโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ คาดหวังสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี กินดีอยู่ดี

ประชาชนไม่มีส่วนร่วม ไม่พัฒนาบนต้นทุนทรัพยากร

แต่ภาพฝันของ ศอ.บต. สวนทางกับเหตุผลของกลุ่มผู้คัดค้าน เพราะไม่เพียงกระบวนการรับฟังความเห็นต่อโครงการฯ ด้วยงบประมาณการลงทุนหลายหมื่นล้านบาท ที่ถูกมองว่ามีปัญหาตั้งแต่แรก จนนำไปสู่ผลพวงให้การดำเนินงาน ตามมติ ครม. 18 ส.ค. 2563 ไฟเขียวให้หน่วยงานต่าง ๆ เดินหน้าแผนการลงทุนเร่งด่วนภาคเอกชน ที่มีการตั้งคำถามว่าอาจไม่สอดรับกับหลักการ โดยเฉพาะความขัดแย้งกันของแนวทางใช้ประโยชน์ที่ดิน จากความพยายามเปลี่ยนผังเมืองจะนะไปรองรับอุตสาหกรรม

อีกคำถามสำคัญ คือ โครงการที่ภาครัฐหมายมั่นปั้นมือ จะเปลี่ยนอนาคตให้กับคนจะนะ อาจไม่สอดคล้องกับทุนทางทรัพยากรที่นั่น เพราะเมื่อพิจารณาจากการศึกษาข้อมูลชุมชนของชาวบ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา จะพบว่า ชุมชนเล็ก ๆ ริมชายฝั่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์ทะเล เช่น ปลาเศรษฐกิจ 108 ชนิด, กุ้ง/กั้ง 12 ชนิด, ปู 9 ชนิด, หอยอีก 21 ชนิด และหมึกอีก 7 ชนิด

ไครียะห์ ระหมันยะ เยาวชนวัย 17 ปี ลูกทะเลแห่งจะนะ บอกว่า ทุนทางทรัพยากรที่หมายถึง คือ วิถีชีวิตของคนชายฝั่งทะเล ที่หน้าบ้าน คือ อาชีพประมง หลังบ้าน คือ อาชีพเกษตรกรรม หากจะไปใช้ชีวิตแบบคนเมือง ก็เป็นไปไม่ได้ ดังนั้น วิถีชีวิตต้นทุนแบบเดิมมีอยู่แล้ว คนที่บอกว่าไม่มีงานทำในพื้นที่ ก็อาจจะไม่ใช่ อยู่ที่ว่าจะมองเห็นศักยภาพของบ้านเกิดตัวเองหรือไม่

“หันหน้าก็เจอทะเล หันหลังก็เจอภูเขา จะทำเกษตรกรรม ทำไร่ ก็แล้วแต่เขา เพราะทำอย่างอื่นไม่ได้ วิถีชีวิตต้นทุนเดิม อย่างอาชีพเลี้ยงนกเขาชวาเสียง ราคาเป็นล้านบาท แต่ไม่มีคนเห็นคุณค่า หรือออกเรือไปหาปลาในทะเล กลับมาชายฝั่งเฉลี่ยรายได้ต่อวัน ลำละเป็นพันบาท ที่คนบอกว่าไม่มีงานทำในพื้นที่ เหมือนไม่เห็นต้นทุนที่มีอยู่”

ไครียะห์ ระหมันยะ ชาวบ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา

ข้อมูลจาก การศึกษาและจัดทําข้อมูลชุมชนของชาวบ้านสวนกง “ทะเลคือชีวิตของเรา” บอกไว้ว่าต้นทุนที่ชาวบ้านสามารถทำมาหากินได้ตลอดทั้งปี ก่อเกิดเป็นวงจรเศรษฐกิจในชุมชน รวมถึงการส่งออกยังต่างประเทศ หากเทียบมูลค่าเฉพาะกิจการสัตว์ทะเล ชุมชนมีรายได้ต่ำสุดต่อวัน อยู่ที่กว่า 129,400 บาท หรือเกือบ ๆ 2.6 ล้านบาทต่อเดือน และกว่า 26 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นเพียงชุมชนเดียวเท่าที่มีการรวบรวมข้อมูล จึงเป็นเหตุผลของกลุ่มคัดค้านว่าทำไมพวกเขาจึงไม่อยากให้ภาครัฐพัฒนาอุตสาหกรรม แทนที่ต้นทุนทางทรัพยากรที่มีอยู่

Author

Alternative Text
AUTHOR

พงศ์เมธ ล่องเซ่ง

นักข่าวไม่จำกัดสาย จัดให้ได้ทุกประเด็น