เผย ข้อมูลพื้นที่สีเขียวกรุงเทพฯ ไร้คุณภาพ นักวิชาการ – นักอนุรักษ์ เสนอเปลี่ยนพื้นที่รกร้าง พื้นที่หน่วยงานเป็นพื้นที่สีเขียว
ก่อนหน้านี้ กรุงเทพมหานคร ให้ข้อมูลว่า กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวประมาณ 6.9 ตารางเมตรต่อคน และกำลังจะขยายให้ได้ 9 ตารางเมตรต่อคน ตามข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO
แต่การเปิดเผยข้อมูลใหม่ผ่านกิจกรรม The Visual Talk: กรุงเทพฯ สีเขียวอ่อน โดย Thai PBS กลับพบว่า กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวที่ประชาชนใช้งานได้จริง แค่เพียง 0.92 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น
“กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวเพียง 0.9 ตารางเมตรต่อคน”
นี่คือข้อมูลที่ถูกเปิดเผยภายในงาน ซึ่งนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพมหานคร ผ่าน Data Visualization หรือข้อมูลประกอบการนำเสนอด้วยภาพ พร้อมตั้งคำถามว่า “คนกรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวไม่พอจริงหรือ?”
การทดสอบด้วยหญ้าเทียมขนาด 0.9 ตารางเมตรต่อคน ยังทำให้เห็นว่าพื้นที่ขนาดนี้เพียงพอสำหรับการยืน แต่เล็กเกินกว่าจะกางขาหรือนั่งยืดขา ซึ่งหากเทียบกับหลายประเทศทั่วโลกที่ให้พื้นที่ของต้นไม้ ก็พบว่าเมืองหลวงของไทยอย่างกรุงเทพฯ ยังเป็นรอง
ผศ.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ระบุว่า หากปลูกต้นไม้เพิ่มในพื้นที่ใต้ทางด่วน 600 ไร่ และพื้นที่โล่งตามผังเมืองรวมฉบับใหม่ กรุงเทพฯ จะมีพื้นที่สีเขียว 9 ตารางเมตรต่อคน เทียบเท่ามาตรฐานองค์การอนามัยโลก หรือ WHO แต่ถ้าเพิ่มพื้นที่สีเขียวจากพื้นที่สนามกอล์ฟทั้งหมดประมาณ 40 แห่ง และพื้นที่ราชพัสดุ หรือหน่วยงานราชการ เท่ากับว่าจะมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มเป็น 13.2 ตารางเมตรต่อคน หรือเทียบเท่ากับเมืองปารีส ของประเทศฝรั่งเศส แต่ทั้งนี้ ก็ต้องเป็นพื้นที่สีเขียวที่เอื้อต่อการเข้าถึงด้วย
“เขียวแค่ไหน ถึงเรียกได้ว่า พอ และ ดี… ถ้ามองให้ไกลกว่านั้น มันต้องไปถึงเชิงคุณภาพด้วย ต้องเป็นพื้นที่สีเขียวที่ประชาชนสามารถเข้าไปใช้ได้จริง ๆ”
สอดคล้องกับ ศศิน เฉลิมลาภ ประธานกรรมการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่ระบุว่า หากจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง ก่อนอื่นน่าจะต้องเป็นพื้นที่วัด หรือโรงเรียนก่อน เพราะมีพื้นที่เยอะ และดำเนินการได้เลย เพราะอย่างที่เห็นว่าผู้บริการโรงเรียนหรือเจ้าอาวาส มักจะเทปูนซีเมนต์ทำพื้น ซึ่งหากเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่สีเขียวปลูกต้นไม้ก็จะช่วยได้มาก
“การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั่วโลก สรรพสัตว์หลายชนิดเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ แต่นั่นก็ทำให้คนยุคใหม่ใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งการเพิ่มพื้นที่สีเขียวก็เป็นหนึ่งในแนวทางรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งผมมองว่าวิกฤตที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้มีพลัง ยิ่งเหลือเวลาน้อยในการจัดการสิ่งแวดล้อม เรายิ่งต้องช่วยกันมากขึ้น”
สำหรับผู้ชมที่สนใจดูข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯ ในรูปแบบภาพที่เข้าใจง่าย สามารถติดตามเพิ่มเติมได้ใน http://thevisual.thaipbs.or.th