บัณฑิตจบใหม่ปีนี้ 3 แสนคน 60% เสี่ยงตกงาน ชี้ ระบบการศึกษาไม่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน ต้องวางแผนผลิตบัณฑิต – ปฏิรูปหลักสูตร
ผศ.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการสภาการศึกษา และประธานคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาเฉพาะกิจด้านจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ ระบุว่า ปัญหาบัณฑิตจบใหม่ไร้งานทำ ยังคงน่าเป็นห่วง โดยนักศึกษาที่จบการศึกษาใหม่ในระดับปริญญาตรี และระดับวิชาชีพในเดือนมิถุนายน ปี 2563 ประมาณ 280,000-300,000 คน ในจำนวนนี้กว่า 60% จะไม่สามารถหางานทำได้ในระยะ 6-18 เดือนข้างหน้า
ส่วนนักเรียนในระดับมัธยมปลายและมัธยมต้นที่เข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่ จะมีโอกาสหางานทำได้มากกว่าหากไม่เลือกงาน แรงงานกลุ่มนี้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ จะเข้ามาทดแทนแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านบางส่วน ที่ไม่เคลื่อนย้ายกลับมาทำงานในไทย
ผศ.อนุสรณ์ ระบุอีกว่า สิ่งเหล่านี้เกิดจากระบบการศึกษาผลิตแรงงานไม่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน ยิ่งสถานการณ์โควิด-19 ผู้ประกอบการที่มีสิทธิเลือก จะมีผู้มีประสบการณ์มาทำงานมากกว่าบัณทิตจบใหม่
“เมื่อบัณฑิตว่างงานก็จะส่งผลกระทบหลายด้าน ซึ่งจริง ๆ แล้วคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบ เป็นคนไฟแรงที่ต้องหางานให้คนกลุ่มนี้ทำ จะมีประสิทธิภาพสูง แต่หากคนเหล่านี้ตกงานไปนาน ๆ ก็อาจเกิดปัญหาสังคม ปัญหาเศรษฐกิจ”
ที่ผ่านมา แม้รัฐบาลจะมีมาตรการที่พยายามรองรับบัณฑิตตกงาน แต่ก็ยังไม่เพียงพอ จะต้องทำงานเชิงรุกมากกว่านี้ และในระยะยาวจะต้องปฏิรูปหลักสูตรในระดับอุดมศึกษา ให้มีแผนผลิตบัณฑิต ที่ตลาดแรงงานต้องการอย่างชัดเจน
ผศ.อนุสรณ์ บอกว่า สังคมทุกวันนี้ต้องการคนเก่งเศรษฐศาสตร์ คนเก่งด้านเทคโนโลยี คนเก่งด้านวิทยาศาสตร์ แต่คณะเหล่านี้ไม่ค่อยมีเด็กนิยมไปเรียน เพราะคิดว่าเรียนยาก จำเป็นต้องสร้างแรงจูงใจให้คนมาเรียนคณะนี้ด้วยการให้ทุน อีกปัญหาหนึ่ง คือ มหาวิทยาลัยมักเปิดสาขาวิชาขึ้นมาเพื่อรองรับความต้องการของนักศึกษาที่อยากเรียน แต่ไม่เพิ่มสาขาวิชาที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ในระยะยาวจึงควรปฏิรูปเรื่องนี้