บัณฑิตจบใหม่ พลาดโอกาสเลือกตั้ง อบจ. ยอมรับ อยากเห็นระบบเอื้อให้กับการเลือกตั้งท้องถิ่นมากกว่านี้ ทั้งเลือกตั้งล่วงหน้า เลือกตั้งนอกเขต แต่ยังเชื่อมั่น เลือกตั้งท้องถิ่นเป็นกลไกสำคัญ สู่การพัฒนาสังคม สร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
1 กุมภาพันธ์ 2568 นอกจากเป็นวันเลือกตั้ง อบจ. แล้ว ยังเป็นวันสำคัญของบันฑิตจบใหม่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ต้องเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร เช่นเดียวกันกับญาติพี่น้องที่ร่วมเดินทางมาแสดงความยินดีกับบัณฑิตป้ายแดง
The Active ลงพื้นที่สำรวจความเห็นของบัณฑิตจบใหม่ หลายคน สะท้อนว่า น่าเสียดายที่ไม่มีการเลือกตั้งนอกเขต น่าเสียดายที่ไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้า แม้ว่าจะได้รับการช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัย ยื่นแจ้งความจำนงไม่ไปเลือกตั้งเพื่อไม่ให้เสียสิทธิการเมืองได้ แต่ถ้าเป็นไปได้ ถ้านี่ไม่ใช่วันสำคัญของชีวิต พวกเขาก็อยากกลับไปเลือกคนที่จะฝากบ้านเกิดไว้ได้
![](https://files.wp.thaipbs.or.th/theactive/2025/02/MG_4533-1024x768.jpg)
อุมคอมซาอ์ สะแลแม บัณฑิต จาก จ.นราธิวาส เปิดเผยว่า รู้สึกเสียดายที่ไม่ได้เดินทางกลับไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะถือเป็นโอกาสสำคัญในการเลือกผู้นำท้องถิ่น ซึ่งมีบทบาทโดยตรงต่อการพัฒนาชุมชนของเธอ แม้ว่าทางมหาวิทยาลัยจะอำนวยความสะดวกในการแจ้งความจำนงไม่ไปเลือกตั้งเพื่อรักษาสิทธิทางการเมือง แต่หากเลือกได้ เธอก็อยากกลับไปเลือกคนที่เธอคิดว่าจะสามารถพัฒนาบ้านเกิดของเธอได้ดีที่สุด
“มาจากนราธิวาส …แอบเสียดาย ถ้ามีสิทธิก็อยากจะเลือกเหมือนกัน อยากให้มีเลือกตั้งล่วงหน้า”
อุมคอมซาอ์ สะแลแม
อุมคอมซาอ์ ยังอยากให้มีระบบที่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเลือกตั้งล่วงหน้าหรือนอกเขตได้ เพื่อให้ผู้ที่ติดภารกิจสำคัญ เช่น นักศึกษา หรือผู้ที่ทำงานอยู่ไกลบ้าน สามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองได้อย่างทั่วถึง
เธอยังอยากให้ผู้บริหารท้องถิ่นผลักดัน เรื่องการศึกษาสำหรับพื้นที่ห่างไกล โดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมองว่า ยังไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร ตนมองเห็นศักยภาพของคนในพื้นที่ และอยากให้ทุกคนได้เข้าถึงการศึกษาที่หลากหลายมากขึ้น
![](https://files.wp.thaipbs.or.th/theactive/2025/02/MG_4535-1024x768.jpg)
ศกุนชมภ์ อานันต์พัชรกุล บัณฑิต จาก จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นอีกคนที่พลาดโอกาสเลือกตั้งในครั้งนี้ เธอเล่าว่า ที่ผ่านมาไปเลือกตั้งทุกครั้ง เพราะคูหาอยู่ใกล้บ้าน แต่ครั้งนี้แม้ระยะทางจะไม่ใช่ปัญหา แต่ภารกิจสำคัญในชีวิตกลับทำให้เธอไม่สามารถไปใช้สิทธิได้
“เสียดายมาก ปกติคูหาอยู่ใกล้บ้านมาก …แต่ปีนี้ไปไม่ได้”
ศกุนชมภ์ อานันต์พัชรกุล
เธอยังมองว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นในปัจจุบันยังมีข้อจำกัดหลายอย่าง โดยเฉพาะกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนวันเลือกตั้ง เธอเห็นว่า การเลือกตั้ง อบจ. มักเป็นเรื่องที่ชาวบ้านมีโอกาสได้รับข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้สมัครเพียงไม่กี่วันก่อนถึงวันเลือกตั้ง ทำให้การตัดสินใจเลือกผู้บริหารท้องถิ่นเป็นไปอย่างจำกัด
“เราอยากให้มีกระบวนการรับฟังเสียงชาวบ้านมากกว่านี้ ไม่ใช่แค่หาเสียงไม่กี่วันก่อนเลือกตั้งแล้วจบไป”
ศกุนชมภ์ อานันต์พัชรกุล
![](https://files.wp.thaipbs.or.th/theactive/2025/02/MG_4537-1024x768.jpg)
อีกหนึ่งเสียงสะท้อนจาก ปิยพัทธ์ สาและ บัณฑิต จาก จ.นราธิวาส ก็มองว่า การพัฒนาท้องถิ่นที่มีประสิทธิภาพ ต้องเริ่มจากกลไกการบริหารที่มีความเข้าใจในปัญหาพื้นที่อย่างแท้จริง ยกตัวอย่างเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ภาคใต้เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งท้องถิ่นย่อมเข้าใจพื้นที่มากกว่าส่วนกลาง และการแก้ไขจะเกิดขึ้นได้รวดเร็วและตรงจุดมากกว่าการรอคำสั่งจากส่วนกลาง
“มันเป็นอีกบทบาทที่เราต้องไปทำหน้าที่ เหมือนเลือกตั้งใหญ่ แต่ยังดีที่มหา’ลัยช่วยอำนวยความสะดวกไม่ให้เราเสียสิทธิการเมือง แต่เราอยากกลับไปมากกว่า อยากไปดูว่าใครจะมาดูแล”
ปิยพัทธ์ สาและ
![](https://files.wp.thaipbs.or.th/theactive/2025/02/MG_4539-1024x768.jpg)
ไม่ต่างจาก วรุตม์ โคตรแสง บัณฑิต จาก จ.นครพนม เป็นอีกคนที่มองเห็นความสำคัญของการเลือกตั้งท้องถิ่น และรู้สึกเสียดายที่ไม่ได้มีโอกาสกลับไปใช้สิทธิ์ เขาบอกว่า ตลอดมาหากมีโอกาสเขาจะเข้าร่วมกระบวนการตัดสินใจทางการเมืองเสมอ และมองว่าการเลือกตั้ง อบจ. เป็นเรื่องที่มีผลต่อชีวิตประชาชนโดยตรง
โดยปัญหาที่เขาอยากฝากให้ผู้บริหาร อบจ. แก้ไข คือปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อสุขภาพของคนในพื้นที่อย่างมาก
“อบจ. มีหน้าที่ดูแลจังหวัด และถ้าเราไม่เลือกคนที่ทำเพื่อจังหวัดจริง ๆ ก็เหมือนเราเสียสิทธิของเราไป” วรุตม์กล่าว พร้อมฝากข้อเสนอให้หน่วยงานภาครัฐสร้างกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมากขึ้น เพราะเขาเชื่อว่าการมีส่วนร่วมทางการเมืองไม่ได้จบแค่การเลือกตั้ง แต่ควรเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง”
วรุตม์ โคตรแสง
จากความคิดเห็นของบัณฑิตใหม่เหล่านี้ สะท้อนให้เห็นถึงข้อจำกัดของระบบการเลือกตั้งในปัจจุบัน ที่ยังไม่มีมาตรการรองรับผู้ที่ไม่สามารถเดินทางกลับไปใช้สิทธิ์ได้ ขณะเดียวกัน ก็สะท้อนถึงความหวังที่คนรุ่นใหม่มีต่อการพัฒนาท้องถิ่นในหลายด้าน ตั้งแต่ระบบการศึกษา ปัญหาสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการกระจายอำนาจที่มีประสิทธิภาพ
แม้วันนี้หลายคนต้องพลาดโอกาสเลือกตั้ง แต่พวกเขายังเชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาสังคม และหวังว่าสักวันหนึ่ง ระบบเลือกตั้งจะถูกพัฒนาให้ครอบคลุมและเอื้อต่อประชาชนทุกกลุ่มมากขึ้น เพื่อให้การเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นมากกว่าการลงคะแนนเสียง แต่เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง