75 นักวิชาการฯ เรียกร้องผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นทั่วประเทศลาออก แสดงสปิริตทางการเมือง ให้รัฐบาลจัดเลือกตั้งโดยเร็ว
อาจารย์มหาวิทยาลัยและนักวิชาการในนาม “เครือข่ายรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยท้องถิ่น (คปท.)” แถลงการณ์เรียกร้องให้ผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นทุกแห่งในประเทศ ลาออก เพื่อให้มีการจัดเลือกตั้งท้องถิ่นทุกแห่งทุกรูปแบบทั้งประเทศใหม่ในปีนี้
แถลงการณ์ คปท. ระบุว่า นับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกประกาศคำสั่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 85/2557 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว ตลอดทั้งใช้อำนาจตามมาตรา 44 จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ.2563) หรือ 7 ปี ที่กระบวนการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่นไทยตกอยู่ในภาวะชะงักงันจากคำสั่งอำนาจเผด็จการนั้น แม้ คสช. ได้ใช้ข้ออ้างว่าจะปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นไทย แต่ที่ผ่านมาพบว่าไม่เห็นผลที่เป็นรูปธรรมแต่ประการใด อันสะท้อนเจตจำนงที่ไม่ประสงค์สร้างประชาธิปไตยและพัฒนาศักยภาพด้านการบริหารจัดการของท้องถิ่นอย่างแท้จริง
แถลงการณ์ ยังระบุอีกว่า ในทางกลับกัน คสช. ออกคำสั่งและประกาศอีกหลายฉบับ เปิดทางให้ข้าราชการประจำในส่วนภูมิภาค เข้ามามีบทบาทอำนาจหน้าที่ในการควบคุมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งในตำแหน่งฝ่ายบริหารและฝ่ายสภา ทั้งในแบบโดยตรงและโดยซ่อนเร้น การกระทำดังกล่าวเป็นการทำลายหลักการปกครองท้องถิ่นและขัดขวางกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยฐานราก ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาประชาธิปไตยในระดับชาติ
โดยระบุอีกว่า สถานการณ์ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีการเลือกตั้งในการเมืองระดับชาติตามกติการัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้ง ที่แม้จะมีปัญหาด้านความบริสุทธิ์ยุติธรรมมาเกือบ 2 ปีแล้ว แต่กลับยังไม่เห็นความชัดเจนเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นจากรัฐบาล ทั้งที่การเลือกตั้งท้องถิ่นจะทำให้ประชาชนได้ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการเมืองการปกครองและการบริหารท้องถิ่น ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อท้องถิ่น มีความรักและปรารถนาที่จะพัฒนาสร้างชีวิตที่ดีขึ้นให้กับท้องถิ่นของตัวเอง การเลือกตั้งท้องถิ่นจึงสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการเลือกตั้งระดับชาติ
เครือข่ายรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยท้องถิ่น จึงมีมติขอให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งลาออกจากตำแหน่ง เพื่อแสดงว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน เป็นการแสดงสปิริตทางการเมือง (Political Spirit) เพื่อร่วมสร้างประชาธิปไตยไทย รวมทั้ง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในทุกแห่งทุกรูปแบบตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว
ขณะที่วันนี้ (6 ต.ค.) หลายฝ่ายยังร่วมกันติดตามและจับตาการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่าจะมีการพิจารณาเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่น ตามที่ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แถลงเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ว่าจะเสนอผลการหารือร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้งต่อ ครม. เพื่อให้มีมติกำหนดว่าจะให้เลือกตั้งองค์กรท้องถิ่นใดเป็นอันดับแรก
ทั้งนี้ องค์กรท้องถิ่นทั่วประเทศจำแนกได้เป็น กรุงเทพมหานคร 1 แห่ง, เมืองพัทยา 1 แห่ง, องค์การบริหารส่วนจังหวัด 76 แห่ง, เทศบาล 2,472 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล 5,300 แห่ง รวมทั้งหมด 7,850 แห่ง