เปิด 12 ข้อเรียกร้อง แก้ปัญหาละเมิดเด็ก

เครือข่ายภาคีสร้างสุขภาวะเด็ก ยื่นข้อเสนอ ต่อ “คกก.นโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย” ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์เด็กปฐมวัย

วันนี้ (9 ต.ค. 2563) เครือข่ายภาคีสร้างสุขภาวะเด็ก ยื่นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาการละเมิดเด็กในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย และส่งเสริมการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์และปลอดภัยสำหรับเด็ก ต่อคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ที่มี วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดย ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้แทนคณะกรรมการฯ รับมอบ

ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายทั้ง 12 ข้อ ล้วนเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น ซึ่งเครือข่ายภาคีนักวิชาการ ผู้ปฏิบัติงาน และพ่อแม่ผู้ปกครอง ได้ร่วมกันวิเคราะห์ว่าหากทำทันที จะเป็นกำไรของสังคมไทย เพราะเด็กโตเร็ว และโตขึ้นทุกวัน ยิ่งช้าสังคมไทยก็ยิ่งเสียโอกาส

โดยข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการละเมิดเด็กในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย และส่งเสริมการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์และปลอดภัยสำหรับเด็กปฐมวัย ประกอบด้วย

1. เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็กในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างยั่งยืน ขอให้คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 14

1.1 เสนอต่อคณะรัฐมนตรี ให้สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยต้องประกาศตนเป็นพื้นที่ปลอดพฤติกรรมรุนแรงต่อเด็ก ด้วยกาย วาจา อารมณ์ และแสดงมาตรการในการดำเนินงานให้สอดคล้อง ตลอดจนกำหนดแนวทางติดตามและประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ

1.2 กำหนดมาตรฐานและแนวปฏิบัติที่ดีโดยให้ผู้รับใบอนุญาต ผู้บริหารสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย และครู จะต้องผ่านการอบรมหลักสูตรที่สำคัญจำเป็นต่อการเป็นผู้กำหนดทิศทางการศึกษาของโรงเรียนให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์และปลอดภัย เช่น Executive Functions, วินัยเชิงบวก และจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก

1.3 กำหนดมาตรฐานและแนวปฏิบัติที่ดีด้านความรับผิดชอบในความปลอดภัยทั้งทางกายและใจรวมถึงสิทธิของเด็ก โดยจะต้องรวมอยู่ในกระบวนการประเมินสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยและหากขาดความรับผิดชอบจะต้องมีผลต่อการเป็นผู้รับใบอนุญาต

1.4 ส่งเสริมให้มีศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์และมีผู้รับผิดชอบติดตามภายในเวลาที่กำหนด โดยครอบคลุมถึงช่องทางร้องทุกข์ทางดิจิทัลเพื่อให้ผู้ถูกละเมิดเข้าถึงความช่วยเหลือทันท่วงที

1.5 ส่งเสริมให้มีระบบฐานข้อมูลเพื่อตรวจสอบประวัติของบุคลากรทางการศึกษาและผู้เกี่ยวข้องทุกระดับ และเปิดสิทธิให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถสืบค้นตรวจสอบได้

2. เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์และปลอดภัยสำหรับเด็กปฐมวัย แก้ไขปัญหาพัฒนาการล่าช้าที่สะสมมากว่าทศวรรษ ขอให้คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 14

2.1 จัดทำนโยบายระดับชาติด้านการจัดการศึกษาปฐมวัยที่สอดคล้องกับพัฒนาการตามธรรมชาติของเด็ก คำนึงถึงเด็กที่มีความต้องการพิเศษ และยึดหลักการการศึกษาที่เหมาะสมกับเด็กปฐมวัย คือการรักษาความเป็นธรรมชาติของเด็กไว้ และเปิดโอกาสให้จิตวิญญาณ ร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา พัฒนาไปพร้อมกันอย่างสมดุลและเหมาะสมตามวัย ไม่ใช่การสอนเพื่อเร่งเรียนเขียนอ่าน

พิจารณาตัดคำว่า “โรงเรียน” ออกจากอนุบาลเพราะสร้างความเข้าใจผิดว่าเด็กต้องอ่านออกเขียนได้ ควรใช้คำว่า “อนุบาล” ซึ่งราชบัณฑิตยสภาให้ความหมายว่า “ตามเลี้ยงดู ตามระวังรักษา”

2.2 ยกเลิกการสอบแข่งขันเข้าชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และการทดสอบการอ่าน (Reading Test) โดยทันที เพื่อปลดล็อกการเร่งเรียนเขียนอ่านในเด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นหนึ่งในสมุฏฐานของความรุนแรงในห้องอนุบาลด้วย ควรมุ่งเน้นการจัดประสบการณ์เรียนรู้ที่เหมาะสมกับพัฒนาการ เน้นเรียนรู้ผ่านการเล่นอิสระ

2.3 กำหนดมาตรฐานและแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์จอใสและสื่อออนไลน์เพื่อสร้างเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย เพื่อให้พ่อแม่ ครู ผู้เลี้ยงดูเด็กปฐมวัยมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน และสามารถป้องกันปัญหาการเสพติดสื่อจอใสอย่างได้ผล

2.4 ส่งเสริมหลักการและปรัชญาของการพัฒนาเด็กปฐมวัย ที่มุ่งให้เด็กเป็นผู้ขับเคลื่อนการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยครู ผู้ดูแลเด็ก พ่อแม่ และชุมชนเป็นผู้สนับสนุน มุ่งเน้นการเรียนรู้ผ่านการเล่นอิสระ การอบรมเลี้ยงดูด้วยวินัยเชิงบวก และการส่งเสริมทักษะสมอง

2.5 ส่งเสริมให้ผู้ดูแลเด็กปฐมวัยและครูอาจารย์ได้รับการฝึกอบรมหลักสูตรส่งเสริมทักษะอารมณ์และสังคม (Social and emotional learning – SEL) และนำไปใช้อย่างจริงจังในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย

2.6 ส่งเสริมการพัฒนารูปแบบการมีส่วนร่วมของครอบครัวในการพัฒนาเด็กปฐมวัยร่วมกับครูอาจารย์ และกำหนดให้สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยมีหน้าที่ให้ความรู้เรื่องพัฒนาการเด็กอย่างถูกต้องแก่ผู้ปกครองเพื่อทำงานไปในทิศทางเดียวกัน 2.7 สนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นจัดพื้นที่เรียนรู้ผ่านการเล่นอิสระและสร้างสรรค์ สำหรับเด็กและครอบครัว ได้ใช้เวลาร่วมกันอย่างมีคุณภาพ ส่งเสริมทั้งพัฒนาการ ความสุข และ สัมพันธภาพในครอบครัว

ดูเพิ่ม

พบ 1 ใน 4 ของเด็กปฐมวัยที่มีภาวะยากจน ถูกกระทำความรุนแรง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active