ชี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้อำนาจคุมตัวนานถึง 30 วัน โดยไม่ตั้งข้อกล่าวหา ขอรัฐ ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ปล่อยตัวผู้ถูกคุมตัวทันที
วันนี้ (15 ต.ค. 2563) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยแพร่แถลงการณ์ กรณีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงและสลายการชุมนุม สาระสำคัญ ระบุว่า ตามที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร โดยระบุเหตุผลว่ามีการปลุกระดม ก่อให้เกิดความปั่นป่วน วุ่นวาย และไม่สงบเรียบร้อย ฯลฯ นั้น
รวมถึงมีการเริ่มปฏิบัติการสลายการชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ในเวลาประมาณ 04.00 น. ควบคุมตัวแกนนำและผู้ชุมนุมอย่างน้อย 27 คน ไปยังกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 จังหวัดปุทมธานี และ สน.ชนะสงคราม โดยมีหมายจับกุมในคดีชุมนุมก่อนหน้า 5 คน และไม่มีหมายจับ 23 คน
รวมถึง เมื่อวันที่ 13 ต.ค. เจ้าหน้าที่ยังควบคุมตัวผู้ชุมนุมจากการชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จำนวน 21 คนแล้ว โดย 20 คน ไม่ได้รับการประกันตัวจากศาล และยังถูกควบคุมตัวไว้ภายในเรือนจำพิเศษ
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีความห่วงกังวลถึงสถานการณ์ดังกล่าว และมีความเห็นดังนี้
1. การชุมนุมของคณะราษฎร 2563 ตั้งแต่วันที่ 13 – 15 ต.ค. 2563 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตลอดจนการเดินขบวนไปปักหลักยังทำเนียบรัฐบาลนั้น เป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ไม่ได้ก่อให้เกิดความรุนแรงและเป็นอันตรายใดๆ จึงต้องได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และข้อบทที่ 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)
2. สถานการณ์การชุมนุมของคณะราษฎร 2563 นั้นไม่เข้าข่ายสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งต้องเป็นกรณีที่กระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรืออาจทำให้ประเทศ หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของประเทศอยู่ในภาวะคับขัน หรือมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย
อย่างไรก็ตามหากเจ้าหน้าที่รัฐเห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าหน้าที่ก็สามารถดำเนินการตามขั้นตอนโดยการขอให้ศาลออกคำบังคับให้เลิกชุมนุมได้ แต่เจ้าหน้าที่กลับใช้ข้ออ้างดังกล่าวในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อหลีกเลี่ยงการดำเนินการขั้นตอนตามกฎหมายชุมนุมสาธารณะ ยกเว้นการตรวจสอบโดยองค์กรตุลาการ และยกเว้นความรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัยจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 17 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวจึงไม่ได้เป็นเหตุเป็นผล และไม่ได้สัดส่วนของความจริงกับมาตรการที่รัฐเลือกใช้
3. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่ากำหนดการและสถานที่ชุมนุมวันที่ 14 ต.ค. 2563 นั้น มีการประกาศล่วงหน้านานนับเดือน โดยกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ทราบล่วงหน้ามาก่อนว่าจะมีการขบวนเสด็จผ่านพื้นที่ดังกล่าว
การที่หน่วยถวายรักษาความปลอดภัยตัดสินใจเลือกเส้นทางซึ่งมีการชุมนุม ทั้งที่สามารถใช้เส้นทางอื่นได้หลากหลายเส้นทางนั้น หน่วยงานดังกล่าวย่อมต้องผ่านการประเมินอย่างรอบคอบแล้วว่าการชุมนุมนั้นเป็นไปโดยสงบและไม่ก่ออันตรายใดๆ และขบวนเสด็จพระราชดำเนินผ่านที่ชุมนุมก็สามารถดำเนินผ่านไปแล้วโดยเรียบร้อย ไม่มีการปิดกั้นหรือความวุ่นวายจากผู้ชุมนุม ซึ่งกระทำต่อทรัพย์สินหรือบุคคลใดขณะขบวนเสด็จดำเนินผ่าน มีเพียงการชะลอตัวของการเดินทางและการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ซึ่งเกิดขึ้นเป็นปกติในพื้นที่ชุมนุม ข้อกล่าวอ้างเรื่องขบวนเสด็จจึงย่อมมิอาจเป็นเหตุในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงได้
การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในวันนี้จึงเป็นเหตุให้ประเทศไทยนั้นมีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินถึงสามฉบับในช่วงเวลาเดียวกัน ทับซ้อนกันในสองพื้นที่ คือ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนใต้ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักรเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ก่อให้เกิดผลประหลาด
4. การจับกุมหรือควบคุมตัวบุคคลตามอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น ให้อำนาจในการควบคุมตัวถึง 30 วัน โดยไม่ต้องตั้งข้อกล่าวหา อย่างไรก็ตามการจับกุมต้องกระทำโดยมีหมายฉุกเฉินซึ่งออกโดยศาล ตามมาตรา 12 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เท่านั้น
ดังนั้น การจับกุมผู้ถูกจับในวันนี้โดยไม่มีหมายนั้น กระบวนการดังกล่าวยังต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งต้องให้สิทธิในการเข้าถึงทนายความ และต้องแจ้งข้อหาและพาตัวผู้ถูกจับไปยังที่สถานีตำรวจที่เกิดเหตุทันที แต่ปรากฏว่าขณะนี้มีการควบคุมตัวบุคคลไปยังสถานที่อื่นซึ่งไม่ใช่สถานีตำรวจที่ทำการของพนักงานสอบสวน และแม้หากเจ้าหน้าที่จะอ้างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ แต่ประกาศดังกล่าวนั้นครอบคลุมพื้นที่เพียงพื้นที่กรุงเทพมหานครไม่รวมถึงกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดปทุมธานี การควบคุมตัวดังกล่าวจึงถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย และละเมิดสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของผู้ถูกจับกุม
ด้วยเหตุดังกล่าว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จึงมีข้อเรียกร้องต่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้
1. ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ในทันที เนื่องจากไม่มีเหตุเพียงพอในการประกาศสถานการณ์ดังกล่าว
2. ปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกในทันที เนื่องจากผู้ถูกควบคุมตัวดังกล่าวใช้เสรีภาพชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ
3. กรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐเห็นว่าบุคคลใดกระทำความผิดนั้น ให้เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในการจับกุมควบคุมตัวและดำเนินคดีซึ่งเป็นการประกันสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของผู้ชุมนุม
สตช. แจง แกนนำและผู้ชุมนุม ถูกควบคุมตัว 22 คน
ขณะที่การแถลงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. ระบุว่า มี แกนนำและผู้ชุมนุมรวม 22 คนที่ถูกจับ ซึ่งมีการเปิดเผยรายชื่อในเวลาต่อมา ดังนี้
ความผิดตามมาตรา 116 เป็นแกนนำทั้ง 4 คน ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต ดังนี้
1. นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน มีหมายจับศาลธัญบุรี จ.336/63 วันที่ 26 ส.ค.2563
2. นายอานนท์ นำภา หรือ ทนายอานนท์ มีหมายจับศาลเชียงใหม่ จ.519/63 วันที่ 1 ก.ย. 2563
3. นายประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ หรือ เจมส์ มีหมายจับศาลเชียงใหม่ จ.521/63 วันที่ 1 ก.ย.2563
4. น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง มีหมายจับศาลธัญบุรี จ.323/63 วันที่ 15 ส.ค.2563
ส่วนอีก 18 คน มีความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดฯ ตาม พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน 2548
5. นายชาติชาย แจ่มจันทร์
6. นายศักดา อุประ
7. นายเจษฎา จอกโคกสูง
8. นายพนธกร พวงบุบผา
9. นายวโรตม์ เทศทอง
10. นายเจษฎา พงษ์วันนา
11. นายวิชัย โรคน้อย
12. นายสัมฤทธิ์ นาคสุทธิ
13. นายโชคชัย โรจนชาญปรีชา
14. นายปารย์พิรัย์ บุญญาธนาภูวเดช
15. นายเริงชัย บังวงศ์
16. นายสิงหา ดลสุข
17. นายโสภา พรมกสิกร
18. นายเดือน คงยอด
19. นายสมประสงค์ เปาอินทร์
20. นายวันชัย สิงห์สวัสดิ์
21. ว่าที่ ร.ต.รุ่งโรจน์ ครองสินไชโย
22. นายไชญะภัณฑ์ พันทรศิริมาส
ดูเพิ่ม
ใครบ้าง? ถูกจับม็อบ 13-14 ตุลา
แถลงการณ์ กรณีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงและสลายการชุมนุม